Thursday, July 8, 2021

Cockroach Theory

ทฤษฎีแมลงสาบ (Cockroach Theory)
A speech by Sundar Pichai, CEO Google -
an IIT-MIT Alumnus and Global Head Google Chrome:
 
ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะที่ นั่งจิบกาแฟอย่างสงบ
อยู่ๆก็มีแมลงสาบ บินจากไหนไม่รู้
บินเข้ามาเกาะผู้หญิงโต๊ะข้างๆแบบไม่ทันตั้งตัว

ผู้หญิงคนนี้กรีดร้อง กระโดดโลดเต้น
โหวกเหวก โวยวาย สะบัดไม้ สะบัดมือ
หวังให้แมลงสาบ บินออกไป

ในตอนนั้น ท่าทางที่เธอแสดงออกมา
ทำให้เพื่อนๆที่นั่งด้วยกัน รู้สึกตกใจและหัวเสียเป็นอย่างมาก
หลังจากเธอใช้ความพยายามสักครู่หนึ่ง แมลงสาบก็บินออกไป

แต่เดี๋ยวนะ!!!
แมลงสาบมันไม่ได้ไปไหนไกลเลย
มันแค่เปลี่ยนเป้าหมายไปเกาะผู้หญิงข้างๆแทน

ทันทีที่แมลงสาบเริ่มเกาะอีกคนนึง
เหตุการณ์ทุกอย่างเหมือนเดิมเป๊ะ
ผู้หญิงคนใหม่ร้องโหวกเหวกโวยวายกระโดดโลดเต้น
พยายามทำทุกวิถีทาง สลัดแมลงสาบให้หลุดออกไป เหมือนคนก่อน

เด็กเสิร์ฟเห็นเข้า ก็ตกใจ
รีบวิ่งตรงดิ่งมาที่โต๊ะลูกค้าทันที
เหมือนแมลงสาบจะรู้ว่าเหยื่อรายใหม่กำลังมาแล้ว
มันเลยบินออกจากตัวผู้หญิงคนที่สอง
แล้วมาเกาะที่เด็กเสิร์ฟคนนั้นแทน

เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น......
แทนที่เด็กเสิร์ฟจะสะบัดแมลงสาบตัวนั้นทิ้งในทันที
เขากลับยืนมองนิ่งๆ เฉกเช่นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน
สังเกตุพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของแมลงสาบบนเสื้อเขา

เมื่อเด็กเสิร์ฟมั่นใจในทิศทางการเคลื่อนที่ของแมลงสาบแล้ว
เด็กเสิร์ฟ จึงค่อยเอามือคว้าแมลงสาบอย่างรวดเร็ว
พร้อมกับนำออกไปโยนทิ้งนอกร้านในทันที

.

สิ่งที่ CEO Google คนนี้ตั้งคำถามคือ
แมลงสาบคือต้นเหตุของความโกลาหลครั้งนี้รึป่าว?
ถ้าใช่...แล้วทำไมเด็กเสิร์ฟคนนี้ถึงยืนนึ่งๆ
พร้อมกับรับมือกับเจ้าแมลงสาบตัวนี้ได้อย่างสบายๆ
ในขณะที่หญิงสาวสองคนนั้นถึงกระโดดโลดเต้นวิ่งไปมา
เพื่อให้แมลงสาบบินออกไป

จริงๆแล้วปัญหามันอาจไม่ใช่อยู่ที่ "แมลงสาบ"
แต่มันอยู่ที่ความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่เข้ามารบกวนมากกว่า

Sundar Pichai
เลยเริ่มตระหนักว่า....ที่ผ่านมา...
สิ่งต่างๆที่ทำให้ตัวเค้าหัวเสีย
ไม่ว่าจะเสียงบ่นจากเจ้านาย พ่อแม่ ลูกค้า หรือ คนใกล้ตัว
หรือความเครียดต่างๆที่เกิดขึ้นกับเขา
จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ใช่ปัญหาเลยก็เป็นได้

อารมณ์ หรือ ความรู้สึกต่างๆเหล่านั้นเกิดจากเราเอง
เรานี้แหละ ที่ไม่สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้
เพราะจริงๆแล้วเราคือคนที่เลือกเองว่าจะรู้สึกยังไงกับสิ่งรบกวนเหล่านั้น

มันไม่ใช่เพราะรถติดแล้วทำให้เราหัวเสีย
แต่มันคือปฏิกิริยาของเราที่ใช้ในการรับมือกับปัญหาต่างหาก
บางทีถ้าไม่มีสติเราอาจหงุดหงิด อารมณ์ร้อนมากยิ่งขึ้น
พอรถยิ่งติด เรายิ่งรีบ สุดท้ายบานปลาย
นำไปสู่อุบัติเหตุรถชน

หรือในกรณีของแมลงสาบ ยิ่งพยายามปัดออกจากเสื้อ
สุดท้าย มันอาจบินมาเกาะหน้า หรือบินเข้าปาก
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณพยายามวิ่งหนี
คุณอาจสะดุดล้มเป็นแผลใหญ่โตก็ได้

ดังนั้น จงจำไว้ว่า...ยิ่งวิธีการรับมือที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งทำให้ปัญหา ยุ่งเหยิงใหญ่โต
สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่แค่การ React หรือแค่ตอบสนองปัญหาด้วยสัญชาตญาณ
แต่มันต้องเป็นการ Respond หรือรับมือด้วยกระบวนการคิดที่ถูกต้อง
ผ่านการใช้สมองไตร่ตรอง เพื่อควบคุมต้นตอของปัญหา ไม่ให้มันบานปลายเกินแก้ไข

คนที่มีความสุข ไม่ใช่เพราะทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมีแต่เรื่องที่ถูกต้องตามแผนที่วางไว้หรอกนะ
แต่ที่เขามีความสุข เพราะสติและทัศนคติที่ดี ที่มีต่อปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากกว่า

คุณเลือกเอาเองละกันว่าอยากรับมือกับปัญหาแบบ React หรือ Respond

ที่มา : https://www.facebook.com/groups/685357704847197/posts/4112035645512702/

Monday, July 5, 2021

omotenashi จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น

แนะนำรุ่นไหนดี ??

เวลาไปร้านอาหารแล้วนึกเมนูไม่ออก
หลายคนคงถามกัปตันร้านว่ามีอะไรแนะนำบ้างมั้ย
และถ้ากัปตันแนะนำจานปลาจานหนึ่ง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่กัปตันแนะนำนั้นเพราะว่าปลาสดและอร่อยเพิ่งเข้ามาจริงๆ หรือเพราะกัปตันถูกสั่งจากเจ้าของให้รีบผลักสต๊อกปลาเนื่องจากใกล้หมดอายุแล้ว หรือเพราะว่ากัปตันได้คอมมิชชั่นจากปลาตัวนั้นสูงเพราะกำไรดี


ไม่ต่างจากเวลาเราไปซื้อทีวีซักเครื่องหลังจากไม่ได้ซื้อมาเป็นปีไม่รู้ว่ารุ่นไหนดียังไง ยี่ห้อไหนต่างจากยี่ห้อไหนยังไง พนักงานร้านใหญ่ๆบางคนก็สังกัดตามแบรนด์ก็จะเชียร์แบรนด์ตัวเอง หรือถ้าแนะนำรุ่นนี้ ยี่ห้อนั้น

เราก็ยังไม่แน่ใจว่าที่น้องเขาแนะนำนั้นเป็นเพราะน้องได้คอมมิชชั่นเยอะจากรุ่นที่แนะนำ หรือร้านให้ผลักสต๊อก หรือว่ารุ่นนั้นดีจริงๆ

เวลาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแนวทีวี ตู้เย็นอะไรแบบนี้ ถามน้องเขาทีไรก็จะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งทุกที


.......


ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเชนสโตร์ที่ญี่ปุ่นชื่อ โนจิม่า
ไม่ได้เป็นร้านใหญ่โตอะไรนักและต้องแข่งกับคู่แข่งอย่าง big camera และร้านออนไลน์ที่เน้นราคาถูกเป็นหลัก  
แต่ร้านนี้มีวิธีคิดและสร้าง “ทีเด็ด” ของร้านด้วยการเน้นการบริการเป็นหลัก  
ด้วยสินค้าที่คล้ายๆกับคนอื่น แต่โนจิม่ามาเน้น “ความเป็นกลาง” ในการขาย
ไม่รับเซลล์แต่ละแบรนด์ที่มายืนเชียร์สินค้า ยอมตัดกำไรตรงนั้นออกไป
แล้วอบรมพนักงานในศึกษาทุกแบรนด์ให้ละเอียด
และต้องบอกให้ได้ว่าแต่ละแบรนด์มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันอย่างไร  

ถ้ามีคุณยายมาซื้อเครื่องซักผ้า พนักงานก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษา
เข้าใจคุณยายตั้งแต่ว่าคุณยายอยู่คนเดียวมั้ย มีลูกหลายช่วยรึเปล่า
ซักวันละกี่ชิ้น แล้วอีกสิบปีพอยกฝาไม่ไหวจะทำอย่างไร
แล้วก็จะแนะนำรุ่นที่เหมาะสมให้
ซึ่งความใส่ใจ ความเป็นกลางและความเข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคลนี้หาไม่ได้จากในเน็ต
หรือในร้านใหญ่ที่แข่งด้านราคา
ความทุ่มเทของพนักงานก็ทำให้ลูกค้าเกรงใจไม่กล้าไปถามแล้วไปซื้อในเน็ตอีกด้วย
ทำให้โนจิม่ามี positioning ที่ชัดเจน
มีลูกค้าประจำเป็นของตัวเองและอยู่รอดได้ในสภาวะการแข่งขันสูงแบบนี้

เรื่องราวคล้ายๆกันนี้ผมก็นึกถึง J.I.B ที่ตอนนี้เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีไทย
ตั้งแต่ตอนที่จิ๊บเปิดร้านเล็กๆร้านแรกที่เซียร์ รังสิต
เขาแทบไม่มีสต๊อกของตัวเอง ราคาก็สู้รายใหญ่ไม่ได้
แต่จิ๊บอาศัยความจริงใจ ใช้เวลากับลูกค้าแต่ละคนนานมากๆในการถามลักษณะการใช้งาน
และประกอบคอมพ์ตามความต้องการจริงๆ
มีปัญหาก็กลับมาได้และจิ๊บก็ดูแลอย่างดี
ลูกค้าหลายคนมาถามแล้วไปดูราคาร้านอื่นถูกกว่าก็ยังเดินกลับมาซื้อกับจิ๊บ
ที่แพงกว่านิดหน่อยก็เพราะความเกรงใจและความใส่ใจที่จิ๊บมีให้
ทำให้จิ๊บค่อยๆมีธุรกิจจนเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าพ่อไอทีไทยจนวันนี้


https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=292306168901757&id=101815121284197

Bar B Q Plaza Human Management

 สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าลูกค้า

วันนี้ ในคลาส Next Gen Innovator ของสภาอุตสาหกรรม
ผมมีโอกาสได้ฟังบรรยายเรื่องการบริหารจัดการแบรนด์และการตลาด
จากคุณบุ๋ม บุญย์ญานุช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บาร์บีคิวพลาซ่า ร้านปิ้งย่างที่ผมว่ามาแรงที่สุดแล้วในยุคนี้
ฟังแล้วได้รับแรงบันดาลใจที่ดีมาก เลยอยากจะมาแชร์ให้เพื่อนๆต่อครับ

ต้องออกตัวก่อนว่า เอาจริงๆแล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ บาร์บีคิวพลาซ่า ซักเท่าไหร่
สิ่งที่ผมรู้หลักๆเกี่ยวกับแบรนด์นี้ก็คือ เป็นแบรนด์ที่มีการทำการตลาดออนไลน์ที่สุดยอดมากๆ
(ไม่ว่าจะเป็นคลิปวันแม่เมื่อปีที่แล้ว จนกระทั่งมาถึง Black Pan ที่เกาะกระแสการเปิดตัวของ iPhone7)
แต่กว่าบาร์บีคิวพลาซ่าจะเดินทางมาได้ถึงวันนี้ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วหลายครั้ง
ลองมาฟังแนวคิดในการ “บริหารคน” และ “บริหารแบรนด์” ไปพร้อมๆกันเลยครับ

คุณบุ๋มเริ่มต้นเล่าว่า บาร์บีคิวพลาซ่านั้น จะให้ความสำคัญกับพนักงานมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ
สำคัญยิ่งกว่าลูกค้าซะด้วยซ้ำ

เพราะธุรกิจร้านอาหารนั้น "ใช้คนเสิร์ฟคน" เพราะฉะนั้นบริษัทต้องดูแลพนักงานให้ดี พนักงานจะได้นำความรู้สึกดีๆไปส่งต่อความสุขให้กับลูกค้า
เมื่อลูกค้ามีความสุข เขาก็อยากจะกลับมาใช้บริการเราเรื่อยๆ ธุรกิจดี พนักงานก็มีความสุข เป็นวงจรที่ดีอย่างยั่งยืน
หลักการที่สำคัญคือ ห้ามดูแลพนักงานราวกับว่าเป็นแค่ลูกจ้าง
ประโยคทองที่คุณบุ๋มได้พูดไว้เลยก็คือ "จ่ายด้วยเงิน ได้แค่แรง จ่ายด้วยใจ จะได้ใจ”

เพราะฉะนั้นแล้ว แบรนด์ในมุมของบาร์บีคิวพลาซ่านั้นก็คือ คนทุกคนในบริษัท
ส่วนทางฝั่งของลูกค้านั้น คุณบุ๋มเล่าว่า ในชีวิตจริงของคนเรา จะสามารถแต่งงานมีคู่ชีวิตได้แค่คนเดียว
แต่ในธุรกิจ เธออยากแต่งงานกับลูกค้าทุกคนเลย จะได้รักกัน มาใช้บริการกันเรื่อยๆ เรียกว่าเป็น Customer Loyalty
เพราะฉะนั้น วิธีการจะได้ Customer Loyalty มาก็ต้องง่ายสุดๆ
เช่นการสมัครบัตรสมาชิกต้องห้ามซับซ้อนเด็ดขาด ลูกค้าขี้เกียจ
หลายแบรนด์ตกม้าตายตรงนี้มาแล้ว กว่าจะสมัครสมาชิกได้ที ซับซ้อนมากมาย ไม่เวิร์คเลย
และสิ่งที่สำคัญอีกข้อก็คือ แบรนด์ต้องไม่เสียจุดยืนทางการตลาด
แต่ไหนแต่ไรมา บาร์บีคิวพลาซ่าเน้นขายอาหารเป็นชุดอยู่แล้ว
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสปิ้งย่างแบบบุฟเฟ่ต์ มาแรงแซงทางโค้งมากๆ ซึ่งก็ทำให้บาร์บีคิวพลาซ่าเขวเหมือนกันว่า
เอ...เราจะเปลี่ยนเป็นร้านแนวบุฟเฟต์ดีไหมนะ?
แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมเสียจุดยืนการขายอาหารเป็นชุด เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ทำบุฟเฟ่ต์เด็ดขาด
แต่แค่เปลี่ยนวิธีการนั่นคือ ออกเมนูเพิ่มขึ้นอีกชุด เรียกว่าชุด Refill (ซึ่งมันก็คือบุฟเฟ่ต์นั่นแหล่ะ แต่จะออกมาแค่ปีละ 2 เดือนเท่านั้น)

ซึ่งเคสนี้ถือว่าสำเร็จมาก ทุกปีในช่วงนี้ ยอดขายจะพุ่งขึ้นสูงสุดเสมอ แถมไม่เสียจุดยืนทางการตลาดในการขายอาหารชุดด้วย
ปัจจุบัน บาร์บีคิวพลาซ่าเป็น Market Leader ในตลาดปิ้งย่างในประเทศไทยแล้วด้วย Market Share 58%

คุณบุ๋มได้กล่าวว่า การจะเป็นเบอร์ 1 นั้นก็ว่ายากแล้ว
แต่การจะรักษาเบอร์ 1 ให้คงไว้อย่างต่อเนื่องนั้นยากยิ่งกว่ามาก
ต้องมีการวางแผนการทำการตลาดแบบบูรณาการให้ดีอย่างเป็นระบบ
และที่สำคัญ ต้องสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่น , การตลาดแบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการทำ CSR
หลายคนนึกว่า โปรโมชั่นที่ดีคือ ต้องลดแลกแจกแถม เช่น มา 2 จ่าย 1 / มา 3 จ่าย 2
การออกโปรโมชั่นแบบนี้จะใช้เงินเยอะทั้งนั้น บางทียอดเพิ่มแต่ไม่มีกำไร

จะดีกว่าไหม? ถ้าเราทำ Promotion แบบใช้เงินน้อย เพราะบรรทัดสุดท้ายของการทำ Promotion คือ
"ทำแล้วให้ลูกค้ารู้สึกคุ้ม"
ซึ่งคุ้มในเชิงลูกค้านี่ ไม่จำเป็นต้องลดราคาเสมอไป อาจจะเป็นของ Premium ก็ได้

ซึ่งของ Premium นั้น ก็ต้องให้มัน Premium ที่คนอยากได้จริงๆ
(เทรนของร้านตอนนี้ก็คือ ลูกอยากได้พวงกุญแจบาร์บีกอน ซึ่งมีแค่ 20,000 อันเท่านั้น)
เพื่อนร่วมชั้นของผมได้ถามคุณบุ๋มถึง Clip วันแม่ ในปี 2015
(ซึ่งเป็นไวรัล ที่ดังที่สุดในโลกออนไลน์ในปีที่แล้ว) ว่าคัดเลือกพนักงานอย่างไร ตั้งกล้องเตี๊ยมกันหรือเปล่า? เพราะดูซาบซึ้งกันเหลือเกิน
คุณบุ๋มได้มาเฉลยว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง พนักงานจริง ไม่มีเตี๊ยม
ซึ่งเบื้องหลังคือ ฝ่าย HR จะคัดพนักงานดีเด่นที่สมควรจะได้รับรางวัลในปีนั้นอยู่แล้วประมาณ 100 คน จากพนักงานทั้งหมดสามพันกว่าคน

พนักงานที่เด่นเหล่านี้สามารถพาแม่มาทานที่ร้านบาร์บีคิวพลาซ่าได้ฟรี 1 มื้อ ที่สาขาโลตัสบางใหญ่ และที่มันเจ๋งสุดยอดก็คือ
ในมื้อนั้นพนักงานระดับสูงทั้งหมด จะมาเป็นพ่อครัวและพนักงานในร้าน
ทำงานตั้งแต่ในส่วนของการเตรียมอาหาร เสิร์ฟอาหาร ยันไปถึงล้างจาน คุณพระ!
จากนั้นช่วงบ่ายก็จัดทริปพาทุกคนไปไหว้พระเก้าวัด เรียกว่า ได้ใจทั้งแม่ทั้งลูกกันเลยทีเดียว

ส่วนพนักงานอีกสามพันกว่าคนที่เหลือ ก็ได้วันหยุดเพิ่มอีก 2 วัน รวมเป็น 3 วันติดกัน จะได้พาแม่ไปเที่ยวได้
สำหรับเรื่องของนวัตกรรม หลายคนนึกว่านวัตกรรมมันต้องซับซ้อน เป็นของใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
แต่สำหรับคุณบุ๋มแล้ว นวัตกรรมคือ
“ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำได้จริง”

ตัวอย่างเช่น ทุกวันหลังเลิกครัว บาร์บีคิวพลาซ่าจะนำอาหารที่เหลือในการผลิตมาทำอาหารน้องหมา
แพ็คลงถุงอย่างดี ซึ่งก็ได้ทำมาแล้วมากกว่า 300,000 ถุง
และได้ออกแคมเปญว่า “สิ่งของที่เราดูว่ามีค่าน้อยแล้ว แต่มันอาจจะมีคุณค่ามหาศาลต่อชีวิตอื่น” ซึ่งก็ได้รางวัลที่คานส์ จากฝรั่งเศสด้วย
หรือจะเป็นการนำตะเกียบไม้เหลือใช้ มาผลิตเป็นโต๊ะนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร
พวกนี้เป็นได้ทั้งนวัตกรรมและ CSR ไปในตัวด้วย

พูดถึงเรื่องนวัตกรรม คงหลีกหนีไม่พ้น Black Pan ที่หลายคนให้ความสนใจ...
คุณบุ๋มเล่าว่า บริษัทได้วิจัยกระทะ + ระบบเตาสองขดลวดเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ใช้เงินวิจัยไปประมาณ 55 ล้านบาท
(อย่าแซวแกเรื่องกระทะ 999 บาทที่วางขายในบิ๊กซีนะครับ เดี๋ยวแกเคือง 555 – จริงๆแค่รูปร่างคล้ายๆครับ แต่เทคโนโลยีนี่คนละเรื่อง)
คุณบุ๋มบอกว่า กระทะก็เหมือนหัวใจของบาร์บีคิวพลาซ่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน
(จริงๆบาร์บีคิวพลาซ่าก็รู้มาตั้งนานแล้วว่ามีคนบ่นเรื่องกระทะมากมาย)
แต่ถ้าจะเปลี่ยนหัวใจทั้งที ก็ต้องให้ชีวิตรอดด้วย ต้องเปลี่ยนแล้วดีขึ้นจริงๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสาขาที่เปลี่ยนเป็น Black Pan จำนวน 25 สาขา
ส่วนอีก 94 สาขาที่ยังไม่ได้ออก Black Pan
ลูกค้าก็สามารถลุ้นพวงกุญแจรุ่น Limited Edition จำนวน 20,000 ชิ้น
ที่เอากระทะทองเหลืองที่ไม่ได้ใช้แล้วจาก 25 สาขานั้น มาหลอม แล้วรันเลขที่ 1-20,000
ไฮไลท์มันอยู่ตรงที่ มีคนถามว่า ทำไมพวงกุญแจถึงแจกแค่ 94 สาขาที่ไม่ได้ยังไม่ได้เปลี่ยน??
คุณบุ๋มได้ตอบว่า เพราะจะให้ผู้จัดการสาขาที่เหลือ ไม่รู้สึกน้อยใจว่า
“เฮ้ย? ทำไมสาขาเรายังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกระทะดำ?
ให้ผู้จัดการสาขาเขารู้ว่า เราก็ไม่ได้ลืมเขา
ทั้งหมดนี้ ก็มาจากตอนแรกที่บอกว่า “จิตใจของพนักงานต้องมาก่อนเสมอ” ปรบมือรัวๆ
สิ่งที่คุณบุ๋มได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ก่อนจากกันคือ “ความลับในความสำเร็จ คือความจริงใจในสิ่งที่เราทำ”
หลังจากที่ได้ฟังคุณบุ๋มมาสองชั่วโมงแล้ว ผมก็เชื่อได้เลยว่า องค์กรที่ลงมือดูแลพนักงานอย่างจริงจัง
(แบบไม่ได้มีแต่สัญญาลมปากนั้น) องค์กรนั้นจะเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน
เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรจะไปได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ทรัพยากรบุคคลนั่นแหล่ะครับ

ที่มา https://www.facebook.com/iggymarketing/photos/a.1541486682798737/1773263349621068/

Strategy or Tactics

 เอาน้ำออกจากแก้ว โดยที่มือไม่สัมผัสแก้ว
อะไรคือ Strategy (กลยุทธ์)
อะไรคือ Tactics (วิธีการ)

ปกติผมใช้คำถามนี้ ในการแนะนำให้เราแยกออกระหว่างคำว่า Strategy (กลยุทธ์) และ Tactics (วิธีการ)
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆในการเราจะกำหนดทิศทางในการทำงาน
ไม่ว่าจะในฐานะของลูกจ้าง เจ้าของ
แม้กระทั่งการกำหนดแนวทางของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ว่าเราพาชีวิตเราเองไปทางไหน

การเป็นเจ้าของหรือเจ้านาย ถ้าคุณไม่สามารถกำหนด ยุทธศาสตร์ และเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจแล้ว
นอกจากจะเหนื่อยฟรีแล้วยังอาจทำให้ลงทุนเสียเงินเปล่าๆอีกด้วย
เพราะธุรกิจแต่ละอัน ในแต่ละสถานการณ์
ตัองการกลยุทธ์และวิธีการที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ที่กำลังเจอ ทั้งปัญหาภายในและโอกาสภายนอก

ประเภทหรือแนวทางหลักๆ คือสิ่งที่เราเรียกว่า Strategy (กลยุทธ์)
ส่วนสารพัดวิธีของแต่ละแนวที่คุณเลือกใช้ก็คือวิธีการ (Tactics)
ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อม จริตและสถานการณ์บังคับที่บางครั้งอยู่นอกเหนือการควบคุม

1 เทออก
หลักของอันนี้คือ การทำให้แก้วเอียงหรือล้ม
ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ตามที่แต่ละท่านตอบมา ทั้งเอาไม้เขี่ย เอาขาเตะโต๊ะ เตะแก้ว และอีกสารพัดวิธีแล้วและเราจะนึกออก
แต่หัวใจหลักของแนวทางนี้คือ แก้วต้องเอียงเพื่อให้น้ำออกมา

การเทแก้ว ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเร็วสุด ทำให้น้ำหมดแก้วเร็วที่สุด
แต่มีโอกาสที่แก้วจะตกแตกหรือเสียหาย
ถ้าคุณใช้วิธีการเตะขาโต๊ะหรือเอาไม้เขี่ย
ถ้าเป็นธุรกิจก็จะเหมือนการลดราคา หักดิบ หรือการใช้วิธีการเร่งการเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไปโดยที่โครงสร้างของธุรกิจยังไม่พร้อมกับการขยายตัวที่รวดเร็วขนาดนั้น
สุดท้ายปัญหาและความเสียหายจะกลับมาหาเราเอง

นอกจากนี้ยังอีกวิธีที่พบบ่อยคือ การเข้าซื้อกิจการคู่แข่งกรณีเอาชนะกันไม่ได้ซะที่
เหมือนกับประโยคที่ว่า "If You can't beat them, buy them.” นั่นเอง

2 ดูดออก
หลักของวิธีนี้ ใช้แรงดูดน้ำออก (สมมติว่าแก้วไม่จำเป็นต้องขยับ)
ไม่ว่าจะเอาหลอดดูดเอง หรือเรียกเพื่อนมาดูดให้
ใช้เข็มฉีดยา ปั๊มน้ำดูดออก
บางคนใช้สัตว์เลี้ยงมากินน้ำ 😑" ซึ่งไม่ผิดกติกาด้วย ถูกไหมครับ
นอกจากนี้ ยังอาจมีวิธีที่แตกต่างไปอีก เช่น
บางท่านเอาผ้าหรือกระดาษทิชชู่มาซับน้ำออกก็ยังมี
แต่ทุกสิ่งอย่างอยู่ใต้หลักการเดิมคือ ไม่ต้องขยับแก้วใดๆสำหรับการเอาน้ำออก

วิธีนี้เป็นคำตอบที่มากสุดทุกครั้งที่ถามพอๆกับวิธีแรก ซึ่งหมายความว่าเป็นแนวทางการทำธุรกิจแบบที่เราคุ้นเคยที่สุด
ได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง อาจช้าหน่อยแล้วแต่กำลังและจังหวะ บางทีมีเพื่อนมาช่วยธุรกิจอาจไปได้เร็วขึ้น
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราคือ เราจะเจอการแข่งขันเยอะมาก
เพราะเราเลือกกลยุทธ์และวิธีการที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่นั่นเอง
(ต้องแยกความหมายว่าทำแล้วจะดี หรือประสบความสำเร็จหรือไม่ออกจากประเด็นนี้นะครับ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน)
ถ้าแข่งกันด้วยกลยุทธ์นี้ วิธีการที่จะเฉือนกันก็คงเป็นใครใช้หลอดใหญ่กว่า หรือใช้ปั๊มน้ำมาดูดแทนที่จะใช้คน
เปรียบในทางธุรกิจก็เป็นใครทุ่มมากกว่า สายป่านยาวกว่า หรือมีเครื่องทุ่นแรงมากกว่าก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะนั่นเอง

3 แทนที่
หลักการเชิงวิทยาศาสตร์สุดๆด้วยการแทนที่น้ำด้วยวัตถุ
ขอบคุณหลายๆท่านที่ทำให้คำว่า ยูเรก้า กลับมาในหัวผมอีกครั้งหลังจากไม่ได้ยินมานานกว่า 30 ปี
หลักอันนี้จะต่างจากวิธีอื่นๆคือ คุณจะกดหรือใส่อะไรบางอย่างลงไปในแก้ว ของนั้นต้องเป็นของทึบ (ต่างจากหลอดหรือสายยาง)

ถ้าสังเกตุจะเห็นว่ามีความคล้ายกับวิธีแรกตรง ต้องใส่อะไรเข้าไปในแก้ว
เพียงแต่ของที่ใส่เข้าไปอันนึงกลวง อีกอันนึงตัน
วิธีนี้การที่คุณจะใส่ของเข้าไปแทนที่เพื่อให้น้ำออกมาจนหมด
คุณต้องวางแผนและเลือกของที่พอดีกับปริมาตรของแก้วจริงๆน้ำจึงจะหมดเกลี้ยง
ของใหญ่ไปไม่พอดีกับแก้วน้ำก็จะเหลือเยอะ ใส่ของชิ้นเล็กก็ไม่รู้เมื่อไหร่มันจะเต็มซักที

ในทางธุรกิจ กลยุทธ์แนวนี้ถือเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจที่อยู่ในภาวะของการถ่ายเลือด
ผลัดเปลี่ยนคนรุ่นสู่รุ่น สินค้า collection นึงสู่อีก collection นึง
หรืออาจรวมถึงการเปลี่ยนสินค้าทั้งหมดของ Portfolio
กรณีที่สินค้าปัจจุบันขายไม่ดี ไม่ได้รับการตอบรับจากตลาด หรืออาจเป็นว่าแบรนด์ต้องการ transform ตัวเองสู่ภาพลักษณ์ใหม่
ทำให้ต้องมีการวางแผนในการเคลียร์สินค้าเก่าพร้อมกับวางแผนการวางตลาดสินค้าใหม่ล่วงหน้านานมากและจัดลำดับก่อนหลังกันอย่างดี

4 ปล่อยให้ระเหย
หลักของเรื่องนี้คือใช้ความร้อน ทำให้น้ำระเหยออก
หรือแม้กระทั่งเอาวางไว้เฉยๆ เดี๋ยวแดดก็เผาไปจนน้ำหมดแก้วเอง (จริงๆเอาไปวางในห้องแอร์ก็ได้นะครับ)
ขอแค่เพียงว่า ต้องย้ายแก้วและตอนคุณ คุณอย่าเผลอเอามือไปสัมผัส ก็จะไม่ผิดกติกาใดๆแล้ว

แนวทางนี้เป็นพวกใจเย็น คือไม่รีบจริงๆ ปล่อยไปตามธรรมชาติ
แนวทางนี้ เหมาะสำหรับธุรกิจบางประเภทด้วยนะครับ ประเภทที่เร่งให้โตยังไงก็โตไม่ได้
อาจเป็นเพราะธุรกิจของตนเองอยู่ในขาลงหรือคงที่ด้วยปัจจัยอื่น เช่น
หาแรงงานยาก supply ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เช่นผลิตภัณฑ์จากวัว กาแฟ)
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้แทบไม่มีความเสี่ยงเลย
ทางออกของการเอาตัวเองสวนกระแสธุรกิจขาลงคือการทำตัวเองให้มีมูลค่าสูงขึ้น เด่นชัดขึ้นเหมือนเอาตัวเองไปวางกลางแจ้ง
จะทำให้น้ำระเหยได้เร็วกว่าอยู่เงียบๆในร่ม

5 ทำให้น้ำแข็งตัวแล้วดึงออก
สุดยอดวิธีไฮเทคด้วยการทำให้น้ำแข็งตัวเป็นก้อนแล้วดึงออกมา
ทำได้โดยการใช้ไนโตรเจนเหลว
และการได้ยินวิธีนี้เป็น 1 ในคำตอบของการ Workshop ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองคงเริ่มแก่และคำถามนี้ชักจะเก่าแล้วเพราะตามไม่ทันเทคโนโลยี เพราะคำตอบหลักๆที่ใช้มานานมันมีแค่ 4 แนวทางข้างบนเอง จึงลองเอามาถามทุกท่านในนี้ และก็พบว่ายังมีคนตอบวิธีนี้มาด้วยจริงๆ

แนวทางนี้อาจจะดูเป็นอะไรที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ
เพราะเป็นการทำให้น้ำออกมาพร้อมกันที่เดียวและหมดเกลี้ยงจริงๆ (เพราะน้ำจะแข็งเป้นก้อนพร้อมกัน)
อาจจะมีจุดต้องระวังบ้างเช่นแก้วจะแข็งรวมไปกับน้ำแข็งด้วย

การเลือกกลยุทธ์แบบนี้เหมือนกับการเอาเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ๆแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาแก้ปัญหา
หลายๆครั้งคนในองค์กรอาจมองไม่ออกว่ามันจะดียังไงเพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่คุ้นเคยและขณะเดียวกัน
การเลือกวิธีนี้ต้องอาศัยผู้ชำนาญหรือ Specialist เฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก

แรกๆจะมีแนวต้านอย่างมากจากผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงหรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อผลของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทุกคนในองค์กรจะเริ่มมีความเชื่อในที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นใครที่เลือกกลยุทธ์แบบนี้ ต้องมีแผนสำหรับช่วง Pilot Test (ช่วงทดลอง) ในระดับที่แน่นปึ้ก เพื่อการันตีความสำเร็จในช่วงแรกให้ได้

ท้ายสุดที่อยากจะย้ำคือ ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าวิธีไหน
เพราะปัจจัยแวดล้อมของแต่ละธุรกิจนั้นแตกต่างกัน
และไม่มีธุรกิจไหนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งตลอดไป
เพราะคู่แข่งใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวันและการแข่งขันสูงขึ้นมาก
คนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าเท่านั้น จึงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแห่งการอยู่รอด

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งนะครับสำหรับที่ร่วมสนุกกัน
คราวนี้คงแยะออกแล้วนะครับ ว่า Strategies กับ Tactics นั้นต่างกันอย่างไร
ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงแก้วน้ำใบนี้ไว้นะครับ

ที่มา https://www.facebook.com/677380392295285/photos/a.677773965589261/869988356367820/