Monday, August 31, 2020

Kick

ขำขันเรื่องหนึ่งเล่าว่า เด็กหญิงคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกลงไปในแม่น้ำเย็นเยือกแล้วจมหายไป ในนาทีคับขันนั้น ทุกคนที่ริมฝั่งก็เห็นชายคนหนึ่งกระโดดจากสะพานลงไปในน้ำ ว่ายรี่ไปยังตำแหน่งที่เด็กหญิงจมหายไปและช่วยเธอขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย ทุกคนปรบมือชื่นชมวีรบุรุษคนนั้น

ใครคนหนึ่งถามเขาว่า "คุณเยี่ยมจริง ๆ ที่กระโดดลงน้ำเย็นเฉียบอย่างนั้นไปช่วยเธออย่างกล้าหาญ"

"ใครบอกว่าผมกระโดดลงไปล่ะ? ไม่รู้ไอ้เวรไหนถีบผมลงไปในน้ำ"

.

อาจมีสักครั้งหรือสองครั้ง บางคนอาจโชคดีถูก 'ถีบลงน้ำ' ได้รับซองขาวพร้อมบัตรเชิญให้ออกจากงาน เหตุผลอาจเป็นการทำงานไม่บรรลุเป้าหมายขององค์กร หรือให้เสียสละ 'เออร์ลี รีไทร์' เพื่อลดภาระของบริษัทในยามที่เศรษฐกิจป่วยเรื้อรัง เรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ตั้งแต่ตำแหน่งเล็ก ๆ ไปจนถึงตำแหน่งซีอีโอ

บางครั้งการถูก 'ถีบลงน้ำ' ก็เกิดขึ้นกับทั้งองค์กรเมื่อลูกค้าของบริษัทหลุดลอยไป หรือตลาดของบริษัทล้ม ฯลฯ

ไม่ว่าการถูกถีบจะเป็นรูปแบบใด ก็ให้ความรู้สึกแย่ทั้งนั้น

สตีฟ จ็อบส์ ผู้ร่วมสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดระบบหนึ่งของโลกคือ แอปเปิล ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งในปี พ.ศ. 2528

ยี่สิบปีต่อมา เขากล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายครั้งนั้นว่า

"ผมมองไม่เห็นตอนนั้นหรอก แต่กลายเป็นว่า การถูกไล่ออกจากแอปเปิลกลับเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับผม น้ำหนักมหาศาลของความสำเร็จถูกแทนที่ด้วยความเบาสบายของการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง... มันปลดปล่อยผมเพื่อให้เข้าไปสู่ช่วงเวลาที่สร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต"

สตีฟ จ็อบส์ ไปก่อตั้งบริษัทใหม่ เข้าสู่วงการใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยลองมาก่อน เช่น ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น และออกแบบงานคอมพิวเตอร์ระบบใหม่ จนบริษัทที่ไม่ต้องการเขาก็ขอซื้อกิจการของเขา และในที่สุดเขาก็กลับไปยิ่งใหญ่ในแอปเปิลอีกครั้ง สร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ เช่น ระบบ Mac OSX, iMac, iTunes, iPod ฯลฯ จนมีคนเรียกตำแหน่งของเขาว่า iCEO
 
.

การถูก 'ถีบลงน้ำ' ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากคุณยังรักษาทัศนคติที่ดีในชีวิตไว้ได้

หากคุณมองมันว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คุณอีกครั้ง หากคุณตั้งสติไม่ลนลานและวิตกเกินไป คุณอาจพบว่าสิ่งที่มาพร้อมกับการถูกถีบลงน้ำคืออิสรภาพและมุมมองใหม่

นี่เป็นโอกาสที่คุณจะได้วิเคราะห์ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่คุณได้กระทำ คุณจะได้รู้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณเดินถูกทางหรือไม่ ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองในจุดใดบ้าง

บางครั้งการหยุดหนึ่งก้าวเพื่อดูลาดเลาก่อนก้าวต่อไปเป็นสิ่งที่ดี

น้ำที่คุณลงไปลอยคออยู่นั้นอาจเย็นเฉียบ แต่มันก็ช่วยชำระล้างคราบฝุ่นที่เกาะตา ทำให้มองเห็นทางสายอื่นที่ยังไม่ได้เดิน และโอกาสอื่น ๆ ที่คุณยังไม่กล้าทำ

เมื่อคิดว่าไหน ๆ ก็ลงน้ำแล้ว ก็ว่ายต่อไปก็แล้วกัน โอกาสย่อมไม่เท่ากับศูนย์อย่างแน่นอน

.

จากหนังสือ สองแขนที่กอดโลก
http://www.winbookclub.com/shoppingdetial_forEbook.php?productid=86

Sunday, August 30, 2020

Vision

สิ่งสำคัญที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ 

- วิสัยทัศน์ คือมุมมองระยะยาวต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเรามองเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนี้ จะเป็นอย่างไร นับจากวันนี้ไปในอีก X ปีข้างหน้า

- วิสัยทัศน์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องธุรกิจเท่านั้น เพราะเรื่องชีวิตส่วนตัวของเรา เราก็ต้องกำหนดสิสัยทัศน์ให้ตัวเองเช่นกัน

- วิสัยทัศน์เป็นการกำหนดความฝัน เป็นการคิดเป็นภาพไว้ในจินตนาการของเรา จากนั้นตึงเอาภาพฝันนั้นมากำหนดเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน และเลือกกลยุทธ์และวิธีการที่ต้องทำเพื่อห้ไปถึงเป้าหมายนั้นต่อไป ตัวอย่างเช่น 

วิสัยทัศน์ -> ฟุตบอลไทยจะไปแข่งบอลโลก ภาพในความฝันคือ นักบอลไทย กองเชียร์ไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศสนามแข่ง
เป้าหมาย -> ฟุตบอลไทยจะไปแข่งบอลโลกในปี 2030 
กลยุทธ์ -> ใช้นักเตะชาติอื่นโอนสัญชาติเป็นไทย เพื่อลดข้อเสียเปรียบด้านรูปร่าง
วิธีการ -> ส่งแมวมองไปจับเด็กยุวชน เยาวชนจากประเทศอื่นมาอยู๋ในไทย เพื่อให้ได้สิทธิในการโอนสัญชาติไทยต่อไปในอนาคต

นี่เป็นแค่ตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพนะครับ

- สำหรับการทำธุรกิจนั้น นอกจากวิสัยทัศน์จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นตัวช่วยชั้นดีในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอีกด้วย

- สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ยังไม่เคยกำหนดวิสัยทัศน์ให้กับธุรกิจตัวเอง อยากให้ลองหาเวลานั่งคุยกับตัวเองเพื่อหาคำตอบว่า 
1. ทุกวันนี้ เราทำธุรกิจนี้ไปเพื่ออะไร
2. ใครได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำบ้าง
3. ธุรกิจของเราจะเป็นอย่างไรในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะขยับขยายไปอยู่ตรงไหน ใหญ่เล็กจากวันนี้เพียงใด 

- เมื่อกำหนดได้แล้ว ก็เขียนออกมา จากนั้นคือขั้นตอนสำคัญ "เล่าให้พนักงานฟัง"

- เมื่อพนักงานได้ฟัง จะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก หัวเราะเยาะและมองว่าเราบ้า
กลุ่มที่สอง จะงงๆ ไม่เชื่อแต่ไม่ปฏิเสธ
กลุ่มที่สาม จะเชื่อและรู้สึกอินไปกับวิสัยทัศน์นี้

- ทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีใครถูกผิด แต่จะบอกเราเองได้เลยว่า พนักงานคนไหน จะอยู่กับเเราไปอีกนานหรือพร้อมจะจากไปเมื่อเจอข้อเสนองานที่ดีกว่า

- เพราะวิสัยทัศน์เป็นเรื่องระยะยาว คนที่เชื่อในเรื่องระยะยาวจะมีโอกาสเปลี่ยนใจจากงานที่มีวิสัยทัศน์น้อยกว่างานที่ไม่มีวิสัยทัศน์และพร้อมจะอดทนรอวันนั้น

- ธุรกิจที่ไม่มีวิสัยทัศน์จึงเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้พนักงานเข้าออกบ่อยเพราะพนักงานมองเห็นว่าทำงานที่นี่แล้วดูไม่มีอนาคตเลยว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกับพนักงานที่เป็นคน Gen Y - Gen Z

- มีเรื่องเล่าในอดีตว่า ทำไมอเมริกาถึงไปเหยียบดวงจันทร์ได้ก่อนญี่ปุ่น เป็นเพราะอเมริกามีเทคโนโลยีหรือเก่งกว่าญี่ปุ่นหรืออย่างไร

- คำตอบคือ อเมริกาตัดสินใจประกาศก่อนว่า จะไปเหยียบดวงจันทร์ให้ได้แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะไปได้อย่างไร ในขณะที่ญี่ปุ่นนั้นยังไม่ทันจะคิดถึงการไปดวงจันทร์เลยด้วยซ้ำ

- เมื่อผู้นำประเทศกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายออกมาแบบนี้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันให้เกิดขึ้น เม้กระทั่งมีเรื่องราวของภารโรงที่ทำงานที่นาซ่า มีนักข่าวไปถามว่าทำไมถึงดูทำงานแข็งขันเป็นพิเศษ คำตอบที่ได้คือ "ผมไม่ได้กำลังกวาดพื้น แต่ผมกำลังช่วยให้อเมริกาไปดวงจันทร์ได้" 

- คำตอบนั้นแสดงถึงความุม่งมั่นและอยากมีส่วนร่วมกับเป้าหมายของธุรกิจ/ภารกิจนั้นได้เป็นอย่างดี 

อ่านบทความนี้แล้ว อย่าลืมหาเวลาคุยกับตัวเอง ว่าเราอยากได้พนักงานแบบไหนมาทำงานด้วย ระหว่างคนที่ทำงานเพื่อเงินไปวัน ๆ กับคนที่อยากอยู่ร่วมบรรลุเป้าหมายระยะยาวไปกับเรา

เราเลือกเองได้ จากการกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจของเราครับ

ที่มา 
https://www.facebook.com/677380392295285/posts/3582289271804368/

Thursday, August 27, 2020

The Peter Principle

หากคุณเคยเจอกับ “ผู้บริหาร” ที่ขาดความเข้าใจการบริหารงาน บริหารคนไม่เป็น แต่กลับจุกจิก Micro-management ในเรื่องเล็กๆ หรือแม้แต่เสียเวลาลงมือทำเรื่องเหล่านั้นด้วยตนเองแทนลูกน้อง 

นั่นแหละคือคนที่กำลังติดกับดัก “The Peter Principle” คือทฤษฎีที่บอกไว้ว่าคนเก่งๆในองค์กรจะมีปลายทางไปจบลงที่เป็นคนที่ไร้ความสามารถได้เพราะการเลื่อนตำแหน่ง!

ตัวอย่าง นาย ก. พนักงานประสบการณ์สูงที่มีทักษะเฉพาะทางยอดเยี่ยม ได้เลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร สิ่งที่ตามมาคือความรับผิดชอบในหน้าที่ และตัวงานที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

เมื่อเริ่มงานในตำแหน่งใหม่ นาย ก. กลับขาดทักษะการบริหารคน ไม่ถนัดการเจรจาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า มักลงมือทำงานที่ถนัดแทนลูกน้อง เพราะลูกน้องทำได้ไม่ถูกใจตน และปล่อยงานสำคัญทิ้งไว้จนเป็นปัญหาไม่สามารถจัดการได้

นั่นทำให้พนักงานที่เคยมีผลงานดีอย่าง นาย ก. กลายเป็นคนที่สอบตกในฐานะผู้บริหาร และกลายเป็นคนที่มีประสิทธิภาพต่ำของบริษัทในท้ายที่สุด

ทฤษฎี The Peter Principle บอกว่าด้วยรูปแบบขององค์กรที่มีลักษณะเป็นลำดับขั้น จะผลักดันให้คนที่เก่งในด้านหนึ่ง ถูกผลักขึ้นไปรับผิดชอบงานที่ “ไม่ถนัด” ขึ้นต่อไปตามลำดับ 

ทางเดียวที่คนเก่งๆจะหนีจาก “กับดัก” นี้ไปได้ คือการ “ปรับความคิด” ว่าตนยังต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัวเข้ากับความรู้ใหม่อยู่เสมอ 

เพราะ “คนทำงานเก่ง” กับ “ผู้บริหารที่ดี” เป็นคนละเรื่องกัน

ที่มา https://www.facebook.com/1690208077865823/posts/2733411380212149/

Wednesday, August 19, 2020

Arrow

เด็กวัยไม่เกิน 6 ขวบ จะยังเห็นพ่อแม่คือคนที่หล่อที่สวยและเก่งที่สุด คือโลกทั้งใบของเขา คำพูดของพ่อแม่เป็นความจริงเสมอ และนิทานของพ่อแม่ก็ยังสนุกไม่รู้เบื่อ เขาจะเรียกร้องให้เราเล่านิทานเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หัวเราะชอบใจกับมุกเก่าตอนเดิมที่กระต่ายวิ่งตาลีตาเหลือกไปพบเจ้าเต่ารออยู่ที่เส้นชัย ยิ้มได้ในตอนจบของนิทานทรัพย์ในดินเมื่อลูก ๆ ที่ลงแรงขุดผืนดินมรดกจนปรุ เพื่อได้รู้ว่าสมบัติที่พ่อทิ้งเอาไว้คือไร่น่าอันอุดม

จนถึงวัยรุ่นนั่นแหละที่ความสำคัญของพ่อแม่จะเหือดหายลดลงไป พ่อแม่บางคนที่ประคองความสัมพันธ์ได้ดีอาจจะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นเพื่อนสนิทหรือที่ปรึกษาคนสำคัญของเขา แต่ส่วนใหญ่แค่ยอมฟังยอมเชื่อเราบ้างก็เป็นบุญโข ส่วนกรณีที่ลูกเห็นเราเป็นไม้เบื่อไม้เมาฝั่งตรงข้ามนั้นก็มาก 

ช่วงเวลารอยต่อในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่นี้ช่างน่ากระอักกระอ่วน เขาจะไม่สนุกกับหนังสือเล่มเดิม และเริ่มตั้งคำถามกับเรื่องเล่าเรื่องเก่าที่แต่ก่อนก็เคยสนุกชอบใจ เขาอาจจะถามคุณว่า มันเป็นไปได้จริงหรือที่เจ้ากระต่ายจะนอนยาวจนเต่าแซงไปเข้าเส้นชัยได้ และถ้าก่อนหน้านั้นกระต่ายตื่นขึ้นมาแล้ววิ่งแซงไปล่ะ จะมีไหมกระต่ายที่ไม่หลบไปนอน หรือคำสอนตอนจบว่าชัยชนะของเจ้าเต่ามาจากความเพียรนั้นจริง ๆ มันประกอบด้วยโชคมากกว่า 

หรืออาจจะถามว่าทำไมบิดาผู้ล่วงลับในนิทานทรัพย์ในดินจึงต้องใช้วิธีหลอกลวงลูก ๆ ว่ามีสมบัติล้ำค่าซ่อนอยู่ใต้ผืนดินของไร่นา แทนที่จะบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าที่ดินนั้นอุดมสมบูรณ์เพียงใด และควรปลูกพืชชนิดไหนในฤดูกาลใด

ยิ่งถ้าพวกเขาได้เข้าถึงหนังสือที่คุณไม่ได้เป็นคนซื้อ ข้อมูลและสื่อที่คุณไม่ได้เลือกให้ คำถามและความคิดของเขาจะเป็นเรื่องที่คุณก็จะไม่เข้าใจและตอบไม่ได้ และมีใครสักคน อาจจะเพื่อนฝูง ครูอาจารย์ หรือบุคคลสาธารณะที่เขาเลือกจะฟังและเชื่อถือกว่าเราผู้เป็นพ่อแม่ นี่เป็นวิถีปกติที่ผู้มีลูกสู่วัยนี้จะต้องเผชิญ 

สิ่งที่เข้าท่ากว่าการตัดพ้อว่าคนแปลกหน้าที่คุณไม่รู้จักนี้เป็นใครสำคัญอย่างไรหรือ ลูกจึงไปเชื่อเขามากกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูส่งเสียมา แต่คำถามสำคัญกว่าก็คือก่อนหน้านี้ คุณได้ฟังพวกเขาเพียงพอหรือยัง และได้พูดกับเขาด้วยเหตุผลที่แข็งแรงโน้มน้าวความคิดความรู้สึกได้มากกว่าคนแปลกหน้าที่คุณเอ่ยนามอย่างเจ็บช้ำน้ำใจหรือไม่ 

อย่าสิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดถือเอาว่าการที่ตัวเองเลี้ยงดูส่งเสียลูกด้วยเงินทองก็เป็นเหตุผลอันสมบูรณ์แล้วที่พวกเขาจะต้องเชื่อฟังคุณเลย เพราะมันดูถูกสติปัญญาและความสามารถของตัวคุณเองอย่างถึงที่สุดแล้ว

โปรดทำใจเถิดว่า ต่อให้คุณเลี้ยงดูสั่งสอนเขามาอย่างใกล้ชิดเพียงไร ส่งมอบความรู้และประสบการณ์ให้ด้วยความเข้าใจ พูดคุยดุจดังเพื่อนสนิทมิตรคนหนึ่งแล้วทุกอย่างทุกเรื่องอยู่ทุกวัน รู้จักและตามทันทุกสิ่งที่ลูกคุณได้รับได้เรียนได้รู้ แต่มันก็เป็นไปได้อยู่ดีที่ในที่สุดพวกเขาและเธอจะมีวันที่พูดคนละเรื่องกับคุณ และสิ่งที่คุณเพียรสอนเขามาทั้งหมดก่อนหน้านั้นจะถูกละทิ้ง

ก็เพราะในทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงนั้นเร็วเกินหน้ากว่าความรู้และประสบการณ์แบบเดิมไปหลายช่วงตัว การศึกษาที่เท่าทันและมีประสิทธิภาพเพียงหนึ่งชั่วโมงอาจจะลบล้างสิ่งที่คุณเพียรสอนมาสิบปีได้จริง และสมเหตุสมผลที่เป็นเช่นนั้นด้วย ภาษาต่างประเทศที่คุณเคยเรียนเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ภาษานั้นก็เปลี่ยนไปแล้วทั้งการออกเสียง ไวยกรณ์บางเรื่อง รวมถึงความหมายของศัพท์บางคำ คอมพิวเตอร์ที่เขาใช้ก็ไม่ได้มีรูปร่างแบบเดียวกับที่คุณเคยพรมนิ้วบนแป้น ซอฟต์แวร์หรือภาษาโปรแกรมมิ่งที่คุณเคยสอนพวกเขานั้นถูกทดแทนด้วยของใหม่ที่ง่ายกว่า ความรู้ด้านภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ทฤษฎีเดิมของคุณก็อาจจะใช้ไม่ได้ เพราะประเทศที่คุณรู้จักหายไป เกิดใหม่ หรือเพิ่มลดบทบาทจนต่างไปจากเดิม 

นับประสาอะไรกับความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ในเรื่องยิ่งใหญ่กว่านั้น ความหวังและความฝันที่คุณเองก็ไม่เคยกล้านึก หรือเรื่องราวที่คุณเคยตบปากตัวเองเมื่อเผลอกล่าวถึง แต่ลูกของคุณถกเถียงกับเพื่อนได้เช่นเดียวกับการเลือกหาเสื้อผ้ามาใส่ไปงาน หรือหนังสือเล่มต่อไปที่จะอ่าน

การอาบน้ำร้อนมาก่อนอาจจะมีประโยชน์ในครั้งที่บอกพวกเขาว่าให้ระวังว่าน้ำนั้นร้อนเท่าไร ควรค่อยหย่อนกายลงมาแค่ไหนเพียงไร แต่เมื่อเขาลงมาอยู่ในบ่อเดียวกันแล้ว เขาและคุณก็คือผู้ที่อาบน้ำร้อนมาแล้วเท่ากัน

ถ้าอย่างนั้นสรุปว่าพ่อแม่ไดโนเสาร์ต้องทำใจเลยหรือว่าไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถบังคับตักเตือน หรือเรียกให้เขากลับมาเดินตามเราต้อย ๆ และสนุกซาบซึ้งกับเรื่องเล่านิทานเก่าของเราได้

คำตอบคือ ใช่ และการยอมรับว่าเราไม่เท่าทัน อาจจะเป็นความเท่าทันในวิถีใหม่

ดังเช่น บทกวี “บุตร” (On Children) ของ คาลิล ยิบราน รจนาไว้ จากสำนวนแปลของ ระวี ภาวิไล มีว่า

.....................

บุตรของเธอ...ไม่ใช่บุตรของเธอ 
เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต
เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ 
และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ

เธออาจจะให้ความรักแก่เขา  
แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง
เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ 
แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา
เพราะว่าวิญญาณของเขานั้น อยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ 
ซึ่งเธอไม่อาจเยี่ยมเยือนได้ แม้ในความฝัน...
เธออาจจะพยายามเป็นเหมือนเขาได้  
แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ
เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลังหรือห่วงใยอยู่กับวันวาน

เธอนั้นเป็นเสมือนคันธนู 
บุตรหลานเหมือนลูกธนูอันมีชีวิต
ผู้ยิงเล็งเห็นที่หมายบนทางอันมิรู้สิ้นสุด  
พระองค์จะน้าวเธอเต็มแรง เพื่อว่าลูกธนูจะวิ่งเร็วและไปไกล
ขอให้การโน้มงอของเธอในอุ้งพระหัตถ์ของพระองค์เป็นไปด้วยความยินดี
เพราะว่าเมื่อพระองค์รักลูกธนูที่บินไปนั้น 
พระองค์ก็รักคันธนูซึ่งอยู่นิ่งด้วย

............................

เมื่อเราผู้เป็นมารดาบิดาได้ลับคมศรของเราอย่างดี เล็งไปด้วยสมาธิอันตั้งมั่น ง้าวคันศรด้วยแรงที่กะเก็งแล้วว่าพอดีไม่ขาดเกิน ก่อนจะปล่อยลูกธนูออกไปจากคันสาย แต่เราก็ไม่อาจคาดหมายได้ว่าลูกธนูนั้นจะพุ่งไปสู่เป้าหมายใด แม้อาจจะพอเดาทางได้เท่านั้น

มิใช่เพียงสายลมที่แทรกแซงหรือเจตนาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่เพราะลูกธนูนั้นก็มีความคิดและเจตจำนงของมันเอง.

-------------

อ่านฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ "คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง"  หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2563 และมติชนออนไลน์ครับ

ที่มา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2991946104365653&id=1529950080565270

Tuesday, August 18, 2020

Dream

“สอบตก”

เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมได้ทำสิ่งหนึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต
นั่นคือ การตื่นตีห้า ไปวิ่งที่สวนลุม กับ ภรรยา ครับ
เป็นความสำเร็จ เหมือนเรียนจบมหาลัยสามปีครึ่ง แถมได้เกียรตินิยม 
ก็แหม เรื่องการออกกำลังกาย สำหรับภรรยาผมเนี่ย
เธอไม่ค่อยถนัดครับ 
เราสองคนนั่งรถมาถึงสวนลุม ก็เป็นเวลาประมาณ ตีห้าครึ่ง 
นกยังร้อง ฟ้ายังสลัว อากาศยังเย็น ภรรยาผมก็ยัง “ง่วง” 
ผมจึงยื่นข้อเสนอว่า ขอไปวิ่งก่อนหนึ่งรอบ ให้เวลานอนแป๊บนึง เดี๋ยวมาตามละกัน
ภรรยาผมตอบตกลง พร้อมอ้าปากหาวเล็กๆ
ปกติแล้ว ผมจะวิ่งที่สวนลุมประมาณ 4 รอบ รวมแล้วประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
เหงื่อออก หัวใจเต้นแรง เหนื่อยพอดีๆ 
แน่นอน วันนี้คงจะต้องเปลี่ยนแผน เพราะ คงต้องวิ่งเคียงข้างภรรยา ที่เคารพรัก เพื่อให้กำลังใจ
ผมตัดสินใจ วิ่งเร็วที่สุด หนึ่งรอบ 2 โลครึ่ง กะเอาให้เหนื่อยเต็มที่ไปเลย 
ผมออกวิ่ง ไปได้หนึ่งกิโล ก็รู้สึกว่า หัวใจเริ่มเต้นแรง เริ่มเมื่อย ขาเริ่มตึง แต่ก็กัดฟันวิ่งต่อจนจบ 
หนึ่งรอบ ใช้เวลาประมาณ 12 นาที 
เมื่อมองดู ความเร็วพบว่า อยู่ที่ประมาณ “4 นาทีต่อกิโลเมตร” 
ทำให้ผมนึกถึงชื่อของนักวิ่งคนหนึ่ง “โรเจอร์ บันนิสเตอร์”

ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการสร้าง “นวัตกรรมทางธุรกิจ” ในหลายๆแห่ง
ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา หรือ นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง
หลังจบการบรรยาย มักจะมีผู้ฟังเข้ามาพูดคุย 
ที่บ่อยที่สุดคือ “พี่ๆ ผมมีไอเดียแบบนี้ ผมอยากทำแบบนี้ๆ พี่ว่าจะสำเร็จมั้ย” 
ผมมักจะยิ้มแหยๆ แล้วตอบว่า “พี่จะไปรู้ได้ไงครับเนี่ย น้องคิดว่าไงล่ะ” 
ในใจนั้น อยากจะเล่าเรื่องจากหนังสือ “หลักการแห่งความสำเร็จ (The Success Principle)” เขียนโดย “แจ็ค คานฟิลด์”
ให้น้องเขาฟังสัก “สองเรื่อง” ครับ

เรื่องแรก เป็นเรื่องของ “แคทเธอรีน ลานิแกน”
หญิงสาว วัยรุ่น ชาวอังกฤษ ที่มีความฝัน อยากจะเป็น ”นักเขียน” 
เธอเขียนได้ดี และ ได้รับเข้าศึกษาต่อในสาขา “สื่อสารมวลชน” อย่างที่เธอฝันไว้ 
ปีหนึ่ง เทอมที่สอง เธอดีใจมากที่ได้รับเลือกให้เรียนร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่สี่ 
เพื่อเรียนกับ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัย “ฮาร์วาร์ด” ที่มาสอนเพียงครั้งคราวเท่านั้น 
เธอตั้งใจมากกับ “งานเขียนชิ้นแรก” 
หลังจากส่งงานได้ไม่กี่วัน “ศาสตราจารย์” ท่านนี้ ต้องการพบเธอ
เธอดีใจมาก รีบไปพบตามนัดหมาย 
“นั่งลงสิ แคทเธอรีน” อาจารย์ท่านนี้เชื้อเชิญ ด้วยใบหน้านิ่งๆ 
เขาเอา “ต้นฉบับ” ของเธอออกมา แล้วโยนข้ามโต๊ะไปให้เธอ พร้อมบอกว่า 
“พูดตามตรงนะ งานของคุณมันห่วยสิ้นดี”
ไม่ทันที่ “น้ำตา” ของแคทเธอรีน จะเอ่อล้นออกมาได้ แม้เพียงสักนิด 
อาจารย์ก็พูดต่อ “ผมไม่แน่ใจว่า คุณเข้ามาในชั้นเรียนผมได้ยังไง 
คุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องบทและโครงสร้างการเขียนเลย 
คุณไม่มีทางเลยที่จะหาเลี้ยงชีพจากการเป็นนักเขียนได้
แต่คุณโชคดีนะ เพราะผมจับทางมันได้ก่อน ที่คุณจะถลำลึกไปมากกว่านี้
พ่อแม่คุณจ่ายเงินค่าเทอมแพงๆ ให้คุณมีการศึกษาดีๆไว้เลี้ยงตัวเอง
ผมแนะนำให้คุณเปลี่ยนคณะ ผมรู้ว่า คุณเข้ามาด้วยเกรดที่ดีมาก และคงไม่อยากจะถอนวิชานี้กลางคัน
ผมจะให้ B คุณ ถ้าคุณสัญญาว่า จะไม่จับปากกาขึ้นมาเขียนอีก” 
แคทเธอรีน รับ “ข้อเสนอ” จากอาจารย์ที่เคารพ ด้วย หัวใจสลาย
คืนนั้น เธอเดินขึ้นไปบนดาดฟ้า ขยำงานเขียนของเธอ เผามันทิ้ง
แล้วปฏิญาณกับ ท้องฟ้าในฤดูหนาว นั้น ว่า ฉันจะไม่เชื่อใน ”ความฝัน” อีก 
“ฉันจะอยู่กับความจริง” 
แคทเธอรีน เปลี่ยนสาขามาเรียนในวิชาชีพ “ครู” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
เวลา 14 ปีผ่านไป เธอไม่ได้จับปากกาเขียนงานอีกเลย จนกระทั่ง ฤดูร้อน วันหนึ่ง
เธอได้พบกับกลุ่ม “นักเขียน” ที่โรงแรม ที่เธอไปร่วมประชุม
เธอรวบรวมความกล้าเข้าไปพูดคุย และ กล่าว “ชื่นชม” นักเขียนเหล่านั้น 
“ฉันชื่นชมพวกคุณมากเลยที่เขียนเรื่องราวดีๆออกมาให้เราได้อ่านกัน ความฝันลับๆของฉันคือการเป็นนักเขียน” 
นักเขียนอาวุโสคนหนึ่งหันกลับมาบอกกับเธอ “ถ้าคุณคิดจะเป็นนักเขียน คุณก็น่าจะเป็นนักเขียนสิ”
“เป็นไปไม่ได้หรอก ฉันรู้ว่า ฉันมันไม่มีพรสวรรค์” เธอเล่าเรื่องของอาจารย์ท่านนั้นให้นักเขียนอาวุโสฟัง
นักเขียนท่านนั้นยื่นนามบัตรให้เธอ “ถ้าคุณอยากจะเขียน ลองส่งงานของคุณมาให้ผมดูสิ” 
คืนนั้น เธอตัดสินใจเขียน แล้วส่งให้ “นักเขียน” ท่านนั้น ในวันรุ่งขึ้น
สามเดือนถัดมา เธอได้รับโทรศัพท์ว่า สำนักพิมพ์อยากจะตีพิมพ์หนังสือของเธอ
พร้อมคำชมเล็ก “คุณมีพรสวรรค์มากนะ แคทเธอรีน”
จากวันนั้น “แคทเธอรีน ลานิแกน” พิมพ์หนังสือของตัวเองแล้ว 33 เล่ม 
หลายเรื่องถูกนำไปทำเป็น “ภาพยนตร์ฮอลลีวูด” เช่น Romancing the Stone และ Jewel of the Nile
เธอได้ “ความฝัน” ของเธอคืนมา หลังจากโดน “ขโมย” ไป 14 ปี

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่เติบในเขตชนบทชาวอเมริกัน “มอนตี้ โรเบิร์ต” 
ในคาบเรียนหนึ่ง คุณครูให้ส่งเรียงความ “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” 
คืนนั้น มอนตี้ เขียนเรียงความยาว เจ็ดหน้ากระดาษ บรรยาย ความฝันที่อยากจะ “เลี้ยงม้า” 
เขาวาดพื้นที่ สองพัน เอเคอร์ ตัวบ้านขนาด สี่พัน ตารางเมตร พร้อมอาคารต่างๆ อย่างละเอียด และ “คอกม้า” ขนาดใหญ่
สองวันหลังจากส่งการบ้าน เขาได้งานเขียนคืน พร้อมเกรด “F” และ ข้อความ “มาพบครูหลังเลิกเรียน” 
เมื่อได้พบ คุณครูบอกมอนตี้ด้วยความเป็นห่วง 
“การมีฟาร์มม้าต้องใช้เงินมาก ต้องมีที่ดิน เธอไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย 
ครูจะให้โอกาสเธอ เขียนความฝันที่เป็นจริงได้มากกว่านี้ แล้วจะถอน F ของเธอให้ ลองเอาไปคิดดู”
มอนตี้กลับบ้านด้วยความ “สับสน” เขานอนคิดอยู่หนึ่งคืน แล้วเขียนความคิดลงในกระดาษเพื่อตอบคุณครู 
“ครูเก็บ F เอาไว้ก็ได้ครับ ผมก็จะเก็บความฝันของผมไว้เช่นกัน (You can keep the F and I will keep my dream)” 
ปัจจุบัน มอนตี้ โรเบิร์ต มีฟาร์มเลี้ยงม้าเป็นของตัวเอง มีอาชีพฝึกม้า มืออันดับต้นๆของโลก
เขียนหนังสือขายดีไปทั่วโลก “The man who listens to horses” พิมพ์แล้วกว่าห้าล้านเล่ม
มี ทรัพย์สินหลายร้อยล้านเหรียญ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย 

ทั้ง “แคทเธอรีน” และ “มอนตี้” ประสบความสำเร็จอย่างสูงเหมือนกัน
แตกต่างก็แค่ คนหนึ่งทิ้งความฝันไป 14 ปี ด้วยคำพูดของคนอื่น
อีกคนหนึ่ง เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อในความฝันที่ยิ่งใหญ่ แล้วลงมือทำ ทำมันมาเรื่อยๆ “ไม่หวั่นไหว”

“พี่ว่าที่ผมจะทำมันจะเวิร์คมั้ย” เป็นคำถามที่ผมไม่ชอบเลย
เพราะ ผมคิดว่า “ไม่มีใครรู้หรอก” 
อยากจะถามกลับและให้กำลังใจมากกว่า
“แล้วน้องล่ะ อยากทำมันมากแค่ไหน ถ้ามาก ก็ลุยเลยสิ”

กลับมาที่ “โรเจอร์ บันนิสเตอร์” 
เขาคือ นักวิ่งชาวอังกฤษ ผู้สร้างสถิติ “วิ่งหนึ่งไมล์ ใช้เวลาต่ำกว่า 4 นาที” ในปี 1954 (ของผมเป็นหน่วยกิโลเมตรนะครับ แหะๆ ช้ากว่าเกือบสองเท่า)
ซึ่งในเวลานั้น ไม่มีใครคิดว่า ขีดความสามารถของ “มนุษย์” จะทำได้ ไม่มีใครคิดจะ “ลอง” ด้วยซ้ำ
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือ ภายในเวลาไม่กีปีหลังจาก ที่ “โรเจอร์” พิสูจน์ว่า “มนุษย์” ทำได้
สถิติของเขา ก็ถูก “ทำลาย” ลงอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก 
ราวกับว่า “ความเชื่อว่าเป็นไปได้” ได้พานักวิ่ง ก้าวข้าว “ขีดจำกัด” ลวงตาของตัวเอง ได้สำเร็จ

ถ้าคุณคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ 
แค่คุณเชื่อว่า “คุณทำได้” มันก็อาจจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้น “ทันที” ที่คุณลงมือทำ
ไม่จำเป็น ต้องรอถึง 14 ปี

ธุรกิจพอดีคำ, มติชนสุดสัปดาห์ (29 ก.ค. 2559) กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร                            www.facebook.com/eightandahalfsentences

ที่มา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1426879807338172&substory_index=0&id=926494824043342

Monday, August 10, 2020

Think

12 วิธีคิดที่ควรฝึกบ่อยๆ 
เพราะต้องใช้ไปตลอดชีวิต

1 คิดต่าง (Think Differently)
การคิดต่างหรือที่หลายๆคนเรียกว่าคิดนอกกรอบ คือการฝึกให้ตัวเองคิดอะไรในแบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อน กรอบในที่นี่ หมายถึงความคุ้นเคยในสิ่งที่เราคิดหรือทำแบบอัตโนมัติด้วยความคุ้นเคย การฝึกขั้นต้น เราควรห่วงแค่กรอบของเราเองก่อน เมื่อเราคิดนอกกรอบตัวเราเองได้จนเป้นนิสัยแล้ว เราค่อยขยายกรอบนั้นให้ใหญ่ขึ้นเป็นกรอบของคนหรือสังคมรอบตัวของเราต่อไป

การคิดต่างนั้น ยังไม่จำเป็นจะต้องออกมาในรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ (จะพูดต่อไปในข้อ 4) แต่แต่ก็ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะการคิดต่างเป็นแค่การคิดให้เราหลุดออกจากกรอบที่ครอบตัวเราเองให้ได้เท่านั้นเอง

2 คิดล่วงหน้า (Foresee)
การคิดล่วงหน้าคือการที่เราฝึกมองล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างและสิ่งนั้นจะมีผลกระทบกับเรามากน้อยอย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับการที่เราจะทำหรือไม่ทำอะไรในวันนี้นั่นเอง การคิดล่วงหน้านี้รวมถึงการคาดการณ์สิ่งรอบตัวที่จะเปลี่ยนไปในโลกด้วย เพื่อเราจะได้เตรียมตัวรับมือไว้ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจริง

3 คิดทางเลือก (Think of Alternative)
การคิดทางเลือก คือการรู้จักเปรียบเทียบอย่างเท่าเทียมถึงข้อดี ข้อเสีย ของสิ่งที่เรากำลังจะตัดสินใจ เช่นจะเลือกช้างสองตัวไหนดีระหว่างสองตัว ไม่ใช่เอามดไปเทียบกับช้าง

ปัญหาที่เจอบ่อยๆคือ เรามักเอาของที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกันมาเปรียบเทียบกัน ผลที่ตามมาจึงผิดพลาด

4 คิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
หากไม่พูดถึงทักษะการคิดแบบสร้างสรรค์ก็คงจะผิดปกติแน่นอน การคิดสร้างสรรค์หมายการคิดถึงสิ่งที่เราทำ เห็น เป็น และคุ้นเคย แล้วหาวิธีทำให้ออกมาเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม การคิดสร้างสรรค์รวมไปถึงการใช้การออกแบบ จินตนาการต่างเข้ามาเป็นส่วนในการคิดซึ่งออกมาในหลากหลายรูปแบบ

5 คิดวิเคราะห์สาเหตุ (Root Cause Analysis)
การคิดวิเคราะห์สาเหตุได้ถูกต้อง คือรากฐานของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะเราจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้เด็ดขาดถ้าเราไม่รู้ว่าต้นตอของปัญหาอยู่ตรงไหน

คนส่วนใหญ่มักบอกปัญหาได้ แต่ไม่สามารถบอกถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ คนที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้จึงเป็นคนที่โลกต้องการตัวมากเพราะการแก้ปัญหาจากที่ต้นเหตุ คือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

6 คิดเชื่อมโยง (Connecting and Applying)
การคิดเชื่อมโยงคือความสามารถในการคิดเอาเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆจากหลากหลายแหล่งที่มา มาร้อยเรียงเป็นเรื่องเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่เรากำลังต้องการศึกษา ส่วนตัวผมคืดว่าเป็นทักษะที่จำเป็นมากกับชีวิตในยุคปัจจุบันที่เรามีข้อมูลมากมายจนอ่านกันแทบไม่ไหว แต่ทำไมเราถึงไม่สามารถนำมันมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

ถ้าเราสามารถคิดเชื่อมโยงได้เก่ง เราจะมาสามารถเอาเรื่อที่เรารู้จากตรงนั้นไปประยุกต์ใช้กับตรงนี้ ปรับเปลี่ยน แก้ไขได้ทันท่วงทีโดยไม่ต้องไปนั่งค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ทุกครั้งที่เจอกับปัญหา

7 คิดตั้งคำถามท้าทายกับปัญหา
คนเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าไม่รู้จักตั้งคำถามที่ท้าทายกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า คำถามที่เราตั้งคิดถามคือ ถ้าเราไม่แก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ อะไรคือทางเลือกของเราได้บ้าง

มากกว่า 90% ของปัญหาที่คาราคาซังอยู่บนโลกใบนี้ สามารถแก้ได้ถ้าเรากล้าตั้งคำถามที่แรงและอยู่บนสมมติฐานใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับแนวคิดการแก้เดิมๆและก็ทำได้เพียงแก้ปัญหาไปทีละขั้นสองขั้น

8 คิดเป็นเหตุเป็นผล 
คือการที่เราสามารถคิดย้อนถึงไปถึงสาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันได้ว่า เพราะอะไรและทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา ณ ปัจจุบัน การคิดย้อนนั้น จริง ๆ ต้องย้อนขึ้นไปหลายขั้นจนกว่าจะเจอสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิด ใครคิดย้อนไปได้ไกลเท่าไหร่ ก็มีโอกาสแก้ไขป้องกันสิ่งเดิมไม่ให้เกิดขึ้นอีกได้มากขึ้น

การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลถือเป็นการคิดตามหลักศาสนาพุทธ (เพราะมีสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิด) ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสังคมโลก

9 คิดเชิงโครงสร้าง (Structural Thinking)
การคิดถึงที่มาของคำตอบ ว่ามีที่มาอย่างไร ใช้หลักอะไรในการคิด แม้ว่ารายละเอียดของคำตอบอาจจะไม่ถูกต้อง แต่การไล่เรียบที่มาของคำตอบนั้นเต็มไปด้วยตรรกะที่สมเหตุผล มีวิธีการคิดที่ชัดเจน

10 คิดนอกกรอบ (Think Out of the Box)
การคิดหาคำตอโดยไม่ยึดกับกรอบเดิมที่ตุ้นเคย มักจะเป็นการคิดเพื่อแก้ปัญหาเดิมแต่ด้วยวิธีใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการเดิม 

กลุ่ม stratup ที่มักไป disrupt ธุรกิจต่าง ๆ ก็ใช้วิธีการคิดนี้เป็นวิธีหลักเพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ฉีกกฏเดิมที่เคยมีมาในธุรกิจนั้น บรรดา Startrup จำเป็นต้องคิดและทำแบบนี้เพราะหากทำวิธีเดิม จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย

11 คิดเท่าที่จำเป็น (Think only Necessary)
การคิดเท่าที่จำเป็นนั้นฟังเหมือนง่ายแต่จริงๆแล้วยากมาก มันหมายถึงความสามารถที่ว่า เรารู้ชัดเจนว่าสำหรับเรื่องนี้ เราต้องการข้อมูลแค่ไหนพอในการนำมาคิดประกอบการตัดสินใจ เคยเจอรึเปล่าว่า คนบางประเภทที่ขอข้อมูลเพิ่มแล้วเพิ่มอีก จาก 1 กลายเป็น 10 แล้วอาจยังไม่พอกับอีกคนคือ ขอข้อมูลแค่ 5 อย่างก็พอสำหรับการตัดสินใจ

12 คิดบทสรุป

การมีข้อมูลนับล้านอย่างแต่คิดวนไปวนมาหาข้อสรุปอะไรไม่ได้คือการเสียเวลามาก บทสรุปนี้หมายความถึงการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรอย่างไร หรือสรุปผลเรื่องใดสักเรื่องให้ตกผลึกออกมาได้

การคิดบทสรุปให้ได้จึงถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องฝึกโดยเฉพาะในยุคที่เวลามีค่าขึ้นเรื่อยๆและเราไม่สามารถปล่อยเวลาให้ผ่านไปกับการมีกองข้อมูลมหาศาลตรงหน้าโดยไม่รู้จะเอามันไปทำอะไรต่อ

ทักษะการคิดก็เหมือนทักษะอื่นบนโลกนี้ นั่นคือมันฝึกกันได้ และยิ่งฝึกเราจะยิ่งเก่งและชำนาญขึ้น ใครที่ยังคิดไม่เก่ง ถ้าฝึกเป็นประจำก็จะเก่งและแซงคนที่คิดเป็นแต่ไม่ฝึกฝนเลยได้

ของแบบนี้ ฝึกกันได้ครับ

ที่มา https://www.facebook.com/677380392295285/posts/3520633704636592/

Monday, August 3, 2020

Fallacy

“ตรรกะวิบัติ” วิชาที่ในโรงเรียนไม่ค่อยได้สอน

วันก่อนได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับ ตรรกะวิบัติ หรือ Fallacy มา ซึ่งคิดว่านี่เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้เรียนตอนอยู่ในโรงเรียนแต่กลับแทบไม่มีการสอนวิชานี้ในโรงเรียนเลย
.
ตรรกะวิบัติหรือ Fallacy ก็คือการให้เหตุผลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มันไม่เป็นเหตุเป็นผลกันนั่นเอง และถ้ามาย้อนดูดีๆ จะเห็นว่าเรื่องเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเยอะมาก และมีหลายรูปแบบมากมาย เช่น
.
False Dilemma - การทำให้มีตัวเลือกจำกัด 
ตัวอย่าง : ถ้าไม่ยอมให้กูลอกการบ้าน มึงก็ถือว่าเป็นศัตรูของกูแล้วแหละ
ทำไมถึงวิบัติ : เพราะเป็นการบังคับให้เราเลือกฝ่าย แบบมัดมือชก ถ้าไม่อยู่ฝ่าย A ก็หมายความว่าอยู่ B เท่านั้น
.
Red Herring Fallacy - การเปลี่ยนประเด็นไปเรื่องอื่น
ตัวอย่าง : แน่นอนว่าตำรวจโกงก็มีมากมาย แต่นักการเมืองโกงมีมากกว่าอีกนะ
ทำไมถึงวิบัติ : เพราะเปลี่ยนเรื่องจาก การโกงของตำรวจ ไปยังเรื่องของนักการเมืองเฉยเลย มันคนละเรื่องกันน่ะสิ
.
Ad Antiquitatem - สิ่งนั้นถูกต้องเพราะทำกันมานานแล้ว
ตัวอย่าง : การรับน้องเค้ามีมาไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น เค้าก็ทนกันมาได้ตลอด แค่นี้ทำไมทนไม่ได้
ทำไมถึงวิบัติ : การรับน้องมานาน ไม่ได้แปลว่าสิ่งนี้ดีเสมอไป
.
Tu Quoque Fallacy - คุณก็เหมือนกัน!
ตัวอย่าง : มาเตือนให้ผมใช้แบรนด์เนมแท้ พี่เองใช้วินโดวส์แท้รึยังล่ะ!?
ทำไมถึงวิบัติ : เพราะการใช้วินโดวส์แท้ของอีกคน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการใช้ของปลอมที่คุณใช้อยู่
.
Ad Populum – ใครๆ ก็ทำกัน
ตัวอย่าง : เดินข้ามถนน ไม่ตรงทางม้าลาย..เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็ทำกัน
ทำไมถึงวิบัติ : การที่ทุกคนไม่ข้ามทางม้าลาย ไม่ได้ทำให้การไม่ข้ามทางม้าลายเป็นสิ่งที่ถูก
.
ถ้าเราได้วิเคราะห์กันดีๆ จะพบว่าในแต่ละวันชีวิตของเรามี Fallacy เหล่านี้อยู่เยอะมาก และมีมากกว่าแค่ตัวอย่างนี้ไปอีกมาก (มีหลายสิบรูปแบบ) ซึ่ง วิชา Logical Fallacies นี้เป็นวิชาที่อยู่ในระดับมหาวิทยาลัย และไม่ใช่ทุกคนที่จะได้มีโอกาสลงเรียนวิชานี้  (อยากรู้เหมือนกันว่ามีสถิติคนที่ได้เรียนวิชานี้มากแค่ไหน)
.
ที่น่าคิดคือ ทำไมถึงไม่มีการสอนวิชานี้มากนักในโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ทั้งๆ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญมากๆ ในการถกเถียงกันเมื่อโตมาเป็นผู้ใหญ่
.
โพสต์นี้ไม่มีอะไรมาก แค่อยากชวนทุกคนมาคิดกัน ว่าถ้าให้ย้อนกลับไปตอนเรียน อยากจะเรียนวิชาเกี่ยวกับ ตรรกะวิบัติยังไงบ้าง? แล้วคิดว่าจะสอนวิชานี้ในโรงเรียนด้วยวิธีไหนได้บ้างดี
.
ใครสนใจเรื่องของ Fallacy ตามไปฟังกันได้ที่นี่
https://www.youtube.com/watch?v=36mvB7Td46Y

ประเภทของตรรกะวิบัติ
https://thebestschools.org/magazine/15-logical-fallacies-know/

มีเพจเกี่ยวกับตรรกะวิบัติด้วยนะ
https://www.facebook.com/antifallacy/

มีการถูกนำมาพูดใน TEDxYouth@Bangkok ด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=Vbwgp5PgPc0&t=464s

ที่มา มหาลัย 3 นาที