Thursday, January 28, 2021

Excuse Factory

โรงงานผลิตข้ออ้าง

มาสายเพราะรถติด (ออกจากบ้านช้า)

เช็คเมลเพราะเผื่อมีงานสำคัญ (เคยชิน)

เข้าเฟซเพื่อคลายเครียด (ทุกสิบห้านาที)

ไม่มีเวลาทำงานสำคัญเพราะงานแทรก (งานสำคัญมันยาก งานแทรกมันง่ายดี)

ทำงานผิดเพราะหัวหน้าสั่งไม่เคลียร์ (สงสัยแล้วเราไม่ถาม)

เพื่อนร่วมงานทำตัวแย่เราเลยต้องทำตัวแย่กลับ (เหรอ?)

เราจึงเป็นโรงงานผลิตข้ออ้าง

เปิดทำการตั้งแต่ฟ้าสางยันหลับไหล

มันคือกลไกของกิเลสที่ช่วยให้เราไม่ต้องสบตากับความจริง

ความจริงที่ว่าเราเองนี่แหละที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดครับ

-----

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก ของ The Arbinger Institute

https://anontawong.com/2021/01/28/excuse-factory/

Wednesday, January 27, 2021

empathy, not sympathy

ตอนสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์
อาจารย์มักจะสอนหมอว่า
พวกคุณต้องมี empathy แต่อย่ามี sympathy เด็ดขาด
.
คือ เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจคนไข้
แต่ไม่ควรเป็นทุกข์ หรือ มีอารมณ์เศร้าไปพร้อม ๆ กับคนไข้
ไม่งั้นเราจะทำงานด้วยความทุกข์อยู่ร่ำไป..
 

Tuesday, January 26, 2021

Doubt your virtues

หัดสงสัยในความดีของตัวเอง

โดยเฉพาะในเวลาที่เรารู้สึกดังต่อไปนี้

- ทำไมเราต้องทุ่มเทอยู่คนเดียว
- ทำไมคนอื่นดูไม่รับผิดชอบงานของตัวเองเลย
- ทำไมทุกคนจ้องแต่จะเอาเปรียบ
- ทำไมเขาไม่เห็นใจเราบ้าง
- ทำไมเขาทำตัวแย่อย่างนี้

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” จบ เป็นหนังสือที่ลึกซึ้งและถึงอกถึงใจมาก

เมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกตามที่กล่าวไปด้านบน นั่นแสดงว่าเรากำลัง “เข้าไปอยู่ในกล่อง” ความคิดของเราจะถูกบิดเบือนและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เราจะพยายาม “ยกตัวเองขึ้น” โดยการบอกตัวเองว่า เราทุ่มเทกว่า เราเสียสละมากกว่า และเราก็จะพยายาม “กดคนอื่นลง” เพื่อให้รู้สึกสบายใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะคนอื่น ไม่ใช่เพราะตัวเรา

ถ้าไม่พาตัวเองออกจากกล่อง เราก็จะชวนคนอื่นเข้าไปอยู่ในกล่องของตัวเองด้วย และต่างฝ่ายจะต่างโทษกันไปโทษกันมา เป็นวงจรอุบาทว์ที่อาจทำให้บริษัทล้มละลายและครอบครัวล่มสลาย

หากเรากำลังติดอยู่ในความคิดลบๆ มองคนอื่นเป็นเพียงตัวปัญหาและตัวก่อกวน ขอให้รู้ตัวว่าเรากำลังอยู่ในกล่อง และวิธีออกจากกล่องที่รวดเร็วที่สุด คือการมองให้เห็นว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหวัง ความต้องการ ความใส่ใจ และความกลัวเหมือนๆ กัน

เมื่อไหร่ที่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น แสดงว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่

หัดสงสัยในความดีของตัวเองแล้วชีวิตจะดีขึ้นครับ

-----

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก – Leadership and Self-Deception: Getting Out of the Box by The Arbinger Institute (ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น)

https://anontawong.com/2021/01/26/doubt-your-virtues/

Saturday, January 23, 2021

Empathy

1
เราได้ยินคำว่า empathy กันเยอะ แต่เมื่อพยายามเข้าใจ 'ความเห็นอกเห็นใจ' จากการอ่านหรือการฟังก็เหมือนฝึก empathy ด้วย 'หัว' อันที่จริงเราสามารถใช้เหตุผลทำความเข้าใจคนอื่นได้ แต่ก็จะอยู่ในระดับเหตุผล ความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งมักเกิดจากการรับรู้ความรู้สึกของคนนั้นด้วย 'หัวใจ'

...

2
เมื่อวานมีโอกาสสนทนามื้อค่ำกับ 'พี่นก-โชติกา อุตสาหจิต' ผู้บริหารแห่งบันลือกรุ๊ป ได้รับภูมิปัญญาจากประสบการณ์ชีวิตมากมาย เรื่องหนึ่งที่พี่นกเล่าให้ฟังคือเรื่องของความเห็นอกเห็นใจผู้คน ซึ่งมักเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเคยผ่านประสบการณ์เดียวกันกับเขา

พี่นกเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพนักงานมาขอลางานเพราะหมาที่บ้านป่วย จำเป็นต้องพาไปหาหมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่นกเข้าใจไม่ได้ ถึงกับหัวเราะออกมา ทั้งที่พนักงานคนนั้นกำลังเศร้าใจเป็นห่วงหมา เพราะใจความคิดพี่นก คนก็คือคน หมาก็คือหมา เธอเติบโตมากับการเห็นหมาถูกเลี้ยงไว้นอกบ้าน และไม่เคยอนุญาตให้ลูกๆ เลี้ยงหมาเลย แน่นอน เธอไม่อนุญาตให้พนักงานลางาน

...

3
วันเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ลูกสาวที่รักได้รับหมาเป็นของขวัญมาหนึ่งตัว ทั้งครอบครัวฟูมฟักเลี้ยงดูเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง สนิทสนม ใกล้ชิด ผูกพัน รวมถึงตัวพี่นกเองก็รักหมาน้อยตัวนี้ไม่แพ้ใคร

วันหนึ่ง หลังพาเจ้าคอร์กี้รูปหล่อไปประกวด มันคงเหนื่อยจนป่วยไข้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพี่นกและคุณวิธิต-สามีรับหน้าที่พามันไปหาหมอ 3-4 วันติด ทั้งที่ทั้งคู่มีภาระหน้าที่ล้นมือ ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ คุณวิธิตลูบหัวลูกรักแล้วบอกว่า "ไม่เอาแล้ว ถ้ามันเหนื่อยนักคราวหน้าก็ไม่ต้องประกวดแล้วลูก" วินาทีนั้นพี่นกแว้บภาพในอดีตขึ้นมาเทียบกับภาพตัวเองในวันนี้ เธอบอกว่า เธอรู้สึกผิดที่ใจร้ายกับพนักงานคนนั้นในวันนั้น และเข้าใจแล้วว่า สำหรับคนที่รักและผูกพันกับหมา การที่หมาป่วยไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลและเอาใจใส่ รวมถึงเข้าใจความทุกข์ที่พนักงานคนนั้นมีต่อหมาของเขาด้วย

"พอเราเป็นเองก็จะรู้" พี่นกเล่า และบอกว่าเป็นแบบนี้กับทุกเรื่องนั่นแหละ "ถ้าเราไม่เคยมีแม่ป่วยต้องดูแล เราก็ไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น"

...

4
ผมชอบเรื่องเล่านี้ของพี่นก และนับถือที่พี่นกเปิดเผยความรู้สึกผิดที่มีต่อตัวเองในอดีตให้ฟังเพื่อเป็นบทเรียนสอนผมไปในตัว เรื่องราวนี้ชวนให้คิดถึงอะไรอีกหลายอย่างในชีวิตที่เรามักตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองและประสบการณ์จำกัดของเรา โดยยังไม่รับฟังรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเขาซึ่งแตกต่างจากเรา เพราะมีประสบการณ์ต่างกัน

ผมเล่าให้พี่นกฟังว่า เมื่อครั้งที่เคยลองใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้หลังจากนั้นเมื่อผมมานั่งหลังพวงมาลัยรถยนต์ ผมเห็นอกเห็นใจคนปั่นจักรยานมากขึ้นมาก เพราะตอนตัวเองปั่นจักรยานเคยโดยรถเบียด บีบแตร และจ่อไล่ เหมือนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัวเล็กกว่า ด้อยกว่า เราจะไม่ทำแบบนั้นกับคนปั่นจักรยานเด็ดขาด

แต่ก่อนที่เราจะปั่นจักรยานเอง เราก็เคยรู้สึกหงุดหงิดกับจักรยานบนถนน ความรู้สึกนี้เปลี่ยนไปสิ้นเชิงเมื่อลงไปปั่นเองดูสักครั้ง

...

5
บ่อยครั้งที่เราพูดถึง empathy และเราพยายามทำความเข้าใจผู้คนด้วยเหตุผล เราจะเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่เราเคยผ่านประสบการณ์เดียวกันกับคนนั้น เหตุผลแทบไม่จำเป็นต้องใช้เลย เพราะหัวใจของเราได้สวมรองเท้าเดียวกันกับคนนั้นแล้ว ไม่เพียง 'เข้าใจ' แต่ 'เข้าไปอยู่ในใจ' ของเขาเพราะร่วมประสบการณ์ในแบบเดียวกัน

เรื่องเหล่านี้ทำให้ตระหนักกับตัวเองเสมอว่า ทุกครั้งที่กำลังพิพากษาเรื่องราวของคนอื่นว่าถูก-ผิด ดี-ชั่ว มาก-น้อย เรากำลังตัดสินคนนั้นเรื่องนั้นด้วยประสบการณ์แบบไหน แล้วประสบการณ์ส่วนตัวอันจำกัดเหมาะสมแล้วหรือเปล่าที่จะใช้ในการตัดสินคนอื่นที่มีประสบการณ์และความรู้สึกที่แตกต่างจากเรา

แม้เราไม่สามารถเลี้ยงหมา ปั่นจักรยาน แม่ล้มป่วย หรือทุกสิ่งอย่างได้แบบเดียวกับคนตรงหน้า แต่อย่างน้อย การทำใจให้ว่างๆ วางไม้บรรทัดของตัวเองลง แล้วรับฟังความรู้สึก สถานการณ์ ข้อจำกัดต่างๆ ของคนตรงหน้าอย่างแท้จริง อาจพอทำให้เราได้มองเรื่องนั้นในมุมของเขาได้บ้าง เข้าไปสวมรองเท้าของเขาได้บ้าง

ฟังจริงๆ ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังโดยสวมบทบาทของเขา

คำว่า 'เข้าใจ' จึงมีความหมายลึกซึ้ง 'เข้า' ไปใน 'ใจ'

เมื่อนั้นจึง 'เห็นใจ' 

ไม่ได้เห็นจากข้างนอก แต่เห็นถึงภายในใจ

การฟังที่ลึกซึ้งช่วยให้มีประสบการณ์ร่วมทางความรู้สึกได้ แต่คนจำนวนมากพลาดโอกาสเช่นนี้ เพราะตัดสินก่อนฟัง แทนที่จะฟังโดยไม่ตัดสิน

https://www.facebook.com/141179435910975/posts/4369932666368943/

Law of Attraction

อธิบายกฎแรงดึงดูด

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งที่ดังมาก

หนังสือเล่มนั้นชื่อ The Secret ที่เขียนโดยรอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne)

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยกฎแรงดึงดูด – Law of Attraction

กฎนี้บอกง่ายๆ ว่าให้คิดถึงสิ่งดีๆ แล้วจะมีแต่เรื่องดีๆ เข้ามาหาเอง

เช่นขับรถเข้าไปในห้างใหญ่ แล้วจินตนาการว่าจะมีที่จอดรถว่าง เดี๋ยวก็จะเจอที่จอดรถว่างจริงๆ

หรือให้คิดถึงความมั่งคั่งร่ำรวยเข้าไว้ แล้วจักรวาลจะนำพาความมั่งคั่งนั้นมาให้

มีคนไม่น้อยที่มองว่ากฎแรงดึงดูดเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะถ้าเอาแต่คิดว่าจะมีเงินล้านแต่ไม่ลงมือทำ มันจะไปมีเงินล้านได้อย่างไร

วันนี้เลยอยากจะมานำเสนอกฎแรงดึงดูดในอีกมุมหนึ่งครับ

—–

ในหนังสือ Thinking, Fast and Slow ของเจ้าของรางวัลโนเบล Daniel Kahneman บอกว่าคนเรานั้นมีระบบการคิดอยู่สองแบบ

ระบบที่ 1 (System 1) คือความคิดที่รวดเร็ว ใช้อารมณ์และสัญชาติญาณ

ระบบที่ 2 (System 2) คือความคิดที่ช้ากว่า ใช้ตรรกะและความรอบคอบ

ผมขอเรียกระบบแรกว่าระบบอัตโนมัติ (automatic) และระบบที่สองว่าระบบตั้งใจ (deliberate)

“ระบบตั้งใจ” นั้นจะถูกใช้งานเมื่อจำเป็น เช่นการคิดคำนวณและการวิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำงาน แต่ระบบนี้เชื่องช้าและมีขีดจำกัด สังเกตง่ายๆ ว่าตอนค่ำๆ หลังจากทำงานมาทั้งวัน สมองของเราเหนื่อยล้าเกินกว่าจะทำอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล เราจึงนอนไถเฟซบุ๊คอยู่ได้เป็นชั่วโมงทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันไม่ดี

ส่วน “ระบบอัตโนมัติ” นั้นรวดเร็วกว่าและทำงานได้ทั้งวันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มันจึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการใช้ชีวิต เช่นการอาบน้ำแต่งตัว ขับรถไปทำงานและอะไรก็ตามที่เป็นกิจวัตร รวมถึงการตัดสินใจอะไรไวๆ เช่นเจอหน้าคนนี้แล้วเราไม่ถูกชะตา หรือการที่นิ้วโป้งเราหยุดชะงักเมื่อไถฟีดไปเจอเรื่องที่เราสนใจ พูดรวมๆ ก็คือมันเอื้อให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคิดนั่นเอง

ในแต่ละวันข้อมูลปริมาณมหาศาลจะประเดประดังเข้ามาผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยระบบอัตโนมัติจะรับเอาไว้เองเกือบทั้งหมด ระบบอัตโนมัติจึงทำหน้าที่เป็น “ตัวกรอง” เพื่อให้เหลือข้อมูลเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะหลุดรอดเข้าไปถึง “ระบบตั้งใจ” ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะระบบตั้งใจนั้นทำงานได้ช้าและเหนื่อยง่ายกว่าระบบอัตโนมัติมาก

นั่นคือเหตุผลที่เราสามารถมองเห็นหน้าคนนับร้อยในฝูงชนโดยไม่คิดอะไรจนกว่าจะเจอหน้าคนที่เรารู้จัก

—–

ตั้งแต่เริ่มทำงานมา ผมขับรถอยู่สองยี่ห้อเท่านั้นคือโตโยต้าและนิสสัน และผมก็คิดมาตลอดว่ารถสองยี่ห้อนี้คือรถที่มีจำนวนมากที่สุดในท้องถนนกรุงเทพ

แต่พอวันนึงแฟนอยากจะซื้อรถฮอนด้า จู่ๆ ผมก็เริ่มสังเกตเห็นว่าท้องถนนมีรถฮอนด้ามากกว่าที่คิดไว้เยอะเลย

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาผมก็คงเห็นรถฮอนด้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ฮอนด้าที่ผมเห็นมันถูกกรองด้วยระบบอัตโนมัติออกไปเกือบหมด ผมเลยไม่มีภาพจำอยู่เลยว่าจริงๆ แล้วรถฮอนด้านั้นอาจมีมากกว่านิสสันหรือโตโยต้าซะอีก

-----

สมัยเรียนประถม เวลาผมฟังเพลงผมก็จะได้ยินแต่ “เสียงนักร้อง” และ “เสียงดนตรี”

แต่พอเริ่มเล่นดนตรีตอนชั้นมัธยม ผมก็ฟังเพลงได้ละเอียดกว่าเดิม เริ่มได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยินอย่าง “เสียงเบส” “เสียงประสาน” หรือเสียงแบ็คกราวด์ที่ทำให้ดนตรีแน่นขึ้น

เมื่อเราใส่ใจกับสิ่งใด เราจะเห็นสิ่งนั้นและได้ยินสิ่งนั้นมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะไม่ถูกคัดออกโดย “ระบบอัตโนมัติ” อีกต่อไป

และนี่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีสำหรับกฎแรงดึงดูดครับ

หากเราคาดหวังที่จะเจอสิ่งดีๆ ในวันนี้ เราก็จะมองหาแต่สิ่งดีๆ และเมื่อเรามองหามัน มันก็จะถูกส่งมายัง “ระบบตั้งใจ” โดยที่ไม่ถูกคัดทิ้งโดย “ระบบอัตโนมัติ” ไปเสียก่อน

หากเราอารมณ์ดี เราก็จะคาดหวังให้คนอื่นอารมณ์ดีด้วย เราจึงยิ้มง่าย คนอื่นจึงยิ้มตอบ ซึ่งมันก็ทำให้เราเชื่อมั่นเข้าไปอีกว่าวันนี้จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น

แต่ในวันที่เราอารมณ์ไม่ดี คิดว่าวันนี้เจอแต่เรื่องแย่ๆ พอสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ระบบอัตโนมัติก็จะกรองสิ่งนั้นออกไปจนเรามองไม่เห็น แต่พอมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นเพียงหน่อยเดียวเราก็จะมองเห็นมันทันทีและคิดในใจว่า “นั่นไง เอาอีกแล้ว วันนี้วันซวยจริงๆ”

นั่นคือเหตุผลที่เวลาเรามีอคติกับใคร เราจะจับผิดเค้าได้ตลอดเวลา ในขณะที่เวลาเรารักเราหลงใคร ต่อให้เค้ามีสัญญาณไม่ดีอย่างไรเรากลับไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่เพื่อนทุกคนก็เตือนแล้วเตือนอีก

ดังนั้นเราอาจมองกฎแรงดึงดูดว่าเป็นการ “สับสวิทช์ตัวกรองข้อมูล”

จริงๆ ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นตามครรลองของมันนั่นแหละ

แต่เมื่อเราคาดหวังสิ่งดีๆ เราก็จะ “มอง” และ “เห็น” สิ่งดีๆ มากขึ้นเท่านั้นเอง

คนที่จดจ่อเรื่องช่องทางธุรกิจจึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจตลอดเวลา ในขณะที่คนที่สนใจเรื่องใต้เตียงดารา ก็จะได้รับข่าวเมาธ์ดาราตลอดวันเช่นกัน ยิ่งเดี๋ยวนี้ Facebook มันมีกลไกที่ดึงแต่เรื่องที่เราสนใจขึ้นมาให้ดูเสียด้วย

ก็แล้วแต่เราแล้วล่ะครับว่าจะใช้กฎแรงดึงดูดให้เป็นคุณหรือเป็นโทษกับตัวเอง


https://www.facebook.com/100044246268437/posts/256963002455240/

Thursday, January 21, 2021

in the right angle

อย่าไปดูที่ "เรียนสูง" แค่ไหน
แต่ให้ดูที่เอาไปใช้ได้รึเปล่า.

อย่าไปดูที่ "เก่ง" แค่ไหน 
แต่ให้ดูที่แก้ปัญหาได้หรือเปล่า.

อย่าไปดูที่ "อายุมาก" หรืออยู่มานานแค่ไหน 
แต่ให้ดูที่การทำตัวให้น่าเคารพ หรือรู้จักควบคุมอารมณ์ ได้หรือเปล่า.

อย่าไปดูที่บอกว่า "ถือศีลฟังธรรม" มากแค่ไหน 
แต่ให้ดูที่ลด ละ เลิกได้หรือเปล่า.

อย่าไปเชื่อที่บอกว่า "ไม่เคยโกง" 
แต่ให้ดูที่ว่าเมื่อมีโอกาสทำ แล้วยังไม่โกงได้หรือเปล่า.

อย่าไปดูคนที่ต่อหน้าก็ "พูดดี ทำดี" ถูกใจเรา 
แต่ให้ดูที่ลับหลังเรา เค้าทำด้วยหรือเปล่า.

อย่าไปดูที่ "แต่งงานอลังการ" หรือวันนี้ "รักมากแค่ไหน" 
แต่ให้ดูที่อยู่กันนานได้หรือเปล่า.

อย่าไปดูที่ "รํ่ารวยหรือยิ่งใหญ่" มากแค่ไหน 
แต่ให้ดูที่แบ่งปันใครบ้างหรือเปล่า..

ในละครชีวิต อย่าตัดสินคนที่ฉากเดียว เพราะว่าคนเราล้มได้ 
แต่ให้ดูที่ฉากต่อไปว่าสามารถลุกขึ้นมาได้ใหม่ได้หรือเปล่า

FWD Line

Monday, January 18, 2021

20-Miles March

กฎ 20 ไมล์

ในปีค.ศ.1911 สองนักสำรวจชาวนอร์เวย์และอังกฤษแข่งกันว่า ใครจะสามารถพิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นคนแรก

นักสำรวจชาวนอร์เวย์ชื่อโรอัลด์ อมุนด์เซน (Roald Amundsen)

ส่วนนักสำรวจชาวอังกฤษนั้นชื่อโรเบิร์ต ฟอลคอน สก๊อต (Robert Falcon Scott)

ทั้งสองคนอายุพอๆ กัน มีประสบการณ์พอๆ กัน ออกเดินทางในเวลาไล่เลี่ยกัน แถมในช่วงสองเดือนแรกหลังจากออกเดินทาง ทั้งสองคณะยังเจอวันที่อากาศแย่พอๆ กันด้วย (อ้างอิงจากสมุดบันทึกที่ทั้งสองคนเขียนเอาไว้)

ในวันที่ 14 ธันวาคม 1911 คณะของอมุนด์เซนได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่พิชิตขั้วโลกใต้

ผ่านไปอีก 35 วัน กว่าคณะของสก๊อตจะเดินทางมาถึง และได้เห็นภาพอันน่าเจ็บปวด คือธงชาตินอร์เวย์ที่ปักอยู่ก่อนแล้ว

(ในยุคนั้นยังไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีทางรู้ว่าแต่ละคณะเดินทางถึงไหนกันแล้วจนกว่าจะมาถึงขั้วโลกใต้และเห็นว่ามีธงปักอยู่หรือไม่)

คณะของอมุนเซนด์นั้นเดินทางกลับไปยัง Framheim ซึ่งเป็น Basecamp และประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสำเร็จในวันที่ 25 มกราคม 1912

แต่คณะของสก๊อตไม่มีใครเหลือรอดกลับมาแม้แต่คนเดียว ทุกคนเสียชีวิตระหว่างทางอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวร้าย

........

ความแตกต่างอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ คณะของอมุนเซนด์นั้นจะเดินทางวันละประมาณ 15-20 ไมล์เสมอ

แม้เวลาเจออากาศดีๆ สามารถเดินทางได้วันละ 30 ไมล์ แต่อมุนเซนด์ก็ยังเลือกที่จะเดินทางไม่เกิน 20 ไมล์อยู่ดี

แต่ในวันที่อากาศเลวร้ายมากๆ อมุนเซนด์ก็ยังออกเดินทาง แม้จะไปได้แค่ 10-15 ไมล์ก็ยังดี

ส่วนสก๊อตนั้นแตกต่าง ในวันที่อากาศแย่ๆ เขาและคณะจะหลบอยู่ในเต๊นท์และเขียนบันทึกแบบเซ็งๆ ว่าวันนี้อากาศไม่เป็นใจเอาเสียเลย

แต่ถ้าวันไหนอากาศดีมาก สก๊อตก็จะบุกตะลุยให้ได้ระยะไกลที่สุดเพื่อชดเชยวันที่ไม่ได้เดินทาง แต่การทำเช่นนั้นส่งผลให้คณะของสก๊อตเหนื่อยล้าเกินไป พอวันไหนที่อากาศแย่ๆ จึงไม่มีแรงใจและแรงกายพอที่จะทำอะไร

และนี่คือที่มาของกฎ 20 ไมล์ที่ผมอยากพูดถึงในวันนี้

ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จในเรื่องใด เราควรจะสร้างความก้าวหน้าในเรื่องนั้นทุกวัน

ไม่ว่าวันนั้นจะเจอเรื่องร้ายดีอย่างไร ‘สภาพอากาศ’ จะไม่เป็นใจแค่ไหน เราก็ไม่ควรหยุดเคลื่อนที่

และแม้ว่าวันไหนจะเส้นทางสดใสหรือเราจะมีกำลังเต็มพิกัด ก็ต้องระวังไม่หักโหมจนเหนื่อยล้าเกินไปในวันพรุ่งนี้

ผมเองก็เหมือนจะใช้กฎ 20 ไมล์นี้โดยไม่รู้ตัว คือเขียนบล็อกวันละหนึ่งตอนมาปีครึ่งแล้ว และตั้งใจจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

หาเป้าหมายหนึ่งที่มีคุณค่ากับเรา 
และเดินตามกฎ 20 ไมล์นี้ทุกวัน

วันหนึ่ง เราอาจพิชิตขั้วโลกใต้ของตัวเองก็ได้

-----

Anontawong's Musings Classic Post from 2016: https://anontawong.com/2016/08/01/20-miles-march/

Thursday, January 14, 2021

Worst at the Beginning

เมื่อทำสิ่งถูกมันจะแย่ที่สุดแค่ตอนแรก

ถ้าอาบน้ำเย็นในอากาศหนาวๆ แบบนี้ เราจะรู้สึกแย่ที่สุดแค่ 3 วินาทีแรกที่โดนน้ำ จากนั้นมันจะเริ่มแย่น้อยลง พออาบเสร็จก็หายหนาว แถมรู้สึกสดชื่นไปอีกหลายชั่วโมง

ถ้าซื้อของคุณภาพดีที่ราคาแพง เราจะรู้สึกแย่ที่สุดแค่ตอนที่เราจ่ายเงิน จากนั้นเราจะรู้สึกสบายใจเพราะใช้มันได้อย่างราบรื่น ยาวนาน และคุ้มค่า ไม่ต้องมานั่งซ่อมหรือซื้อใหม่บ่อยๆ

ถ้าต้องให้ฟีดแบ็คพนักงานว่าเขายังทำได้ไม่ดี มันจะรู้สึกแย่ที่สุดในตอนที่ต้องเอ่ยปากและเห็นสีหน้าที่ผิดหวังหรือเสียใจ จากนั้นมันจะค่อยๆ ดีขึ้นเพราะเขาจะปรับปรุงตัวเองหรืออย่างน้อยที่สุดก็จะระมัดระวังมากขึ้น

ในทางกลับกัน

อากาศเย็นๆ แบบนี้ ถ้าเราอาบน้ำอุ่นจัดๆ มันจะรู้สึกดีมากตอนที่อาบ จากนั้นผิวจะแห้งกร้านแถมยังอาจขึ้นผื่นให้คันไปทั้งวัน

ถ้าซื้อของราคาถูกคุณภาพต่ำ เราจะรู้สึกดีตอนจ่ายตังค์ แต่จากนั้นเราก็จะหัวเสียกับความก๊อกแก๊กของมัน

ถ้าพนักงานทำงานไม่ดีแล้วเราเลือกที่จะไม่บอก เราก็อาจสบายใจที่ไม่ต้องกระทบกระทั่ง แต่ก็ต้องทนอยู่กับผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป

เมื่อทำสิ่งถูกมันจะแย่ที่สุดแค่ตอนแรก

เมื่อทำสิ่งที่ผิดมันจะดีที่สุดแค่ตอนแรก

ก็คงต้องเลือกดีๆ ว่าจะเอาอย่างไหนครับ

-----

ขอบคุณประกายความคิดจากเพจเขียนไว้ให้เธอ – มา “วิม ฮอฟ” กัน

https://anontawong.com/2021/01/14/worst-at-the-beginning/

Tuesday, January 12, 2021

We are a team, not a family

We are a team, not a family
ทีมที่ดีคือ การทำงานแบบทีม
.
.
ผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการสร้างและบริหารองค์กรเลยครับ ถ้าเราตั้งคำถามว่าบริษัทของเราทำงานอย่างไร? คำตอบที่เรามักได้ยินคือ
.
“เราทำงานแบบเป็น “ครอบครัว พี่น้อง” กับ “เราทำงานกันเป็นทีม เป็นมืออาชีพ”
จริงๆ ยังมีคำตอบแบบอื่นอีกมากนะครับ เช่น  เราทำงานแบบเพื่อนกัน, เราทำงานกันแบบนักวิ่ง, เราทำงานกันแบบสิงโตออกล่าเหยื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย
.
ผมขอเขียนถึงสองคำตอบที่ผมได้ยินเยอะที่สุดคือ คำตอบว่า “ครอบครัว” กับ “ทีม” ละกันครับ
.
การทำงานแบบครอบครัวนั้นมีข้อดีหลายอย่างเช่น การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน, ความพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฯลฯ
.
แต่ก็มีข้อไม่ดีเยอะเหมือนกัน เช่น ความไม่ชัดเจน ความเกรงใจกัน และความที่เป็น “ครอบครัว” ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เราคงไม่ตัดญาติขาดมิตรกัน ถ้าเราคิดว่าคนนี้เป็นพี่น้อง ทำงานไม่ดียังไงก็คงหาทางพยายามลากกันไปเรื่อยๆ
.
ข้อเน้นแบบขีดเส้นใต้สองเส้นเลยนะครับว่า “กิจการครอบครัว” กับ “การบริหารงานแบบครอบครัว” เป็นคนละเรื่องกันนะครับ บริษัทครอบครัวก็บริหารงานทีมแบบมืออาชีพได้ ในขณะเดียวกันธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เป็นญาติกันแต่บริหารแบบครอบครัวก็เป็นไปได้เหมือนกัน
.
ในขณะที่ทีมกีฬามืออาชีพ (Professional sports team) นั้นโค้ชหรือผู้จัดการทีมมีหน้าที่เลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดของทีมในตอนนั้นเพื่อลงเล่นในแต่ละตำแหน่ง
.
คำว่าดีที่สุดในตอนนั้นหมายถึงทุกมิตินะครับ ไม่ว่าจะเป็นความฟิต ความสามารถส่วนบุคคล หรือทัศนคติ
.
เพราะบางทีคนที่เก่งมากๆ อาจจะฉายแววไม่ออก ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเองก็จะกลายเป็นคนไม่เก่ง หรือเก่งได้ไม่เท่าค่าตัวไปก็มีเยอะครับ
.
หรือพวกที่เก่งแต่เกเร ไม่เล่นให้เข้ากับระบบของทีม ไร้วินัย ฯลฯ คนพวกนี้ก็ต้องถูกนั่งสำรอง หรือบางทีไม่มีชื่อติดเลยด้วยซ้ำ
.
ผมว่าเอาที่เราคุ้นเคยที่สุด ก็มีทีมฟุตบอลนี่แหละเห็นภาพชัดมาก
.
สมัย ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตอนนั้น “ดาวดัง” หลายคนก็ไม่ได้ลงเล่นด้วยเหตุผที่กล่าวมาก็มีครับ
.
ผมเองไม่ได้เป็นคนดูบอล แต่เนื่องจากเพื่อนสนิทของผมเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เลยพอจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ มาบ้าง
.
อย่างกรณีของการซื้อสุดยอดซุปเปอร์สตาร์อย่าง ฮวน เซบาสเตียน เวรอน โคตรมิดฟิลด์ ทีมชาติอาเจนติน่า
.
ฤดูกาล 2000-2001 เวรอนย้ายมาร่วมทีมแมนยูจาก ลาซิโอด้วยค่าตัว  28.1 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ และแพงสุดในวงการพรีเมียร์ยุคนั้นเลย แต่ฟอร์มของเจ้าตัวกลับไม่ดี อาจจะเป็นเพราะว่าเกมของพรีเมียร์ ลีกนั้นรวดเร็วกว่าสมัยเขาเตะในอิตาลี
.
ในที่สุดลากกันต่อไปไม่ไหว ปี 2003 เวรอนก็ย้ายไปอยู่เชลซีด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ แม้แต่ที่สุดของกัปตันทีมคนนึงของแมนยูอย่าง รอย คีน เมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่เหมาะกับทีม โดยฟางเส้นสุดท้ายมาจากความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมทีมในปี 2005 จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เรียกว่าเละตุ้มเป๊ะพอสมควร โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตัวของคีนกับเพื่อนร่วมทีม อย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์
ในที่สุดก็ลากกันไปต่อไม่ได้ ต้องแยกทางกันอยู่ดีครับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับรอย คีน กลางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดวิสัยมากๆ โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่เกือบจะเหมือน “แตะต้องไม่ได้” อย่างรอย คีน
.
ข้อเสียของการเล่นก็มีครับ การโดนจับตาอยู่ตลอดเวลาบางครั้งก็สร้างความเครียดได้ และเมื่อทุกอย่างวัดจาก Performance นั่นหมายถึงถ้าเราทำได้ไม่ดี ความเสี่ยงในหน้าที่การงานก็จะตามมาทันที
.
ถ้าถามว่าการบริหารแบบไหนระหว่าง “ครอบครัว” และ “ทีมกีฬาอาชีพ” แบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ในเชิงขององค์กรทั้งในแง่ของการบริหารงานปกติและการสร้างนวัตกรรม
.
ส่วนตัวผมคิดว่าการบริหารแบบ “ทีม” นั้นน่าจะดีกว่าเยอะครับ โดยเฉพาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากขนาดนี้
.
เพราะถ้าเราบริหารแบบ “ครอบครัว” หลายครั้งด้วยความเกรงใจ ความผูกพัน คนที่ทำงานไม่ดี เราก็พยายามลากๆ กันไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีกับส่วนรวมแน่ๆ
.
ยิ่งถ้าเรานึกภาพทีมกีฬามืออาชีพ  เราจะยิ่งเห็นภาพชัดเจนครับ
.
การบริหารทีมฟุตบอล ต้องเอาคนที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น ลงในทุกตำแหน่ง และที่สำคัญคือ ต่อให้เล่นบอลสวยงามยังไง ถ้ายิงประตูไม่ได้ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ เพราะเกมมีกติกาวัดผลกันด้วยประตู
.
ในหนังสือเรื่อง No Rules Rules ของ Reed Hasting เขียนไว้ว่า การทำงานแบบทีมกีฬามืออาชีพ นั้นหมายถึง
.
-   เพราะต้องการผลงานที่ดีเยี่ยม ทุกทีม ทุกตำแหน่งจะต้องใส่คนที่ดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลานั้นๆให้ได้
-   ฝึกซ้อมเพื่อเอาชนะ เพราะสกอร์คือ ชัยชนะ
-   พร้อมรับ Feedback แบบตรงไปตรงมาเพื่อพัฒนาเกมส์ตัวเองเสมอ ทั้งจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีม
-   เข้าใจว่าความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แม้ว่าจะพยายามขนาดไหน แต่ถ้า Performance ไม่ได้ ยังไงก็ต้องถูกเปลี่ยนออก เพราะการจะชนะในเกมส์ เล่นสวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องยิงประตูให้ได้ด้วย
-   ในทีมกีฬาที่ดี ผู้เล่นต้องเล่นได้ยอดเยี่ยมในทุกตำแหน่ง เมื่อผู้เล่นเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ความเชื่อใจกันและกันก็จะตามมา ซึ่งเป็นพื้นฐานของสุดยอดทีม
.
การสร้างทีมที่ดีนั้นเป็นการทำอย่างต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำวันนี้จะเอาผลพรุ่งนี้เลยคงยากครับ
.
ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องถามตัวเองมากๆเลยคือ ถ้าเราเป็นหัวหน้าต้องถามว่า 
วันนี้เราทำหน้าที่ผู้จัดการทีมดีรึยัง?
.
ถ้าเราเป็นลูกทีม ต้องถามว่า วันนี้เราเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุด ณ จุดที่อยู่และสถานที่อยู่แล้วหรือยัง?
.
เหมือนอย่างที่ Henry Ford เคยกล่าวไว้ว่า
"If everyone is moving forward together, then success takes care of itself."
.
“ถ้าทุกคนเดินหน้าไปด้วยกัน ความสำเร็จก็จะมาถึงเอง”
.
.
MissionToTheMoon

https://www.facebook.com/215052905365961/posts/1462165610654678/

Monday, January 11, 2021

Adding Too Much Value

เป็นหัวหน้าอย่า add value มากเกินไป

ปัญหาคลาสสิคของหัวหน้าที่ฉลาดคือการ add value มากเกินไป

เวลาลูกน้องมีไอเดียดีๆ อะไรมานำเสนอ หัวหน้ามักอดไม่ได้ที่จะออกความเห็น

“เป็นไอเดียที่ดีนะ แต่พี่ว่าทำแบบนี้น่าจะเวิร์คกว่า”

ฟังดูก็เมคเซนส์ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่า และน้องก็มาหาเราเพราะต้องการคำแนะนำ

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้ก็คือ คำแนะนำของเราอาจจะทำให้ไอเดียดีขึ้น 5% แต่ทำให้ commitment ของน้องน้อยลงไป 50%

เพราะเมื่อหัวหน้าออกความเห็นมากเกินไป ไอเดียนั้นมันจะกลายเป็นไอเดียของหัวหน้า ไม่ใช่ไอเดียของน้องแล้ว ความรู้สึกเป็นเจ้าของ หรือ ownership ย่อมน้อยลงไปเยอะ

งานจะออกมาดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับ สองปัจจัย คือ

คุณภาพของไอเดีย x ความทุ่มเทในการเข็นไอเดียออกมาให้สำเร็จ

Quality of the idea x the commitment to make it work

ดังนั้น ในฐานะหัวหน้า เราต้องระวังที่จะไม่ add value มากเกินไป

เพราะบรรทัดสุดท้ายอาจจะได้ของที่แย่กว่าเดิมครับ

-----

ขอบคุณเนื้อหาจาก Youtube: Marshall Goldsmith: Adding Too Much Value

https://anontawong.com/2021/01/11/add-value/

Saturday, January 9, 2021

Signs of Maturity

19 สัญญาณของความเป็นผู้ใหญ่

1. ลงมือทำทั้งๆ ที่ยังไม่มีอารมณ์

2. อดทนฟังทั้งๆ ที่คันปาก

3. มองไกลกว่าหนึ่งช็อต

4. ความสัมพันธ์มาก่อนการเป็นฝ่ายถูก

5. ทำสิ่งที่ถูกแม้ไม่มีใครล่วงรู้

6. รู้ว่าความจริงของเราไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

7. เห็นต่างด้วยความเคารพอีกฝ่าย

8. อ่อนน้อมแม้แต่กับคนที่อ่อนกว่า

9. สนใจเรื่องราวของคู่สนทนามากกว่าอยากเล่าเรื่องราวของตัวเอง

10. ยินดีอย่างจริงใจในความสำเร็จของคนอื่น

11. ให้เครดิตคนอื่นเสมอ

12. ไม่ด่วนตัดสินคน ไม่ด่วนฟันธง

13. เข้าใจว่าอะไรอะไรมันก็ไม่แน่

14. หนักแน่นแต่อ่อนโยน

15. เด็ดขาดแต่ใจเย็น

16. ไม่แสวงหาการยอมรับ

17. ทำเยอะเรียกร้องน้อย

18. ความสามารถสูง ความต้องการต่ำ

19. ข้างนอกอย่างไรข้างในอย่างนั้น

https://anontawong.com/2021/01/09/signs-of-maturity/

Mother Teresa's Teaching

"คนเราชอบทำอะไรโดยไม่มีเหตุผล 
นึกถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จงให้อภัยเขา

เวลาที่คุณมีน้ำใจกับคนอื่น 
บางคนอาจสงสัยในเจตนาของคุณ
อย่างไรก็ตาม จงมีน้ำใจต่อไป

เมื่อคุณประสบความสำเร็จ 
คุณอาจถูกหักหลังหรือมีศัตรู
อย่างไรก็ตาม จงประสบความสำเร็จต่อไป

ถ้าคุณเป็นคนซื่อสัตย์
คนอื่นอาจหลอกคุณได้
อย่างไรก็ตาม จงเป็นคนซื่อสัตย์ต่อไป

คุณต้องใช้เวลาเนิ่นนานในการสร้างบางสิ่งขึ้นมา
แต่ใครบางคนอาจทำลายสิ่งที่คุณสร้างโดยใช้เวลาเพียงชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม จงสร้างต่อไป

เมื่อคุณพบความสงบสุข
ใครบางคนอาจอิจฉาคุณ
อย่างไรก็ตาม จงมีความสุขต่อไป

ความดีที่คุณทำในวันนี้
วันพรุ่งนี้อาจไม่มีใคร
อย่างไรก็ตาม จงทำความดีต่อไป

เวลาคุณให้อะไรใคร
อาจมีคนบอกว่าคุณให้ไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม จงเป็นผู้ให้ต่อไป"

... ข้อความของแม่ชีเทเรซ่า [Mother Teresa, 1910 – 1997] ที่จารึกไว้บนกำแพงบ้านเด็กกำพร้าในประเทศอินเดีย ถ้อยคำเหล่านี้ คือสิ่งที่แม่ชีเทเรซ่ายึดถือและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง "ความสำคัญของการมีชีวิตอยู่"

https://m.facebook.com/MadmanBooks/photos/a.626425884098831/1336115713129841/?type=3