ความขัดแย้งในครอบครัว และการเยียวยาด้วยความรัก
อาตมาคิดว่าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่อ่อนไหว
พร้อมกันนั้น
ก็เป็นสถาบันที่เป็นจุดตั้งต้นของความดีงามในชีวิตของคนมากกว่าสถาบันอื่นใดทั้งหมดทั้งสิ้น
ที่บอกว่าเป็นสถาบันที่อ่อนไหวก็เพราะว่า
ถ้าคนสองคนซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างสถาบันครอบครัวนั้นขาดธรรมะ
ครอบครัวก็จะพังลงมาในพริบตา
และที่บอกว่าเป็นจุดตั้งต้นของความเข้มแข็งก็เพราะว่า
ถ้าผู้ที่สร้างสถาบันครอบครัวขึ้นมาเป็นคนที่มีธรรมะ
ในสถาบันครอบครัวนั้นอาจจะเป็นสถานที่อุบัติของมหาบุรุษก็ได้
นักปราชญ์ ราชบัณฑิตก็ได้ คนของโลก อย่าง อัลเบิร์ด ไอนสไตน์ หรือ มหาตมะ คานธี ก็ได้
แต่ถ้าในสถาบันครอบครัวนั้นมีปัญหา
แน่นอนที่สุด สถาบันครอบครัวจะเป็นที่มาของมหาโจร
ที่เกิดมาเพื่อล้างผลาญมนุษยชาติก็ได้
หรืออาจจะเป็นที่อุบัติของคนที่เกิดมาปล้นชาติปล้นแผ่นดินก็ได้
หรืออาจจะเป็นที่อุบัติของสัตว์นรกในนามของคน ๆ หนึ่งก็ได้
เห็นไหม สถาบันครอบครัวจึงเป็นทั้งจุดที่ละเอียดอ่อนหรืออ่อนไหว
และเป็นทั้งจุดที่เข้มแข็งของมนุษยชาติของเรา
ถ้าหากคนซึ่งอยู่ในสถาบันครอบครัวมีปัญหากัน อาตมาภาพขอแนะนำว่า
๑. ให้ระลึกถึงคุณงามความดีเก่า ๆ ซึ่งกว่าที่เราจะคบกัน กว่าจะแต่งงานกัน
กว่าจะร่วมสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกันมานั้น เราต่างก็เคยประทับใจในคุณงามความดี
ของกันและกันมาก่อน ทุกครั้งที่เราโกรธเราเกลียดกัน
นึกถึงคุณงามความดีเก่า ๆ ก็จะทำให้จิตใจนั้นอ่อนโยนลง
๒. ให้คำนึงถึงตัวเอง และภรรยาว่าหากเราทำให้เขาทุกข์ เราก็ทุกข์ด้วย
ฉะนั้นเราไม่ควรทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกข์ เพราะถ้าเราทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทุกข์
มันก็สะท้อนกลับมาอยู่ดีว่า ตัวเราก็ต้องทุกข์ด้วย ถ้าเราเป็นคนที่มีความสุข
คนที่อยู่ใกล้เขาก็ต้องสุข ใช่ไหมล่ะ
ตรงกันข้าม ถ้าเราเห็นคนที่อยู่ข้างหน้าเราเป็นทุกข์ แสดงว่าเราก็ต้องทุกข์แล้ว
ฉะนั้นควรบอกตัวเองว่า เราควรเป็นหน่วยความสุขเคลื่อนที่
อย่าเป็นหน่วยความทุกข์เคลื่อนที่ในครอบครัวเลย
๓. ให้เรียนรู้ที่จะถอยไปข้างหน้า เวลามีปัญหาให้ "ทิ้งพยศ ลดมานะละทิฐิ"
บอกตัวเองว่าบางครั้ง ก็ต้องถอยหลังคนละก้าว
เหมือนที่พระนางเจ้าวิกตอเรียกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดทะเลาะกัน
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไปขังตัวเองอยู่ในห้อง
พระนางเจ้าวิกตอเรียตามไปเคาะประตู
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดก็ถามว่าใครเคาะ
พระนางเจ้าวิกตอเรียก็บอก "ฉันราชินีแห่งเกาะอังกฤษ"
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดโกรธมากที่ถูกศรีภรรยากดขี่ข่มเหงศักดิ์ศรี
แห่งความเป็นมนุษย์ ด้วยการเอายศศักดิ์อัครฐานมาข่มสามีซึ่งเป็นสามัญชน
สามชั่วโมงต่อมา พระนางเจ้าวิกตอเรียทนเหงาไม่ได้ ไปเคาะประตูใหม่
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดถามว่าใครเคาะ
พระนางวิกตอเรียบอกว่า "ดิฉันเองที่รัก ภรรยของคุณไงคะ"
พอได้ยินภาษาที่อ่อนหวานและตอบด้วยศักดิ์ที่เสมอกันอย่างนั้น
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจึงเปิดประตูมาสวมกอดกัน
นี่คือ "ศิลปะแห่งการถอยไปข้างหน้า"
นั่นคือ พระนางเจ้าวิกตอเรียยอมทิ้งยศศักดิ์อัครฐาน
วางอีโก้ของพระนางลง แล้วมาคุยกับพระสวามีในฐานะคนสามัญ
เรื่องก็จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
สำหรับคู่สามีภรรยาทั้งหลายที่มีปัญหาครอบครัว
หลังจากทดลองใช้วิธีต่าง ๆ แล้วไม่ได้ผล
ขอแนะนำให้เรียนรู้ที่จะถอยไปข้างหน้าดู
แล้วก็จะเห็นว่า มันคุ้มค่ากับการถอยจริง ๆ
บางทีเวลามีปัญหาในสถาบันครอบครัวแล้วแก้ไม่ตก
จะไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะถอยหลังก็ไม่ได้
ก็เลยมีการโยนชุดความคิดชุดหนึ่งเข้ามากลางวงแล้วบอกว่า
เราคงเกาะกันมาแต่ชาติปางก่อน เป็นผีแห้งกับโลงผุ เป็นคู่เวรคู่กรรม
แท้ที่จริงคู่ไหนก็ตามที่เริ่มสรุปอย่างนี้
สะท้อนแล้วว่า คุณยอมจำนนต่อปัญหา
ปัญหาทั้งปวงมีไว้ให้แก้ไข
แต่คนส่วนใหญ่ชอบแก้เคล็ดและยอมจำนน
ดังนั้นเวลามีปัญหา ให้เราทั้งหลายเปิดใจ เปิดตา เปิดหูให้กว้าง
บอกตัวเองว่า เราต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด
อย่าเพิ่งลงบทสรุปว่า เธอและฉันเป็นคู่เวรคู่กรรม
เพราะพระพุทธเจ้าตรัสถึงคู่ของชีวิตคู่ไว้ ๗ แบบ
ไม่ได้มีแต่คู่เวรคู่กรรมเท่านั้น
มีทั้งคู่สร้าง-คู่สม คู่ชื่นชม-คู่ระกำ คู่ภรรยาแก้ว-สามีแก้ว
แล้วก็คู่กัลยาณมิตร นี่มันมีตั้งหลายคู่
ทำไมมาสรุปเสียว่า คู่ของคุณนี่เป็นคู่เวรคู่กรรมในเชิงลบ
ทำไมไม่เป็นคู่สร้างคู่สม ทำไมไม่เป็นคู่กัลยาณมิตร
ทำไมไม่เป็นคู่อารยชนที่เกิดมาแต่งงานด้วยกัน
เพื่อเป็นการเรียนรู้บนเส้นทางธรรมด้วยกัน
พัฒนาชีวิตไปให้ดีที่สุด จนกว่าที่สติปัญญามนุษย์จะวิวัฒนาการไปถึง
เปิดตาเปิดใจเรียนรู้ชีวิตคู่หลาย ๆ แบบ
ก่อนจะลงข้อสรุปด้วยการดูถูกตัวเองว่า เราเป็นคู่เวรคู่กรรม
ให้เรียนรู้ชีวิตคู่ในรูปแบบอื่น ในมิติอื่น ๆ ให้ทั่วถึงก่อน
ถ้าเราเรียนรู้ให้ทั่วถึงแล้วจะเห็นว่า
เราไม่จำเป็นต้องยอมรับข้อหา คู่เวรคู่กรรมที่เรามอบให้ตัวเอง
เพราะบางทีทางออกมันมีมากกว่าหนึ่งก็ได้
ที่มา : รักแท้ คือ กรุณา ของ ท่าน ว.วชิระเมธี
No comments:
Post a Comment