Monday, March 1, 2021

Business Culture 1

“ที่นี่เราทำงานกันแบบครอบครัว”
หลุมพรางที่คนรุ่นใหม่อยากเตือนรุ่นน้องว่าให้ “หนีไป!!” 
.
Part1 “เดอะ แบก”
.
เราไม่ต้องการครอบครัวที่นี่ เราต้องการคนที่เก่งที่สุด และอยู่กันแบบนักกีฬาทีมชาติ
.
คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดของ รี้ด แฮสติงและเอเรน เมเยอร์ ผู้บริหารของ Netflix ที่เขียนไว้ในหนังสือ No Rules Rules : Netflix and the Culture of Reinvention โดยรี้ดได้เริ่มตั้งต้นเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งบริษัทว่ามาจากการลืมคืนวีดีโอภาพยนตร์ที่เช่ามาและต้องเสียค่าปรับถึง 40 ดอลลาร์ ซึ่งเขารับไม่ได้และคิดว่าธุรกิจแบบนี้จะอยู่ได้อย่างไรถ้าต้องหากินกับความผิดพลาด (จริง ๆ เขาใช้คำว่างั่ง) ของลูกค้า เขานึกขึ้นมาว่าคงจะดีกว่าถ้าสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำให้ลูกค้า “ยอมจ่าย” แบบสบายใจ 
.
ต่อมาเขาจึงได้ทำธุรกิจให้เช่า DVD โดยจัดส่งทางไปรษณีย์และเก็บค่าบริการเหมารายเดือนแบบไม่จำกัดจำนวนแผ่นที่เช่า สุดท้ายแล้วในเดือนพฤษภาคม ปี 1998 รี้ดและทีมงานของเขาก็ได้ก่อตั้ง Netflix ขึ้นมาเป็นบริษัทให้เช่า DVD ออนไลน์โดยส่งทางไปรษณีย์เป็นบริษัทแรก ในปี 2001 บริษัทมี DVD ภาพยนตร์ทุก ๆ เรื่องที่มีอยู่ในตลาดและมีพนักงาน 120 คน
.
ต่อมาบริษัทต้องเจอกับวิกฤติทางการเงินที่เรียกว่า “ดอท-คอม” ซึ่งเป็นภาวะฟองสบู่แตกในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี เหตุเกิดจากในสมัยนั้นทุกคนมุ่งไปพัฒนาซอฟต์แวร์และหันไปเล่นหุ้นกลุ่มเดียวกันทั้งตลาด ไม่ว่าจะคนธรรมดาไปจนถึงผู้จัดการกองทุนก็เล่นหุ้นกลุ่มนี้ เมื่อหุ้นเทคโนโลยีทุกตัวนั้นพุ่งทะยาน คนที่ไม่ลงทุนในหุ้นเหล่านี้จะดูเป็น “เชย” ไปทันที ไม่มีนักลงทุนคนไหนอยากกลายเป็น “เชย” สุดท้ายละเลยพื้นฐานการวิเคราะห์การลงทุน ไม่สนใจว่าบริษัทสามารถสร้างเงินสดได้มั้ยและทุ่มเงินซื้อหุ้นที่ราคาสูงเกินไปอย่างมีความสุข สุดท้ายว่าใครจะรู้ว่ามูลค่าหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัทและไม่ใช่เงินสด เป็นเพียงกำไรที่เกิดจากมูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นเท่านั้น เมื่อฟองสบู่แตก ทุกคนล้มครืน อเมริกาต้องลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีต่อมา คนที่ทำงานในสายเทคโนโลยีมากมายต้องตกงานรวมถึงพนักงานของ Netflix ด้วย
รี้ดมีอาการประสาทเสียเพราะเขาไม่อยากไล่ใครออกสักคน เขาคิดว่ามันจะสร้างความเจ็บปวดให้เขามาก แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องทำ โดยเกณฑ์การคัดคนออกของเขาคือเก็บ 80 คนแรกที่ “เก่งไปหมด โคตรเก่ง” ไว้ และยอมตัดอีก 40 คนที่เหลือ ตรง 40 คนนี้แหละที่ทำให้รี้ดประสาทเสียเพราะบางคนทำงานไปวัน ๆ แต่ก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี บางคนเป็นพวกเก่งมากแต่ขี้โมโห ดังนั้นจึงเกิดอาการสองจิตสองใจ รักพี่แต่ก็เสียดายน้อง
.
ปรากฏว่าพอปลดพนักงานออก จากที่คิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายลง แต่มันกลับตรงข้าม บรรยากาศที่ทำงานดีขึ้นจนน่าตกใจ นอกจากจะลดต้นทุนได้แล้ว ตอนนี้เขาเหมือนได้แรงงานเพิ่มขึ้นมาสามเท่า เพราะทุกคนยังทำงานด้วย passion energy และความคิดแปลกใหม่ จากเหตุการณ์นี้รี้ดก็หันมาให้ความสนใจกับวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น
.
แพตตี้ซึ่งเป็น HR ในยุคแรกได้กล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของพนักงานในครั้งนี้ว่า มันคือการที่พนักงานแต่ละคนสามารถแบ่งความทุ่มเทที่มีต่องาน ให้ควบคู่ไปกับแรงบันดาลใจของพวกเขาในเวลาเดียวกันได้
.
ขอให้นึกถึงว่าใน 120 คนนั้นมีระดับความสามารถที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อได้ปลดพนักงานออกไป 40 คนเหลือแต่คน “โคตรเก่ง” ก็เหมือนกับว่า “เรามีคนน้อยลงก็จริงแต่ความเก่งต่อบุคคลนั้นมีระดับสูง” พนักงานเหล่านี้ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เมื่อเห็นคนหนึ่งทำได้ อีกคนหนึ่งก็อยากทำได้เหมือนกัน โดยรี้ดได้ระบุว่า “ความสามารถนั้นระบาดได้” เหมือนโรคระบาด และคนที่ทำตัวไม่ดีหรือที่รี้ดเรียกว่า “ตัวดูดเลือด” แค่คนเดียวก็สามารถทำลายผลการดำเนินงานของทั้งทีมได้
.
การทำงานแบบ “เราทำงานกันเป็นครอบครัวครับน้อง ชิว ๆ” นั้นไม่ดีอย่างไร เราคงเห็นจากเคสของ Netflix ได้เลย คนที่ทำงานแบบขอไปทีหรือทำไปวัน ๆ จะดึงประสิทธิภาพของทีมลง ยกตัวอย่างเช่น ดูดพลังงานหัวหน้าทีม ลดคุณภาพของการขบคิด ถกเถียงและดึง IQ ของทีมให้ลดต่ำลง บางคนจะพยายามให้ทุกคนปรับตัวเพื่อให้ตัวเองอยู่ง่ายมากขึ้นและทำให้พนักงานที่เก่งได้รับงานหนักจนต้องลาออก หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือคนที่เก่งต้องแบกคนทั้งทีมหรือรับหน้าที่ของคนที่ทำงานแบบขอไปที ซึ่งเราจะเรียกคนเหล่านี้ว่า “เดอะ แบก”
.
เด็ก ๆ จบใหม่ที่ไม่อยากทำงานบริษัทใหญ่และอยากปล่อยของเลือกที่จะเดินทางในสายสตาร์ทอัพ แน่นอนว่างานตอนเริ่มต้นจะหนักและจำนวนคนจะน้อย แม้ว่าผู้บริหารจะบอกว่า “มีอะไรพูดกันได้ตรง ๆ” ก็จริงแต่ก็มักจะเป็นคำหลอกลวง คนที่อยากปล่อยของอยากก้าวหน้าในการทำงานจนเผลอทำงานในส่วนของคนที่ทำงานไปวัน ๆ ส่วนผู้บริหารก็จะหลับตาข้างเดียวเพราะยังไงงานโดยรวมก็สำเร็จ สุดท้ายแล้วคนที่อยากปล่อยของหรือ “เดอะ แบก” ก็จะฮีทขึ้นเรื่อย ๆ จนระเบิด ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ 
.
การทำงานแบบครอบครัวในบ้านเรามักหมายถึงการ “โอนอ่อนผ่อนตาม” มากกว่าจะ “พูดกันตรง ๆ ” และการกระทำแบบนี้ก็จะวนลูปไปที่เคสของ Netflix เรื่องคนที่ทำงานแบบขอไปทีหรือทำไปวัน ๆ โดยกรณีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่รวมถึงพ่อที่มี “ลูกรัก” หรือ “เป็นพี่ต้องช่วยน้อง” ที่มีอยู่ในครอบครัว (หรือบริษัท) ในประเทศเรา
.
แทนที่จะทำงานกันแบบครอบครัว อยากขอให้ลองมาดูการทำงานแบบ “นักกีฬาทีมชาติ” แบบ Netflix หากใครเคยดูหรืออ่านมังงะญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องของชมรมกีฬาเด็กมัธยมปลาย ทุกโรงเรียนและทุกประเภทจะมีตัวจริง ตัวสำรอง ซึ่งเป็นแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงอย่างมาก เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงตัวสำรองต้องการเป็นตัวจริง หรือบางทีอยู่ปี3แล้วยังเป็นตัวสำรองอยู่ หรือแม้กระทั่งคนในทีมที่เป็นตัวจริงยังต้องหมั่นลับมีดตัวเองตลอดเวลาเพราะกลัวที่จะโดนย้ายไปอยู่ทีมสำรอง ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกคนล้วนมีแรงใจแรงกาย ความกระหายที่จะเอาชนะ สนุกกับงานที่ทำ ทั้งหมดนี้ทำให้องค์รวมดีขึ้นและไม่มีใครที่ต้องเป็น “เดอะ แบก”
.
เพราะฉะนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมแรงใจเต็มร้อยแพชชั่นล้นฟ้า การทำงานแบบ “ครอบครัว” คงไม่เหมาะมากนัก แทนที่จะทำงานแบบ “ครอบครัว” ควรมองหาองค์กรที่ทำงานแบบ “ทีมชาติ” หรือ “มืออาชีพ” กันดีกว่า
.
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย
.
https://www.facebook.com/101675321949870/posts/110410494409686/

No comments:

Post a Comment