Friday, May 21, 2010

To spend money

มีนกแขกเต้าฝูงหนึ่งประมาณ 500 ตัว อาศัยอยู่ในป่างิ้วบนยอดเขาแห่งหนึ่ง
เมื่อถึงเวลาหากิน ฝูงนกแขกเต้าต่างพากันบินไปกินข้าวสาลีในนาของชาวมคธ
เมื่อกินข้าวสาลี อิ่มแล้ว ต่างก็บินกลับรังด้วยปากเปล่าๆ ทั้งนั้น
ส่วนพญานกแขกเต้าที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบข้าวสาลีอีก 3 รวงกลับไปด้วย
ชาวนาเห็นก็แปลกใจ จึงพยายามดักจับพญานกแขกเต้าให้ได้
วันหนึ่งพญานกถูกจับได้ ชาวนาจึงถามพญานกว่า

"นกเอ๋ย ท้องของท่านคงจะใหญ่กว่าท้องของนกอื่น
เพราะเมื่อท่านกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบรวงข้าว กลับไป อีกวันละ 3 รวง
เป็นเพราะท่านมียุ้งฉาง หรือเป็นเพราะเรามีเวรต่อกันมาก่อน?"

พญานกตอบว่า

"ข้าพเจ้าไม่ได้มียุ้งฉาง และเรา ก็ไม่มีเวรต่อกัน
แต่ที่คาบไป 3 รวงนั้น
รวงหนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า
รวงหนึ่งเอาไปให้เขากู้
และอีกรวงหนึ่งเอาไปฝังไว้"

ชาวนาได้ฟังก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า

"ท่านเอารวงข้าวไปใช้หนี้ใคร เอาไปให้ใคร? และเอาไปฝังไว้ที่ไหน?!"


พญานกแขกเต้าจึงตอบว่า

"รวงที่หนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า คือเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่
เพราะท่านแก่แล้ว และเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก ทั้งให้กำเนิดและเลี้ยงดูข้าพเจ้า จนเติบใหญ่
นับว่าข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่าน จึงสมควรเอาไปใช้หนี้"


"รวงที่สองเอาไปให้เขา คือ เอาไปให้ลูกน้อยทั้งหลายที่ยังเล็กอยู่ ไม่สามารถหากินเองได้
เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยงเขาในตอนนี้ ต่อไปถ้าเขารู้บุญคุณ
เขาก็จะเลี้ยงดูข้าพเจ้าบ้าง ในยามที่แก่ชรา
จัดเป็นการให้เขากู้"


"รวงที่สามเอาไปฝังไว้ คือ
เอาไปทำบุญด้วยการให้ทานกับนกที่แก่ชรา
นกที่พิการหรือเจ็บป่วยไม่สามารถหากินได้ เท่ากับเอาไปฝังไว้
เพราะบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้"

ชาวนาฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสว่า นกนี้เป็นนกกตัญญต่อพ่อแม่
เป็นนกมีความเมตตาต่อลูกน้อย และเป็นนกใจบุญ มีปัญญา รอบคอบ มองการณ์ไกล

พญานกได้อธิบายต่อไปว่า

"ข้าวสาลีที่ข้าพเจ้ากินเข้าไปนั้น ก็เปรียบเหมือนเอาทิ้งลงไปในเหวที่ไม่รู้จักเต็ม
เพราะข้าพเจ้าต้องมากินทุกวัน วันนี้กินแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องมากินอีก
กินเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักเต็ม
จะไม่กินก็ไม่ได้ เพราะถ้าท้องหิวก็เป็นทุกข์"


ชาวนามีจิตเลื่อมใสในคุณธรรมของพญานกมาก
จึงแก้เครื่องผูกออกจากเท้าพญานก
ปล่อยให้เป็นอิสระ แล้วมอบนาข้าวสาลีให้
พญานกรับนาข้าวสาลีไว้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งกะคะเนแล้วว่าเพียงพอแก่บริวาร
จากนั้นจึงให้โอวาท แก่ชาวนาว่า

"ขอให้ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท
หมั่นสั่งสมบุญกุศลด้วยการทำทาน
และเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าด้วยเถิด"

ชาวนาได้คติจากข้อปฏิบัติของพญานกจึงตั้งใจทำบุญกุศลตั้งแต่นั้นมาจนตลอดชีวิต

เราทุกคนเมื่อรู้จักเก็บ รู้จักหาทรัพย์แล้ว
ก็ควรจะรู้จักหาความสุขจากการใช้ทรัพย์อย่างถูกต้องด้วย
ควรบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม
นับเป็นการใช้ทรัพย์อย่างชาญฉลาด
ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีความสุขความเจริญ
สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

Friday, May 7, 2010

The Butterfly and the spider

วันหนึ่งมีผีเสื้อแสนสวยแต่เคราะห์ร้ายบังเอิญบินมาติดกับของเจ้าแมงมุม
ผีเสื้อตัวนั้นกำลังดิ้นอย่างสุดกำลังเท่าที่ปีกบางๆของมันจะทำได้
เพื่อหวังเพียงว่ามันอาจจะโชคดี หลุดออกมาจากพันธนาการของแมงมุมได้
นักบวชรูปหนึ่งผ่านมาและเห็นเหตุการณ์โดยตลอด

(เราคิดว่านักบวช จะทำอย่างไร ...)

ก. เข้าไปช่วยเหลือผีเสื้อเคราะห์ร้ายตัวนั้น
ข.เดินผ่านไปและไม่สนใจ

และ แน่นอนนักบวชผู้มีเมตตาย่อมเลือกคำตอบข้อแรก
เขาเดินเข้าไปช่วยเจ้าผีเสื้อตัวนั้นออกมา

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักบวช ย่อมต้องมีอะไรพิเศษแตกต่างจากคนทั่วไป
นักบวชผู้นี้สามารถรับรู้ถึงกระแสจิตอ่อนๆของเจ้าแมงมุมที่กำลังส่งมาถึงเขา อย่างตัดพ้อต่อขาน
มันหิวโหยและอดอยากมานานเต็มที
เพราะไม่มีอะไรตกถึงท้องมันมาหลายวันแล้ว
ผีเสื้อตัวนี้กำลังจะเป็นอาหารของมันในเช้าวันนี้
เหตุใดท่าน ซึ่งเป็นนักบวชจึงต้องยื่นมือเข้ามายุ่งด้วย
มันแค่ต้องการจะกินอาหารของมันเท่านั้น

นักบวชนิ่ง อยู่พักหนึ่งแต่ไม่ทันได้ตอบอะไร
ทันใดนั้นเองนกน้อยตัวหนึ่งก็บินโฉบลงมาจิกกินแมงมุมนั้นเสีย
แต่ก่อนที่แมงมุมจะสิ้นใจ มันถามนักบวชว่า...
แล้ว ณ ตอนนี้มันกำลังจะถูกฆ่ากินเพื่อเป็นอาหารให้กับนกตัวนี้เช่นกัน
แล้วเหตุใดท่านจึงไม่ช่วยเหลือเราบ้าง

เพราะมันไม่สวยเหมือนผีเสื้อใช่มั้ย
โลกช่างไม่ยุติธรรมสำหรับมัน
ทำไมแมงมุมจึงถูกตีตราว่าเป็นสิ่งเลวร้าย
เพียงเพราะว่ามันไม่สวยอย่างนั้นหรอกหรือ
ผิดด้วยหรือที่มันเกิดมาไม่สวยเหมือนกับผีเสื้อ
หรือดูน่ารักเหมือนอย่างเช่นนกตัวนี้...

ที่มา : internet

Curing with Love

ความขัดแย้งในครอบครัว และการเยียวยาด้วยความรัก

อาตมาคิดว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่อ่อนไหว
พร้อมกันนั้น
ก็เป็นสถาบันที่เป็นจุดตั้งต้นของความดีงามในชีวิตของคนมากกว่าสถาบันอื่นใดทั้งหมดทั้งสิ้น
ที่บอกว่าเป็นสถาบันที่อ่อนไหวก็เพราะว่า
ถ้าคนสองคนซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างสถาบันครอบครัวนั้นขาดธรรมะ
ครอบครัวก็จะพังลงมาในพริบตา
และที่บอกว่าเป็นจุดตั้งต้นของความเข้มแข็งก็เพราะว่า
ถ้าผู้ที่สร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาเป็นคนที่มีธรรมะ
ในสถาบันครอบครัวนั้นอาจจะเป็นสถานที่อุบัติของมหาบุรุษก็ได้
นักปราชญ์ ราชบัณฑิตก็ได้ คนของโลก อย่าง อัลเบิร์ด ไอนสไตน์ หรือ มหาตมะ คานธี ก็ได้

แต่ถ้าในสถาบันครอบครัวนั้นมีปัญหา
แน่นอนที่สุด สถาบันครอบครัวจะเป็นที่มาของมหาโจร
ที่เกิดมาเพื่อล้างผลาญมนุษยชาติก็ได้
หรืออาจจะเป็นที่อุบัติของคนที่เกิดมาปล้นชาติปล้นแผ่นดินก็ได้
หรืออาจจะเป็นที่อุบัติของสัตว์นรกในนามของคน ๆ หนึ่งก็ได้
เห็นไหม สถาบันครอบครัวจึงเป็นทั้งจุดที่ละเอียดอ่อนหรืออ่อนไหว
และเป็นทั้งจุดที่เข้มแข็งของมนุษยชาติของเรา

ถ้าหากคนซึ่งอยู่ในสถาบันครอบครัวมีปัญหากัน อาตมาภาพขอแนะนำว่า

๑. ให้ระลึกถึงคุณงามความดีเก่า ๆ ซึ่งกว่าที่เราจะคบกัน กว่าจะแต่งงานกัน
กว่าจะร่วมสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกันมานั้น เราต่างก็เคยประทับใจในคุณงามความดี
ของกันและกันมาก่อน ทุกครั้งที่เราโกรธเราเกลียดกัน
นึกถึงคุณงามความดีเก่า ๆ ก็จะทำให้จิตใจนั้นอ่อนโยนลง

๒. ให้คำนึงถึงตัวเอง และภรรยาว่าหากเราทำให้เขาทุกข์ เราก็ทุกข์ด้วย
ฉะนั้นเราไม่ควรทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกข์ เพราะถ้าเราทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกข์
มันก็สะท้อนกลับมาอยู่ดีว่า ตัวเราก็ต้องทุกข์ด้วย ถ้าเราเป็นคนที่มีความสุข
คนที่อยู่ใกล้เขาก็ต้องสุข ใช่ไหมล่ะ
ตรงกันข้าม ถ้าเราเห็นคนที่อยู่ข้างหน้าเราเป็นทุกข์ แสดงว่าเราก็ต้องทุกข์แล้ว
ฉะนั้นควรบอกตัวเองว่า เราควรเป็นหน่วยความสุขเคลื่อนที่
อย่าเป็นหน่วยความทุกข์เคลื่อนที่ในครอบครัวเลย

๓. ให้เรียนรู้ที่จะถอยไปข้างหน้า เวลามีปัญหาให้ "ทิ้งพยศ ลดมานะละทิฐิ"
บอกตัวเองว่าบางครั้ง ก็ต้องถอยหลังคนละก้าว
เหมือนที่พระนางเจ้าวิกตอเรียกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทะเลาะกัน
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไปขังตัวเองอยู่ในห้อง
พระนางเจ้าวิกตอเรียตามไปเคาะประตู
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ถามว่าใครเคาะ
พระนางเจ้าวิกตอเรียก็บอก "ฉันราชินีแห่งเกาะอังกฤษ"
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดโกรธมากที่ถูกศรีภรรยากดขี่ข่มเหงศักดิ์ศรี
แห่งความเป็นมนุษย์ ด้วยการเอายศศักดิ์อัครฐานมาข่มสามีซึ่งเป็นสามัญชน

สามชั่วโมงต่อมา พระนางเจ้าวิกตอเรียทนเหงาไม่ได้ ไปเคาะประตูใหม่
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดถามว่าใครเคาะ
พระนางวิกตอเรียบอกว่า "ดิฉันเองที่รัก ภรรยของคุณไงคะ"
พอได้ยินภาษาที่อ่อนหวานและตอบด้วยศักดิ์ที่เสมอกันอย่างนั้น
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงเปิดประตูมาสวมกอดกัน

นี่คือ "ศิลปะแห่งการถอยไปข้างหน้า"
นั่นคือ พระนางเจ้าวิกตอเรียยอมทิ้งยศศักดิ์อัครฐาน
วางอีโก้ของพระนางลง แล้วมาคุยกับพระสวามีในฐานะคนสามัญ
เรื่องก็จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

สำหรับคู่สามีภรรยาทั้งหลายที่มีปัญหาครอบครัว
หลังจากทดลองใช้วิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล
ขอแนะนำให้เรียนรู้ที่จะถอยไปข้างหน้าดู
แล้วก็จะเห็นว่า มันคุ้มค่ากับการถอยจริง ๆ

บางทีเวลามีปัญหาในสถาบันครอบครัวแล้วแก้ไม่ตก
จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้
ก็เลยมีการโยนชุดความคิดชุดหนึ่งเข้ามากลางวงแล้วบอกว่า
เราคงเกาะกันมาแต่ชาติปางก่อน เป็นผีแห้งกับโลงผุ เป็นคู่เวรคู่กรรม
แท้ที่จริงคู่ไหนก็ตามที่เริ่มสรุปอย่างนี้
สะท้อนแล้วว่า คุณยอมจำนนต่อปัญหา
ปัญหาทั้งปวงมีไว้ให้แก้ไข
แต่คนส่วนใหญ่ชอบแก้เคล็ดและยอมจำนน

ดังนั้นเวลามีปัญหา ให้เราทั้งหลายเปิดใจ เปิดตา เปิดหูให้กว้าง
บอกตัวเองว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด
อย่าเพิ่งลงบทสรุปว่า เธอและฉันเป็นคู่เวรคู่กรรม
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสถึงคู่ของชีวิตคู่ไว้ ๗ แบบ
ไม่ได้มีแต่คู่เวรคู่กรรมเท่านั้น
มีทั้งคู่สร้าง-คู่สม คู่ชื่นชม-คู่ระกำ คู่ภรรยาแก้ว-สามีแก้ว
แล้วก็คู่กัลยาณมิตร นี่มันมีตั้งหลายคู่

ทำไมมาสรุปเสียว่า คู่ของคุณนี่เป็นคู่เวรคู่กรรมในเชิงลบ
ทำไมไม่เป็นคู่สร้างคู่สม ทำไมไม่เป็นคู่กัลยาณมิตร
ทำไมไม่เป็นคู่อารยชนที่เกิดมาแต่งงานด้วยกัน
เพื่อเป็นการเรียนรู้บนเส้นทางธรรมด้วยกัน
พัฒนาชีวิตไปให้ดีที่สุด จนกว่าที่สติปัญญามนุษย์จะวิวัฒนาการไปถึง

เปิดตาเปิดใจเรียนรู้ชีวิตคู่หลาย ๆ แบบ
ก่อนจะลงข้อสรุปด้วยการดูถูกตัวเองว่า เราเป็นคู่เวรคู่กรรม
ให้เรียนรู้ชีวิตคู่ในรูปแบบอื่น ในมิติอื่น ๆ ให้ทั่วถึงก่อน
ถ้าเราเรียนรู้ให้ทั่วถึงแล้วจะเห็นว่า
เราไม่จำเป็นต้องยอมรับข้อหา คู่เวรคู่กรรมที่เรามอบให้ตัวเอง
เพราะบางทีทางออกมันมีมากกว่าหนึ่งก็ได้

ที่มา : รักแท้ คือ กรุณา ของ ท่าน ว.วชิระเมธี

Love

ความรักกับความทุกข์
ท่าน ว.วชิรเมธี

เรื่องความรักในทรรศนะของพระพุทธศาสนามองว่าอย่างไร?
ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ทุกๆ การยึดติดถือมั่น มีค่าเป็นความทุกข์เสมอ"

ทุกๆการครอบครอง มีค่าเท่ากับการขาดอิสรภาพในทรรศนะของมนุษย์
ทุกครั้งที่เราครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มักภูมิใจว่าฉันเป็นเจ้าของแล้ว เช่น
ฉันมีรถเบนซ์ มีบ้าน มีแฟน ก็คิดว่าเป็นเจ้าของรถ เจ้าของบ้าน เจ้าของแฟนสาว
หารู้ไม่ว่าทันทีที่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของๆเรา เราก็ตกเป็นทาสสิ่งเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว

เช่น จอดรถเบนซ์ไว้นอกบ้าน พอฝนตกเราก็นอนไม่หลับแล้ว
หรือมีบ้านหลังหนึ่ง พอน้ำประปารั่ว ปลวกขึ้นบ้าน เราก็ใช้ชีวิตไม่มีความสุขแล้ว
หรือมีแฟนสักคนหนึ่ง ส่ง sms ไปแล้วเขาหายไป 3 วัน ชีวิตก็ไม่รื่นรมย์แล้ว
เราครอบครองเขาหรือตกเป็นทาสเขากันแน่

ดังนั้น "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์" จึงเป็นสัจธรรมสากลถูกต้องที่สุด

มนุษย์โดยมากจึงมักบอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข
เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความรักตั้งแต่ต้นสายถึงปลายทาง
โดยมากมักเริ่มต้นแค่รู้จักความรักช่วงก่อนโปรโมชั่น พูดประโยคอย่างนี้กันทั้งนั้น
พอเริ่มเรียนรู้ที่จะรักไปสักพักหนึ่ง ถ้าสังเกตอย่างละเมียดละไม
ก็จะเห็นว่ามันเริ่มสุขๆ ทุกข์ๆ ปนกันโดยตลอด

หลังจากนั้นเมื่อหลวมตัวแต่งงานไป
วันเวลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความทุกข์มากกว่าความสุขแล้ว
ฉะนั้นความสุขซึ่งเกิดจากการมีความรักเชิงชู้สาวนั้น แท้ที่จริงก็คือ
ความทุกข์ที่รอเวลาอยู่เท่านั้นเอง

มันคือความสุขที่แท้ที่จริงคือเจ้าความทุกข์ที่รอเวลาแสดงตัว
คนหนุ่มคนสาวจำนวนมากไม่รู้ก็เลยคิดว่าความรักนั้นช่างหอมหวานเหลือเกิน
จริงอยู่ความรักเป็นความหอมหวาน แต่เป็นความหอมหวานของเนื้อทุเรียนซึ่งมีเปลือกที่แสนขรุขระ

อาตมภาพเห็นด้วยกับพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสว่า
"ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีโศก ที่ใดมีโศก ที่นั่นก็มีภัย ที่ใดไร้รักไร้โศก ที่นั้นก็พ้นโศกพ้นภัย"

ฉะนั้นถ้าคุณรักแล้วอยากจะปฏิเสธทกข์ อย่าทำเลย ไม่มีทาง
ถ้าคุณมีโศก ก็หมายความว่าคุณยึดติด

แล้วจะปฏิเสธความเศร้าที่ตามมา ไม่มีทาง
ใครทุกคนที่เริ่มมีความรัก ขอให้เรียนรู้กติกาของความรักเอาไว้เลยว่า
ความรักมีความทุกข์เป็นของแถม
เหมือนกับเราหยิบเหรียญกษาปณ์ขึ้นมา 1 เหรียญ
ถ้าด้านปรากฎต่อเราคือด้านหัว ด้านตรงข้ามก็คือด้านก้อย เช่นเดียวกัน
เมื่อเรายกหน้ามือขึ้นมาพินิจ หลังมือก็ติดมาพร้อมๆ กันนั่นแหละ
ความรักกับความทุกข์จึงเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ต้นจนจบ
แต่การที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นก็เพราะเขายังถูกความรักบังตา

เช่นเดียวกับในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า
"ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด
ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดและแล่นไป บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงแม้จะผูกไว้ ก็โลดไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ หวนคิดถึงเจ็บกาย"
นี้เป็นสัจธรรมที่อยู่ในกวีนิพนธ์

พระพุทธเจ้า ก็ตรัสเอาไว้แบบนี้แหละ คนที่มีความรักนั้นมีกำลังนับร้อยเท่านับพันเท่า
โลดแล่นโจนทะยานออกไป บางครั้งโจนทะยานออกจากอกพ่ออกแม่
เพื่อมาค้นพบภายหลังว่า คนที่รักเราแท้ที่สุดก็คือพ่อคือแม่นั่นเอง

ฉะนั้นทุกครั้งที่เราเริ่มต้นมีความรัก สิ่งหนึ่งซึ่งควรมาคู่กันกับการมีความรักก็คือ
ความเข้าใจในธรรมชาติของความรัก
ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ หรือรักกันมานานตั้งห้าหกปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน
หรือแต่งงานมาสิบปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน
คนที่เจ็บปวดจากความไม่สมหวังในความรักจากการใช้ชีวิตคู่
ควรมองออกไปให้กว้างว่าขาดเขาแล้วเราไม่ตาย เพราะก่อนจะมีเขาเรายังอยู่มาได้

เมื่อย้อนกลับไปไม่มีเขาอีกครั้งหนึ่ง เราก็กลับไปยืนอยู่ ณ จุดเดิม ก็ต้องอยู่ต่อไปให้ได้
แล้วอย่าทำร้ายชีวิต อย่าทำร้ายตัวเอง
แต่ให้มองว่าการที่เราเกิดเป็นคนแล้ว ไม่ได้ทุกอย่างดังใจหวังนั้น
เป็นบทเรียนอีกขึ้นหนึ่งของชีวิต เป็นบันไดขั้นหนึ่งของชีวิตที่ต้องก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ

ในชีวิตของมนุษย์เรามีบทเรียนอยู่สองบทเรียน
หนึ่ง บทเรียนที่ยาก และสอง บทเรียนที่ง่าย
บทเรียนที่ง่ายก็คือทำอะไรก็สมหวังไปเสียทุกอย่าง
แต่พอสมหวังไปเสียทุกอย่าง มนุษย์มักจะหลงตัวเอง
พอหลงตัวเอง นั่นคือ ต้นทางของความผิดพลาด

บทเรียนที่ยากมักจะช่วยขัดเกลาฝึกปรือเราให้เข้มแข็ง
เหมือนคนบางคนที่เกิดมายากจนจึงเรียนรู้ที่จะต่อสู้
และเมื่อพยายามต่อสู้ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกลายเป็นคนมั่งคั่ง พรั่งพร้อมได้
คนจำนวนมากที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนั้น
เพราะเขาไม่ปฎิเสธบทเรียนที่ยาก
แต่กลับถือว่าเป็นบทเรียนที่เปรียบเสมือนหินลองทอง
หรือเปรียบเสมือนหินลับมีด
หรือบางทีเปรียบเสมือนกระดาษทรายที่ทำหน้าที่ขัดสีฉวีวรรณให้ชีวิตของเรา
ผุดผ่องแวววาวทอประกายเจิดจรัสงดงามยิ่งขึ้น

ฉะนั้น การที่เราล้มเหลวในเรื่องความรัก ในเรื่องชีวิตคู่
ขอให้ถือว่าความล้มเหลวนั่นแหละคือบทเรียนแสนยากที่เป็นบันไดขั้นหนึ่ง
ซึ่งเราต้องก้าวข้ามไป พอเราก้าวข้ามไปได้ ชีวิตของเราก็จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่า
"ชีวิตที่ไม่ผ่านการต่อสู้ เป็นชีวิตที่ไม่ควรค่าแก่การยกย่อง"

เรามีหน้าที่สู้ชีวิต มีหน้าที่ก้าวข้ามความยากลำบาก
ไม่ได้มีหน้าที่มาจมปลักอยู่กับความยากลำบากแล้วก็ทำร้ายทำลายตัวเอง
ทุกครั้งที่เจอบทเรียนแสนยาก บอกตัวเองว่าต้องก้าวข้ามมันไป
ไม่ใช่ฝังตัวเองอยู่กับบทเรียนแสนยาก
บทเรียนยากๆ ทั้งหลายนั้น เปรียบเสมือนบันได
ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องก้าวผ่านบันไดเหล่านั้นไป
ไม่ใช่ไปนั่งจุ้มปุ๊กอยู่ตรงบันไดแล้วบอกว่าพอแล้วสำหรับชีวิตฉัน

ขอบคุณหนังสือ รักแท้คือกรุณา, ว.วชิรเมธี