Saturday, November 14, 2015

เขียนหนังสือในชั้นอนุบาล

"ทำยังไงดีล่ะหมอ ลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้"

"น้องอายุเท่าไหร่นะคะคุณแม่"

"สามขวบ เพื่อนในโรงเรียนชั้นเดียวกันเขียน หนังสือได้หมดแล้ว แต่ลูกเรายังเขียนไม่ได้ เวลาให้เขียนก็วาดแต่รูป แม่ปวดหัว ต้องบังคับให้หัดเขียน ร้องห่มร้องไห้กันทุกวัน"

หมอมีความรู้สึกว่าเด็กเล็กๆเดี๋ยวนี้เรียนเร็วกันมาก

หลายโรงเรียนสอนให้เด็กอ่านหนังสือ เขียนหนังสือตั้งแต่เตรียมอนุบาล หรือ อนุบาลหนึ่ง

จริงๆแล้วเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่ขึ้นป.1 ต้องเขียนหนังสือได้หรือยัง

การจะเข้าใจในเรื่องนี้ หมออยากอธิบายถึงเรื่องของการพัฒนาการของสมองตั้งแต่เกิดจนโต

การเจริญของสมองนั้นจะมีส่วนต่างๆ ที่ทำหน้าที่ต่างกัน คือ สมองส่วนล่าง ส่วนตรงกลาง ส่วนบนสุด โดยการพัฒนาจะเริ่มจาก ส่วนล่างไปสู่ส่วนบน (Lower to upper) พูดคร่าวๆก็คือ การพัฒนาจะเริ่มจากสิ่งที่เด็กทำได้ทั่วๆไป (การรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ การได้ยิน มองเห็น ฯลฯ อารมณ์ความรู้สึก) ไปสู่สิ่งที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น (ความคิด การรับรู้ที่ซับซ้อน) ตามลำดับ อย่างการพัฒนาการของกล้ามเนือก็จะเริ่มจาก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปสู่กล้ามเนื้อมัดเล็ก ตามลำดับเช่นกัน

ดังนั้นเด็กเล็กก็ควรให้ออกกำลังกาย มีกิจกรรม กระโดดโลดเต้น เล่นสนุกสนาน ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองตามที่เขาทำได้อย่างเหมาะสม อย่าปล่อยให้เด็กมัวแต่จิ้มไอแพด ไอโฟน หรือจับมือให้เขียนหนังสือ จะทำให้ขาดการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามวัย ซึ่งหากไม่ได้รับการฝึก เด็กก็อาจจะโตไปเป็นเด็กที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรง ทรงตัวไม่ค่อยดี เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ซุ่มซ่าม (clumsiness)

การเปิดโอกาสได้เรียนรู้ผ่านการเล่นก็มีประโยชน์ เด็กจะได้เรียนรู้จากพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตัวเอง การรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเล่น ซึ่งตรงนี้คงไม่เกิดขึ้นผ่านการจับมือเขียนหนังสือ

การให้เด็กเล็กๆได้ร้องเพลง เต้นประกอบท่าทาง เด็กจะสนุกสนาน และได้พัฒนาประสาทสัมผัสการรับรู้ทุกๆด้าน

การเล่านิทาน การเล่นที่เสริมสร้างจินตนาการก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึก

การเรียนรู้จากของจริง เช่น การพาเด็กไปสวนสาธารณะ ให้เด็กได้เห็นต้นไม้ ดอกไม้ เด็กก็ได้รับรู้ด้วยการมองเห็น สัมผัส ได้กลิ่น จากของจริงที่มีอยู่

แบบนี้น่าจะเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะเหมาะสมตามวัยสำหรับเด็กเล็ก

ไม่ใช่ว่าเด็กเล็กๆทุกคนต้องจำเป็นให้เขียนหนังสือได้ จนต้องบังคับกัน ถ้าทำแบบนั้น จะเป็นการขวางโอกาสในการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย

แล้วถ้าถามว่าควรให้เรียนแบบวิชาการเมื่ออายุเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่นั้นการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงจะเริ่มพัฒนาเมื่อเด็กอายุ 6 ปีและจะพัฒนาเต็มที่ที่อายุ 20 ปี ดังนั้น การเรียนแบบสมัยก่อนที่พ่อแม่ให้ลูกเริ่มเรียน ป.1 เลยที่ 6 ขวบ หมอก็รู้สึกว่า เหมาะสมแล้ว

ไม่ใช่ว่าเด็กสองสามขวบ ก็ให้เขียนหนังสือ เรียนเหมือนผู้ใหญ่ แบบนั้นไม่เหมาะเท่าไหร่

รอก่อน เมื่อเด็กพร้อม ส่วนใหญ่เขาก็จะเขียนหนังสือได้เอง

"ทำยังไงได้ล่ะหมอ น้องต้องเตรียมตัวไปสอบเข้าป.1 มันก็ต้องเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ"

มีคำพูดที่ว่า เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด หมอคิดว่า เด็กสมัยนี้ไม่ต้องรอเป็นวัยรุ่นก็เริ่มๆจะเจ็บปวดกันตั้งแต่อยู่อนุบาลแล้ว


ที่มา https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833.98758.468898189816039/977440025628517/

 

No comments:

Post a Comment