ประสพการณ์, เรื่องราวทั่วไป, แง่คิด, มุมมอง ที่น่าสนใจ - สิริพงษ์ พงศ์ภิญโญภาพ
Saturday, December 11, 2021
Dont be too smart to not love
Friday, December 3, 2021
Everything I never told you
Sunday, November 28, 2021
Homework
#การบ้านร้ายทำลายตัวตน?
"หนูนอนเกือบเที่ยงคืนตีหนึ่งทุกวัน การบ้านมันเยอะมาก"
"ผมต้องเรียนพิเศษเยอะมาก เสาร์อาทิตย์ก็ต้องเรียน ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ทันคนอื่น"
"ผมทำการบ้านไม่ทันหรอก ส่วนใหญ่ก็ลอกเพื่อนส่งๆ ไป"
"มันยากกก แล้วก็เยอะมากอะ บางอันก็ไม่รู้จะทำไปทำไม ไปร้านเกมสนุกกว่า"
“ไม่มีเวลาออกกำลังกายอะไรหรอกครับ แค่ต้องทำการบ้านก็หมดเวลาแล้ว”
“ครูสั่งให้ทำงานกลุ่ม แต่ครูไม่ได้มาดูว่าใครทำอะไรมั่ง เพื่อนไม่ทำ ผมก็ต้องทำ ไม่งั้นก็ไม่มีคะแนน”
เสียงจากวัยรุ่นส่วนหนึ่ง ที่พูดถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ
...................................
ปัญหาการศึกษาบ้านเรา เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึก และหลายครั้งมันบั่นทอนศักยภาพมนุษย์
ปัญหาที่มาจากรากคิด ว่าต้องรู้เยอะ เรียนเยอะ ถึงจะประสบความสำเร็จ (แม้บางอย่างที่ไม่รู้จะต้องรู้ไปทำไม ก็ยัดเยียดให้ต้องรู้)
รากคิด ที่ทำให้เด็กหลายคน เริ่มหล่นหายไปจากเส้นทางของการเรียน
โรงเรียน ควรเป็นที่ที่ทำให้เด็กค้นเจอศักยภาพ ไม่ใช่ทำลายศักยภาพ
ควรเป็นที่ที่ทำให้รู้สึกว่าการเรียนรู้คือเรื่องสนุก ไม่ใช่คือความทุกข์ที่ต้องกัดฟันฟันฝ่า
การศึกษาที่ดี คือการศึกษา ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ทำด้วยใจที่ “มีความสุข” สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีเป้าหมาย ในการทำสิ่งที่มีความหมาย
การบ้านหรือบทเรียนที่มากเกินไป ทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน บั่นทอนความสุขทางใจ และทำให้เด็กๆ ใช้ชีวิตเหมือนหนูถีบจักร
"วิ่ง" แบบไม่เคยได้รื่นรมย์กับความพอใจและความหมายของสิ่งที่ทำอยู่
"วิ่ง" ... จนไม่มีเวลาคิด ว่าจริงๆแล้ว
"เราต้องการอะไรในชีวิต"
................................
การบ้านที่พอดี จะทำให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จได้
การบ้านที่มากเกินไป กลับกลายเป็น "ความกดดัน" ที่นับวันจะยิ่งบั่นทอนตัวตน และกำลังใจ
ความกดดัน... ที่ทำให้สุดท้าย มีเด็กไม่กี่คนที่จะไปรอด
เด็กหลายคนหลุดหายไประหว่างทาง
หลายคนที่รอด... ก็กลายไปเป็นหนูถีบจักร ที่ก้มหน้าก้มตา และไม่เคยเงยหน้าขึ้นมาเพื่อถามว่า
"ความสุขในชีวิตเรา... คืออะไร"
......................................
การศึกษา คือ การเรียนรู้ที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุข
ดังนั้นการศึกษา จึงไม่ควรต้องแลกด้วยความสุข
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้อยากบอกว่าตอนนี้คลินิกวัยรุ่นเต็มไปด้วยเด็กเครียดเรื่องการเรียน กับเด็กหมดไฟในการเรียน
ป.ล. หมออยากให้พ่อแม่ที่ได้อ่านบทความนี้ ลุกขึ้นมาช่วยลูกๆ ด้วยนะคะ เรามีสิทธิ์ที่จะส่งเสียงไปที่โรงเรียนเสมอ ถ้าเราพบว่าการศึกษาที่เป็นอยู่ มันเป็นการทำร้าย มากไปกว่าการพัฒนา
#การรักการเรียนรู้สำคัญกว่าการมีความรู้
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2848695418781125&id=1383393308644684
Friday, November 19, 2021
virtuous
best 10 advices
cub and kitten
observant
“หมอ”……ที่แท้จริง 👨⚕️
ในวงราวน์คนไข้ แห่งหนึ่ง
เช้าวันหนึ่ง 7.30 ครูแพทย์สาวโสดวัยเกือบ 50 มาดูคนไข้ที่วอร์ดเด็ก
นักศึกษาแพทย์ปี 4,5,6 แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน_กรูกันเข้ามาหาอาจารย์แพทย์เพื่อรายงานเคส
นสพ.ปี 6…”เคสนี้เด็กชายไทย 4 ปี มาด้วยไข้ ไอ น้ำมูก 3 วัน หลังจากนั้น ถ่ายเหลว 5 ครั้ง ก้นแดงครับ...ตรวจร่างกาย บลา.... ผลแลปบลาๆๆๆ
บลาๆๆๆๆๆ
ครูแพทย์…;”วินิจฉัยอะไร อ่ะปี 5 ตอบสิคะ”
นสพ.ปี 5…” gastroenteritis ครับ” (ลำไส้อักเสบ) อาจารย์
ครูแพทย์:-เก่งมากค่ะ
ครูแพทย์…; ปี 4 ตอบสิ มีเชื้ออะไรบ้าง 3 เชื้อค่ะ
นสพ.ปี 4… ไวรัส rota, adenovirus และ norovirus ครับ
ครูแพทย์… ยิ้ม เก่งมากค่ะ ทุกคน
เด็กคนนี้มีปัญหาอะไรอีกค่ะ
???????
เอาละสิ ปี4-6 พี่แพทย์ใช้ทุน แพทย์ประจำบ้าน เงียบ ในใจ มีอะไรอีกหรอ น่าจะครบสิ
เงียบ
_
ครูแพทย์. ลองสังเกตเด็กดีๆสิ
สายตาทุกคู่ เหลือบมองไปที่เตียงเด็ก ดูเด็ก
และสังเกต
ในใจน้องๆหมอ ก็ไม่เห็นมีอะไรนี่
เงียบบบบ
_
ครูแพทย์ กระตุ้น สังเกตดีๆๆสิ
ก็ยังเงียบ
_
_
_
ครูแพทย์… เห็นอะไรไหม
1) “เด็ก 4 ขวบ ทำไมตัวเล็ก จากสายตาคาดว่า จะหนักสัก 10 กก. คุณหมอได้ถามประวัติอาหารไหม นี่ก็คือปัญหานะ กินข้าวกี่มื้อ เนื้อสัตว์ผัก นมกินยี่ห้อไร กี่กล่องต่อวัน
2)เห็นขวดนมที่ตั้งอยู่หัวเตียงคนไข้ไหม
ปกติ ควรเลิกตอนอายุ 18 เดือนถึง 2 ปี ทำไมเด็กถึงยังไม่เลิก
เชื่อไหม ไป รร. ไม่ต้องกินขวด แต่กลับมาบ้านต้องกินขวด
นสพ อึ้ง
หันไปถามคนเฝ้าไข้
เป็นเช่นนั้นจริงๆตามครูแพทย์กล่าว
“แล้วคุณหมอเห็นฟันเด็กไหม”
นสพ. เงียบ ยังไม่ได้ดูครับ
ครูแพทย์ _พี่เห็นมีฟันผุที่ด้านบน เหี้ยนเลย ไม่เชื่อลองเปิดดู
เป็นจริงดั่งครูแพทย์ว่า
นสพ. อึ้ง นี่อาจารย์แค่ฟัง
และมองๆรอบเตียง เหมือนไม่ได้สนใจ
แต่ครูแพทย์เก็บรายละเอียดยิบ
โดยที่ยังไม่ได้จับคนไข้เลย
ยังๆยังไม่หมด ครูแพทย์ พูดต่อ
3) เห็นคนเลี้ยงไหม ที่นั่งข้างเตียงเด็ก
นสพ. ทุกคนย้ายสายตาไปดูคนเฝ้า
ภาพที่เห็น
เป็นคุณยายอายุเกือบ 70 ปีนั่งเฝ้าหลานวัย 4 ปี
ท่าทางอิดโรย
อาจารย์แพทย์_”น้องหมอได้ถามไหม พ่อแม่เด็ก ทำงานอะไร แล้วยายมาเฝ้าหลาน เดินทางมาไง นอนที่ไหน ใครส่งเงินให้ ใครทำกับข้าวให้ ใครไปส่ง รร.
สุดท้ายครูแพทย์กล่าว
“คนนี้น่าจะมีภาวะซีด ค่าเลือดน่าจะอยู่ที่ 25-28%
ไม่เชื่อลองเปิดผลเลือดดู”
ครูแพทย์ พูดออกมา โดยยังไม่เห็นผลเลือดเด็ก
ได้แต่ยืนและสังเกต
นสพ. ปี 6 เปิดผลเลือดถึงกับอึ้ง
ค่าความเข้มข้นเลือด =26%
นี่แหละครับ
การเรียนแพทย์คือ เรียนจากคนไข้ ฝึกประสบการณ์
หมอที่ดีไม่ใช่หมอที่ท่องตำราเก่งอย่างเดียว
หมอที่ดีคือหมอที่ดูคนไข้ สังเกต มองรอบข้างทุกอย่าง hollistic care
โรค กาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม แล้วเก็บประสบการณ์แต่ละเคส เพื่อพัฒนาการดูแลคนไข้ และใช้สอนน้องๆหมอ
วันนี้น้องๆหมอดูคนไข้รอบด้าน ละเอียดหรือยังครับ
ให้กำลังใจหมอใหม่ นักเรียนแพทย์ใหม่ทุกคน
เรียนแพทย์ไม่ยาก แต่ที่ยากคือ ความรับผิดชอบและใส่ใจคนไข้
หมอเรารักษา โรค แล้ว อย่าลืม รักษา คน ด้วย
https://www.facebook.com/133050930458942/posts/699296100501086/
Chinese
The best the least
Set bird free for merit
attitude can sometimes determine fate.
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนักเดินทางสองคน ชื่อ จอห์นและจอช จอห์นได้พบเจอเมืองใหม่เมืองหนึ่ง ก่อนที่จอห์นเข้าไป เขาได้ถามกับยามเฝ้าประตูว่า มีคนไม่ดีในเมืองนี้มั้ย ยามฝ้าประตูได้ตอบกลับมาว่า “มีครับ ในเมืองนี้มีคนไม่ดีครับ”
จอห์นได้เข้าไปในเมืองด้วยหน้าที่บึ้งตึงและเริ่มสังเกตได้ทันทีว่าผู้คนไม่เป็นมิตรเอาซะเลย เขาได้เห็นสิ่งไม่ดีในตัวผู้คนอยู่เรื่อย ๆ เขาจึงรีบตัดสินใจออกจากเมืองนี้และไม่กลับมาอีกเลย
หนึ่งชั่วโมงต่อมาจอชได้มาที่เมืองเดียวกันและก็คุยกับยามเฝ้าประตูคนเดิม เขาได้ถามยามเฝ้าประตูว่า “มีคนดีในเมืองนี้มั้ย” ยามเผ้าประตูตอบกลับมาว่า “มีสิ ในเมืองนี้มีคนดีเยอะเลยครับ”
จอชได้เข้าไปในเมืองด้วยรอยยิ้มและเริ่มสังเกตได้ทันทีว่า ผู้คนในเมืองนี้เป็นมิตรขนาดไหน เขาได้เห็นสิ่งดี ๆ ในตัวผู้คนอยู่เรื่อย ๆ จอชได้ตัดสินใจอยู่เมืองนี้ต่ออีกสองสามวันเพราะเขามีความสุขมาก ๆ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า บางครั้งทัศคติของเราเป็นตัวกำหนดโชคชะตา
Once upon a time there were two travelers, John and Josh. John came across a new city and before he entered, he asked the gatekeeper if there were any bad people in the city. The gatekeeper replied, "Yeah, there are bad people in this city."
John went in with a frown on his face and started noticing how unfriendly the people were right away. He kept meeting the worst of people and so he quickly decided to leave the city and never come back.
An hour later, Josh came to the same city and talked to the same gatekeeper but he asked, "Are there any good people in this city?" The gatekeeper replied, "Yes, there are many good people in this city."
Josh entered the city with a smile on his face and started noticing how friendly the people were right away. He kept meeting the nicest of people. Josh decided to stay in the city for a few extra days because he was really enjoying himself.
The moral of the story is that one's attitude can sometimes determine one's fate.
https://www.facebook.com/100053488954097/posts/399707601822202/
Sunday, November 7, 2021
The best revenge
Sunday, October 24, 2021
Fish Head
Thursday, July 8, 2021
Cockroach Theory
A speech by Sundar Pichai, CEO Google -
an IIT-MIT Alumnus and Global Head Google Chrome:
ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ขณะที่ นั่งจิบกาแฟอย่างสงบ
อยู่ๆก็มีแมลงสาบ บินจากไหนไม่รู้
บินเข้ามาเกาะผู้หญิงโต๊ะข้างๆแบบไม่ทันตั้งตัว
ผู้หญิงคนนี้กรีดร้อง กระโดดโลดเต้น
โหวกเหวก โวยวาย สะบัดไม้ สะบัดมือ
หวังให้แมลงสาบ บินออกไป
ในตอนนั้น ท่าทางที่เธอแสดงออกมา
ทำให้เพื่อนๆที่นั่งด้วยกัน รู้สึกตกใจและหัวเสียเป็นอย่างมาก
หลังจากเธอใช้ความพยายามสักครู่หนึ่ง แมลงสาบก็บินออกไป
แต่เดี๋ยวนะ!!!
แมลงสาบมันไม่ได้ไปไหนไกลเลย
มันแค่เปลี่ยนเป้าหมายไปเกาะผู้หญิงข้างๆแทน
ทันทีที่แมลงสาบเริ่มเกาะอีกคนนึง
เหตุการณ์ทุกอย่างเหมือนเดิมเป๊ะ
ผู้หญิงคนใหม่ร้องโหวกเหวกโวยวายกระโดดโลดเต้น
พยายามทำทุกวิถีทาง สลัดแมลงสาบให้หลุดออกไป เหมือนคนก่อน
เด็กเสิร์ฟเห็นเข้า ก็ตกใจ
รีบวิ่งตรงดิ่งมาที่โต๊ะลูกค้าทันที
เหมือนแมลงสาบจะรู้ว่าเหยื่อรายใหม่กำลังมาแล้ว
มันเลยบินออกจากตัวผู้หญิงคนที่สอง
แล้วมาเกาะที่เด็กเสิร์ฟคนนั้นแทน
เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น......
แทนที่เด็กเสิร์ฟจะสะบัดแมลงสาบตัวนั้นทิ้งในทันที
เขากลับยืนมองนิ่งๆ เฉกเช่นเพื่อนที่คุ้นเคยกัน
สังเกตุพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของแมลงสาบบนเสื้อเขา
เมื่อเด็กเสิร์ฟมั่นใจในทิศทางการเคลื่อนที่ของแมลงสาบแล้ว
เด็กเสิร์ฟ จึงค่อยเอามือคว้าแมลงสาบอย่างรวดเร็ว
พร้อมกับนำออกไปโยนทิ้งนอกร้านในทันที
.
สิ่งที่ CEO Google คนนี้ตั้งคำถามคือ
แมลงสาบคือต้นเหตุของความโกลาหลครั้งนี้รึป่าว?
ถ้าใช่...แล้วทำไมเด็กเสิร์ฟคนนี้ถึงยืนนึ่งๆ
พร้อมกับรับมือกับเจ้าแมลงสาบตัวนี้ได้อย่างสบายๆ
ในขณะที่หญิงสาวสองคนนั้นถึงกระโดดโลดเต้นวิ่งไปมา
เพื่อให้แมลงสาบบินออกไป
จริงๆแล้วปัญหามันอาจไม่ใช่อยู่ที่ "แมลงสาบ"
แต่มันอยู่ที่ความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่เข้ามารบกวนมากกว่า
Sundar Pichai
เลยเริ่มตระหนักว่า....ที่ผ่านมา...
สิ่งต่างๆที่ทำให้ตัวเค้าหัวเสีย
ไม่ว่าจะเสียงบ่นจากเจ้านาย พ่อแม่ ลูกค้า หรือ คนใกล้ตัว
หรือความเครียดต่างๆที่เกิดขึ้นกับเขา
จริงๆแล้วมันอาจจะไม่ใช่ปัญหาเลยก็เป็นได้
อารมณ์ หรือ ความรู้สึกต่างๆเหล่านั้นเกิดจากเราเอง
เรานี้แหละ ที่ไม่สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆเหล่านั้นได้
เพราะจริงๆแล้วเราคือคนที่เลือกเองว่าจะรู้สึกยังไงกับสิ่งรบกวนเหล่านั้น
มันไม่ใช่เพราะรถติดแล้วทำให้เราหัวเสีย
แต่มันคือปฏิกิริยาของเราที่ใช้ในการรับมือกับปัญหาต่างหาก
บางทีถ้าไม่มีสติเราอาจหงุดหงิด อารมณ์ร้อนมากยิ่งขึ้น
พอรถยิ่งติด เรายิ่งรีบ สุดท้ายบานปลาย
นำไปสู่อุบัติเหตุรถชน
หรือในกรณีของแมลงสาบ ยิ่งพยายามปัดออกจากเสื้อ
สุดท้าย มันอาจบินมาเกาะหน้า หรือบินเข้าปาก
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าคุณพยายามวิ่งหนี
คุณอาจสะดุดล้มเป็นแผลใหญ่โตก็ได้
ดังนั้น จงจำไว้ว่า...ยิ่งวิธีการรับมือที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งทำให้ปัญหา ยุ่งเหยิงใหญ่โต
สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่แค่การ React หรือแค่ตอบสนองปัญหาด้วยสัญชาตญาณ
แต่มันต้องเป็นการ Respond หรือรับมือด้วยกระบวนการคิดที่ถูกต้อง
ผ่านการใช้สมองไตร่ตรอง เพื่อควบคุมต้นตอของปัญหา ไม่ให้มันบานปลายเกินแก้ไข
คนที่มีความสุข ไม่ใช่เพราะทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมีแต่เรื่องที่ถูกต้องตามแผนที่วางไว้หรอกนะ
แต่ที่เขามีความสุข เพราะสติและทัศนคติที่ดี ที่มีต่อปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากกว่า
คุณเลือกเอาเองละกันว่าอยากรับมือกับปัญหาแบบ React หรือ Respond
ที่มา : https://www.facebook.com/groups/685357704847197/posts/4112035645512702/
Monday, July 5, 2021
omotenashi จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น
แนะนำรุ่นไหนดี ??
เวลาไปร้านอาหารแล้วนึกเมนูไม่ออก
หลายคนคงถามกัปตันร้านว่ามีอะไรแนะนำบ้างมั้ย
และถ้ากัปตันแนะนำจานปลาจานหนึ่ง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ที่กัปตันแนะนำนั้นเพราะว่าปลาสดและอร่อยเพิ่งเข้ามาจริงๆ หรือเพราะกัปตันถูกสั่งจากเจ้าของให้รีบผลักสต๊อกปลาเนื่องจากใกล้หมดอายุแล้ว หรือเพราะว่ากัปตันได้คอมมิชชั่นจากปลาตัวนั้นสูงเพราะกำไรดี
ไม่ต่างจากเวลาเราไปซื้อทีวีซักเครื่องหลังจากไม่ได้ซื้อมาเป็นปีไม่รู้ว่ารุ่นไหนดียังไง ยี่ห้อไหนต่างจากยี่ห้อไหนยังไง พนักงานร้านใหญ่ๆบางคนก็สังกัดตามแบรนด์ก็จะเชียร์แบรนด์ตัวเอง หรือถ้าแนะนำรุ่นนี้ ยี่ห้อนั้น
เราก็ยังไม่แน่ใจว่าที่น้องเขาแนะนำนั้นเป็นเพราะน้องได้คอมมิชชั่นเยอะจากรุ่นที่แนะนำ หรือร้านให้ผลักสต๊อก หรือว่ารุ่นนั้นดีจริงๆ
เวลาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแนวทีวี ตู้เย็นอะไรแบบนี้ ถามน้องเขาทีไรก็จะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งทุกที
.......
ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเชนสโตร์ที่ญี่ปุ่นชื่อ โนจิม่า
ไม่ได้เป็นร้านใหญ่โตอะไรนักและต้องแข่งกับคู่แข่งอย่าง big camera และร้านออนไลน์ที่เน้นราคาถูกเป็นหลัก
แต่ร้านนี้มีวิธีคิดและสร้าง “ทีเด็ด” ของร้านด้วยการเน้นการบริการเป็นหลัก
ด้วยสินค้าที่คล้ายๆกับคนอื่น แต่โนจิม่ามาเน้น “ความเป็นกลาง” ในการขาย
ไม่รับเซลล์แต่ละแบรนด์ที่มายืนเชียร์สินค้า ยอมตัดกำไรตรงนั้นออกไป
แล้วอบรมพนักงานในศึกษาทุกแบรนด์ให้ละเอียด
และต้องบอกให้ได้ว่าแต่ละแบรนด์มีจุดแข็งจุดอ่อนต่างกันอย่างไร
ถ้ามีคุณยายมาซื้อเครื่องซักผ้า พนักงานก็จะช่วยเป็นที่ปรึกษา
เข้าใจคุณยายตั้งแต่ว่าคุณยายอยู่คนเดียวมั้ย มีลูกหลายช่วยรึเปล่า
ซักวันละกี่ชิ้น แล้วอีกสิบปีพอยกฝาไม่ไหวจะทำอย่างไร
แล้วก็จะแนะนำรุ่นที่เหมาะสมให้
ซึ่งความใส่ใจ ความเป็นกลางและความเข้าใจความต้องการเฉพาะบุคคลนี้หาไม่ได้จากในเน็ต
หรือในร้านใหญ่ที่แข่งด้านราคา
ความทุ่มเทของพนักงานก็ทำให้ลูกค้าเกรงใจไม่กล้าไปถามแล้วไปซื้อในเน็ตอีกด้วย
ทำให้โนจิม่ามี positioning ที่ชัดเจน
มีลูกค้าประจำเป็นของตัวเองและอยู่รอดได้ในสภาวะการแข่งขันสูงแบบนี้
เรื่องราวคล้ายๆกันนี้ผมก็นึกถึง J.I.B ที่ตอนนี้เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีไทย
ตั้งแต่ตอนที่จิ๊บเปิดร้านเล็กๆร้านแรกที่เซียร์ รังสิต
เขาแทบไม่มีสต๊อกของตัวเอง ราคาก็สู้รายใหญ่ไม่ได้
แต่จิ๊บอาศัยความจริงใจ ใช้เวลากับลูกค้าแต่ละคนนานมากๆในการถามลักษณะการใช้งาน
และประกอบคอมพ์ตามความต้องการจริงๆ
มีปัญหาก็กลับมาได้และจิ๊บก็ดูแลอย่างดี
ลูกค้าหลายคนมาถามแล้วไปดูราคาร้านอื่นถูกกว่าก็ยังเดินกลับมาซื้อกับจิ๊บ
ที่แพงกว่านิดหน่อยก็เพราะความเกรงใจและความใส่ใจที่จิ๊บมีให้
ทำให้จิ๊บค่อยๆมีธุรกิจจนเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าพ่อไอทีไทยจนวันนี้
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=292306168901757&id=101815121284197
Bar B Q Plaza Human Management
สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าลูกค้า
วันนี้ ในคลาส Next Gen Innovator ของสภาอุตสาหกรรม
ผมมีโอกาสได้ฟังบรรยายเรื่องการบริหารจัดการแบรนด์และการตลาด
จากคุณบุ๋ม บุญย์ญานุช รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บาร์บีคิวพลาซ่า ร้านปิ้งย่างที่ผมว่ามาแรงที่สุดแล้วในยุคนี้
ฟังแล้วได้รับแรงบันดาลใจที่ดีมาก เลยอยากจะมาแชร์ให้เพื่อนๆต่อครับ
ต้องออกตัวก่อนว่า เอาจริงๆแล้ว ผมก็ไม่ค่อยได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ บาร์บีคิวพลาซ่า ซักเท่าไหร่
สิ่งที่ผมรู้หลักๆเกี่ยวกับแบรนด์นี้ก็คือ เป็นแบรนด์ที่มีการทำการตลาดออนไลน์ที่สุดยอดมากๆ
(ไม่ว่าจะเป็นคลิปวันแม่เมื่อปีที่แล้ว จนกระทั่งมาถึง Black Pan ที่เกาะกระแสการเปิดตัวของ iPhone7)
แต่กว่าบาร์บีคิวพลาซ่าจะเดินทางมาได้ถึงวันนี้ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วหลายครั้ง
ลองมาฟังแนวคิดในการ “บริหารคน” และ “บริหารแบรนด์” ไปพร้อมๆกันเลยครับ
คุณบุ๋มเริ่มต้นเล่าว่า บาร์บีคิวพลาซ่านั้น จะให้ความสำคัญกับพนักงานมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ
สำคัญยิ่งกว่าลูกค้าซะด้วยซ้ำ
เพราะธุรกิจร้านอาหารนั้น "ใช้คนเสิร์ฟคน" เพราะฉะนั้นบริษัทต้องดูแลพนักงานให้ดี พนักงานจะได้นำความรู้สึกดีๆไปส่งต่อความสุขให้กับลูกค้า
เมื่อลูกค้ามีความสุข เขาก็อยากจะกลับมาใช้บริการเราเรื่อยๆ ธุรกิจดี พนักงานก็มีความสุข เป็นวงจรที่ดีอย่างยั่งยืน
หลักการที่สำคัญคือ ห้ามดูแลพนักงานราวกับว่าเป็นแค่ลูกจ้าง
ประโยคทองที่คุณบุ๋มได้พูดไว้เลยก็คือ "จ่ายด้วยเงิน ได้แค่แรง จ่ายด้วยใจ จะได้ใจ”
เพราะฉะนั้นแล้ว แบรนด์ในมุมของบาร์บีคิวพลาซ่านั้นก็คือ คนทุกคนในบริษัท
ส่วนทางฝั่งของลูกค้านั้น คุณบุ๋มเล่าว่า ในชีวิตจริงของคนเรา จะสามารถแต่งงานมีคู่ชีวิตได้แค่คนเดียว
แต่ในธุรกิจ เธออยากแต่งงานกับลูกค้าทุกคนเลย จะได้รักกัน มาใช้บริการกันเรื่อยๆ เรียกว่าเป็น Customer Loyalty
เพราะฉะนั้น วิธีการจะได้ Customer Loyalty มาก็ต้องง่ายสุดๆ
เช่นการสมัครบัตรสมาชิกต้องห้ามซับซ้อนเด็ดขาด ลูกค้าขี้เกียจ
หลายแบรนด์ตกม้าตายตรงนี้มาแล้ว กว่าจะสมัครสมาชิกได้ที ซับซ้อนมากมาย ไม่เวิร์คเลย
และสิ่งที่สำคัญอีกข้อก็คือ แบรนด์ต้องไม่เสียจุดยืนทางการตลาด
แต่ไหนแต่ไรมา บาร์บีคิวพลาซ่าเน้นขายอาหารเป็นชุดอยู่แล้ว
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสปิ้งย่างแบบบุฟเฟ่ต์ มาแรงแซงทางโค้งมากๆ ซึ่งก็ทำให้บาร์บีคิวพลาซ่าเขวเหมือนกันว่า
เอ...เราจะเปลี่ยนเป็นร้านแนวบุฟเฟต์ดีไหมนะ?
แต่สุดท้ายก็ไม่ยอมเสียจุดยืนการขายอาหารเป็นชุด เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ทำบุฟเฟ่ต์เด็ดขาด
แต่แค่เปลี่ยนวิธีการนั่นคือ ออกเมนูเพิ่มขึ้นอีกชุด เรียกว่าชุด Refill (ซึ่งมันก็คือบุฟเฟ่ต์นั่นแหล่ะ แต่จะออกมาแค่ปีละ 2 เดือนเท่านั้น)
ซึ่งเคสนี้ถือว่าสำเร็จมาก ทุกปีในช่วงนี้ ยอดขายจะพุ่งขึ้นสูงสุดเสมอ แถมไม่เสียจุดยืนทางการตลาดในการขายอาหารชุดด้วย
ปัจจุบัน บาร์บีคิวพลาซ่าเป็น Market Leader ในตลาดปิ้งย่างในประเทศไทยแล้วด้วย Market Share 58%
คุณบุ๋มได้กล่าวว่า การจะเป็นเบอร์ 1 นั้นก็ว่ายากแล้ว
แต่การจะรักษาเบอร์ 1 ให้คงไว้อย่างต่อเนื่องนั้นยากยิ่งกว่ามาก
ต้องมีการวางแผนการทำการตลาดแบบบูรณาการให้ดีอย่างเป็นระบบ
และที่สำคัญ ต้องสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่น , การตลาดแบบออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการทำ CSR
หลายคนนึกว่า โปรโมชั่นที่ดีคือ ต้องลดแลกแจกแถม เช่น มา 2 จ่าย 1 / มา 3 จ่าย 2
การออกโปรโมชั่นแบบนี้จะใช้เงินเยอะทั้งนั้น บางทียอดเพิ่มแต่ไม่มีกำไร
จะดีกว่าไหม? ถ้าเราทำ Promotion แบบใช้เงินน้อย เพราะบรรทัดสุดท้ายของการทำ Promotion คือ
"ทำแล้วให้ลูกค้ารู้สึกคุ้ม"
ซึ่งคุ้มในเชิงลูกค้านี่ ไม่จำเป็นต้องลดราคาเสมอไป อาจจะเป็นของ Premium ก็ได้
ซึ่งของ Premium นั้น ก็ต้องให้มัน Premium ที่คนอยากได้จริงๆ
(เทรนของร้านตอนนี้ก็คือ ลูกอยากได้พวงกุญแจบาร์บีกอน ซึ่งมีแค่ 20,000 อันเท่านั้น)
เพื่อนร่วมชั้นของผมได้ถามคุณบุ๋มถึง Clip วันแม่ ในปี 2015
(ซึ่งเป็นไวรัล ที่ดังที่สุดในโลกออนไลน์ในปีที่แล้ว) ว่าคัดเลือกพนักงานอย่างไร ตั้งกล้องเตี๊ยมกันหรือเปล่า? เพราะดูซาบซึ้งกันเหลือเกิน
คุณบุ๋มได้มาเฉลยว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง พนักงานจริง ไม่มีเตี๊ยม
ซึ่งเบื้องหลังคือ ฝ่าย HR จะคัดพนักงานดีเด่นที่สมควรจะได้รับรางวัลในปีนั้นอยู่แล้วประมาณ 100 คน จากพนักงานทั้งหมดสามพันกว่าคน
พนักงานที่เด่นเหล่านี้สามารถพาแม่มาทานที่ร้านบาร์บีคิวพลาซ่าได้ฟรี 1 มื้อ ที่สาขาโลตัสบางใหญ่ และที่มันเจ๋งสุดยอดก็คือ
ในมื้อนั้นพนักงานระดับสูงทั้งหมด จะมาเป็นพ่อครัวและพนักงานในร้าน
ทำงานตั้งแต่ในส่วนของการเตรียมอาหาร เสิร์ฟอาหาร ยันไปถึงล้างจาน คุณพระ!
จากนั้นช่วงบ่ายก็จัดทริปพาทุกคนไปไหว้พระเก้าวัด เรียกว่า ได้ใจทั้งแม่ทั้งลูกกันเลยทีเดียว
ส่วนพนักงานอีกสามพันกว่าคนที่เหลือ ก็ได้วันหยุดเพิ่มอีก 2 วัน รวมเป็น 3 วันติดกัน จะได้พาแม่ไปเที่ยวได้
สำหรับเรื่องของนวัตกรรม หลายคนนึกว่านวัตกรรมมันต้องซับซ้อน เป็นของใหม่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
แต่สำหรับคุณบุ๋มแล้ว นวัตกรรมคือ
“ความคิดสร้างสรรค์ที่ทำได้จริง”
ตัวอย่างเช่น ทุกวันหลังเลิกครัว บาร์บีคิวพลาซ่าจะนำอาหารที่เหลือในการผลิตมาทำอาหารน้องหมา
แพ็คลงถุงอย่างดี ซึ่งก็ได้ทำมาแล้วมากกว่า 300,000 ถุง
และได้ออกแคมเปญว่า “สิ่งของที่เราดูว่ามีค่าน้อยแล้ว แต่มันอาจจะมีคุณค่ามหาศาลต่อชีวิตอื่น” ซึ่งก็ได้รางวัลที่คานส์ จากฝรั่งเศสด้วย
หรือจะเป็นการนำตะเกียบไม้เหลือใช้ มาผลิตเป็นโต๊ะนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร
พวกนี้เป็นได้ทั้งนวัตกรรมและ CSR ไปในตัวด้วย
พูดถึงเรื่องนวัตกรรม คงหลีกหนีไม่พ้น Black Pan ที่หลายคนให้ความสนใจ...
คุณบุ๋มเล่าว่า บริษัทได้วิจัยกระทะ + ระบบเตาสองขดลวดเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี ใช้เงินวิจัยไปประมาณ 55 ล้านบาท
(อย่าแซวแกเรื่องกระทะ 999 บาทที่วางขายในบิ๊กซีนะครับ เดี๋ยวแกเคือง 555 – จริงๆแค่รูปร่างคล้ายๆครับ แต่เทคโนโลยีนี่คนละเรื่อง)
คุณบุ๋มบอกว่า กระทะก็เหมือนหัวใจของบาร์บีคิวพลาซ่า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ดีก็ต้องเปลี่ยน
(จริงๆบาร์บีคิวพลาซ่าก็รู้มาตั้งนานแล้วว่ามีคนบ่นเรื่องกระทะมากมาย)
แต่ถ้าจะเปลี่ยนหัวใจทั้งที ก็ต้องให้ชีวิตรอดด้วย ต้องเปลี่ยนแล้วดีขึ้นจริงๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสาขาที่เปลี่ยนเป็น Black Pan จำนวน 25 สาขา
ส่วนอีก 94 สาขาที่ยังไม่ได้ออก Black Pan
ลูกค้าก็สามารถลุ้นพวงกุญแจรุ่น Limited Edition จำนวน 20,000 ชิ้น
ที่เอากระทะทองเหลืองที่ไม่ได้ใช้แล้วจาก 25 สาขานั้น มาหลอม แล้วรันเลขที่ 1-20,000
ไฮไลท์มันอยู่ตรงที่ มีคนถามว่า ทำไมพวงกุญแจถึงแจกแค่ 94 สาขาที่ไม่ได้ยังไม่ได้เปลี่ยน??
คุณบุ๋มได้ตอบว่า เพราะจะให้ผู้จัดการสาขาที่เหลือ ไม่รู้สึกน้อยใจว่า
“เฮ้ย? ทำไมสาขาเรายังไม่ได้เปลี่ยนเป็นกระทะดำ?
ให้ผู้จัดการสาขาเขารู้ว่า เราก็ไม่ได้ลืมเขา
ทั้งหมดนี้ ก็มาจากตอนแรกที่บอกว่า “จิตใจของพนักงานต้องมาก่อนเสมอ” ปรบมือรัวๆ
สิ่งที่คุณบุ๋มได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ก่อนจากกันคือ “ความลับในความสำเร็จ คือความจริงใจในสิ่งที่เราทำ”
หลังจากที่ได้ฟังคุณบุ๋มมาสองชั่วโมงแล้ว ผมก็เชื่อได้เลยว่า องค์กรที่ลงมือดูแลพนักงานอย่างจริงจัง
(แบบไม่ได้มีแต่สัญญาลมปากนั้น) องค์กรนั้นจะเติบโตอย่างยั่งยืนแน่นอน
เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรจะไปได้แค่ไหน ก็อยู่ที่ทรัพยากรบุคคลนั่นแหล่ะครับ
ที่มา https://www.facebook.com/iggymarketing/photos/a.1541486682798737/1773263349621068/
Strategy or Tactics
เอาน้ำออกจากแก้ว โดยที่มือไม่สัมผัสแก้ว
อะไรคือ Strategy (กลยุทธ์)
อะไรคือ Tactics (วิธีการ)
ปกติผมใช้คำถามนี้ ในการแนะนำให้เราแยกออกระหว่างคำว่า Strategy (กลยุทธ์) และ Tactics (วิธีการ)
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆในการเราจะกำหนดทิศทางในการทำงาน
ไม่ว่าจะในฐานะของลูกจ้าง เจ้าของ
แม้กระทั่งการกำหนดแนวทางของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ว่าเราพาชีวิตเราเองไปทางไหน
การเป็นเจ้าของหรือเจ้านาย ถ้าคุณไม่สามารถกำหนด ยุทธศาสตร์ และเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจแล้ว
นอกจากจะเหนื่อยฟรีแล้วยังอาจทำให้ลงทุนเสียเงินเปล่าๆอีกด้วย
เพราะธุรกิจแต่ละอัน ในแต่ละสถานการณ์
ตัองการกลยุทธ์และวิธีการที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ที่กำลังเจอ ทั้งปัญหาภายในและโอกาสภายนอก
ประเภทหรือแนวทางหลักๆ คือสิ่งที่เราเรียกว่า Strategy (กลยุทธ์)
ส่วนสารพัดวิธีของแต่ละแนวที่คุณเลือกใช้ก็คือวิธีการ (Tactics)
ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อม จริตและสถานการณ์บังคับที่บางครั้งอยู่นอกเหนือการควบคุม
1 เทออก
หลักของอันนี้คือ การทำให้แก้วเอียงหรือล้ม
ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ตามที่แต่ละท่านตอบมา ทั้งเอาไม้เขี่ย เอาขาเตะโต๊ะ เตะแก้ว และอีกสารพัดวิธีแล้วและเราจะนึกออก
แต่หัวใจหลักของแนวทางนี้คือ แก้วต้องเอียงเพื่อให้น้ำออกมา
การเทแก้ว ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเร็วสุด ทำให้น้ำหมดแก้วเร็วที่สุด
แต่มีโอกาสที่แก้วจะตกแตกหรือเสียหาย
ถ้าคุณใช้วิธีการเตะขาโต๊ะหรือเอาไม้เขี่ย
ถ้าเป็นธุรกิจก็จะเหมือนการลดราคา หักดิบ หรือการใช้วิธีการเร่งการเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไปโดยที่โครงสร้างของธุรกิจยังไม่พร้อมกับการขยายตัวที่รวดเร็วขนาดนั้น
สุดท้ายปัญหาและความเสียหายจะกลับมาหาเราเอง
นอกจากนี้ยังอีกวิธีที่พบบ่อยคือ การเข้าซื้อกิจการคู่แข่งกรณีเอาชนะกันไม่ได้ซะที่
เหมือนกับประโยคที่ว่า "If You can't beat them, buy them.” นั่นเอง
2 ดูดออก
หลักของวิธีนี้ ใช้แรงดูดน้ำออก (สมมติว่าแก้วไม่จำเป็นต้องขยับ)
ไม่ว่าจะเอาหลอดดูดเอง หรือเรียกเพื่อนมาดูดให้
ใช้เข็มฉีดยา ปั๊มน้ำดูดออก
บางคนใช้สัตว์เลี้ยงมากินน้ำ 😑" ซึ่งไม่ผิดกติกาด้วย ถูกไหมครับ
นอกจากนี้ ยังอาจมีวิธีที่แตกต่างไปอีก เช่น
บางท่านเอาผ้าหรือกระดาษทิชชู่มาซับน้ำออกก็ยังมี
แต่ทุกสิ่งอย่างอยู่ใต้หลักการเดิมคือ ไม่ต้องขยับแก้วใดๆสำหรับการเอาน้ำออก
วิธีนี้เป็นคำตอบที่มากสุดทุกครั้งที่ถามพอๆกับวิธีแรก ซึ่งหมายความว่าเป็นแนวทางการทำธุรกิจแบบที่เราคุ้นเคยที่สุด
ได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง อาจช้าหน่อยแล้วแต่กำลังและจังหวะ บางทีมีเพื่อนมาช่วยธุรกิจอาจไปได้เร็วขึ้น
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราคือ เราจะเจอการแข่งขันเยอะมาก
เพราะเราเลือกกลยุทธ์และวิธีการที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่นั่นเอง
(ต้องแยกความหมายว่าทำแล้วจะดี หรือประสบความสำเร็จหรือไม่ออกจากประเด็นนี้นะครับ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน)
ถ้าแข่งกันด้วยกลยุทธ์นี้ วิธีการที่จะเฉือนกันก็คงเป็นใครใช้หลอดใหญ่กว่า หรือใช้ปั๊มน้ำมาดูดแทนที่จะใช้คน
เปรียบในทางธุรกิจก็เป็นใครทุ่มมากกว่า สายป่านยาวกว่า หรือมีเครื่องทุ่นแรงมากกว่าก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะนั่นเอง
3 แทนที่
หลักการเชิงวิทยาศาสตร์สุดๆด้วยการแทนที่น้ำด้วยวัตถุ
ขอบคุณหลายๆท่านที่ทำให้คำว่า ยูเรก้า กลับมาในหัวผมอีกครั้งหลังจากไม่ได้ยินมานานกว่า 30 ปี
หลักอันนี้จะต่างจากวิธีอื่นๆคือ คุณจะกดหรือใส่อะไรบางอย่างลงไปในแก้ว ของนั้นต้องเป็นของทึบ (ต่างจากหลอดหรือสายยาง)
ถ้าสังเกตุจะเห็นว่ามีความคล้ายกับวิธีแรกตรง ต้องใส่อะไรเข้าไปในแก้ว
เพียงแต่ของที่ใส่เข้าไปอันนึงกลวง อีกอันนึงตัน
วิธีนี้การที่คุณจะใส่ของเข้าไปแทนที่เพื่อให้น้ำออกมาจนหมด
คุณต้องวางแผนและเลือกของที่พอดีกับปริมาตรของแก้วจริงๆน้ำจึงจะหมดเกลี้ยง
ของใหญ่ไปไม่พอดีกับแก้วน้ำก็จะเหลือเยอะ ใส่ของชิ้นเล็กก็ไม่รู้เมื่อไหร่มันจะเต็มซักที
ในทางธุรกิจ กลยุทธ์แนวนี้ถือเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจที่อยู่ในภาวะของการถ่ายเลือด
ผลัดเปลี่ยนคนรุ่นสู่รุ่น สินค้า collection นึงสู่อีก collection นึง
หรืออาจรวมถึงการเปลี่ยนสินค้าทั้งหมดของ Portfolio
กรณีที่สินค้าปัจจุบันขายไม่ดี ไม่ได้รับการตอบรับจากตลาด หรืออาจเป็นว่าแบรนด์ต้องการ transform ตัวเองสู่ภาพลักษณ์ใหม่
ทำให้ต้องมีการวางแผนในการเคลียร์สินค้าเก่าพร้อมกับวางแผนการวางตลาดสินค้าใหม่ล่วงหน้านานมากและจัดลำดับก่อนหลังกันอย่างดี
4 ปล่อยให้ระเหย
หลักของเรื่องนี้คือใช้ความร้อน ทำให้น้ำระเหยออก
หรือแม้กระทั่งเอาวางไว้เฉยๆ เดี๋ยวแดดก็เผาไปจนน้ำหมดแก้วเอง (จริงๆเอาไปวางในห้องแอร์ก็ได้นะครับ)
ขอแค่เพียงว่า ต้องย้ายแก้วและตอนคุณ คุณอย่าเผลอเอามือไปสัมผัส ก็จะไม่ผิดกติกาใดๆแล้ว
แนวทางนี้เป็นพวกใจเย็น คือไม่รีบจริงๆ ปล่อยไปตามธรรมชาติ
แนวทางนี้ เหมาะสำหรับธุรกิจบางประเภทด้วยนะครับ ประเภทที่เร่งให้โตยังไงก็โตไม่ได้
อาจเป็นเพราะธุรกิจของตนเองอยู่ในขาลงหรือคงที่ด้วยปัจจัยอื่น เช่น
หาแรงงานยาก supply ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เช่นผลิตภัณฑ์จากวัว กาแฟ)
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้แทบไม่มีความเสี่ยงเลย
ทางออกของการเอาตัวเองสวนกระแสธุรกิจขาลงคือการทำตัวเองให้มีมูลค่าสูงขึ้น เด่นชัดขึ้นเหมือนเอาตัวเองไปวางกลางแจ้ง
จะทำให้น้ำระเหยได้เร็วกว่าอยู่เงียบๆในร่ม
5 ทำให้น้ำแข็งตัวแล้วดึงออก
สุดยอดวิธีไฮเทคด้วยการทำให้น้ำแข็งตัวเป็นก้อนแล้วดึงออกมา
ทำได้โดยการใช้ไนโตรเจนเหลว
และการได้ยินวิธีนี้เป็น 1 ในคำตอบของการ Workshop ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองคงเริ่มแก่และคำถามนี้ชักจะเก่าแล้วเพราะตามไม่ทันเทคโนโลยี เพราะคำตอบหลักๆที่ใช้มานานมันมีแค่ 4 แนวทางข้างบนเอง จึงลองเอามาถามทุกท่านในนี้ และก็พบว่ายังมีคนตอบวิธีนี้มาด้วยจริงๆ
แนวทางนี้อาจจะดูเป็นอะไรที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ
เพราะเป็นการทำให้น้ำออกมาพร้อมกันที่เดียวและหมดเกลี้ยงจริงๆ (เพราะน้ำจะแข็งเป้นก้อนพร้อมกัน)
อาจจะมีจุดต้องระวังบ้างเช่นแก้วจะแข็งรวมไปกับน้ำแข็งด้วย
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้เหมือนกับการเอาเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ๆแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาแก้ปัญหา
หลายๆครั้งคนในองค์กรอาจมองไม่ออกว่ามันจะดียังไงเพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่คุ้นเคยและขณะเดียวกัน
การเลือกวิธีนี้ต้องอาศัยผู้ชำนาญหรือ Specialist เฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก
แรกๆจะมีแนวต้านอย่างมากจากผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงหรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อผลของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทุกคนในองค์กรจะเริ่มมีความเชื่อในที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นใครที่เลือกกลยุทธ์แบบนี้ ต้องมีแผนสำหรับช่วง Pilot Test (ช่วงทดลอง) ในระดับที่แน่นปึ้ก เพื่อการันตีความสำเร็จในช่วงแรกให้ได้
ท้ายสุดที่อยากจะย้ำคือ ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าวิธีไหน
เพราะปัจจัยแวดล้อมของแต่ละธุรกิจนั้นแตกต่างกัน
และไม่มีธุรกิจไหนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งตลอดไป
เพราะคู่แข่งใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวันและการแข่งขันสูงขึ้นมาก
คนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าเท่านั้น จึงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแห่งการอยู่รอด
ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งนะครับสำหรับที่ร่วมสนุกกัน
คราวนี้คงแยะออกแล้วนะครับ ว่า Strategies กับ Tactics นั้นต่างกันอย่างไร
ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงแก้วน้ำใบนี้ไว้นะครับ
ที่มา https://www.facebook.com/677380392295285/photos/a.677773965589261/869988356367820/
Sunday, May 9, 2021
Mathematics
เช็คพอยท์ ในวิชาคณิตศาสตร์ หากปล่อยให้ลูกไม่เข้าใจ จะสะสมจนเกิดปัญหาใหญ่
โดย ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
.
จริงๆ แล้ว ถ้าคุณพ่อคุณแม่ลองนึกดูดีๆ ถึงตอนเราสมัยเด็กๆ หรือลูกเราตอนเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล 1 วิชาที่เขาชอบที่สุด จะมีอยู่ 2 วิชา คือ
วิชาศิลปะที่เขาได้วาดภาพ ได้ขีดได้เขียน ได้จินตนาการเปรียบเทียบระหว่างของจริง และภาพวาดที่เขาเห็น
และอีกวิชาหนึ่ง ก็คือ วิชาคณิตศาสตร์ นั่นก็เป็นเพราะว่า คณิตศาสตร์ในระดับปฐมวัย เด็กๆ จะเรียนรู้ผ่านภาพ ผ่านสิ่งที่จับต้องได้ (Manipulatives) ที่เขาสามารถเห็นได้ จับได้ นับได้ พิสูจน์ให้เห็นกับตาได้
ซึ่งการพิสูจน์ได้นี้ละครับ ที่เป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการเรียนรู้ของสมอง ตามหลักการของ Brain Based Learning ที่ระบุว่า
สมองของคนเรามีรูปแบบของการเรียนรู้ ผ่านความพยายามที่จะเข้าใจความหมาย และเหตุผลที่มาที่ไป สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ
.
คนส่วนใหญ่ประมาณ 65% จะมีความไวต่อการเรียนรู้ด้วยการมองเห็น (Visual Learners) และสื่อต่างๆ ในการเรียนรู้ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลภาพมากถึง 80%
ดังนั้น อะไรที่คิดเป็นภาพได้ จินตนาการได้ เทียบเคียงกับของจริงที่เขานึกภาพตามได้ หรืออะไรที่เขาหยิบจับได้ นับได้ มันส่งผลเชิงบวกต่อการเรียนรู้ทั้งนั้นครับ
.
ถ้าสังเกตดีๆ วิชาที่เด็กไม่ชอบในช่วงแรกๆ ของการเรียน ส่วนมากจะเป็นวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ใช่ไหมครับ
เพราะวิชาทางด้านภาษา เด็กจะต้องเรียนรู้หลักภาษา หลักของการสะกดคำ ซึ่งต้องเรียนรู้ผ่านการฝึกฝน ฝึกอ่าน ฝึกฟังบ่อยๆ จนกลายเป็นทักษะ
ซึ่งภาพมีส่วนช่วยได้เพียงแค่ความหมายของคำเท่านั้น (ซึ่งมีส่วนช่วยน้อยมาก)
ซึ่งต่างจากคณิตศาสตร์นะครับ ที่ในช่วงปฐมวัย จะไม่มีคำยากๆ หรือประโยคยาวๆ ให้เด็กต้องอ่าน ส่วนมากมักจะมีแต่ภาพเป็นหลัก
.
แต่ทำไมคณิตศาสตร์ จากวิชาที่เด็กชอบมากที่สุด พอเวลาผ่านไป จึงกลายเป็นยาขมของเด็ก
นั่นเป็นเพราะว่า เด็กไม่สามารถคิดเป็นภาพ และทำความเข้าใจในสิ่งที่เรียนได้ยังไงล่ะครับ
หลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กไม่เข้าใจ เด็กก็จะใช้การท่องจำช่วยให้พอเรียนผ่านไปให้ได้บทๆ หนึ่ง
พอเรียนแบบท่องจำ สักพักก็ลืม พอบทต่อไป ต้องใช้พื้นฐานของบทที่ผ่านมา เด็กก็จะจำไม่ได้ ก็จะทำให้เรียนในบทๆ นั้นไม่รู้เรื่องอีก
สภาพการเรียนที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งเรียน ก็ต้องยิ่งจำ ยิ่งรู้สึกเป็นภาระ สุดท้ายทางเลือก ก็มีอยู่ทางเลือกเดียว นั่นก็คือ “เลิกเรียน” ครับ
.
วิชาคณิตศาสตร์ เป็นอะไรที่แปลกมากครับ เพราะแค่เรียนเข้าใจไม่พอ การฝึกฝนก็สำคัญไม่แพ้กันครับ เพราะวิชาคณิตศาสตร์ เป็น Constructive Learning
คือ เด็กจะเข้าใจ และตกผลึกในสิ่งที่เรียนมากขึ้น หากเด็กได้ฝึกฝนทำแบบฝึกหัดมากในระดับหนึ่ง ได้ฝึกทำโจทย์ระคนที่ผสมผสานหลายๆ เรื่องในข้อเดียวกันอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น
ดังนั้นเด็กที่ขาดการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ต่อให้ตั้งใจเรียน และเรียนได้อย่างเข้าใจ ก็ไม่มีทางที่จะเก่งคณิตศาสตร์ได้ครับ
.
เด็กที่ขาดการฝึกฝน เวลาจะคิดคำนวณอะไรที่เป็นพื้นฐาน ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องง่ายๆ ก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก และคิดผิดเพราะสะเพร่าอยู่บ่อยครั้ง ตรงนี้ล่ะครับ คือ จุดที่เด็กเสียเปรียบ
เด็กที่คำนวณช้ากว่าเด็กคนอื่นๆ ก็จะมีเวลาคิดน้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ เด็กที่คิดผิดเพราะสะเพร่าบ่อยๆ ก็จะรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจ จนเสียความมั่นใจในการเรียน
.
ดังนั้น ผมจึงขอเริ่มเช็คพอยท์สำคัญในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องกำชับ และมั่นใจว่าลูกจะต้องทำได้
เพราะถ้าเด็กทำไม่ได้ มันอาจจะกลายเป็นปัญหาสะสม ที่ทำให้เรียนในบทต่อๆ ไป ไม่เข้าใจ จนสุดท้ายจะทำให้ขาดความมั่นใจในการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ ในที่สุด ได้ครับ
เรามาเริ่มต้นกันเลยครับ
Checkpoint 1: คิดเป็นภาพ
เด็กจะต้องคิดเป็นภาพได้ เริ่มต้นได้ตั้งแต่โจทย์ปัญหาง่ายๆ ในระดับอนุบาลเลยครับ
อย่างโจทย์ง่ายๆ อย่าง ยีราฟ กับนกกระจอกเทศ มีขารวมกันกี่ขา
ผมไม่ค่อยชอบให้เด็กคิดเป็นเลขคณิต คือ 4 + 2 = 6 แต่อยากให้เด็กคิดถึงยีราฟ และนกกระจอกเทศที่เขาเคยเห็น
จากนั้นให้เขาเอายีราฟ และนกกระจอกเทศ มายืนใกล้ๆ กันในความคิด
จากนั้นก็นับขายีราฟ และขานกกระจอกเทศ จากภาพในความคิดของเขา แล้วตอบเป็นคำตอบออกมา นี่ล่ะครับ
การคิดเป็นภาพอย่างง่ายๆ คือ ***ต้องสร้างภาพให้ได้ในหัวก่อนครับ***
พอเด็กโตขึ้นมา จะวาดภาพวงกลม สี่เหลี่ยม หรือจะใช้ Bar แบบคณิตศาสตร์สิงค์โปร์ เป็นสิ่งแทน ก็เป็นอีกลำดับขั้นหนึ่งครับ
แต่ในช่วงปฐมวัย (อนุบาล) เด็กจะต้องฝึกให้สร้างภาพในหัวให้ได้ก่อนครับ
ถ้าบอกว่าบ้านเรามีหมา 2 ตัว บ้านข้างๆ มีหมา 3 ตัว รวมกันเป็นกี่ตัว เด็กต้องนึกถึงภาพหมาให้ได้ครับ
อีกเรื่องหนึ่ง ที่มีประโยชน์มากๆ ก็คือ การฝึกให้ลูกมองภาพ Top view, Front view และ Side view ของรูปทรงต่างๆ
ทำให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างภาพ 2D และรูปทรง 3D
Checkpoint 2: คำนวณต้องเร็ว โดยเฉพาะการคูณ
เด็กที่ใช้เวลาคำนวณมากๆ ทั้งการบวก ลบ คูณ หาร ก็จะมีเวลาที่จะคิดน้อยกว่าเด็กที่คำนวณได้รวดเร็ว
คณิตศาสตร์มันไม่ได้มีแค่การคำนวณก็จริงครับ แต่การคำนวณ เป็นกระบวนการสุดท้ายในการทำให้ได้มาซึ่งคำตอบ
ในการทำโจทย์ข้อหนึ่งๆ แทนที่เด็กจะเอาเวลาส่วนใหญ่ ไปตีความโจทย์ ไปคิดเชื่อมโยงเพื่อลำดับวิธีการในการแก้ปัญหา แต่เด็กกลับต้องมาพะวงกับการคำนวณ ผมว่าเสียเปรียบมากๆ ครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การท่องสูตรคูณ ถ้าเด็กต้องท่องไล่ แทนที่ 9 x 7 จะตอบได้ทันทีว่า 63
ก็ต้องท่องไล่จากเก้าหนึ่งเก้า เก้าสองสิบแปด เก้าสามยี่สิบเจ็ด ... จนถึง เก้าเจ็ดหกสิบสาม แบบนี้ถือขาดประสิทธิภาพมากๆ เลยครับ
เด็กที่ไม่คล่องเรื่องการคูณ การหารก็จะช้า การตัดทอนเพื่อทำเป็นเศษส่วนอย่างต่ำก็จะช้า การแยกตัวประกอบก็จะช้า พอคำนวณช้า ก็มีเวลาคิดน้อย เวลาทำโจทย์อะไรก็จะรน ยิ่งคำนวณผิดเพราะสะเพร่าบ่อยๆ ก็จะยิ่งขาดความมั่นใจ
ผมมักจะบอกว่า เด็กทุกๆ คน ควร บวก ลบ เลขโดด กับเลขโดด เช่น 8 + 6 , 9 – 5 เด็กควรใช้เวลาไม่เกิน 1 วินาทีในการตอบ
สำหรับการคูณ และการหาร อะไรก็ตามที่อยู่ในแม่สูตรคูณ เช่น 7 x 8, 9 x 12, 64 / 8, 36 / 3 เป็นต้น เด็กก็ไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 วินาที เช่นกัน
Checkpoint 3: ลำดับวิธีในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง รู้ว่าโจทย์ข้อนี้ ต้องทำอะไรก่อน ทำอะไรหลัง
- เด็กจะต้องเข้าใจเรื่องการใส่วงเล็บ
จริงๆ แล้วการใส่วงเล็บ ก็คือ การลำดับขั้นตอนในการแก้ไขโจทย์ปัญหาหลายชั้น เท่านั้นเองครับ
ซึ่งเด็กจะต้องจินตนาการได้ว่า จะต้องทำอะไรก่อน (แล้วพักคำตอบเอาไว้) แล้วเอาคำตอบที่ได้ ไปทำอะไรในอีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อหาคำตอบสุดท้าย
เด็กที่ใส่วงเล็บไม่เป็น จะขาดทักษะการคิดเป็นขั้นตอน (Algorithmic Thinking) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคมากๆ ในการเรียนคณิตศาสตร์ในบทถัดๆ ไป
- เด็กจะต้องมีระบบในการคิดที่ถูกต้อง
ต้องเริ่มต้นการคิด จากการรวบรวมข้อมูล เงื่อนไข และความสัมพันธ์ที่โจทย์กำหนดมาให้
จากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาว่าโจทย์ถามอะไร และหน่วยที่ต้องการนั้นคืออะไร
ถ้าเด็กเรียนคณิตศาสตร์มาผิดๆ คือ พอเจอโจทย์ปุ๊บ ก็ก๊อปปี้ Format ในข้อตัวอย่าง เขียนประโยคสัญลักษณ์ตามข้อตัวอย่างเลย
โดยที่ไม่พยายามฝึกคิดตรงนี้ก่อน เด็กก็จะไม่มีทักษะในการประยุกต์ใช้ข้อมูลที่โจทย์กำหนดให้ เพื่อมาลำดับวิธีในการแก้ปัญหา เพื่อหาคำตอบให้ตรงกับที่โจทย์ถาม
- เด็กจะต้องแก้ปัญหาทีละส่วนเป็น
อย่างเช่น โจทย์กำหนดภาพหลายเหลี่ยม ที่ผสมผสานรูปเรขาคณิตหลายๆ รูป เข้าด้วยกัน แล้วถามว่าพื้นที่ภาพหลายเหลี่ยมนั้นมีขนาดเท่าใด
เด็กจะต้องรู้ว่า จะต้องค่อยๆ แบ่งภาพหลายเหลี่ยมนั้น ให้ออกมาเป็น 2 – 3 ภาพ ที่มีสูตรในการหาพื้นที่ได้
จากนั้นก็ค่อยๆ หาขนาดพื้นที่ของแต่ละภาพ แล้วค่อยเอามารวมกัน เป็นต้น
หรือโจทย์ประเภทที่ว่า มีเสื้อ 2 สี กางเกง 3 สี สามารถแต่งตัวได้กี่แบบ
หรือ โยนเหรียญ 3 ครั้ง ผลที่ออกมา มีกี่แบบ
เด็กจะต้องสร้างแผนภูมิต้นไม้ เพื่อจัดระเบียบ วางระบบในการหาคำตอบได้ (ไมใช่คอยนึกเดาสุ่มๆ ไปเรื่อยๆ)
Checkpoint 4: สุ่ม แล้วไล่หาคำตอบเป็น
โจทย์บางข้อที่ยากๆ เด็กจะต้องสามรถไล่สุ่มตัวเลข แล้วแทนค่าหาคำตอบเป็น
เช่น โจทย์ถามว่า ที่ลานจอดรถมีรถยนต์ และรถจักรยานยนต์จอดอยู่รวมกัน ... คน พบว่ามีล้อรวมกันทั้งสิ้น ... ล้อ
อยากทราบว่าที่ลานจอดรถมีรถยนต์กี่คัน
หรือ โจทย์ถามว่า มีเงินอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าแบ่งให้เด็กคนละ ... บาท จะต้องไปยืมเงินมาเพิ่มอีก ... บาท
ถ้าแบ่งให้เด็กคนละ ... บาท จะเหลือเงิน .... บาท
จงหาว่ามีเด็กกี่คน จริงๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะนึกสงสัยว่า การสุ่มตัวเลขแล้วแทนค่า มันจะยากตรงไหนใช่ไหมครับ
แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการวัดตรรกะของเด็กเลยนะครับ เด็กที่ตรรกะไม่ดี จะเดาไม่ออกเลยว่าจะตรวจสอบความถูกต้องได้อย่างไร
ตัวเลขแรกที่ควรสุ่มคืออะไร (เด็กเล็กๆ มักจะสุ่ม 1 เป็นตัวเลขแรกเสมอ)
พอแทนค่าแล้วไม่ได้คำตอบ เด็กก็จะเดาไม่ออกว่าตัวเลขที่ควรจะสุ่มถัดไป นั้นควรจะมากขึ้น หรือน้อยลง จะมากขึ้นแค่ไหน จะน้อยลงขนาดไหน ก็คะเนไม่ได้
(เด็กเล็กๆ พอ 1 ไม่ถูกต้อง ตัวเลขที่จัดสุ่มถัดไปก็คือ 2, 3, 4, …)
ดังนั้นการสุ่มไล่หาคำตอบ จึงเป็นอีก Checkpoint หนึ่งที่สำคัญ ที่เป็นตัวชี้วัดว่า เด็กมีตรรกะที่ดีเพียงไรครับ
Checkpoint 5: เด็กต้องคิดจากหลังมาหน้าได้
เด็กส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการคำนวณหาคำตอบ โจทย์ทั่วไปที่ถามแบบซื่อๆ
เช่น แดงมีเงิน 5 บาท ดำมีเงิน 8 บาท แดงและดำมีเงินรวมกันเท่าใด หรอกนะครับ
แต่เวลาที่ถามคำถามย้อนกลับ เช่น ดำและแดงมีเงินรวมกัน 13 บาท ถ้าแดงมีเงิน 5 บาท ดำจะมีเงินเท่าใด
โจทย์แบบนี้นี่ล่ะครับ ที่เด็กจะงง การคิดย้อนกลับ จึงเป็นอีก Checkpoint หนึ่ง ที่เป็นตัววัดที่ดีว่า เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียน อย่างถ่องแท้เพียงใดครับ
Checkpoint 6: การเทียบบัญญัติไตรยางศ์
การเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เป็นบทเรียนแรกของเด็ก ที่เด็กต้องทำความเข้าใจการแก้ปัญหาหลายชั้น
อย่างโจทย์ถามว่า ขนม 6 ชิ้น ราคา ... บาท ถ้าจะซื้อขนม 15 ชิ่น ต้องจ่ายเงินเท่าใด
จริงๆ มันก็ง่ายๆ ครับ คือ ต้องหาให้ได้ก่อนว่า ขนมหนึ่งชิ้นราคาเท่าใด
พอรู้ราคาขนมหนึ่งชิ้นแล้ว จะหาราคาของขนมกี่ชิ้น ก็แค่เอาไปคูณเท่านั้นเองครับ
แต่การสอนคณิตศาสตร์ในหลายๆ โรงเรียน มักจะสอนให้นักเรียนจำสูตร โดยที่ไม่พยายามทำให้นักเรียนเข้าใจ
พอเด็กต้องท่องจำสูตร สักพักก็จะลืมครับ
(จริงๆ ผมไม่ได้ Anti การจำสูตรเลยนะครับ แต่ก่อนที่จะให้เด็กจำ เราจะต้องทำให้เด็กเข้าใจก่อนครับ
เพราะการจำบนพื้นฐานของความเข้าใจ จะทำให้สามารถจำได้คงทน และยาวนานมากขึ้น และเมื่อไหร่ที่ลืม ก็จะย้อนนึกถึงได้)
นอกจากการเทียบบัญญัติไตรยางศ์ปกติแล้ว โจทย์ประเภทแรงงาน และเวลา ก็สำคัญไม่แพ้กันครับ
เช่น งานชิ้นหนึ่ง ถ้าให้คน 3 คนทำ จะใช้เวลา 15 วัน ถ้าใช้คน 2 คน จะใช้เวลากี่วัน
เด็กจะต้องเข้าใจตรรกะให้ได้ว่า คนน้อยลง ก็ต้องใช้เวลามากขึ้น ครับ
***การเทียบบัญญัติไตรยางศ์ เป็น Checkpoint 5 ดาว ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญให้มากๆ ครับ***
Checkpoint 7: เศษส่วน
เศษส่วน ถือเป็นบทเรียนแรก ที่เด็กออกจากโลกจำนวนนับครั้งแรก
ถ้าเด็กเรียนแบบจำวิธีการ โดยที่ไม่เข้าใจ ก็จะเป็นภาระที่ทำให้เด็กเรียนแล้วก็ลืม
ซึ่งเศษส่วนจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนบทต่อๆ ไปอีกหลายเรื่อง ทั้งทศนิยม ร้อยละ
และยังมีส่วนไปผสมผสานกับเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น อัตราส่วน สมการ และพีชคณิต
ซึ่งถ้าเด็กมีปัญหากับเรื่องเศษส่วน จะมีปัญหาพัวพัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนอ่อนในวิชาคณิตศาสตร์ในที่สุดครับ
***เศษส่วนถือเป็น Checkpoint 5 ดาว ที่สำคัญมากๆ ครับ***
Checkpoint 8: เรียนเรขาคณิตแบบเข้าใจที่มาของสูตร
การคำนวณหาความยาวเส้นรอบรูป พื้นที่ และปริมาตร (รวมทั้งความจุ)
เป็นบทเรียนแรกที่เด็กจะต้องเชื่อมโยงรูปภาพ รูปทรงที่เขามองเห็นได้ด้วยตา วาดได้ สัมผัสได้ มาสู่บทเรียนที่เป็นเลขคณิต
โดยเปลี่ยนสิ่งที่มองเห็น ให้เป็นจำนวน ซึ่งโรงเรียนจำนวนไม่น้อย มักจะสอนเรขาคณิตในรูปแบบที่ให้เด็กจำสูตร แล้วแทนค่าหาคำตอบ
ซึ่งการสอนในลักษณะนี้ ทำให้เด็กไม่มีความเข้าใจในหลักการสำคัญ ซึ่งการเรียนแบบท่องจำแบบนี้ สักพักเด็กก็จะลืม
และจะไม่สามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนในการแก้โจทย์ปัญหา และไม่สามารถสร้างสะพานแห่งความเข้าใจไปยังบทเรียนอื่นๆ
จริงๆ แล้วปัญหาในการเรียนเรขาคณิตแบบไม่ถูกวิธี ในช่วงระดับประถมศึกษาอาจจะไม่เห็นผลพวงของปัญหามากนัก
เพราะเด็กสามารถใช้การจำสูตรแทนค่า ในการทำแบบฝึกหัด และทำข้อสอบให้ผ่านมาได้เรื่อยๆ
แต่เมื่อเรียนในระดับมัธยมศึกษา โดยเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างพีชคณิต และเรขาคณิต
เด็กที่ไม่สามารถสร้างภาพ หรือวาดกราฟจากความสัมพันธ์ที่อยู่ในรูปแบบพีชคณิตของฟังก์ชั่นได้
จะต้องให้เพียงพีชคณิตในการแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งนอกจากจะเสียเวลามากๆ แล้ว
(โจทย์บางข้อ ไม่จำเป็นต้องแก้สมการเลย เช่น โจทย์ถามว่าจุดตัดของกราฟสองเส้น นั้นอยู่ที่ Quadrant ใด
บางทีวาดกราฟคร่าวๆ ก็หาคำตอบได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้สมการหลายตัวแปรเลย)
ยังไม่มีความเข้าใจ และไม่สามารถอธิบายถึงคำตอบที่ตนเองคำนวณออกมาได้ อีกด้วย
ซึ่งจะเป็นข้อจำกัด และอุปสรรคสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูงต่อไป
ผมไม่มีปัญหากับการท่องสูตร หรือจำสูตรเลยครับ
แต่ก่อนที่จะให้เด็กจำ เด็กจะต้องเข้าใจที่มาของสูตร เช่น สูตรในการหาพื้นที่สี่เหลี่ยม ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมประเภทไหน
ก็ล้วนมาจากการผสมผสานสูตรของพื้นที่สามเหลี่ยมสองรูป ทั้งสิ้น เป็นต้น
การจำบนพื้นฐานความเข้าใจ นั้นจะช่วยทำให้จำได้นานมากขึ้น และเมื่อไหร่ที่ลืม ก็จะสามารถเรียกความทรงจำกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว
Checkpoint 9: วาดภาพตามการบรรยายของโจทย์ได้อย่างถูกต้อง
เรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในการเรียนเรขาคณิตของเด็กๆ เลยครับ
เพราะเด็กส่วนใหญ่ มักจะไม่มีปัญหากับโจทย์ที่บอกข้อมูลแบบตรงๆ
เช่น สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนรูปหนึ่ง มีเส้นทแยงมุมยาว ... และ ... จงหาพื้นที่ของสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนรูปนี้
แต่โจทย์ที่พรรณนาข้อมูลต่างๆ ที่เด็กจะต้องวาดภาพตาม หรือต้องอาศัยความเข้าใจของสมบัติของรูปเรขาคณิตมาประกอบ เด็กจะไม่สามารถตีความได้
เช่น นาย ก. เดินรอบสนามรูปสี่เหลี่ยมรูปหนึ่ง ABCD มุมภายในของรูปสี่เหลี่ยมรูปนี้ไม่มีมุมใดเป็นมุมฉาก แต่เส้นแทยงมุมตัดกันเป็นมุมฉาก และแบ่งครึ่งซึ่งกันและกัน .... จงหาพื้นที่ของสี่เหลี่ยมรูปนี้
หรือโจทย์ประเภท รูปสามเหลี่ยมรูปหนึ่ง เมื่อลากเส้นตรงทำมุมฉากที่จุดกึ่งกลางของด้านๆ หนึ่ง จะไปบรรจบที่มุมๆ หนึ่ง ของสามเหลี่ยมรูปนั้นทันที ... โจทย์ในลักษณะนี้ เด็กมักจะถามเสมอว่า สามเหลี่ยมรูปนี้ เป็นสามเหลี่ยมอะไร
คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นใจว่า เด็กจะต้องเรียนเรขาคณิตด้วยความเข้าใจ
สามารถวาดภาพจากการบรรยายของโจทย์ได้
สามารถประยุกต์ใช้สมบัติทางเรขาคณิต เพื่อประมวลข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อหาคำตอบได้
ไม่ใช่เรียนเรขาคณิต แบบแค่ท่องจำสูตร แล้วแทนค่า
เพราะหากเด็กไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง “คำบรรยาย” “สมบัติทางเรขาคณิต” และ “การวาดภาพ” ได้
เด็กจะไม่สามารถพัฒนาทักษะทางคณิตศาสตร์ในระดับสูงได้เลยครับ
อย่างในระดับมัธยมต้น อย่างในเรื่องตรีโกณมิติ เด็กไม่ควรจะเรียนแบบท่องจำสูตร แต่จะต้องสามารถสร้างภาพได้
เช่น ถ้าโจทย์บอกว่า มุม A เล็กกว่า มุม B เด็กจะต้องรู้ทันทีว่า sin A นั้นมีค่าน้อยกว่า sin B และสำหรับมุม C มีขนาดเล็กมากๆๆๆๆๆๆ
เด็กจะต้องรู้โดยทันทีเช่นกันว่า sin C นั้น จะมีค่าใกล้เคียงกับ tan C และ cos C มีค่าใกล้เคียง 1 เป็นต้น
Checkpoint 10: รู้จักการประยุกต์ใช้สมบัติทางเรขาคณิต ในการหาคำตอบ
เด็กจะต้องมีความสามารถในการลากเส้นต่อจุด ลากเส้นเพิ่ม ลากเส้นแบ่ง
เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้สมบัติทางเรขาคณิต ในการหาคำตอบเช่น พื้นที่ ความยาวด้าน หรือขนาดของมุม ได้
ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ เนื้อหาดังต่อไปนี้
- มุมแย้ง และเส้นขนาน
- สมบัติของสามเหลี่ยม และสมบัติของสี่เหลี่ยม
- สามเหลี่ยมคล้าย มุมร่วม ฐานร่วม
- สมบัติของวงกลม (ระดับมัธยมม)
- ทฤษฎีปีทาโกรัส และตรีโกณมิติ
โจทย์ในลักษณะนี้ เด็กจะต้องฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ สักระดับหนึ่ง
เด็กก็จะเริ่มฉุกคิดได้ว่า จะต้องลากเส้นเชื่อมเพิ่มเติมเส้นไหน เชื่อมระหว่างจุดใด กับจุดใด
ที่จะช่วยทำให้สามารถประยุกต์ใช้สมบัติทางเรขาคณิตที่ได้เรียนมาในการหาคำตอบได้
โจทย์ในลักษณะนี้จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่สนุกมากครับ
เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการคำนวณ แค่มองภาพให้ออก
กล้าที่จะขีดเส้น เขียนเส้น แล้วค่อยๆ แกะรอย เชื่อมโยงกับทฤษฎีทางเรขาคณิตที่ได้เรียนมา ก็จะหาคำตอบได้อย่างไม่ยากนัก
เด็กที่ทำโจทย์ประเภทนี้ไม่ได้ สะท้อนว่าไม่มีความเข้าใจในการเรียนเรขาคณิต และไม่สามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้เรียนมา ในการแก้ปัญหาได้ครับ
Checkpoint 11: เด็กจะต้องเรียนเรื่อง “สมการ” อย่างเข้าใจ สามารถตีความโจทย์ โดยเขียนเป็นสมการออกมาได้
“สมการ” เป็นบทเรียนที่เด็กต้องเรียนในระดับชั้น ป.6
ซึ่งผมมักจะบอกเสมอว่า จุดตายในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับประถม จะมีในเรื่อง
“การคำนวณทีรวดเร็ว” “การใส่วงเล็บ” “การเทียบบัญญัติไตรยางศ์” “เศษส่วน” และ “สมการ”
โดย “สมการ” ถือเป็นหลุมพรางที่ใหญ่มากๆ ครับ
คือ ถ้าเด็กคนไหนไม่เข้าใจเรื่องนี้ การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาอีก 6 ปี จะเรียนแบบไม่เข้าใจ และทุกข์มากๆ เลยครับ
เพราะแทบทุกบทในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม (รวมทั้งวิทยาศาสตร์) จะต้องมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “สมการ” ทั้งสิ้น
ดังนั้นสมการ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ ต้องใส่ใจ และต้องมั่นใจว่า ลูกมีความสามารถในการตั้งสมการ จากความสัมพันธ์ที่โจทย์บรรยายมาให้ได้
การตั้งสมการ เป็นเครื่องชี้วัด “ตรรกะ” ของเด็กได้ดีมากครับ
เพราะเป็นครั้งแรกที่เด็กจะต้องเปลี่ยนจาก ความสัมพันธ์ และเงื่อนไข ที่อยู่ในรูปแบบของคำบรรยาย
ให้กลายมาเป็น ความสัมพันธ์ทางพีชคณิตครับ
เด็กคนใดที่ไม่สามารถตีความโจทย์ และตั้งสมการได้ มักจะสะท้อนว่า เด็กขาดทักษะในการคิดในเชิงเหตุผล และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ ในการประมวลข้อมูล เพื่อหาคำตอบได้ครับ
ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกอ่อนในเรื่องนี้ ยังไงก็ต้องทุ่มเททำให้ลูกเข้าใจให้ได้ครับ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และเรื้อรังในอนาคตเลยครับ
Checkpoint 12: สามารถที่จะแก้โจทย์ปัญหาที่มีเงื่อนเวลา เข้ามาเกี่ยวข้องได้
โจทย์ในลักษณะนี้ จะอยู่ในรูปแบบที่มีช่วงเวลา ก่อนและหลัง เดิมและต่อมา
เช่น เดิมนาย ก. มีลูกปิงปอง เท่ากับ นาย ข. แล้วมีการแลกกันไป ซื้อมาเพิ่ม หรือทำหายไป อะไรสักอย่าง
แล้วทำให้จำนวนลูกปิงปองที่นาย ก. และนาย ข. มีเปลี่ยนแปลงไป
หรือจะเป็นโจทย์ ที่เกี่ยวกับอายุ เช่น ปัจจุบัน นาย ก. มีอายุเป็น 3 เท่าของลูก ต่อมาอีก ... ปี นาย ก. จะมีอายุเป็น 2 เท่า ... ประมาณนี้อ่ะครับ
หรืออาจจะเป็นโจทย์ประเภท ระยะทาง และความเร็ว
เช่น นาย ก. วิ่งด้วยความเร็ว ... ต่อมาอีก 30 นาที นาย ข. จึงออกวิ่งตาม นาย ก. ในเส้นทางเดียวกัน ด้วยความเร็ว ...
นาย ก. มีการพักระหว่างทาง 15 นาที ในขณะที่นาย ข. วิ่งไปถึงเส้นชัยโดยไม่พักเลย โดยนาย ข. ถึงก่อน นาย ก. 15 นาที จงหา ... ประมาณนี้อ่ะครับ
โจทย์ในลักษณะนี้ ความยากของมันอยู่ที่ เด็กจะต้องมีความเข้าใจเงื่อนไข และความสัมพันธ์ใน 2 มิติ
คือ เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่ง และอีกมิติหนึ่ง
เด็กก็จะต้องมีความเข้าใจว่า เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไป เงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนั้น ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งเด็กจะต้องผสมผสาน เงื่อนไข ข้อมูล และความสัมพันธ์ ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน มาหาคำตอบให้ได้
และจะดีมากๆ ถ้าหากเด็ก สามารถวาดรูปประกอบ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ในแต่ละช่วงเวลาได้
ซึ่งความเข้าใจในบทเรียนคณิตศาสตร์ในเรื่องนี้ จะช่วยทำให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์คำนวณ โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมได้อย่างเข้าใจ
เช่น เรื่อง แรง และกฎของการเคลื่อนที่ ความร้อน ไฟฟ้ากระแส เป็นต้น
สำหรับ Checkpoint 13 – 16 จะเป็นในส่วนของระดับมัธยมต้น ที่ผมขออนุญาต ให้แนวทางไว้โดยสังเขปครับ
ถ้าเด็กเรียนคณิตศาสตร์อย่างเข้าใจทั้ง 12 Checkpoint ข้างต้น
การที่จะผ่าน Checkpoint ในระดับมัธยม ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ
Checkpoint ที่ 13 – 16 เป็น Checkpoint เสริมครับ
ถ้าเด็กสามารถผ่านได้ ก็จะทำให้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ และเคมี) ในระดับมัธยมปลาย ได้อย่างเข้าใจมากขึ้นครับ
เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
Checkpoint 13: สามารถแยกตัวประกอบ ได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าบอกว่า “การท่องสูตรคูณแบบถามปุ๊บตอบได้ปั๊บ” นั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของคณิตศาสตร์ในระดับประถมศึกษา
การแยกตัวประกอบ เช่น 2x^2- x-3 = (2x – 3)*(x + 1) ได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
ก็เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมครับ
เพราะตั้งแต่ ม.2 – ม.6 แทบทุกบท เด็กจะต้องใช้การแยกตัวประกอบ เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาทั้งสิ้นครับ
เด็กที่แยกตัวประกอบช้า หรือผิดบ่อยๆ ก็จะเรียนคณิตศาสตร์ไม่สนุก ไม่แตกต่างจากเด็กประถมที่ท่องสูตรคูณไม่คล่องครับ
ดังนั้น การแยกตัวประกอบให้ถูกต้อง และรวดเร็ว จึงเป็น Checkpoint แรกของคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมเลยครับ
Checkpoint 14: สามารถดึงตัวร่วม ยุบรูป และหาคำตอบแบบติดตัวแปรได้
การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยม มักจะมีสมการ หรือความสัมพันธ์แบบพีชคณิตยาวๆ
ที่เด็กจะต้องค่อยๆ ยุบพจน์ต่างๆ ให้กลายเป็นสมการที่สั้นลง ผ่านสมบัติการแจกแจง และทฤษฎีบทต่างๆ
เพื่อนำไปสู่การหาคำตอบแบบง่ายๆ ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบรูป แล้วหาคำตอบในรูปของคำตอบที่ติดตัวแปร
คือ เด็กส่วนใหญ่ มักจะไม่ค่อยมีปัญหากับการตอบคำตอบเป็นจำนวน หรือตัวเลขน่ะครับ
แต่พอเป็นโจทย์ที่ต้องตอบคำตอบแบบติดตัวแปร เด็กจำนวนไม่น้อย มักจะขาดความมั่นใจ
เพราะไม่แม่นในเรื่องของการประยุกต์ใช้ทฤษฎีบท
ซึ่งการดึงตัวร่วม ยุบรูป และหาคำตอบติดตัวแปร เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูงในระดับมัธยมเลยนะครับ
ทั้งในเรื่อง เลขยกกำลัง การพิสูจน์เอกลักษณ์ตรีโกณมิติ และแคลคูลัส
ถ้าเด็กไม่คุ้นเคยกับโจทย์ประเภทติดตัวแปร ก็จะเป็นอุปสรรสำคัญในการเรียนเรื่องดังกล่าวมากๆ เลยครับ
Checkpoint 15: พหุนาม เลขยกกำลัง และการแก้สมการสองตัวแปร
ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นบทเรียนที่ Advanced ขึ้นมาจากบทเรียนในเรื่อง “สมการ” ครับ
จะว่าไป มันก็เป็นเรื่องของสมการ หรือพีชคณิตนั่นเองครับ
และทั้ง 3 เรื่องนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมปลายด้วยครับ
ถ้าเรียน 3 เรื่องนี้อย่างเข้าใจ พร้อมกับแยกตัวประกอบได้อย่างรวดเร็ว
การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมปลาย ก็จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากเย็นเลยครับ
Checkpoint 16: อย่างพึ่งแต่พีชคณิต เด็กต้องมีทักษะในการวาดกราฟเพื่อหาคำตอบคร่าวๆ ได้
การเรียนคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมต้น ที่เกี่ยวพันกับพีชคณิต หรือสมการ
เช่น สมการเส้นตรง สมการพหุนาม พาราโบลา การแก้สมการหลายตัวแปร เลขยกกำลัง
หรือแม้แต่เรื่องภาคตัดกรวย และตรีโกณมิติ ในระดับมัธยมปลาย
เด็กจำนวนไม่น้อยมักจะใช้พีชคณิต ในการแก้สมการ ในการหาจุดตัด หรือจุดสัมผัสต่างๆ
แต่ไม่สามารถที่จะวาดกราฟโดยคร่าวๆ ได้
ซึ่งโจทย์บางข้อ เขาไม่ได้ถามหาจุดตัดแบบเป๊ะๆ นะครับ
เขาอาจจะถามว่า มีจุดตัดกันกี่จุด หรือ ตัดกันที่ Quadrant ไหน เท่านั้นเอง
ซึ่งถ้าเป็นเส้นตรง 2 เส้นตัดกัน ถ้าวาดภาพ ก็พอจะรู้แล้วครับ ว่าตัดกันที่ Quadrant ไหน
หรือเส้นตรง ตัดพาราโบลา ถ้าวาดภาพดีๆ ตามสมการที่โจทย์กำหนดได้
(วาดพาราโบลาให้ถูกว่าหงาย หรือคว่ำ หรือตะแคงซ้าย หรือตะแคงขวา จุดวกกลับถูกต้อง เข้าสเกลให้ใกล้เคียงเสียหน่อย)
ก็พอจะคาดเดาได้นะครับว่า ตัดกันที่ Quadrant ไหนบ้าง บางครั้งต่อให้โจทย์ถามหาจุดตัด
ถ้าเราวาดรูปเป็น ก็สามารถตัดตัวเลือก และหาคำตอบที่ถูกต้องได้เลยนะครับ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปแก้สมการ 2 ตัวแปรเลย
Checkpoint ทั้ง 16 จุด ผมมักจะเรียกแบบเท่ๆ ว่า หมัดคณิตพิชิตมังกร 16 กระบวนท่า
(ขอยืมคำจากมังกรหยกมาประยุกต์ใช้เสียหน่อยนะครับ)
ที่ผมมักจะเน้นย้ำกับเด็กๆ ที่ผมมีโอกาสที่จะสอนคณิตศาสตร์เสมอว่า ถ้าหากต้องการเรียนคณิตศาสตร์ให้สนุก จะต้องฝึก 16 กระบวนท่านี้ให้ได้
เด็กที่ฝึก 16 กระบวนท่านี้ได้สำเร็จ ตามวัยที่ควรจะเป็น
ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างเป็นเลิศนะครับ
แต่ผมเชื่อว่า จะเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างสนุก ตามเพื่อน ตามครูได้ทัน
บทไหน เรื่องไหน ข้อไหน ที่ไม่เข้าใจ พอมีคนอธิบายให้สักหน่อย หรือได้ดูตัวอย่างสักหน่อย ก็จะค่อยๆ ทำความเข้าใจได้ด้วยตนเองครับ
เรียกได้ว่า จะเรียนคณิตศาสตร์ได้ไม่เสียเปรียบใคร ส่วนที่จะเป็นเลิศหรือไม่เป็นเลิศ ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเด็ก และความพยายามในการฝึกฝนครับผม
แต่ได้ 16 กระบวนท่านี้ ก็รับรองว่า ท่องยุทธจักร ได้อย่างสบายครับผม
https://www.facebook.com/EducationFacet/posts/1890128517725741