Friday, May 7, 2010

Love

ความรักกับความทุกข์
ท่าน ว.วชิรเมธี

เรื่องความรักในทรรศนะของพระพุทธศาสนามองว่าอย่างไร?
ในทรรศนะของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ทุกๆ การยึดติดถือมั่น มีค่าเป็นความทุกข์เสมอ"

ทุกๆการครอบครอง มีค่าเท่ากับการขาดอิสรภาพในทรรศนะของมนุษย์
ทุกครั้งที่เราครอบครองสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็มักภูมิใจว่าฉันเป็นเจ้าของแล้ว เช่น
ฉันมีรถเบนซ์ มีบ้าน มีแฟน ก็คิดว่าเป็นเจ้าของรถ เจ้าของบ้าน เจ้าของแฟนสาว
หารู้ไม่ว่าทันทีที่ยอมรับสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของๆเรา เราก็ตกเป็นทาสสิ่งเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว

เช่น จอดรถเบนซ์ไว้นอกบ้าน พอฝนตกเราก็นอนไม่หลับแล้ว
หรือมีบ้านหลังหนึ่ง พอน้ำประปารั่ว ปลวกขึ้นบ้าน เราก็ใช้ชีวิตไม่มีความสุขแล้ว
หรือมีแฟนสักคนหนึ่ง ส่ง sms ไปแล้วเขาหายไป 3 วัน ชีวิตก็ไม่รื่นรมย์แล้ว
เราครอบครองเขาหรือตกเป็นทาสเขากันแน่

ดังนั้น "ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์" จึงเป็นสัจธรรมสากลถูกต้องที่สุด

มนุษย์โดยมากจึงมักบอกว่าที่ใดมีรักที่นั่นมีสุข
เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความรักตั้งแต่ต้นสายถึงปลายทาง
โดยมากมักเริ่มต้นแค่รู้จักความรักช่วงก่อนโปรโมชั่น พูดประโยคอย่างนี้กันทั้งนั้น
พอเริ่มเรียนรู้ที่จะรักไปสักพักหนึ่ง ถ้าสังเกตอย่างละเมียดละไม
ก็จะเห็นว่ามันเริ่มสุขๆ ทุกข์ๆ ปนกันโดยตลอด

หลังจากนั้นเมื่อหลวมตัวแต่งงานไป
วันเวลาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความทุกข์มากกว่าความสุขแล้ว
ฉะนั้นความสุขซึ่งเกิดจากการมีความรักเชิงชู้สาวนั้น แท้ที่จริงก็คือ
ความทุกข์ที่รอเวลาอยู่เท่านั้นเอง

มันคือความสุขที่แท้ที่จริงคือเจ้าความทุกข์ที่รอเวลาแสดงตัว
คนหนุ่มคนสาวจำนวนมากไม่รู้ก็เลยคิดว่าความรักนั้นช่างหอมหวานเหลือเกิน
จริงอยู่ความรักเป็นความหอมหวาน แต่เป็นความหอมหวานของเนื้อทุเรียนซึ่งมีเปลือกที่แสนขรุขระ

อาตมภาพเห็นด้วยกับพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ตรัสว่า
"ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีโศก ที่ใดมีโศก ที่นั่นก็มีภัย ที่ใดไร้รักไร้โศก ที่นั้นก็พ้นโศกพ้นภัย"

ฉะนั้นถ้าคุณรักแล้วอยากจะปฏิเสธทกข์ อย่าทำเลย ไม่มีทาง
ถ้าคุณมีโศก ก็หมายความว่าคุณยึดติด

แล้วจะปฏิเสธความเศร้าที่ตามมา ไม่มีทาง
ใครทุกคนที่เริ่มมีความรัก ขอให้เรียนรู้กติกาของความรักเอาไว้เลยว่า
ความรักมีความทุกข์เป็นของแถม
เหมือนกับเราหยิบเหรียญกษาปณ์ขึ้นมา 1 เหรียญ
ถ้าด้านปรากฎต่อเราคือด้านหัว ด้านตรงข้ามก็คือด้านก้อย เช่นเดียวกัน
เมื่อเรายกหน้ามือขึ้นมาพินิจ หลังมือก็ติดมาพร้อมๆ กันนั่นแหละ
ความรักกับความทุกข์จึงเป็นของคู่กันมาตั้งแต่ต้นจนจบ
แต่การที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นก็เพราะเขายังถูกความรักบังตา

เช่นเดียวกับในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า
"ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน ไม่ยินและไม่ยล อุปสรรคใดใด
ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้ ก็โลดและแล่นไป บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงแม้จะผูกไว้ ก็โลดไปด้วยกำลัง ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บ หวนคิดถึงเจ็บกาย"
นี้เป็นสัจธรรมที่อยู่ในกวีนิพนธ์

พระพุทธเจ้า ก็ตรัสเอาไว้แบบนี้แหละ คนที่มีความรักนั้นมีกำลังนับร้อยเท่านับพันเท่า
โลดแล่นโจนทะยานออกไป บางครั้งโจนทะยานออกจากอกพ่ออกแม่
เพื่อมาค้นพบภายหลังว่า คนที่รักเราแท้ที่สุดก็คือพ่อคือแม่นั่นเอง

ฉะนั้นทุกครั้งที่เราเริ่มต้นมีความรัก สิ่งหนึ่งซึ่งควรมาคู่กันกับการมีความรักก็คือ
ความเข้าใจในธรรมชาติของความรัก
ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ หรือรักกันมานานตั้งห้าหกปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน
หรือแต่งงานมาสิบปีแล้วสุดท้ายก็เลิกกัน
คนที่เจ็บปวดจากความไม่สมหวังในความรักจากการใช้ชีวิตคู่
ควรมองออกไปให้กว้างว่าขาดเขาแล้วเราไม่ตาย เพราะก่อนจะมีเขาเรายังอยู่มาได้

เมื่อย้อนกลับไปไม่มีเขาอีกครั้งหนึ่ง เราก็กลับไปยืนอยู่ ณ จุดเดิม ก็ต้องอยู่ต่อไปให้ได้
แล้วอย่าทำร้ายชีวิต อย่าทำร้ายตัวเอง
แต่ให้มองว่าการที่เราเกิดเป็นคนแล้ว ไม่ได้ทุกอย่างดังใจหวังนั้น
เป็นบทเรียนอีกขึ้นหนึ่งของชีวิต เป็นบันไดขั้นหนึ่งของชีวิตที่ต้องก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ

ในชีวิตของมนุษย์เรามีบทเรียนอยู่สองบทเรียน
หนึ่ง บทเรียนที่ยาก และสอง บทเรียนที่ง่าย
บทเรียนที่ง่ายก็คือทำอะไรก็สมหวังไปเสียทุกอย่าง
แต่พอสมหวังไปเสียทุกอย่าง มนุษย์มักจะหลงตัวเอง
พอหลงตัวเอง นั่นคือ ต้นทางของความผิดพลาด

บทเรียนที่ยากมักจะช่วยขัดเกลาฝึกปรือเราให้เข้มแข็ง
เหมือนคนบางคนที่เกิดมายากจนจึงเรียนรู้ที่จะต่อสู้
และเมื่อพยายามต่อสู้ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จกลายเป็นคนมั่งคั่ง พรั่งพร้อมได้
คนจำนวนมากที่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกนั้น
เพราะเขาไม่ปฎิเสธบทเรียนที่ยาก
แต่กลับถือว่าเป็นบทเรียนที่เปรียบเสมือนหินลองทอง
หรือเปรียบเสมือนหินลับมีด
หรือบางทีเปรียบเสมือนกระดาษทรายที่ทำหน้าที่ขัดสีฉวีวรรณให้ชีวิตของเรา
ผุดผ่องแวววาวทอประกายเจิดจรัสงดงามยิ่งขึ้น

ฉะนั้น การที่เราล้มเหลวในเรื่องความรัก ในเรื่องชีวิตคู่
ขอให้ถือว่าความล้มเหลวนั่นแหละคือบทเรียนแสนยากที่เป็นบันไดขั้นหนึ่ง
ซึ่งเราต้องก้าวข้ามไป พอเราก้าวข้ามไปได้ ชีวิตของเราก็จะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ผู้รู้ท่านหนึ่งบอกว่า
"ชีวิตที่ไม่ผ่านการต่อสู้ เป็นชีวิตที่ไม่ควรค่าแก่การยกย่อง"

เรามีหน้าที่สู้ชีวิต มีหน้าที่ก้าวข้ามความยากลำบาก
ไม่ได้มีหน้าที่มาจมปลักอยู่กับความยากลำบากแล้วก็ทำร้ายทำลายตัวเอง
ทุกครั้งที่เจอบทเรียนแสนยาก บอกตัวเองว่าต้องก้าวข้ามมันไป
ไม่ใช่ฝังตัวเองอยู่กับบทเรียนแสนยาก
บทเรียนยากๆ ทั้งหลายนั้น เปรียบเสมือนบันได
ซึ่งเรามีหน้าที่ต้องก้าวผ่านบันไดเหล่านั้นไป
ไม่ใช่ไปนั่งจุ้มปุ๊กอยู่ตรงบันไดแล้วบอกว่าพอแล้วสำหรับชีวิตฉัน

ขอบคุณหนังสือ รักแท้คือกรุณา, ว.วชิรเมธี

No comments:

Post a Comment