Friday, February 18, 2011

the Eight Virtues of Confucianism

ขงจื้อ (孔子 จีนกลาง : ข่งจวื่อ / แต้จิ๋ว : ค่งจื้อ)(CONFUCIUS)

คำสอนของขงจื้อนั้นจะสั่งสอนให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนโดยสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติตามคุณธรรม 8 ประการ
(八德 ปาเต่อ ในภาษาจีนกลาง / โป่ยเต็ก ในภาษาจีนแต้จิ๋ว)
โดยคุณธรรมทั้ง 8 ประการนั้นจะมีดังนี้

1. 孝 (จีนกลาง : เซี่ยว / จีนแต้จิ๋ว : เห่า) ความกตัญญูกตเวที
ครึ่งบนเป็นตัวชรา ครึ่งล่างเป็นตัวลูก ประกอบกัน
ความหมายในตัวอักษร แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่นั้นแก่เฒ่า ลูกอยู่เบื้องล่าง เหมือนมือเท้าเฝ้ารับใช้

เป็นคุณธรรมอันดับแรกที่จะขาดเสียมิได้
ถ้าคนเราไม่รู้สำนึกในบุญคุณคนและไม่รู้จักการตอบแทนบุญคุณแล้ว ถือว่าคนผู้นั้นไร้ซึ่งคุณธรรมเลยทีเดียว

หมื่นพันตำลึงทองมากมาย ยากจะซื้อชีพกายพ่อแม่
ท่านยังอยู่ไม่เคารพดูแล ท่านนิ่งแน่ร้องไห้ให้ป่วยการ
พระคุณพ่อนั้นเพียงพสุธา คุณมารดาดังมหาสมุทรใหญ่
รักลูกผูกถวิลจนสิ้นใจ จะหมายใครดั่งพ่อแม่แท้ไม่มี

แยกย่อยออกเป็น 4 ข้อใหญ่ดังนี้ คือ
1) อัน : ให้ความสงบสุขใจ ไม่นำความเสื่อมเสียมาให้
2) อุ้ย : ปลอบใจช่วยให้คลายทุกข์
3) จิ้ง : เคารพ ตอบแทนบุญคุณด้วยความเคารพและจริงใจ
4) ซุ่น : โอนอ่อนไม่ขัดใจ ไม่ขัดเคืองโกรธตอบในสิ่งที่ท่านสั่งสอน

อีกตอนหนึ่งสอนว่า
ร่างกายตลอตจนปลายเท้าและเส้นผม ได้จากมารดาบิดา มิกล้าทำลาย นี่ คือ กตัญญูในเบื้องต้น
(การดูแลตนเอง เท่ากับการดูแลคนอื่น - ไม่ต้องเป็นภาระให้คนอื่นมาดูแลเรา ไม่ได้หมายถึงให้ดูผมให้สลวยสวยงาม)
สำรวมตนบำเพ็ญธรรม สร้างคุณงามไว้ในโลก เกียรติ ปรากฏแก่มารดาบิดา นี่คือ กตัญญูในเบื้องปลาย

2. 悌 (จีนกลาง : ที่ / จีนแต้จิ๋ว : ตี๋) ความรักใคร่ปรองดอง หรือ การให้ความเคารพปรนนิบัติรับใช้ผู้ที่มีอายุมากกว่า
ในตัวอักษร จุดแรกเป็นพี่ จุดทีหลังเป็นน้อง โค้งตัวเคารพ ครบมือครบเท้าในร่างเดียวกัน คือพ่อแม่เดียวกัน
ครอบครัวหรือชุมชนนั้นมีความปรองดอง รู้จักให้อภัย รู้จักอดทนซึ่งกันและกัน รู้จักเอื้ออารีกัน
ย่อมจะทำให้เกิดความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองตามมา

สายเลือด ที่สนิทชิดเชื้อที่สุด คือ พี่น้อง เหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ต้นเดียวกัน
เกิดมาจากแม่เดียวกัน ดื่มนมจากแม่เดียวกัน ไม่ตัดมือตัดเท้า
ความเจริญของครอบครัวเกิดได้เพราะพี่น้องปรองดองกัน


3. 忠 (จีนกลาง : ตง / จีนแต้จิ๋ว : ตง) ความซื่อสัตย์, จงรักภักดี, ตรงไปตรงมา
สื่อถึงการวางหัวใจของตนนั้นให้เที่ยงตรงไม่โอนเอียง มีความยุติธรรมเป็นหลัก
ไม่หักหลังทำสิ่งน่าละอายต่อตนเองและผู้อื่น ซื่อตรงต่อฟ้าดิน ต่อบ้านเมือง และบุคคลทั่วไป
คือ มีความซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง


4. 信 (จีนกลาง : ซิ่น / จีนแต้จิ๋ว : สิ่ง) มีสัจจะ
ประกอบด้วยตัวคน และวาจา หมายความว่า คนควรมีวาจาสัตย์
วาจาสัตย์ เป็นบรรทัดฐานแห่งมนุษยธรรมอันล้ำค่า

กัลยาณชนเอ่ยวาจาใด ต่อให้ม้าฝีเท้าไวก็ไม่อาจตามคืน

การได้พูดจานัดหมายกับใคร จะเป็นซื้อขาย หรือการงานก็ตาม
หากคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์แห่งตนแล้วผิดสัญญาคำสัตย์ หลอกลวงเหลวไหล
ล้วนถือเป็นขาดความสัตย์จริง


5. 礼 หรือ 禮 (จีนกลาง : หลี่ / จีนแต้จิ๋ว : โล่ย, ลี่) จริยธรรม, จารีตประเพณี
มีจริยธรรม มารยาทอันดีงาม รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีความสุภาพสง่างาม มีสัมมาคารวะ เคารพในสิทธิของผู้อื่น


6. 义 หรือ 義 (จีนกลาง : อี้ / จีนแต้จิ๋ว : หงี่) มโนธรรม
ไม่โลภในลาภ (สันโดษ) และรู้จักสละทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น


7. 廉 (จีนกลาง : เหลียน / จีนแต้จิ๋ว : เนี้ยม) สุจริตธรรม
เสมอต้นเสมอปลายด้วย
- บริสุทธิ์ 3 สถาน (งานบริสุทธิ์, เงินบริสุทธิ์, บริสุทธิ์สำรวมมารยาทระหว่างชายหญิง)
- เที่ยงตรง 4 ประการ (กายวาจาใจที่เที่ยงตรง และมีพฤติกรรมการแสดงออกที่เที่ยงตรง)


8. 耻 หรือ 恥 (จีนกลาง : ฉวื่อ / จีนแต้จิ๋ว : ชี่) ละอายต่อความชั่ว
ความหมายตามอักษรหมายถึง เนื้อแท้ของจิตเดิม
จิตเดิมของคนเรามีแต่ความดีไม่มีความชั่ว ซึ่งหมายถึงมโนธรรมหรือน้ำใจอันดีงามนั่นเอง

คุณธรรมข้อนี้ยังสอนให้รู้จักอดทนอดกลั้นต่อคำสบประมาทหรือ เหยียดหยาม
โดยก่อนจะโกรธหรือเกลียดใครให้ชั่งใจก่อนว่าสิ่งที่เขากล่าวมานั้น เราได้ทำดีหรือทำผิดไปหรือไม่
ถ้าทำดีแล้วก็ปล่อยวาง แต่ถ้าเราทำไม่ดีอย่างที่เขาว่าก็ควรปรับปรุงตัว


นอกจากคุณธรรมทั้ง 8 ประการของขงจื้อนี้แล้ว ชาวจีนบางท่านอาจนำคำอื่นซึ่งมีความหมายคล้ายกันแทนคุณธรรมข้อ 悌 กับ 信 ก็มีคือคำว่า

仁 (จีนกลาง : เหยิน / จีนแต้จิ๋ว : ยิ้ง) เมตตาปราณี, เมตตาการุณย์, มีสัจจะ, มีศีลธรรม, มีธรรมประจำใจ หรือ คุณธรรมของบัณฑิต
เพราะ ความเมตตาปราณีนั้นจะนำมาซึ่งมิตรที่ดี

爱 หรือ 愛 (จีนกลาง : ไอ้ / จีนแต้จิ๋ว : ไอ่) รักด้วยความจริงใจ, ชอบในสิ่งที่ควร, หวงแหน, สิ่งที่ตนนิยม
อันแสดงถึง ความรักที่เป็นสาธารณะ หรือ ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ถูกต้อง


นี่เองที่ชาวจีนถือว่าเป็นคุณธรรมประจำใจ อันตกทอดสืบต่อกันมาของสายเลือดมังกร
และถือว่าเป็นมงคลแห่งชีวิตที่ควรประพฤติปฏิบัติตาม
ดั่งคำที่ชาวจีนมักกล่าวกันไว้ว่า “เมื่อคนเรามีคุณธรรมแล้ว โชคลาภความร่ำรวยชื่อเสียงเกียรติยศย่อมตามมา”
หรือในมุมกลับกัน “ถ้าไร้ซึ่งคุณธรรมเสียแล้ว แม้จะเก่งกล้าหรือดวงดีสักแค่ไหน สุดท้ายก็จะพบแต่ความพินาศ”

ดังนั้นจึงเห็นว่าชาวจีนมักจะติดวลีคุณธรรมมงคลไว้กันในบ้านเรือนเพื่อเตือนใจ ว่า
“孝悌忠信礼义廉耻” หรือคำว่า “忠孝仁愛禮義廉耻” กันอยู่เสมอ
เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงการมีคุณธรรมประจำใจ อันจะนำมาซึ่งโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตทั้งมวล


ที่มา
http://horamahawed.com/content.php?cate=china_fortune&id=12
http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538724965&Ntype=128


คุณธรรม (Virtue)
==============
1) แนวความคิดที่ดี นำให้ประพฤติดี
2) สภาพคุณงามความดีทางความประพฤติและจิตใจ

ศีลธรรม (Moral)
==============
หลักความประพฤติที่ดีสำหรับบุคคลพึงปฏิบัติ

จริยธรรม (Ethics)
================
(ศีลธรรมเฉพาะกลุ่ม)
1. ประมวล กฎหมาย ที่กลุ่มชนหรือสังคมหนึ่งๆ ยอมรับเป็นแนวควบคุมความประพฤติ
เพื่อแยกแยะให้เห็นว่าอะไรควร หรือไปกันได้กับการบรรลุวัตถุประสงค์ของกลุ่ม
2. ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วย ความประพฤติ และการครองชีวิต
ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด หรืออะไรควร อะไรไม่ควร

คัดย่อจาก http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5375831&Ntype=6

No comments:

Post a Comment