Sunday, November 15, 2015

ตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองไม่อันตรายถ้ารักษาอย่างถูกต้อง

นมแม่มักถูกโทษว่าเป็นสาเหตุของตัวเหลือง เหมือนกับคุณเจี๊ยบเลียบด่วน ไก่ไม่ผ่านคิวซีสีเหลืองที่มักถูกโทษว่าเป็นสาเหตุของกาลกิณีบ้านกาลกิณีเมือง น่าสงสารทั้งนมแม่และคุณเจี๊ยบเป็นที่สุด

วันนี้ป้าหมอจึงขออธิบายให้เข้าใจถึงภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดดังนี้ค่ะ

#ทารกแรกเกิดตัวเหลืองเกิดจากอะไร

ตัวเหลืองภายในสัปดาห์แรก เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแตกตามธรรมชาติ เมื่อแตกแล้วจะเกิดสารสีเหลืองท่ีเรียกว่าบิลิรูบินซึ่งเป็นของเสีย ร่างกายต้องกำจัดออกทางตับ แต่ตับของทารกแรกเกิดยังทำงานไม่เต็มที่ กว่าจะเปิดสวิทช์ทำงาน ต้องสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป ดังนั้นเด็กแรกเกิดทุกคนจะมีภาวะตัวเหลือง มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน

อันที่จริงผู้ใหญที่ตับทำงานไม่ดี ก็มีอาการตัวเหลืองได้เช่นกัน เช่น ผู้ใหญที่เป็นโรคตับอักเสบ หรือกินเหล้าเยอะจนตับทำงานผิดปกติ

ตอนอยู่ในท้อง แม่จะกำจัดของเสียทุกอย่างแทนลูก รวมทั้งสารเหลือง พอตัดขาดสายสะดือลูกก็้ต้องกำจัดด้วยตัวเอง สารสีเหลืองที่ลูกผลิตในแต่ละวัน จะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆในสัปดาห์แรก จะเริ่มลดลงเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่สองเมื่อตอนที่ตับของทารกเริ่มทำงานดีขึ้น ลักษณะค่าสารเหลืองที่เพิ่มแล้วลดลงจะมีลักษณะเหมือนภูเขา บางคนเป็นภูเขาลูกสูง บางคนเป็นภูเขาลูกเตี้ย ขึ้นกับว่า เม็ดเลือดแดงใครแตกมากหรือน้อย ขอย้ำว่า ปริมาณสารเหลืองขึ้นอยู่กับปริมาณการแตกของเม็ดเลือดแดง ไม่ใช่เป็นเพราะได้รับนมไม่พอแต่อย่างใด

เด็กบางคนค่าตัวเหลืองมากกว่าเด็กคนอื่น พบได้ในกรณี กรุ๊ปเลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน หรือ เป็นพาหะของธาลัสซีเมีย หรือ ขาดเอนไซม์ G6PD หรือตับทำงานช้ากว่าชาวบ้านเขา เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ ทารกมีปัญหาติดเชื้อ

การขับสารเหลืองออกจากร่างกาย คือ
การขับออกทางอุจจาระ หากทารกมีปัญหาตัวเหลืองแล้วได้กินนมแม่ จะทำให้อึบ่อย ค่าสารเหลืองจะลดลงได้เร็ว หากกินนมผง จะท้องผูก สารเหลืองจะขับออกได้ช้ากว่า หากกินน้ำ จะทำให้อิ่มน้ำ ไม่อยากกินนมแม่ ทำให้มีฉี่ออก แต่ไม่มีอึ จะไม่ช่วยลดค่าเหลืองค่ะ

หากใครไม่มีการแตกของเม็ดเลือดแดงเยอะตั้งแต่ต้นแล้ว ถึงน้ำหนักจะลดลงเพียงใด ก็ไม่เหลืองค่ะ ป้าหมอเจอบ่อยๆที่ทารกน้ำหนักลด 10% กว่าแล้ว แต่ค่าตัวเหลืองเจาะออกมาได้แค่ 2-3-4 เท่านั้นเอง

ดังนั้น การรักษาเหลืองที่เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดง นอกจากการตากแดดอ่อนๆ การส่องไฟ หรือการถ่ายเลือดแล้ว ก็ต้องให้ลูกดูดนมแม่ให้เยอะที่สุด เพื่อให้อึบ่อยที่สุด ไม่ใช่ให้นมผงหรือน้ำเปล่า แต่ถ้าเด็กมีปัญหาน้ำหนักลดต่ำกว่า 10% ของน้ำหนักแรกเกิด ก็ดูแลเหมือนเคสอื่นๆที่นน.ลด คือ เสริมนมผงหรือนมแม่บริจาคที่ปลอดเชื้อด้วยถ้วยจิบ โดยไม่ใช้ขวดเพื่อป้องกันปัญหาลูกติดขวดไม่ยอมดูดเต้า เมื่อน้ำนมแม่มาแล้ว ก็งดนมเสริมไปได้เลย

#วิธีการรักษาภาวะตัวเหลืองภายในสัปดาห์แรก

เด็กครบกำหนด หากค่าสารเหลืองเกิน 13 ,17 , 20 ภายใน วันแรก วันที่สอง และ วันที่สาม ถือว่าเป็นเคสเหลืองมากรุนแรง ต้องรักษาโดยการถ่ายเลือดค่ะ เพราะการเหลืองมากขนาดนี้ จะทำให้สารเหลืองซึมเข้าสู่สมอง มีผลทำให้สมองทำงานผิดปกติ เน้นอีกครั้งค่ะ กรณีเหล่านี้ เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงที่มากผิดปกติอย่างมาก เช่น กรุ๊ปเลือดหมู่เล็กไม่เข้ากัน (หมู่ Rh)

เด็กครบกำหนด หากระดับอยูที่ 8,12,15 ในวันที่ 1,2 และ 3 หลังคลอด รักษาโดยการส่องไฟ หากต่ำกว่านั้น สามารถนำลูกกลับบ้านไปตากแดดอ่อนๆที่บ้านได้ และเน้นย้ำให้ลูกกินนมแม่ให้มากที่สุด เพื่อให้อึบ่อยที่สุด ค่าเหลืองจะลดลงได้เร็วที่สุด

ส่วนการเสริมนมอื่นนอกจากการดูดเต้าแม่ ทำตามข้อบ่งชี้เรื่องการลดลงของน้ำหนักแรกเกิด คือ ลดต่ำกว่า 10% สามารถเสริมนมได้เลย แต่ไม่ใช่หยุดนมแม่แล้วเปลี่ยนไปกินนมอื่นนะคะ ต้องเน้นให้ดูดนมแม่มากขึ้นกว่า เดิม และต้องหาสาเหตุเสมอว่า ทำไมน้ำหนักจึงลดลงแบบนี้ เพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ไม่ได้ดูดบ่อยๆ ท่าดูดผิด มีพังผืดใต้ลิ้น เป็นต้น

คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจได้รับข้อมูลว่า หากไม่เสริมนมผง ลูกจะมีปัญหาตัวเหลือง ทำให้ต้องอยู่รพ.นานขึ้นเพื่อส่องไฟรักษา จึงรีบร้อนที่จะเสริมนมผงทั้งๆที่น้ำหนักตัวยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ การทำเช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารกมากกว่าส่งผลดีอย่างที่คาดหวัง เพราะการกินนมผงเข้าไปในลำไส้ที่ถูกออกแบบมาให้กินนมแม่เท่านั้น จะไปเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของทารก เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อโรคเรื้อรังเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และโรคอื่นๆ และเสี่ยงกับการที่ลูกจะกลายไป เป็นเด็กนมผง เพราะอิ่มนมเสริมกับติดขวด และไม่ได้ดูดเต้าบ่อยๆ นมแม่ก็แห้งหายไปในที่สุด เมื่อถึงเวลานั้นแล้ว จะกลายเป็นว่าค่าใช้จ่ายในการไม่ได้กินนมแม่ (ค่านมผง ค่ารักษาพยาบาลเวลาลูกป่วย) มากกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเหลืองโดยการส่องไฟเสียอีก

กรณีเหลืองจากสารในนมแม่ (breastmilk jaundice) จะเหลืองหลังจากอาทิตย์แรก กรณีนี้ ไม่เป็นอันตรายต่อสมอง ไม่ต้องรักษาหากเหลืองไม่เกิน 20 แต่หากเกิน ก็รักษาโดยการส่องไฟ โดยไม่ต้องงดนมแม่แต่อย่างใด เพราะหากงดนมแม่ อาจทำให้ลูกติดขวด และแม่ผลิตนมได้น้อยลง เพราะขาดการกระตุ้น มีภาวะเต้านมคัดอักเสบเพราะไม่ได้ระบายนมออก มีโอกาสล้มเหลวในการให้นมได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะสรุปว่าเหลืองจากสารใน นมแม่ ต้องดูว่าไม่ได้เหลือง จากสาเหตุอื่น เช่น โรคท่อน้ำดีอุดตัน โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งต้องรักษาที่สาเหตุ ไม่ใช่รักษาโดยการส่องไฟเท่านั้น หรือ รักษาโดยการเปลี่ยนจากนมแม่เป็นนมผงแต่อย่างใด

ที่มา https://www.facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic/posts/1229950770364401:0

No comments:

Post a Comment