Thursday, June 11, 2015

การให้เด็กเรียนพิเศษ

#เพราะอะไรจึงไม่ควรให้เด็กอนุบาลเรียนพิเศษ (อธิบายตาม Brain-based approach)

ในการทำงานเป็นจิตแพทย์เด็กทำให้ได้เจอคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่มาถามเรื่องการเรียนพิเศษ อย่างที่ทราบว่าสมัยนี้เรียนพิเศษเหมือนเป็นของจำเป็น ขาดไม่ได้ ลูกเค้าเรียน ลูกเราต้องเรียนด้วย ถ้าไม่เรียนเดี๋ยวสู้เค้าไม่ได้ สอบไม่ผ่าน สอบเข้าโรงเรียนระดับดีเลิศไม่ได้

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เดี๋ยวนี้ เริ่มให้เด็กเรียนกวดวิชากันตั้งแต่ชั้นอนุบาล

"ก็ต้องสอบเข้าป.1ที่สาธิต...หมอ ไม่เรียนไม่มีทางได้ เด็กเค้าเรียนกันทุกคน" แม่คนหนึ่งพูดให้หมอฟัง

มีเด็กผู้ชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่ชีวิตมีแต่การเรียน มาปรึกษาด้วยเรื่องเรียนดีแต่ไม่มีความมั่นใจ เด็กบอกว่าในชีวิตเรื่องที่ทำได้ดีคือเรียน กับสอบ แต่เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง อยากเล่นบาสเก่งๆ ถูกเพื่อนล้อบ่อยๆว่าซุ่มซ่าม

ตรงนี้มีสาเหตุ...

หมอจึงอยากมาอธิบายให้ฟังตามลักษณะการพัฒนาการของสมองตั้งแต่เกิดจนโต

ต้องเข้าใจก่อนว่าสมองคนเรานั้น ไม่ได้เจริญแบบผลส้ม ไม่ใช่แค่ว่า ขนาดใหญ่ขึ้นตามวัยเท่านั้น แต่สมองจะมีการเจริญพัฒนาโดยเปลี่ยนรูปแบบสมองไปเรื่อย โดยมีการเจริญของสมองส่วนต่างๆที่ทำหน้าที่ต่างกัน คือ สมองส่วนล่าง ส่วนตรงกลาง ส่วนบนสุด โดยการพัฒนาจะเริ่มจาก ส่วนล่างไปสู่ส่วนบน (Lower to upper) ถ้าดูการทำหน้าที่ของสมองส่วนล่างและส่วนบน ก็คือ พัฒนาจากการควบคุมจากสิ่งที่ทำได้ทั่วไป (การรับรู้ประสาทสัมผัส การได้ยิน มองเห็น อารมณ์) ไปสู่สิ่งที่เฉพาะมากขึ้น (ความคิด การรับรู้ที่ซับซ้อน) ตามลำดับ

ซึ่งในเด็กเล็กๆนั้น สิ่งที่เราควรพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาของสมองในขณะนั้น ก็คือ พัฒนาการรับรู้ประสาทสัมผัส การได้ยิน มองเห็น อารมณ์ เช่น การฝึกกล้ามเนื้อ ระดับแรกควรเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แล้วค่อยเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก (ดังนั้นเด็กเล็กก็ควรให้ออกกำลังกาย มีกิจกรรม ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองตามที่เขาทำได้อย่างเหมาะสม ไม่ควรอุ้มเด็กอย่างเดียว หรือฝึกผิดๆอย่างให้จิ้มไอแพด ไอโฟน จะทำให้ขาดการฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ตามวัย ซึ่งหากไม่ได้รับการฝึก ก็จะโตไปเป็นเด็กที่ Clumsy เล่นกีฬาไม่ค่อยดี เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว ซุ่มซ่าม เป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นคนที่มาหาหมอ)

ไม่ใช่ว่าเด็กเล็กๆให้เรียนพิเศษ ถ้าทำแบบนั้น จะเป็นการขวางโอกาสในการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย เกิดผลเสียตามมา

แล้วถ้าถามว่าควรให้เรียนแบบวิชาการเมื่ออายุเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่นั้นการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงจะเริ่มพัฒนาเมื่อเด็กอายุ 6 ปีและจะพัฒนาเต็มที่ที่อายุ 20 ปี ดังนั้น การเรียนแบบสมัยก่อนที่พ่อแม่ให้ลูกเริ่มเรียน ป.1 เลยที่ 6 ขวบ หมอก็รู้สึกว่า เหมาะสมแล้ว ไม่ใช่ว่าเด็กสองขวบ ก็ให้เขียนหนังสือ เรียนเหมือนผู้ใหญ่ แบบนั้นไม่เหมาะเท่าไหร่

หมอสงสารเด็กสมัยนี้ ดูไม่มีความสุข ชีวิตมีแต่การแข่งขัน ขาดประสบการณ์ การเรียนรู้ตามวัย

ที่มา : https://www.facebook.com/kendekthai/photos/a.468916916480833.98758.468898189816039/688886307817225/

No comments:

Post a Comment