Saturday, November 14, 2015

แก้วที่คนไม่ได้

ครอบครัว 3 ครอบครัว นั่งรับประทานอาหารใกล้ๆ กัน

ลูกชายวัยประมาณหกขวบของบ้านแรก เอาช้อนตักข้าวมาคนใส่แก้วน้ำ จนแก้วน้ำเลอะเศษอาหารทานไม่ได้ คุณพ่อหันมาเห็นจึงพูดเตือน "ไม่คนลูกเลอะเทอะหมดแล้ว"
พ่อพูดแต่ลูกชายก็ไม่หยุด พ่อคงเห็นว่าไม่เป็นไรเลยปล่อยไป
สุดท้ายแก้วน้ำล้ม น้ำกระเด็นไปโดนเพื่อนร่วมโต๊ะที่นั่งอยู่ใกล้ๆ พ่อถึงจะหันมาตวาดลูก "พ่อบอกแล้วใช่มั้ย"

อีกบ้านเด็กชายเห็นพี่ทำ คงนึกสนุกจึงลองบ้าง โดยการเอาช้อนขึ้นมาคนบนแก้วไวน์ทรงสูงจนเกิดเสียงดัง
คุณแม่บ้านที่สอง พอเห็นลูกคนแก้ว ก็ห้ามว่า "ไม่คนแก้ว เสียงดังหนวกหู"
ลูกก็หยุดไปได้สักพัก... แล้วก็หยิบช้อนขึ้นมาคนใหม่
คุณแม่ก็หันมาเตือนแบบเดิม แต่เริ่มมีอารมณ์ สุดท้ายก็ต้องยื้อยุดฉุดกระชากช้อนเป็นที่วุ่นวาย
เหตุการณ์จบลงด้วยเสียงเผียะที่มือ "ทำไมแม่ห้ามไม่ฟัง" ลูกร้องไห้เสียงดังจนต้องพาออกไปนอกร้าน

ลูกสาวบ้านที่สาม ก็ทำตามกัน โดยเอาช้อนคนลงไปในแก้วกินไวน์เหมือนพี่ๆ

คุณแม่บอกลูกว่า "แม่รู้ว่าหนูสนุก เสียงช้อนคนแก้วมันเพราะดีนะ แต่เราเอาช้อนมาคนแก้วแบบนี้ไม่ดีเลยจ้ะ เพราะมันจะแตกได้"

แล้วคุณแม่ก็เดินไปขอแก้วกาแฟกับพนักงานมาหนึ่งใบ เอามาเติมน้ำเปล่าใส่ไว้ พร้อมส่งช้อนกาแฟให้ลูกสาว และบอกว่า

"แก้วกาแฟแบบนี้คนได้จ้ะ"
"แต่หนูต้องคนเบาๆ นะ จะได้ไม่เสียงดังกวนคนอื่น ไหนลองพยายามคนให้เบาๆ ซิจ๊ะ"

เด็กหญิงก็คนแก้วกาแฟโดยพยายามไม่ให้โดนขอบแก้วอย่างสนุกสนาน
คุณแม่ชมลูกว่า "เก่งมากลูก หนูคนแก้วกาแฟได้เหมือนผู้ใหญ่เลยนะ"

"แก้วแบบนี้คนได้ แก้วใส่น้ำคนไม่ได้นะ เพราะแก้วมันจะแตกด้ายย"
เสียงจากเด็กหญิงที่พูดจาเป็นผู้ใหญ่ คล้ายจะภูมิใจในตัวเอง

"ใช่จ้ะ เก่งมากเลย หนูคุยรู้เรื่องเหมือนผู้ใหญ่เลยนะ"

หมอเอาเหตุการณ์นี้มาเล่า เพื่ออยากให้เห็นภาพของการจัดการปัญหาที่แตกต่างกันออกไปของหลายบ้าน ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

และในชีวิตจริง พ่อแม่ (รวมถึงตัวหมอเอง) ก็อาจจะเล่นบทบาทแบบพ่อแม่สามบ้านนี้สลับๆ กันไป

สิ่งที่อยากบอกพ่อแม่ก็คือ...

1. พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการอยากลองทำนู่นนี่ เป็น "ธรรมชาติที่ดี" ของเด็กๆ การเรียนรู้จะเกิดได้ เมื่อพ่อแม่เข้าใจและให้โอกาส

2. การ "ห้าม อย่า ไม่" ควรใช้เมื่อจำเป็น
เด็กที่โดนพูดคำนี้อยู่ตลอดเวลา จะขัดขวางการเรียนรู้ และทำให้หงุดหงิดง่าย ไปจนสุดท้ายอาจยิ่งต่อต้านไม่เชื่อฟัง

3. อย่าเอาแต่ "ห้าม" แต่ควรพยายามช่วยลูกมองหาว่า "แล้วอะไรที่ทำได้" การหาสิ่งทดแทนที่ลูกทำได้ คือการแก้ไขปัญหาแบบได้ประโยชน์ทั้งเราและลูก

4. อย่าละเลยลูกเพราะความเหนื่อยใจ เพราะสุดท้ายอาจต้องมาแก้ปัญหาวุ่นวายในภายหลัง

5. เราช่วยลูกให้เรียนรู้ได้เสมอ... แม้ในเวลาที่เค้าสร้างปัญหาให้ปวดหัว

6. พ่อแม่... คือคนที่อาจเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ ด้วยการใช้ "สติ" และ "วิธีเชิงบวก" ในการแก้ปัญหา

รักลูก... เวลาเจอลูกมีพฤติกรรมเป็นปัญหา ลองถามตัวเองดูนะคะ ว่าเราจะทำอะไรได้ดีมากไปกว่าที่แค่ห้าม ดุ ด่า ตี เค้ามั้ย?

เพราะหลายครั้ง... แค่เราเปลี่ยนได้
ลูกก็จะให้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจ แบบที่ไม่ต้องมีใครรู้สึกแย่ไปกับมัน

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้เชื่อมั่นว่าการเลี้ยงลูกเชิงบวกให้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจเสมอ

ที่มา https://www.facebook.com/takekidswithus/photos/a.1383694941947854.1073741828.1383393308644684/1520394851611195/

No comments:

Post a Comment