อาการที่เกิดร่วมกับการหลับ
คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะหลับ
อาจจะปกติ หรือผิดปกติก็ได้
ถ้าผิดปกติอาจเรียกว่าอาการผิดปกติขณะหลับ (dyssomnias)
อาการที่เกิดร่วมกับการหลับมีมากมาย เช่น
1. การกระตุกขณะหลับ
(hypnic jerks, periodic movements in sleep,
nocturnal myoclonus)
คือ การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นพักๆ ขณะหลับ
เป็นอาการปกติที่พบบ่อยมากร่วมกับการหลับ
มักเกิดในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
และมักจะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
การกระตุกขณะหลับมักจะเป็นมากขึ้น ถ้าอดนอน
มีเรื่องเครียดก่อนนอน มีโรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองแตก-ตีบ-ตัน
ไตวาย การได้ยาแก้อาการซึมเศร้า การหยุดยานอนหลับ หรืออื่นๆ
ที่พบบ่อยมักเป็นที่ขา
คนที่ชอบรู้สึกว่ามีอะไรคลานหรือกวนอยู่ในน่องลึกๆ
จนต้องขยับขาบ่อยๆ ในยามตื่น (restless leg syndrome)
เกือบทั้งหมดจะมีการกระตุกของขาขณะหลับ
แต่คนที่ขากระตุกขณะหลับอาจไม่รู้สึกผิดปกติที่น่องในขณะตื่น
การกระตุกขณะหลับอาจมีเพียงการกระดกหัวแม่เท้า
หรือการกระดกเท้า หรือนิ้วมือเป็นระยะๆ (ทุก 20-40 วินาที)
ไปจนถึงการเตะถีบ ฟาดแขนฟาดขา หรือกระตุกทั้งตัว จนตื่นขึ้นเต็มที่
แต่ส่วนใหญ่จะไม่ตื่น (สมองตื่นเพียงเล็กน้อยแล้วก็หลับต่อแล้วก็ตื่นใหม่ สลับกันไปเช่นนี้
ถ้าเป็นมากจะทำให้นอนไม่พอทั้งที่รู้สึกว่าหลับทั้งคืน
คนที่เป็นเช่นนั้นมักจะไม่รู้ตัว
แต่คนที่นอนด้วยจะสังเกตเห็นการกระตุกเหล่านี้ และทำให้วินิจฉัยโรคนี้ได้)
การละเมอ (sleep talking)
========================
คือ การพูดพึมพำหรือการตะโกนโหวกเหวกขณะหลับ
อาจจะละเมอเป็นประโยคหรือเป็นคำๆ
อาจฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ได้ และเมื่อถูกคู่นอนหรือคนใกล้ชิดถามว่าอะไร เป็นอะไรหรือ
เกือบทั้งหมดจะไม่มีการตอบสนอง เพราะผู้ละเมอกำลังหลับอยู่
แต่ใน บางกรณีที่พบได้น้อยมาก ผู้ละเมออาจจะตื่นมากกว่าหลับ
ทำให้ตอบอือๆอาๆ (แบบฟังไม่รู้เรื่อง)
หรือในบางกรณีที่ยิ่งพบน้อยมากยิ่งขึ้น คือ
อาจตอบแบบรู้เรื่องได้ แต่ผู้ละเมออาจจะจำอะไรไม่ได้เมื่อตื่นขึ้นเต็มที่
การละเมอพบได้ในทุกอายุ และในหญิงมากกว่าชาย
โดย ทั่วไปการละเมอมักจะเกิดในระยะที่ 1 และ 2
ของการหลับแบบตาไม่กระตุก (non-REM sleep)
แต่ในบางครั้งก็เกิดในการหลับแบบตากระตุกได้
การละเมอโดยทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งปกติ
การใช้ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ จะช่วยให้อาการละเมอลดลงได้
(ดูเรื่องยาคลายกังวลและยานอนหลับ
คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-152)
การเดินละเมอ (sleep walking, somnambulism)
========================================
คือ การเดินโดยไม่รู้ตัวที่เกิดขึ้นในขณะหลับ
มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการหลับ
โดยเฉพาะในระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุกช่วงแรก
และมักจะเกิดขึ้นในเด็ก (ตั้งแต่ 2-3 ขวบ จนถึงวัยรุ่น) มากกว่าผู้ใหญ่
ที่พบบ่อยคือ ขณะที่หลับๆอยู่
เขาจะมีการเคลื่อนไหวแขนขาหรือร่างกายแล้วจะลุกขึ้นนั่งบนเตียง
ลืมตาแป๋วเหมือนตาแก้ว (glassy eyes) ที่มองไม่เห็น
(ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการเห็น)
แล้วจะลุกขึ้นยืนและเดินไปอย่างไร้จุดหมาย
ด้วยท่าทีที่งุ่มง่ามหรือเหมือน หุ่นยนต์
เข้าห้องนั้นออกห้องนี้ หรือเดินหนีออกไปจากบ้าน
โดยไม่ชนประตู โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งกีดขวาง ขึ้นลงบันไดได้
(ซึ่งแสดงว่าเขามองเห็นสิ่งที่เขาต้องการจะเห็น
ส่วนสิ่งอื่นที่เขาไม่ต้องการจะเห็น
เช่น การโบกไม้โบกมือที่หน้าของเขา เขาจะไม่เห็น
ดังนั้น เขาจึงอาจหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ ได้)
โดยทั่วไปเขาจะไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก
(ซึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้ยิน)
แต่มักจะยอมให้จูงมือกลับไปนอนใหม่ได้
เมื่อตื่นขึ้นเขาจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
หรือจำได้อย่างรางเลือนคล้ายกับว่าฝันไป
นอกจากการเดินละเมอแล้ว
เขาอาจจะถอดเสื้อผ้า หรือแต่งตัวใหม่
หรือถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทางโดยไม่รู้ตัวได้
หรืออาจเกิดร่วมกับอาการฝันร้ายหรือฝันผวาได้
อาการที่เกิดขึ้นอาจ กินเวลาไม่ถึงนาที
หรืออาจยาวนานถึงครึ่งชั่วโมงได้
การลุกขึ้นเดินสะเปะสะปะในเวลากลางคืนของผู้สูงอายุ (คนแก่)
ไม่ใช่การเดินละเมอ เพราะไม่ได้เกิดขณะหลับ
แต่เกิดจากตื่นแล้วหลง (walking disorientation)
มักเกิดจากโรคสมองเสื่อม (senile dementia)
สาเหตุของการเดินละเมออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
ปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะการเก็บกดความไม่พอใจไว้ หรืออื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การเดินละเมอเป็นอาการปกติที่เกิดร่วมกับการหลับได้
ถ้านานๆจะเป็นสักครั้ง และแต่ละครั้งเป็นชั่วครู่เดียว
แล้วก็กลับเข้านอนเองได้โดยไม่มีอุบัติเหตุหรืออันตรายอะไร
ก็ไม่จำเป็นต้อง วิตกกังวล
เพราะจะหายเองได้เมื่ออายุมากขึ้น
แต่อย่าลืมหาสาเหตุทางจิตใจและแก้ไขเสียด้วย
มิฉะนั้นคนที่เดินละเมออาจเกิดโรคทางจิต และ/หรือทางกายต่างๆในภายหน้า
No comments:
Post a Comment