Friday, March 12, 2021

No Ears

นาทีแรกที่ นโปเลียน ฮิลล์ เห็นลูกชายแรกเกิดของเขานั้น เขาตะลึงงัน พูดอะไรไม่ออก 

ทารกไม่มีหู!

หมอบอกเขาหลังตรวจ ‘หู’ ของทารกว่า เด็กไม่มีอวัยวะที่บ่งบอกว่าโสตประสาทจะได้ยินเสียงจากโลกภายนอกได้ หมอกล่าวว่า “ลูกชายคุณจะไม่ได้ยิน และจะพูดไม่ได้ เขาจะเป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้ไปตลอดชีวิต”

นโปเลียน ฮิลล์ เป็นนักเขียนหนังสือเสริมกำลังใจที่มีชื่อเสียงของอเมริกาต้นศตวรรษที่ 20 คราวนี้นักเขียนที่เสริมสร้างกำลังใจให้คนอื่นกลับต้องการกำลังใจอย่างที่สุด!

เขาไม่เชื่อว่าการไม่มีหูเป็นจุดสิ้นสุดอนาคตของทารกคนนี้ เขาปฏิเสธที่จะเชื่อหมอว่าเด็กหมดหวังแล้วในชาตินี้ เขามีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อหมอ เขาตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมให้ลูกหูหนวกและเป็นใบ้โดยเด็ดขาด

แล้วเขาก็นึกถึงคำคำหนึ่ง : ความปรารถนาอย่างแรงกล้า - Burning Desire

เขาเชื่อว่าหากมีไฟปรารถนาแรงกล้าพอ ธรรมชาติจะทำให้มันเกิดขึ้นเองตามทางของมัน ยกตัวอย่างเช่นเมื่อสายน้ำถูกผาหินขวางทาง มันก็จะทะลวงไปทางอื่นจนได้ ต่อให้ธรรมชาติก็ไม่อาจบังคับให้เขายอมรับชะตากรรมนี้

เขาพร่ำบอกตัวเองว่า ต้องมีทางสักทางสิ ต้องมีหนทางหนึ่งที่ทำให้เด็กได้ยินและพูดได้เหมือนปกติ และเขาต้องค้นมันให้พบจนได้

แต่ก่อนอื่น เขาต้องฝังไฟปราถนาอย่างแรงกล้านี้ใส่ในหัวลูกชายตั้งแต่เด็กว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ลูกสามารถก้าวข้ามความพิการทางกายภาพไปสู่เป้าหมายได้ ถ้าลูกต้องการมันจริง ๆ”

.

พ่อกับแม่ตั้งชื่อทารกที่ไม่ครบสามสิบสองคนนี้ว่า แบลร์ ตั้งแต่เล็ก แบลร์ได้รับการเลี้ยงดูเหมือนเด็กทั่วไป เข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดา ไม่ใช่โรงเรียนคนหูหนวก ทั้งยังถูกห้ามเรียนภาษามือเพราะพ่อแม่ของแบลร์มุ่งมั่นให้ลูกเป็นคนปกติให้จงได้

แต่การต่อต้านสิ่งที่ดู ‘เป็นไปไม่ได้’ ของคนไม่มีหู ห่างไกลจากเรื่องง่ายหลายโยชน์ เมื่อถึงวัยที่เด็กทั่วไปเริ่มพูด ลูกของเขาเงียบสนิท ไม่มีวี่แววว่าจะได้ยินอะไรหรือส่งเสียงสักคำ

ในเมื่อไม่มีหูสำหรับการได้ยิน และเสียงคือรูปแบบของการสั่นสะเทือนอย่างหนึ่ง เขาจึงพูดกับลูกโดยแตะริมฝีปากของเขาที่ศีรษะของลูกบริเวณ Mastoid bone ซึ่งอยู่ด้านหลังหู ส่งคลื่นเสียงที่สั่นสะเทือนตรงถึงหัวของลูกโดยไม่ต้องผ่านหู ทั้งพ่อและแม่รู้สึกประหลาดใจที่พบว่า ด้วยวิธีนี้ทารกสามารถได้ยินเสียงอย่างน้อยในระดับหนึ่ง พวกเขาสื่อสารด้วยวิธีนี้อย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า

ผู้เป็นพ่อซื้อจานเสียงมาเล่นเพลงให้ลูกฟัง และสังเกตเห็นว่าเด็กชอบ ‘ฟัง’ โดยงับฟันที่ขอบจานเสียง ภายหลังจึงรู้ว่ามันเป็นหลักการฟังเสียงแบบ Bone Conduction หรือการส่งคลื่นเสียงสู่หูชั้นในผ่านกระดูกที่กะโหลกศีรษะ

พ่ออ่านนิทานที่แต่งเองให้ลูกฟังเป็นประจำ เป็นนิทานที่ออกแบบมาให้มีคติสอนใจว่า อุปสรรคทางร่างกายไม่ใช่ปมด้อย ปลูกฝังให้มองโลกในแง่ดี ใช้ความเชื่อและความปรารถนาแรงกล้านำทาง

พ่อฝังทัศนคติในเชิงบวกแก่ลูกว่า “รู้ไหมว่าลูกจะมีข้อได้เปรียบเหนือคนอื่น เช่น ครูจะดูแลลูกเป็นพิเศษกว่าคนอื่น ถ้าลูกโตพอขายหนังสือพิมพ์เอง ก็จะได้เงินทิปมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะใคร ๆ ก็ชอบคนที่สู้ชีวิต”

อาจเป็นการปลูกฝังการมองโลกในแง่ดีอย่างนี้เอง ตั้งแต่เด็ก แบลร์ไม่งอแง ต่างจากพี่ชายของเขาที่เมื่ออยากได้อะไร ก็นอนเกลือกกลิ้งบนพื้นห้อง ถีบเท้ากลางอากาศเพื่อเรียกร้องสิ่งที่อยากได้ แต่แบลร์พึ่งตนเองเสมอ

เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนพิการ...

.

โดยวิธีนี้ความสามารถได้ยินของแบลร์ด้วยวิธีนี้พัฒนาขึ้นตามลำดับ ในยามปกติเขาไม่ได้ยินเสียงคนอื่นพูด ยกเว้นตอนตะโกนใกล้ ๆ

เมื่ออายุเจ็ดขวบแบลร์ขออนุญาตพ่อไปขายหนังสือพิมพ์เหมือนเด็กคนอื่น ๆ แม่ไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องอันตรายมากสำหรับเด็กเล็กที่เดินเพ่นพ่านตามถนนโดยไม่ได้ยินเสียงอะไร

บ่ายวันหนึ่งเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ ทิ้งเขาไว้กับคนใช้ เด็กชายปีนหน้าต่างครัวออกจากบ้าน ยืมเงินหกเซ็นต์จากเพื่อนบ้านซื้อหนังสือพิมพ์ไปขาย นำกำไรไม่กี่เซ็นต์ที่ได้ไปลงทุนซื้อหนังสือพิมพ์อีก แล้วเอาไปขายอีกรอบ ทำเช่นนี้หลายรอบจนถึงเย็น หลังจากคืนเงินหกเซ็นต์ไปแล้ว เขาได้กำไรสี่สิบสองเซ็นต์ 

ค่ำนั้นแบลร์นอนหลับ มือยังกำเงินที่ได้มาจากการขายหนังสือพิมพ์ คนเป็นแม่ร้องไห้เมื่อรู้ความจริงว่าเด็กชายกล้าออกไปสู้โลกภายนอกด้วยตัวเอง

เขาไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนพิการ!

การปลูกฝังเด็กไม่ให้รู้สึกว่าตนเองพิการทำให้เด็กกล้า มุ่งมั่น พึ่งตนเองได้ เป็นคุณสมบัติที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต 

แบลร์มิได้ผ่านชีวิตอย่างคนใบ้หรือหูหนวกอย่างที่หมอฟันธง ผ่านการฝึกฝนการฟังแบบเฉพาะตัว, การผ่าตัดครั้งหนึ่ง, การใช้เครื่องมือช่วยฟัง และความปรารถนาอย่างแรงกล้า แบลร์พัฒนาทักษะเฉพาะตัวจนสามารถได้ยินและพูดได้เกือบเหมือนคนปกติ แบลร์เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ทำงานเช่นคนปกติ และประสบความสำเร็จในชีวิต

อาทิตย์สุดท้ายในมหาวิทยาลัย แบลร์ได้รับอุปกรณ์ทดลองการฟังแบบใหม่จากบริษัทแห่งหนึ่ง และได้ยินเสียงดีขึ้นมาก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาสัมผัสเสียงต่าง ๆ ใกล้เคียงคนปกติ ได้ยินเสียงที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เสียงวิทยุ เสียงรถ เสียงนกร้อง 

ทันใดนั้นแบลร์ก็อยากอุทิศชีวิตที่เหลือของเขาช่วยเหลือคนหูพิการให้ได้ยิน โดยใช้ประสบการณ์ของเขาเอง เขาเสนอโครงการให้บริษัทผลิตอุปกรณ์ช่วยคนหูหนวก และได้ทำงานที่นั่นทันที

ชีวิตของแบลร์ไม่มีทางเป็นอย่างที่เป็นอยู่หากเขาไม่ได้รับการปลูกฝังทัศนคติที่จะสู้ และหากพ่อแม่ของเขาเชื่อคำตัดสินของหมอและยอมแพ้ตั้งแต่วันแรก เพราะโดยหลักวิชา เขาไม่มีทางสามารถได้ยินเด็ดขาด มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ตรงกันข้าม สิ่งที่พ่อแม่เขาทำคือสร้างความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนปกติ มันฝืนธรรมชาติ แต่มันฝังทัศนคติที่ดีในหัวเด็ก และทัศนคติที่ดีนี้ช่วยทำให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคทางกายภาพไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขาเคยนึกเล่น ๆ ว่าหากพ่อแม่ยอมแพ้ตั้งแต่วันแรกที่เห็นสภาพเขา เขาย่อมเป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้โดยมิต้องสงสัย ตลอดชีวิตเขาจะเป็นคนที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

ถ้าเด็กที่ไม่มีหูคนหนึ่งสามารถข้ามพ้นอุปสรรคทางกายเช่น แบลร์ ยังมีคนพิการอีกมากมายเพียงไรที่สามารถข้ามอุปสรรคส่วนตัวได้ ถ้าพวกเขาต้องการมันจริง ๆ ตัวอย่างมีมากมายนับไม่ถ้วน : คนตาบอดปีนเขาเอเวอเรสต์, คนพิการเล่นกีฬา, คนไร้แขนเล่นเปียโนและวาดรูป ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวอย่างพลังของไฟปรารถนาอย่างแรงกล้า ราวกับว่าธรรมชาติสร้างพลังชดเชยให้ความไม่ปกติ ขอเพียงรักษาไฟนั้นไว้มิให้ดับ คนที่อวัยวะไม่สมประกอบก็อาจเดินไปได้ไกลกว่าคนมีอวัยวะครบสามสิบสองด้วยซ้ำ

แน่ละ ไฟปรารถนาอย่างแรงกล้านี้อาจใช้ไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ในทุกกรณี แต่มันก็ไม่จบด้วยศูนย์เปอร์เซ็นต์แน่นอน อย่างน้อยที่สุดใครคนนั้นก็ไม่ดูถูกตัวเอง และมันคือคุณสมบัติที่แม้แต่คนร่างกายสมบูรณ์จำนวนมากขาด ไม่มีอะไรน่าหดหู่ไปกว่าการเห็นคนปกติทำตัวเป็นคนพิการ

พ่อแม่จำนวนมากในโลกเลี้ยงลูกให้เป็น ‘คนพิการ’ โดยไม่รู้ตัว ปลูกฝังความคิดให้เด็กต้องพึ่งพาคนอื่นไปตลอดชีวิต กลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักโต

ความไม่สมประกอบทางกายภาพเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ ขนาดสมองและหน้าตาก็เลือกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะไม่เป็น ‘คนพิการ’ ได้

หมายเหตุ : เรื่องของแบลร์เก็บความมาจากหนังสือเรื่อง Think and Grow Rich (1937) ของ นโปเลียน ฮิลล์

.

จากหนังสือ #ท้องฟ้าไม่ปิดทุกวัน / https://bit.ly/3eGgSdl

https://www.facebook.com/100044361012918/posts/291092425712789/

No comments:

Post a Comment