Monday, July 5, 2021

Strategy or Tactics

 เอาน้ำออกจากแก้ว โดยที่มือไม่สัมผัสแก้ว
อะไรคือ Strategy (กลยุทธ์)
อะไรคือ Tactics (วิธีการ)

ปกติผมใช้คำถามนี้ ในการแนะนำให้เราแยกออกระหว่างคำว่า Strategy (กลยุทธ์) และ Tactics (วิธีการ)
ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆในการเราจะกำหนดทิศทางในการทำงาน
ไม่ว่าจะในฐานะของลูกจ้าง เจ้าของ
แม้กระทั่งการกำหนดแนวทางของชีวิตเราเลยก็ว่าได้ว่าเราพาชีวิตเราเองไปทางไหน

การเป็นเจ้าของหรือเจ้านาย ถ้าคุณไม่สามารถกำหนด ยุทธศาสตร์ และเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจแล้ว
นอกจากจะเหนื่อยฟรีแล้วยังอาจทำให้ลงทุนเสียเงินเปล่าๆอีกด้วย
เพราะธุรกิจแต่ละอัน ในแต่ละสถานการณ์
ตัองการกลยุทธ์และวิธีการที่ต่างกันไปตามสถานการณ์ที่กำลังเจอ ทั้งปัญหาภายในและโอกาสภายนอก

ประเภทหรือแนวทางหลักๆ คือสิ่งที่เราเรียกว่า Strategy (กลยุทธ์)
ส่วนสารพัดวิธีของแต่ละแนวที่คุณเลือกใช้ก็คือวิธีการ (Tactics)
ซึ่งจะปรับเปลี่ยนไปตามความพร้อม จริตและสถานการณ์บังคับที่บางครั้งอยู่นอกเหนือการควบคุม

1 เทออก
หลักของอันนี้คือ การทำให้แก้วเอียงหรือล้ม
ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม ตามที่แต่ละท่านตอบมา ทั้งเอาไม้เขี่ย เอาขาเตะโต๊ะ เตะแก้ว และอีกสารพัดวิธีแล้วและเราจะนึกออก
แต่หัวใจหลักของแนวทางนี้คือ แก้วต้องเอียงเพื่อให้น้ำออกมา

การเทแก้ว ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเร็วสุด ทำให้น้ำหมดแก้วเร็วที่สุด
แต่มีโอกาสที่แก้วจะตกแตกหรือเสียหาย
ถ้าคุณใช้วิธีการเตะขาโต๊ะหรือเอาไม้เขี่ย
ถ้าเป็นธุรกิจก็จะเหมือนการลดราคา หักดิบ หรือการใช้วิธีการเร่งการเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไปโดยที่โครงสร้างของธุรกิจยังไม่พร้อมกับการขยายตัวที่รวดเร็วขนาดนั้น
สุดท้ายปัญหาและความเสียหายจะกลับมาหาเราเอง

นอกจากนี้ยังอีกวิธีที่พบบ่อยคือ การเข้าซื้อกิจการคู่แข่งกรณีเอาชนะกันไม่ได้ซะที่
เหมือนกับประโยคที่ว่า "If You can't beat them, buy them.” นั่นเอง

2 ดูดออก
หลักของวิธีนี้ ใช้แรงดูดน้ำออก (สมมติว่าแก้วไม่จำเป็นต้องขยับ)
ไม่ว่าจะเอาหลอดดูดเอง หรือเรียกเพื่อนมาดูดให้
ใช้เข็มฉีดยา ปั๊มน้ำดูดออก
บางคนใช้สัตว์เลี้ยงมากินน้ำ 😑" ซึ่งไม่ผิดกติกาด้วย ถูกไหมครับ
นอกจากนี้ ยังอาจมีวิธีที่แตกต่างไปอีก เช่น
บางท่านเอาผ้าหรือกระดาษทิชชู่มาซับน้ำออกก็ยังมี
แต่ทุกสิ่งอย่างอยู่ใต้หลักการเดิมคือ ไม่ต้องขยับแก้วใดๆสำหรับการเอาน้ำออก

วิธีนี้เป็นคำตอบที่มากสุดทุกครั้งที่ถามพอๆกับวิธีแรก ซึ่งหมายความว่าเป็นแนวทางการทำธุรกิจแบบที่เราคุ้นเคยที่สุด
ได้ผลมากบ้างน้อยบ้าง อาจช้าหน่อยแล้วแต่กำลังและจังหวะ บางทีมีเพื่อนมาช่วยธุรกิจอาจไปได้เร็วขึ้น
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราคือ เราจะเจอการแข่งขันเยอะมาก
เพราะเราเลือกกลยุทธ์และวิธีการที่เหมือนกับคนส่วนใหญ่นั่นเอง
(ต้องแยกความหมายว่าทำแล้วจะดี หรือประสบความสำเร็จหรือไม่ออกจากประเด็นนี้นะครับ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน)
ถ้าแข่งกันด้วยกลยุทธ์นี้ วิธีการที่จะเฉือนกันก็คงเป็นใครใช้หลอดใหญ่กว่า หรือใช้ปั๊มน้ำมาดูดแทนที่จะใช้คน
เปรียบในทางธุรกิจก็เป็นใครทุ่มมากกว่า สายป่านยาวกว่า หรือมีเครื่องทุ่นแรงมากกว่าก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะนั่นเอง

3 แทนที่
หลักการเชิงวิทยาศาสตร์สุดๆด้วยการแทนที่น้ำด้วยวัตถุ
ขอบคุณหลายๆท่านที่ทำให้คำว่า ยูเรก้า กลับมาในหัวผมอีกครั้งหลังจากไม่ได้ยินมานานกว่า 30 ปี
หลักอันนี้จะต่างจากวิธีอื่นๆคือ คุณจะกดหรือใส่อะไรบางอย่างลงไปในแก้ว ของนั้นต้องเป็นของทึบ (ต่างจากหลอดหรือสายยาง)

ถ้าสังเกตุจะเห็นว่ามีความคล้ายกับวิธีแรกตรง ต้องใส่อะไรเข้าไปในแก้ว
เพียงแต่ของที่ใส่เข้าไปอันนึงกลวง อีกอันนึงตัน
วิธีนี้การที่คุณจะใส่ของเข้าไปแทนที่เพื่อให้น้ำออกมาจนหมด
คุณต้องวางแผนและเลือกของที่พอดีกับปริมาตรของแก้วจริงๆน้ำจึงจะหมดเกลี้ยง
ของใหญ่ไปไม่พอดีกับแก้วน้ำก็จะเหลือเยอะ ใส่ของชิ้นเล็กก็ไม่รู้เมื่อไหร่มันจะเต็มซักที

ในทางธุรกิจ กลยุทธ์แนวนี้ถือเป็นกลยุทธ์หลักของธุรกิจที่อยู่ในภาวะของการถ่ายเลือด
ผลัดเปลี่ยนคนรุ่นสู่รุ่น สินค้า collection นึงสู่อีก collection นึง
หรืออาจรวมถึงการเปลี่ยนสินค้าทั้งหมดของ Portfolio
กรณีที่สินค้าปัจจุบันขายไม่ดี ไม่ได้รับการตอบรับจากตลาด หรืออาจเป็นว่าแบรนด์ต้องการ transform ตัวเองสู่ภาพลักษณ์ใหม่
ทำให้ต้องมีการวางแผนในการเคลียร์สินค้าเก่าพร้อมกับวางแผนการวางตลาดสินค้าใหม่ล่วงหน้านานมากและจัดลำดับก่อนหลังกันอย่างดี

4 ปล่อยให้ระเหย
หลักของเรื่องนี้คือใช้ความร้อน ทำให้น้ำระเหยออก
หรือแม้กระทั่งเอาวางไว้เฉยๆ เดี๋ยวแดดก็เผาไปจนน้ำหมดแก้วเอง (จริงๆเอาไปวางในห้องแอร์ก็ได้นะครับ)
ขอแค่เพียงว่า ต้องย้ายแก้วและตอนคุณ คุณอย่าเผลอเอามือไปสัมผัส ก็จะไม่ผิดกติกาใดๆแล้ว

แนวทางนี้เป็นพวกใจเย็น คือไม่รีบจริงๆ ปล่อยไปตามธรรมชาติ
แนวทางนี้ เหมาะสำหรับธุรกิจบางประเภทด้วยนะครับ ประเภทที่เร่งให้โตยังไงก็โตไม่ได้
อาจเป็นเพราะธุรกิจของตนเองอยู่ในขาลงหรือคงที่ด้วยปัจจัยอื่น เช่น
หาแรงงานยาก supply ลดลงอย่างต่อเนื่อง (เช่นผลิตภัณฑ์จากวัว กาแฟ)
การเลือกกลยุทธ์แบบนี้แทบไม่มีความเสี่ยงเลย
ทางออกของการเอาตัวเองสวนกระแสธุรกิจขาลงคือการทำตัวเองให้มีมูลค่าสูงขึ้น เด่นชัดขึ้นเหมือนเอาตัวเองไปวางกลางแจ้ง
จะทำให้น้ำระเหยได้เร็วกว่าอยู่เงียบๆในร่ม

5 ทำให้น้ำแข็งตัวแล้วดึงออก
สุดยอดวิธีไฮเทคด้วยการทำให้น้ำแข็งตัวเป็นก้อนแล้วดึงออกมา
ทำได้โดยการใช้ไนโตรเจนเหลว
และการได้ยินวิธีนี้เป็น 1 ในคำตอบของการ Workshop ครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้สึกว่า ตัวเองคงเริ่มแก่และคำถามนี้ชักจะเก่าแล้วเพราะตามไม่ทันเทคโนโลยี เพราะคำตอบหลักๆที่ใช้มานานมันมีแค่ 4 แนวทางข้างบนเอง จึงลองเอามาถามทุกท่านในนี้ และก็พบว่ายังมีคนตอบวิธีนี้มาด้วยจริงๆ

แนวทางนี้อาจจะดูเป็นอะไรที่ดีที่สุดด้วยซ้ำ
เพราะเป็นการทำให้น้ำออกมาพร้อมกันที่เดียวและหมดเกลี้ยงจริงๆ (เพราะน้ำจะแข็งเป้นก้อนพร้อมกัน)
อาจจะมีจุดต้องระวังบ้างเช่นแก้วจะแข็งรวมไปกับน้ำแข็งด้วย

การเลือกกลยุทธ์แบบนี้เหมือนกับการเอาเทคโนโลยีหรือวิธีการใหม่ๆแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาแก้ปัญหา
หลายๆครั้งคนในองค์กรอาจมองไม่ออกว่ามันจะดียังไงเพราะเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่คุ้นเคยและขณะเดียวกัน
การเลือกวิธีนี้ต้องอาศัยผู้ชำนาญหรือ Specialist เฉพาะทางเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก

แรกๆจะมีแนวต้านอย่างมากจากผู้ที่ไม่อยากเสี่ยงหรือไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
แต่เมื่อผลของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ทุกคนในองค์กรจะเริ่มมีความเชื่อในที่จะเกิดขึ้น
ดังนั้นใครที่เลือกกลยุทธ์แบบนี้ ต้องมีแผนสำหรับช่วง Pilot Test (ช่วงทดลอง) ในระดับที่แน่นปึ้ก เพื่อการันตีความสำเร็จในช่วงแรกให้ได้

ท้ายสุดที่อยากจะย้ำคือ ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าวิธีไหน
เพราะปัจจัยแวดล้อมของแต่ละธุรกิจนั้นแตกต่างกัน
และไม่มีธุรกิจไหนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่งตลอดไป
เพราะคู่แข่งใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวันและการแข่งขันสูงขึ้นมาก
คนที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่าเท่านั้น จึงจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดแห่งการอยู่รอด

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งนะครับสำหรับที่ร่วมสนุกกัน
คราวนี้คงแยะออกแล้วนะครับ ว่า Strategies กับ Tactics นั้นต่างกันอย่างไร
ถ้านึกไม่ออก ก็นึกถึงแก้วน้ำใบนี้ไว้นะครับ

ที่มา https://www.facebook.com/677380392295285/photos/a.677773965589261/869988356367820/

No comments:

Post a Comment