Sunday, March 14, 2021

Surrounded by idoits

10 วิธีคิดเพื่อเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า

1. คนงี่เง่าดึงดูดเข้าหากัน
ฉะนั้นเราต้องไม่งี่เง่าเสียเอง
(งี่เง่า=อยู่ใกล้แล้วเหนื่อยใจ)

2. คนเหมือนกันแต่คนไม่เหมือนกัน
เข้าใจเขา ใจเราก็เบาขึ้นได้

3. เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้
ที่เปลี่ยนได้คือตัวเรา

4. ไม่คาดหวัง เลิกเปรียบเทียบ
หยุดตัดสิน คนงี่เง่าที่อยู่ตรงหน้า
อาจกลายเป็นคนเก่ง
ที่เห็นต่างกับเรา

5. คำว่างานหนัก
อยากมีเวลาให้ครอบครัว
ของเรากับเขา อาจไม่เท่ากัน
เพราะแต่ละคนให้คุณค่า
กับสิ่งต่างๆไม่เท่ากัน

6. ดุ พูดไม่รักษาน้ำใจ
สำหรับเรา อาจเป็น
จริงใจตรงไปตรงมา สำหรับเขา
ใจดี ประนีประนอม
สำหรับเรา อาจเป็น
ไม่ชัดเจน ไม่ตัดสินใจ สำหรับคนอื่น

7.  หนีไป อย่าโลกสวยเกินเหตุ
เพราะหลายครั้งบางคนก็
ไม่ไหวจะเคลียร์ อย่าทน 555

8. อภัยให้คนอื่นที่งี่เง่า
เริ่มจากอภัยให้ตัวเอง
ที่รับมือได้ไม่ดีพอ

9. ให้เกียรติพูดจาดีแก่กัน
ไม่มีใครเกลียดการได้รับเกียรติ

10. คนงี่เง่า อาจไม่มีอยู่จริง
มีแต่คนที่ไม่เข้าใจตัวเองว่า
จะรับมือกับคนที่ต่างกับเรายังไง

#วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า

https://www.facebook.com/100044454548744/posts/282562773235539/

Friday, March 12, 2021

No Ears

นาทีแรกที่ นโปเลียน ฮิลล์ เห็นลูกชายแรกเกิดของเขานั้น เขาตะลึงงัน พูดอะไรไม่ออก 

ทารกไม่มีหู!

หมอบอกเขาหลังตรวจ ‘หู’ ของทารกว่า เด็กไม่มีอวัยวะที่บ่งบอกว่าโสตประสาทจะได้ยินเสียงจากโลกภายนอกได้ หมอกล่าวว่า “ลูกชายคุณจะไม่ได้ยิน และจะพูดไม่ได้ เขาจะเป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้ไปตลอดชีวิต”

นโปเลียน ฮิลล์ เป็นนักเขียนหนังสือเสริมกำลังใจที่มีชื่อเสียงของอเมริกาต้นศตวรรษที่ 20 คราวนี้นักเขียนที่เสริมสร้างกำลังใจให้คนอื่นกลับต้องการกำลังใจอย่างที่สุด!

เขาไม่เชื่อว่าการไม่มีหูเป็นจุดสิ้นสุดอนาคตของทารกคนนี้ เขาปฏิเสธที่จะเชื่อหมอว่าเด็กหมดหวังแล้วในชาตินี้ เขามีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อหมอ เขาตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมให้ลูกหูหนวกและเป็นใบ้โดยเด็ดขาด

แล้วเขาก็นึกถึงคำคำหนึ่ง : ความปรารถนาอย่างแรงกล้า - Burning Desire

เขาเชื่อว่าหากมีไฟปรารถนาแรงกล้าพอ ธรรมชาติจะทำให้มันเกิดขึ้นเองตามทางของมัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อสายน้ำถูกผาหินขวางทาง มันก็จะทะลวงไปทางอื่นจนได้ ต่อให้ธรรมชาติก็ไม่อาจบังคับให้เขายอมรับชะตากรรมนี้

เขาพร่ำบอกตัวเองว่า ต้องมีทางสักทางสิ ต้องมีหนทางหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ยินและพูดได้เหมือนปกติ และเขาต้องค้นมันให้พบจนได้

แต่ก่อนอื่น เขาต้องฝังไฟปราถนาอย่างแรงกล้านี้ใส่ในหัวลูกชายตั้งแต่เด็กว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ลูกสามารถก้าวข้ามความพิการทางกายภาพไปสู่เป้าหมายได้ ถ้าลูกต้องการมันจริง ๆ”

.

พ่อกับแม่ตั้งชื่อทารกที่ไม่ครบสามสิบสองคนนี้ว่า แบลร์ ตั้งแต่เล็ก แบลร์ได้รับการเลี้ยงดูเหมือนเด็กทั่วไป เข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดา ไม่ใช่โรงเรียนคนหูหนวก ทั้งยังถูกห้ามเรียนภาษามือเพราะพ่อแม่ของแบลร์มุ่งมั่นให้ลูกเป็นคนปกติให้จงได้

แต่การต่อต้านสิ่งที่ดู ‘เป็นไปไม่ได้’ ของคนไม่มีหู ห่างไกลจากเรื่องง่ายหลายโยชน์ เมื่อถึงวัยที่เด็กทั่วไปเริ่มพูด ลูกของเขาเงียบสนิท ไม่มีวี่แววว่าจะได้ยินอะไรหรือส่งเสียงสักคำ

ในเมื่อไม่มีหูสำหรับการได้ยิน และเสียงคือรูปแบบของการสั่นสะเทือนอย่างหนึ่ง เขาจึงพูดกับลูกโดยแตะริมฝีปากของเขาที่ศีรษะของลูกบริเวณ Mastoid bone ซึ่งอยู่ด้านหลังหู ส่งคลื่นเสียงที่สั่นสะเทือนตรงถึงหัวของลูกโดยไม่ต้องผ่านหู ทั้งพ่อและแม่รู้สึกประหลาดใจที่พบว่า ด้วยวิธีนี้ทารกสามารถได้ยินเสียงอย่างน้อยในระดับหนึ่ง พวกเขาสื่อสารด้วยวิธีนี้อย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า

ผู้เป็นพ่อซื้อจานเสียงมาเล่นเพลงให้ลูกฟัง และสังเกตเห็นว่าเด็กชอบ ‘ฟัง’ โดยงับฟันที่ขอบจานเสียง ภายหลังจึงรู้ว่ามันเป็นหลักการฟังเสียงแบบ Bone Conduction หรือการส่งคลื่นเสียงสู่หูชั้นในผ่านกระดูกที่กะโหลกศีรษะ

พ่ออ่านนิทานที่แต่งเองให้ลูกฟังเป็นประจำ เป็นนิทานที่ออกแบบมาให้มีคติสอนใจว่า อุปสรรคทางร่างกายไม่ใช่ปมด้อย ปลูกฝังให้มองโลกในแง่ดี ใช้ความเชื่อและความปรารถนาแรงกล้านำทาง

พ่อฝังทัศนคติในเชิงบวกแก่ลูกว่า “รู้ไหมว่าลูกจะมีข้อได้เปรียบเหนือคนอื่น เช่น ครูจะดูแลลูกเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ถ้าลูกโตพอขายหนังสือพิมพ์เอง ก็จะได้เงินทิปมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะใคร ๆ ก็ชอบคนที่สู้ชีวิต”

อาจเป็นการปลูกฝังการมองโลกในแง่ดีอย่างนี้เอง ตั้งแต่เด็ก แบลร์ไม่งอแง ต่างจากพี่ชายของเขาที่เมื่ออยากได้อะไร ก็นอนเกลือกกลิ้งบนพื้นห้อง ถีบเท้ากลางอากาศเพื่อเรียกร้องสิ่งที่อยากได้ แต่แบลร์พึ่งตนเองเสมอ

เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนพิการ...

.

โดยวิธีนี้ความสามารถได้ยินของแบลร์ด้วยวิธีนี้พัฒนาขึ้นตามลำดับ ในยามปกติเขาไม่ได้ยินเสียงคนอื่นพูด ยกเว้นตอนตะโกนใกล้ ๆ

เมื่ออายุเจ็ดขวบแบลร์ขออนุญาตพ่อไปขายหนังสือพิมพ์เหมือนเด็กคนอื่น ๆ แม่ไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับเด็กเล็กที่เดินเพ่นพ่านตามถนนโดยไม่ได้ยินเสียงอะไร

บ่ายวันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ ทิ้งเขาไว้กับคนใช้ เด็กชายปีนหน้าต่างครัวออกจากบ้าน ยืมเงินหกเซ็นต์จากเพื่อนบ้านซื้อหนังสือพิมพ์ไปขาย นำกำไรไม่กี่เซ็นต์ที่ได้ไปลงทุนซื้อหนังสือพิมพ์อีก แล้วเอาไปขายอีกรอบ ทำเช่นนี้หลายรอบจนถึงเย็น หลังจากคืนเงินหกเซ็นต์ไปแล้ว เขาได้กำไรสี่สิบสองเซ็นต์ 

ค่ำนั้นแบลร์นอนหลับ มือยังกำเงินที่ได้มาจากการขายหนังสือพิมพ์ คนเป็นแม่ร้องไห้เมื่อรู้ความจริงว่าเด็กชายกล้าออกไปสู้โลกภายนอกด้วยตัวเอง

เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนพิการ!

การปลูกฝังเด็กไม่ให้รู้สึกว่าตนเองพิการทำให้เด็กกล้า มุ่งมั่น พึ่งตนเองได้ เป็นคุณสมบัติที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต 

แบลร์มิได้ผ่านชีวิตอย่างคนใบ้หรือหูหนวกอย่างที่หมอฟันธง ผ่านการฝึกฝนการฟังแบบเฉพาะตัว, การผ่าตัดครั้งหนึ่ง, การใช้เครื่องมือช่วยฟัง และความปรารถนาอย่างแรงกล้า แบลร์พัฒนาทักษะเฉพาะตัวจนสามารถได้ยินและพูดได้เกือบเหมือนคนปกติ แบลร์เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ทำงานเช่นคนปกติ และประสบความสำเร็จในชีวิต

อาทิตย์สุดท้ายในมหาวิทยาลัย แบลร์ได้รับอุปกรณ์ทดลองการฟังแบบใหม่จากบริษัทแห่งหนึ่ง และได้ยินเสียงดีขึ้นมาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาสัมผัสเสียงต่าง ๆ ใกล้เคียงคนปกติ ได้ยินเสียงที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เสียงวิทยุ เสียงรถ เสียงนกร้อง 

ทันใดนั้นแบลร์ก็อยากอุทิศชีวิตที่เหลือของเขาช่วยเหลือคนหูพิการให้ได้ยิน โดยใช้ประสบการณ์ของเขาเอง เขาเสนอโครงการให้บริษัทผลิตอุปกรณ์ช่วยคนหูหนวก และได้ทำงานที่นั่นทันที

ชีวิตของแบลร์ไม่มีทางเป็นอย่างที่เป็นอยู่หากเขาไม่ได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่จะสู้ และหากพ่อแม่ของเขาเชื่อคำตัดสินของหมอและยอมแพ้ตั้งแต่วันแรก เพราะโดยหลักวิชา เขาไม่มีทางสามารถได้ยินเด็ดขาด มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ตรงกันข้าม สิ่งที่พ่อแม่เขาทำคือสร้างความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนปกติ มันฝืนธรรมชาติ แต่มันฝังทัศนคติที่ดีในหัวเด็ก และทัศนคติที่ดีนี้ช่วยทำให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคทางกายภาพไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาเคยนึกเล่น ๆ ว่าหากพ่อแม่ยอมแพ้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นสภาพเขา เขาย่อมเป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้โดยมิต้องสงสัย ตลอดชีวิตเขาจะเป็นคนที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

ถ้าเด็กที่ไม่มีหูคนหนึ่งสามารถข้ามพ้นอุปสรรคทางกายเช่น แบลร์ ยังมีคนพิการอีกมากมายเพียงไรที่สามารถข้ามอุปสรรคส่วนตัวได้ ถ้าพวกเขาต้องการมันจริง ๆ ตัวอย่างมีมากมายนับไม่ถ้วน : คนตาบอดปีนเขาเอเวอเรสต์, คนพิการเล่นกีฬา, คนไร้แขนเล่นเปียโนและวาดรูป ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่างพลังของไฟปรารถนาอย่างแรงกล้า ราวกับว่าธรรมชาติสร้างพลังชดเชยให้ความไม่ปกติ ขอเพียงรักษาไฟนั้นไว้มิให้ดับ คนที่อวัยวะไม่สมประกอบก็อาจเดินไปได้ไกลกว่าคนมีอวัยวะครบสามสิบสองด้วยซ้ำ

แน่ละ ไฟปรารถนาอย่างแรงกล้านี้อาจใช้ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกกรณี แต่มันก็ไม่จบด้วยศูนย์เปอร์เซ็นต์แน่นอน อย่างน้อยที่สุดใครคนนั้นก็ไม่ดูถูกตัวเอง และมันคือคุณสมบัติที่แม้แต่คนร่างกายสมบูรณ์จำนวนมากขาด ไม่มีอะไรน่าหดหู่ไปกว่าการเห็นคนปกติทำตัวเป็นคนพิการ

พ่อแม่จำนวนมากในโลกเลี้ยงลูกให้เป็น ‘คนพิการ’ โดยไม่รู้ตัว ปลูกฝังความคิดให้เด็กต้องพึ่งพาคนอื่นไปตลอดชีวิต กลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต

ความไม่สมประกอบทางกายภาพเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ ขนาดสมองและหน้าตาก็เลือกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่เป็น ‘คนพิการ’ ได้

หมายเหตุ : เรื่องของแบลร์เก็บความมาจากหนังสือเรื่อง Think and Grow Rich (1937) ของ นโปเลียน ฮิลล์

.

จากหนังสือ #ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน / https://bit.ly/3eGgSdl

https://www.facebook.com/100044361012918/posts/291092425712789/

Tuesday, March 9, 2021

Automatic Negative Thoughts : ANTs

มีมดในสมองคน

***************
ตามปกติแล้ว คนเราจะ "คิดลบ" เพื่อความอยู่รอดของเราครับ 

เช่น สมัยก่อนที่เราเป็นมนุษย์ถ้ำ หากเรา เห็นพุ่มไม้ไหว ๆ 

สมองของเราจะคิดลบก่อนเลยว่า 
ข้างหลังพุ่มไม้นั้น อาจเป็น "เสือ" ที่จะทำอันตรายเรา 

เราจะไม่ "คิดบวก" ว่า ข้างหลังพุ่มไม้นั้นเป็น "กระต่าย" เพื่อเราจะจับไปเลี้ยงดูเล่น   

การคิดลบแบบนี้นี่เองครับ 
ที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ของเรา "อยู่รอด" มาจนถึงทุกวันนี้  

แต่เนื่องจากปัจจุบัน เสือทั้งหลายได้ถูกจับไปไว้ในกรงเกือบหมดแล้ว

โอกาสที่เราจะเจอเสือจริง ๆ น้อยมาก 
แต่ "สมอง" ของเรา ก็ยังติดกับการคิดลบแบบนี้อยู่ ทำให้เรามีความทุกข์ 

ซึ่งการคิดลบแบบนี้ทำให้เกิด "มด" ตัวที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตเรา  

ซึ่งมดตัวที่ว่านี้ คือ Automatic Negative Thoughts : ANTs  
ซึ่งหมายถึงการเป็น "คนคิดลบโดยอัตโนมัติ" 

Dr. Daniel G. Amen ซึ่งเป็นจิตแพทย์ชื่อดังของ USA กล่าวว่า 

ในสมองของคนเรามี "มดอยู่ 9 สายพันธุ์" 
ที่ทำให้เราเกิดความทุกข์  

เรามาลองดูว่า มีมดสายพันธุ์ไหนบ้าง ที่อยู่ในสมองของเรา 

1. สายพันธุ์ "เสมอ" และ "ไม่เคย" (ANT 1 "Always" and "Never") 
มดสายพันธุ์นี้มีมากที่สุด เช่น เคยไหมที่เราชอบคิดว่า 

"เขาไม่เคยฟังฉันเลย" "ฉันผิดพลาดเสมอ" "เขาขึ้นเสียงกับฉันทุกครั้ง"  
ซึ่งจริง ๆ แล้ว เหตุการณ์ไม่ได้เป็นแบบนี้ 
แต่สมองจะคิดแบบเหมารวม
โดยที่จริงแล้ว เขาก็ฟังเราบ้าง เราก็ทำถูกบ้างผิดบ้าง หรือ บางทีเขาก็รับฟังเราไม่ได้ขึ้นเสียงกับเราทุกครั้ง เป็นต้น 

2. สายพันธ์ "เมินสิ่งดี ดูสิ่งลบ" (ANT 2 "Focusing on the Negative") 

มดสายพันธุ์นี้ ทำให้เรามองแต่เฉพาะด้านลบ
เช่น "ล้างรถทีไร ฝนตกทุกที" แต่จริง ๆ แล้ว 
เราล้างรถ 10 ครั้ง ฝนอาจจะตก 1 ครั้ง 
แต่เรามัก Focus ไปที่ความคิดด้านลบ   

3. สายพันธุ์ "หมอดูซาดิสต์" (ANT 3 "Foutune Telling")

มดสายพันธุ์นี้ร้ายกาจมาก เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตเรา 

เช่น เราคิดว่า "เดี๋ยวตอนที่เราขึ้นไปพูดบนเวที คนคงหัวเราะเยาะเราแน่" 
ซึ่งการคิดแบบนี้ จะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นผิดปกติ มือสั่น ขาสั่น เสียงสั่น และลืมบท ทำให้เวลาขึ้นไปพูด คนก็จะหัวเราะเยาะเราจริง ๆ 

4. สายพันธุ์ "อ่านใจไปเรื่อยเปื่อย" (ANT 4 "Mind Reading") 

มดสายพันธุ์นี้ ชอบเดาใจ คิดไปเองในแง่ลบ เช่น เห็นคนจับกลุ่มคุยกัน 
ก็คิดว่า "คนพวกนั้น กำลัง นินทาเราแน่ ๆ เลย"  หรือ 
หัวหน้าพูดอะไรในภาพรวมในที่ประชุมก็คิดว่า 
"หัวหน้ากำลังหมายถึงเราแน่เลย"
ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการคิดไปเอง 

5. สายพันธุ์ "รู้สึก...แต่ไม่นึกคิด" (ANT 5 "Thinking with Your Feelings") 

 มดพันธุ์นี้ ทำให้เราชอบมีความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบ 
เช่น "ฉันรู้สึกว่าฉันเป็นส่วนเกินของหน่วย" "ฉันรู้สึกว่าใคร ๆ ก็ไม่รักฉัน" ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความรู้สึกของเราเอง ไม่ใช่ความรู้สึกที่คนอื่นมีต่อเรา 

6. สายพันธุ์ "หมกมุ่นอยู่กับอดีต" (ANT 6 "Guilty of Beating) 

มดสายพันธุ์นี้ทำให้เราชอบย้อนคิดถึงอดีต เช่น
ติดคำพูดว่า "ถ้าเพียงแต่ตอนนั้น เราไม่ตัดสินใจผิด ชีวิตเราคงไม่เป็นแบบนี้" หรือ 
"ไม่น่าเลย ฉันไม่น่าพูดกับพ่อแม่อย่างนั้นไปเลย"  
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ควรเอา อดีตเป็น "ห้องขัง" ชีวิตเรา 
แต่ควรใช้อดีตเป็น "ห้องเรียน" ที่เราจะไม่ทำแบบนั้นอีก 

7. สายพันธุ์ "ตราหน้า แล้วด่าให้ยับ" (ANT 7 "Labeling")

มดพวกนี้ ชอบตราหน้าคนอื่น  
เช่น "ไอ้พวกรากหญ้า คิดไม่เป็น"  "ไอ้พวกคนจีนเสียงดัง" 
"ไอ้พวกเด็กเจนวายหัวดื้อ"  ซึ่งแท้จริงแล้ว 
มีคนรากหญ้ามากมายที่หัวดีกว่าคนจบปริญญาเอก 
มีคนจีนมากมายที่มีกิริยาเรียบร้อย 
และมีเด็กเจนวายมากมายที่น่ารักและเคารพผู้ใหญ่ 

8. สายพันธู์ "เพราะฉันขัน ตะวันจึงขึ้น" (ANT 8 "Personalization") 

มดพันธุ์นี้มาจากนิทานเรื่องหนึ่ง ที่มีไก่ตัวหนึ่งลุกออกไปขันทุกเช้า 
พอวันหนึ่ง ไก่ป่วยหนักมาก ลูก ๆ ก็บอกว่า พ่อวันนี้ไม่ต้องไปขันหรอก 
แต่พ่อบอกว่าไม่ได้หรอก "เพราะพ่อขัน ตะวันจึงขึ้น 
ถ้าพ่อไม่ออกไปขัน ดวงอาทิตย์จะไม่ขึ้น แล้วโลกจะแย่แน่"  
ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด หลงตัวเอง คิดว่าตัวเอง คือคนสำคัญเกินเหตุ 

9. สายพันธุ์ "คุณน่ะทำ" (ANT 9 "Blame") 
มดสายพันธุ์นี้น่ากลัวที่สุด เพราะจะทำให้เราคิดว่า 

ที่ชีวิตเราเป็นแบบทุกวันนี้ เพราะ 
พ่อแม่ หัวหน้า เพื่อน สังคม ฯลฯ เป็นต้นเหตุ  
มดสายพันธุ์นี้ทำให้เรา "โทษคนอื่น" 
โดยไม่ยอม หันมาดูตัวเอง 
ซึ่งการคิดแบบนี้ เป็นการคิดแบบ "เหยื่อ" 
คือ คิดว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการกระทำของคนอื่น
ซึ่งทำให้ชีวิตหมดพลัง และไร้คุณค่า อีกทั้งจะไม่ยอมปรับปรุงตัว


Credit: คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4366518950030377&id=100000169455098

Monday, March 1, 2021

Business Culture 1

“ที่นี่เราทำงานกันแบบครอบครัว”
หลุมพรางที่คนรุ่นใหม่อยากเตือนรุ่นน้องว่าให้ “หนีไป!!” 
.
Part1 “เดอะ แบก”
.
เราไม่ต้องการครอบครัวที่นี่ เราต้องการคนที่เก่งที่สุด และอยู่กันแบบนักกีฬาทีมชาติ
.
คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดของ รี้ด แฮสติงและเอเรน เมเยอร์ ผู้บริหารของ Netflix ที่เขียนไว้ในหนังสือ No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention โดยรี้ดได้เริ่มตั้งต้นเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งบริษัทว่ามาจากการลืมคืนวีดีโอภาพยนตร์ที่เช่ามาและต้องเสียค่าปรับถึง 40 ดอลลาร์ ซึ่งเขารับไม่ได้และคิดว่าธุรกิจแบบนี้จะอยู่ได้อย่างไรถ้าต้องหากินกับความผิดพลาด (จริง ๆ เขาใช้คำว่างั่ง) ของลูกค้า เขานึกขึ้นมาว่าคงจะดีกว่าถ้าสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำให้ลูกค้า “ยอมจ่าย” แบบสบายใจ 
.
ต่อมาเขาจึงได้ทำธุรกิจให้เช่า DVD โดยจัดส่งทางไปรษณีย์และเก็บค่าบริการเหมารายเดือนแบบไม่จำกัดจำนวนแผ่นที่เช่า สุดท้ายแล้วในเดือนพฤษภาคม ปี 1998 รี้ดและทีมงานของเขาก็ได้ก่อตั้ง Netflix ขึ้นมาเป็นบริษัทให้เช่า DVD ออนไลน์โดยส่งทางไปรษณีย์เป็นบริษัทแรก ในปี 2001 บริษัทมี DVD ภาพยนตร์ทุก ๆ เรื่องที่มีอยู่ในตลาดและมีพนักงาน 120 คน
.
ต่อมาบริษัทต้องเจอกับวิกฤติทางการเงินที่เรียกว่า “ดอท-คอม” ซึ่งเป็นภาวะฟองสบู่แตกในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี เหตุเกิดจากในสมัยนั้นทุกคนมุ่งไปพัฒนาซอฟต์แวร์และหันไปเล่นหุ้นกลุ่มเดียวกันทั้งตลาด ไม่ว่าจะคนธรรมดาไปจนถึงผู้จัดการกองทุนก็เล่นหุ้นกลุ่มนี้ เมื่อหุ้นเทคโนโลยีทุกตัวนั้นพุ่งทะยาน คนที่ไม่ลงทุนในหุ้นเหล่านี้จะดูเป็น “เชย” ไปทันที ไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากกลายเป็น “เชย” สุดท้ายละเลยพื้นฐานการวิเคราะห์การลงทุน ไม่สนใจว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้มั้ยและทุ่มเงินซื้อหุ้นที่ราคาสูงเกินไปอย่างมีความสุข สุดท้ายว่าใครจะรู้ว่ามูลค่าหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทและไม่ใช่เงินสด เป็นเพียงกำไรที่เกิดจากมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นเท่านั้น เมื่อฟองสบู่แตก ทุกคนล้มครืน อเมริกาต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีต่อมา คนที่ทำงานในสายเทคโนโลยีมากมายต้องตกงานรวมถึงพนักงานของ Netflix ด้วย
รี้ดมีอาการประสาทเสียเพราะเขาไม่อยากไล่ใครออกสักคน เขาคิดว่ามันจะสร้างความเจ็บปวดให้เขามาก แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องทำ โดยเกณฑ์การคัดคนออกของเขาคือเก็บ 80 คนแรกที่ “เก่งไปหมด โคตรเก่ง” ไว้ และยอมตัดอีก 40 คนที่เหลือ ตรง 40 คนนี้แหละที่ทำให้รี้ดประสาทเสียเพราะบางคนทำงานไปวัน ๆ แต่ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี บางคนเป็นพวกเก่งมากแต่ขี้โมโห ดังนั้นจึงเกิดอาการสองจิตสองใจ รักพี่แต่ก็เสียดายน้อง
.
ปรากฏว่าพอปลดพนักงานออก จากที่คิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายลง แต่มันกลับตรงข้าม บรรยากาศที่ทำงานดีขึ้นจนน่าตกใจ นอกจากจะลดต้นทุนได้แล้ว ตอนนี้เขาเหมือนได้แรงงานเพิ่มขึ้นมาสามเท่า เพราะทุกคนยังทำงานด้วย passion energy และความคิดแปลกใหม่ จากเหตุการณ์นี้รี้ดก็หันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น
.
แพตตี้ซึ่งเป็น HR ในยุคแรกได้กล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพนักงานในครั้งนี้ว่า มันคือการที่พนักงานแต่ละคนสามารถแบ่งความทุ่มเทที่มีต่องาน ให้ควบคู่ไปกับแรงบันดาลใจของพวกเขาในเวลาเดียวกันได้
.
ขอให้นึกถึงว่าใน 120 คนนั้นมีระดับความสามารถที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อได้ปลดพนักงานออกไป 40 คนเหลือแต่คน “โคตรเก่ง” ก็เหมือนกับว่า “เรามีคนน้อยลงก็จริงแต่ความเก่งต่อบุคคลนั้นมีระดับสูง” พนักงานเหล่านี้ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อเห็นคนหนึ่งทำได้ อีกคนหนึ่งก็อยากทำได้เหมือนกัน โดยรี้ดได้ระบุว่า “ความสามารถนั้นระบาดได้” เหมือนโรคระบาด และคนที่ทำตัวไม่ดีหรือที่รี้ดเรียกว่า “ตัวดูดเลือด” แค่คนเดียวก็สามารถทำลายผลการดำเนินงานของทั้งทีมได้
.
การทำงานแบบ “เราทำงานกันเป็นครอบครัวครับน้อง ชิว ๆ” นั้นไม่ดีอย่างไร เราคงเห็นจากเคสของ Netflix ได้เลย คนที่ทำงานแบบขอไปทีหรือทำไปวัน ๆ จะดึงประสิทธิภาพของทีมลง ยกตัวอย่างเช่น ดูดพลังงานหัวหน้าทีม ลดคุณภาพของการขบคิด ถกเถียงและดึง IQ ของทีมให้ลดต่ำลง บางคนจะพยายามให้ทุกคนปรับตัวเพื่อให้ตัวเองอยู่ง่ายมากขึ้นและทำให้พนักงานที่เก่งได้รับงานหนักจนต้องลาออก หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือคนที่เก่งต้องแบกคนทั้งทีมหรือรับหน้าที่ของคนที่ทำงานแบบขอไปที ซึ่งเราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “เดอะ แบก”
.
เด็ก ๆ จบใหม่ที่ไม่อยากทำงานบริษัทใหญ่และอยากปล่อยของเลือกที่จะเดินทางในสายสตาร์ทอัพ แน่นอนว่างานตอนเริ่มต้นจะหนักและจำนวนคนจะน้อย แม้ว่าผู้บริหารจะบอกว่า “มีอะไรพูดกันได้ตรง ๆ” ก็จริงแต่ก็มักจะเป็นคำหลอกลวง คนที่อยากปล่อยของอยากก้าวหน้าในการทำงานจนเผลอทำงานในส่วนของคนที่ทำงานไปวัน ๆ ส่วนผู้บริหารก็จะหลับตาข้างเดียวเพราะยังไงงานโดยรวมก็สำเร็จ สุดท้ายแล้วคนที่อยากปล่อยของหรือ “เดอะ แบก” ก็จะฮีทขึ้นเรื่อย ๆ จนระเบิด ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ 
.
การทำงานแบบครอบครัวในบ้านเรามักหมายถึงการ “โอนอ่อนผ่อนตาม” มากกว่าจะ “พูดกันตรง ๆ ” และการกระทำแบบนี้ก็จะวนลูปไปที่เคสของ Netflix เรื่องคนที่ทำงานแบบขอไปทีหรือทำไปวัน ๆ โดยกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่รวมถึงพ่อที่มี “ลูกรัก” หรือ “เป็นพี่ต้องช่วยน้อง” ที่มีอยู่ในครอบครัว (หรือบริษัท) ในประเทศเรา
.
แทนที่จะทำงานกันแบบครอบครัว อยากขอให้ลองมาดูการทำงานแบบ “นักกีฬาทีมชาติ” แบบ Netflix หากใครเคยดูหรืออ่านมังงะญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องของชมรมกีฬาเด็กมัธยมปลาย ทุกโรงเรียนและทุกประเภทจะมีตัวจริง ตัวสำรอง ซึ่งเป็นแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงอย่างมาก เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงตัวสำรองต้องการเป็นตัวจริง หรือบางทีอยู่ปี3แล้วยังเป็นตัวสำรองอยู่ หรือแม้กระทั่งคนในทีมที่เป็นตัวจริงยังต้องหมั่นลับมีดตัวเองตลอดเวลาเพราะกลัวที่จะโดนย้ายไปอยู่ทีมสำรอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนล้วนมีแรงใจแรงกาย ความกระหายที่จะเอาชนะ สนุกกับงานที่ทำ ทั้งหมดนี้ทำให้องค์รวมดีขึ้นและไม่มีใครที่ต้องเป็น “เดอะ แบก”
.
เพราะฉะนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมแรงใจเต็มร้อยแพชชั่นล้นฟ้า การทำงานแบบ “ครอบครัว” คงไม่เหมาะมากนัก แทนที่จะทำงานแบบ “ครอบครัว” ควรมองหาองค์กรที่ทำงานแบบ “ทีมชาติ” หรือ “มืออาชีพ” กันดีกว่า
.
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย
.
https://www.facebook.com/101675321949870/posts/110410494409686/