Tuesday, November 17, 2015

Freedom for Creative or Disobedient Child

ตอนที่ 216 “ดื้อตามวัย โตมาเดี๋ยวก็หาย?”

ปิ่นวัย 2 ปี ไม่เชื่อฟังและต่อต้านแม่มาก....
เวลาเรียกมานั่งกินข้าว...เป็นเรื่องที่แม่เครียดที่สุด

เรื่องอื่นๆที่ลูกไม่เชื่อฟัง แม่พอจะรับได้
แต่เรื่องกินข้าว แม่กลุ้มใจมาก....

แม่จึงต้องอนุโลมให้ปิ่นกินข้าวไป เดินเล่นไปด้วย....
แต่ลึกๆในใจแม่...แม่คิดว่า เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้....
แม่จึงมาหาหมอ....

ในห้องตรวจ ปิ่นเดินไปมารื้อของเล่น....
สลับกับเปิด ปิดประตูห้องตรวจเป็นระยะๆ....
ปิ่นไม่ได้สนใจเล่นของเล่นเป็นเรื่องเป็นราว....
ดูเหมือนสำรวจมากกว่าเล่น....

พ่อ “ผมปล่อยเขาเล่นอิสระ เมื่ออิสระเขาน่าจะเกิดความคิดสร้างสรรค์”
หมอ “แต่หมอเห็นว่า เขาไม่ได้ลงมือเล่นเลยค่ะ เขาเดินสำรวจไปมา เหมือนไม่สนใจอยากจะเล่นอะไรเลย”

แม่ “ใช่ค่ะ ไม่ค่อยสนใจจะเล่นของเล่น ถ้าเล่นก็หยอดก้อนไม้ชิ้นกลมๆ หากเป็นทรงอื่น ใส่ไม่ลงก็เลิก ไม่เคยเห็นพยายามจะเล่นให้จบเลยค่ะ ส่วนนิทานยิ่งฟังไม่จบเข้าไปใหญ่ อยากเปิดเอง หยิบเอง เอาแต่หน้าที่ตัวเองสนใจ ทำให้เขารู้แต่หน้านี้หน้าเดียวมาเป็นอาทิตย์แล้วค่ะ”

หมอ “หมอคิดว่าเขาอิสระมากเกินไป มากจนไม่รู้ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน ทำให้ความคิดสร้างสรรค์เขาไม่มาแล้วค่ะ”

หมอ “ก่อนที่คนเราจะเล่นอิสระได้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ หรือเรียกว่าจะคิดนอกกรอบได้ ก็ต้องเข้าใจความเป็นไปของเรื่องราวในกรอบก่อน หมอคิดว่า ปิ่นไม่รู้ทั้งกรอบกติกาของวินัย ที่คุณพ่อคุณแม่ ไม่ทันได้ตระหนักว่าสำคัญ และปิ่นก็ไม่รู้ว่าของเล่นที่มีอยู่เขาออกแบบมาเพื่อให้เล่นอย่างไร”

หมอ “เมื่อปิ่นไม่รู้ว่าของเล่นควรต้องเล่นอย่างไร หรือเมื่อใส่ไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะต้องพยายามบิดข้อมือหรือเปลี่ยนชิ้นอื่นก่อน ก็จะไม่เคยทำสำเร็จ ดังนั้นความภาคภูมิใจก็จะไม่มี ปิ่นก็ย่อมไม่พาตัวเองลงมานั่งเล่นของเล่นแบบนี้ ที่นอกจากจะทำไม่ได้ เล่นไม่สนุกแล้ว ยังทำให้รู้สึกไม่ดีอีก ที่ติดขัดแล้วไปต่อไม่เป็น”

หมอ “เมื่อปิ่นไม่สนใจกติกาของบ้านที่พ่อแม่กำหนด ปิ่นก็จะไม่เรียนรู้การเชื่อฟัง... ลูกไม่เคารพเรา และเมื่อเราอยากให้ลูกนั่งทานข้าว ความที่ไม่เชื่อเรา เชื่อแต่ตัวเองจึงทำให้ลูก ไม่ยอมลงนั่ง....”

หมอ “หมอไม่แนะนำให้เรามาจริงจังเฉพาะทานข้าว เพราะนั่นจะทำให้เกิดการร้องไห้ ทรมานกิน เกิดความเครียด แต่หมอขอให้เราจริงจังกับกติกาอื่นๆก่อนเพื่อพัฒนาตนเองให้ลูกเคารพ เมื่อนั้นการเรียกมาก็จะง่ายขึ้น”

หมอ “ส่วนความคิดสร้างสรรค์นั้น เราสามารถช่วยลูกพัฒนาได้ เมื่อคนเรารู้เนื้อในของกรอบ และมีความอดทน อดกลั้นเป็น การต่อยอดต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องลำบาก เพียงแต่ตอนนี้ ช่วยให้เขารู้ก่อนว่า เขาจะภาคภูมิใจในตัวเองกับของเล่นได้อย่างไร”

พ่อ “เด็กไม่เชื่อฟัง โตขึ้นเดี๋ยวก็หายมั๊ยครับหมอ?”
หมอ “ตามหลักเวลาเด็กโตขึ้น ความเข้าใจจะมากขึ้น จึงทำให้คุยกันรู้เรื่อง โอกาสที่ลูกจะหายดื้อก็สูง แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าจะหาย เพียงแต่เรามีโอกาสที่จะช่วยลูกได้ง่ายขึ้น

แต่หากเราไม่ได้ทำอะไรต่างจากเดิม ยังเลี้ยงแบบเดิมๆ ก็แปลว่ามีคนอื่นมาช่วยทำให้หายแทน...เช่น ครู ญาติ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นใช้วิธีอะไรทำให้ลูกหายดื้อ และจะมีผลข้างเคียงอะไรเหลืออยู่ในใจหรือไม่ เราก็ไม่รู้”

หมอ “เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองนะคะ อย่าเพิ่งถอดใจ ที่ผ่านมาเราเพียงแต่ไม่รู้วิธี กลับไปปรับการเลี้ยงดูใหม่ ทั้งตาชั่งฝั่งบวกและฝั่งลบตามที่คุยกัน แล้วเราจะค้นพบว่า เรามีความสามารถมากกว่าที่เราคิด”

หมอเสาวภา

ที่มา https://www.facebook.com/237160756408180/photos/a.237161899741399.1073741827.237160756408180/289810494476539/

No comments:

Post a Comment