Sunday, May 31, 2020

Dyson

เจมส์ ไดสัน คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นในตำนาน จากความพยายาม 5,127 ครั้ง
.
ถ้าได้ลองทำอะไรบางอย่างแล้วล้มเหลว คุณจะลุกขึ้นมาลองใหม่อีกกี่ครั้ง สิบครั้งร้อยครั้งอาจเรียกว่าความพยายาม แต่ถ้ามากกว่าพันครั้ง เราเรียกมันว่าความดื้อรั้นได้หรือเปล่า?
.
หลายคนรู้จัก เจมส์ ไดสัน (James Dyson) ในฐานะนักประดิษฐ์และนักออกแบบนวัตกรรม ที่คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นพลังไซโคลนเครื่องแรกของโลก ไดสันได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘อัจฉริยะนักออกแบบ’ ที่หลายคนชื่นชม เพราะผลงานพัดลม และไดร์เป่าผมไร้ใบพัด คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกยกย่องให้เป็นงานออกแบบแถวหน้า แต่ใครจะรู้ว่าก่อนหน้านั้นชีวิตของไดสันเคยถูกโกง ล้มเหลว ดิ่งลงเหวถึงขีดสุด
.
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ชีวิตของเจมส์ ไดสัน ไม่ได้สวยหรูงดงามอะไรนัก เขาเป็นแค่เด็กหนุ่มชาวอังกฤษธรรมดา ๆ  ที่โตมากับทิวทัศน์ของทะเลในแถบนอร์ฟอล์ก เมืองทางตะวันออกของอังกฤษ ชีวิตวัยเด็กไม่ได้มีอะไรพิเศษ หลังจากพ่อเสียชีวิตเขาก็โตมาในโรงเรียนประจำ และทำเรื่องที่เด็ก ๆ ทั่วไปต้องทำคือเรียน เรียน และเรียนเพื่ออนาคต
.
เพราะตอนเด็กเขาชอบเรียนวิชาศิลปะ ไดสันจึงตัดสินใจย้ายไปเรียนที่โรงเรียนศิลปะ บายอัม ชอว์ (Byam Shaw School of Art) ในกรุงลอนดอน ก่อนจะค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบการออกแบบเชิงนวัตกรรม มากกว่าการเรียนศิลปะทั่วไป เขาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Royal College of Art สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม ทำให้ค้นพบความหลงใหลในการออกแบบเชิง functional design คือเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก 
.
ตอนนี้เองที่เขามีโอกาสออกแบบ Rotork Sea Truck เรือบรรทุกความเร็วสูงที่สามารถเดินทางได้ 50 ไมล์ต่อชั่วโมง แถมสามารถทอดสมอจอดได้โดยไม่ต้องมีท่าเรือ แม้ตอนนั้นไดสันยังทำหน้าที่แค่ออกแบบ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการก่อสร้างมากนัก แต่เพราะผลงานชิ้นนั้นถูกนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมน้ำมัน และการก่อสร้าง รวมถึงใช้ในกองทหารของอังกฤษ ไดสันจึงเริ่มต้นอาชีพนักออกแบบของเขาต่อจากนั้น
.
เส้นทางนักประดิษฐ์ของไดสัน เริ่มต้นจากการที่เขามีโอกาสคิดวิธีแก้ปัญหาของรถเข็น ที่มักจะเกิดสนิมและจมไปกับดินอ่อน เขาออกแบบ Ballbarrow รถเข็นพลาสติกที่มีล้อเป็นลูกบอลแทนล้อปกติ ทำให้แก้ปัญหานั้นได้ชะงัด น่าเสียดายที่ความสำเร็จนี้อยู่ไม่ได้นานเพราะความผิดพลาดด้านการจดสิทธิบัตร ไดสันถูกบีบให้ต้องขายไอเดียนี้แก่นักลงทุน ผลงานเครื่องดูดฝุ่นที่เกิดขึ้นภายหลัง จึงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
.
แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเครื่องดูดฝุ่นที่มีมันดีอยู่แล้ว แต่ไดสันมองว่า โลกต้องการของที่ดีกว่านี้
.
มองในแง่ความเป็นมา โฉมหน้าของเครื่องดูดฝุ่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่ปี 1901 มันทำงานโดยใช้ปั๊มลมสุญญากาศดูดสิ่งสกปรกเข้าไปเก็บไว้ในถุงผ้าภายในตัวเครื่อง ไดสันค้นพบว่ากลไกนี้มีปัญหา เพราะหลังจากดูดฝุ่นไปได้ไม่นาน เขาก็ต้องรำคาญกับการคอยนำถุงผ้าไปทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นอุดตันจนใช้งานต่อไม่ได้
.
ช่วงเวลานั้นมีนวัตกรรมใหม่เป็นถุงกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งทำมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไดสันก็มองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แถมยังทำให้ผู้คนต้องเสียเงินซื้อถุงกระดาษใหม่ไปเรื่อย ๆ ขณะที่กำลังทำงานอยู่ในโรงเลื่อย เขาก็บังเอิญได้ไอเดียออกแบบไส้กรองแบบใหม่จากพัดลมดูดอากาศพลังสูง ที่สามารถดูดขี้เลื่อยเข้าไปเก็บได้โดยไม่ต้องมีไส้กรอง แถมยังไม่ติดขัด ไดสันคิดว่าน่าจะมีวิธีย่อส่วนกลไกนี้ลงไปในเครื่องดูดฝุ่นเพื่อกำจัดปัญหาไส้กรองตันได้
.
แต่ไอเดียอย่างเดียวใช่จะสร้างได้ง่าย ๆ เพราะไดสันเป็นเพียงนักออกแบบ ไม่ใช่วิศวกร ตอนนั้นเขาไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญด้านการออกแบบกลไกต่าง ๆ ได้อย่างใจนึก เขาเริ่มศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์พร้อม ๆ กับการคิดค้นเครื่องดูดฝุ่น ค่อย ๆ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เริ่มจากการวาดทุกอย่างลงในกระดาษ ค่อย ๆ ออกแบบอะไหล่ไปทีละชิ้น จนสามารถประกอบเป็นโมเดลต้นแบบที่เขาใช้เวลาทดลองและพัฒนางานอยู่นานกว่า 5 ปี 
.
“ผมเคยคิดจะยอมแพ้อยู่ทุกวัน เพราะมันต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับความล้มเหลว ผมทดลองตัวต้นแบบมาแล้วถึง 5,126 ครั้ง แต่ละครั้งก็พยายามแก้ปัญหาจากความผิดพลาดที่มีมาเรื่อย ๆ จนสำเร็จในครั้งที่ 5,127” 
.
ช่วงเวลาที่พัฒนาต้นแบบอยู่ ไดสันแทบจะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะเขาไม่มีรายได้มาจ่ายเงินกู้ค่าอุปกรณ์ที่ซื้อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โลกไม่เคยรู้จัก ไดสันเล่าว่า เขาเคยอยู่ได้ด้วยการปลูกผัก และใช้เงินเดือนของภรรยาที่เป็นครูสอนศิลปะ เพื่อประทังชีวิต 
.
แม้ในปี 1978 ไดสันจะได้ต้นแบบที่พอใจมาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าอะไร ๆ จะง่ายขึ้น เพราะพอพยายามขายไอเดียเครื่องดูดฝุ่นให้บริษัทในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็ดูเหมือนว่าจะได้คำตอบไม่ดีเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นธุรกิจถุงกระดาษทำกำไรให้บริษัทเหล่านี้อย่างมหาศาล ไดสันตัดสินใจเปลี่ยนมาขายไอเดียให้ Apex Inc. บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทน G-Force เครื่องดูดฝุ่นพลังไซโคลนเครื่องแรกจึงเริ่มวางขายในญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องดูดฝุ่นรุ่นนี้ได้กระแสตอบรับดี แถมยังได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเยี่ยม จากการประกวดงานมหกรรมออกแบบนานาชาติ ปี 1991 ด้วย
.
หลังเห็นความเป็นไปได้จากตลาดญี่ปุ่น ไดสันพยายามขายสิทธิ์การผลิตให้บริษัทในอเมริกาบ้าง ต้องบอกว่ามันเกือบนำ ‘หายนะ’ มาให้เขา เพราะบริษัทนั้นพยายามผลิตเครื่องดูดฝุ่น ‘เลียนแบบ’ แทนที่จะซื้อสิทธิ์ไปผลิตตามกฎหมาย ไดสันกลายเป็นคนหวาดระแวงว่าจะโดนขโมยไอเดีย เพราะบทเรียนราคาแพงเก่า ๆ เขาตัดสินใจว่า ต่อจากนี้ถ้าจะล้มก็ขอล้มเอง จึงนำบ้านไปจำนอง และใช้เงินทั้งหมดเปิดบริษัท Dyson ขึ้นในปี 1993 ซึ่งนับ ๆ แล้วใช้เวลาถึง 15 ปี กว่าเขาจะมีแบรนด์ของตัวเอง 
.
ด้วยคำโฆษณา ‘บอกลาถุงได้แล้ว’ ทำให้เครื่องดูดฝุ่นรุ่น DC01 (Dyson Cyclone) ที่มีราคาสูงลิ่ว กลายมาเป็นเครื่องดูดฝุ่นที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ไดสันกลายเป็นผู้นำตลาดเครื่องดูดฝุ่นของอังกฤษ ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 38% ในปี 2002 ด้วยนวัตกรรมที่เขาพัฒนาเรื่อยมา ทำให้แบรนด์ของเขามีสินค้าไดร์เป่าผม พัดลม และเครื่องปรับอากาศ ที่นำมาซึ่งรางวัล ชื่อเสียง และการยอมรับแก่แบรนด์อย่างที่ไม่มีใครคาด 
.
“คนมักจะมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เป็นแนวคิดที่โผล่ขึ้นมาในอากาศ พวกเขามองมันเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่มักเกิดขึ้นในอัจฉริยะ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความพยายาม มันมีลักษณะเฉพาะตัวที่ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ไม่สามารถทำให้มันดีขึ้นได้” เจมส์ ไดสัน กล่าวกับแมททิว ไซด์ (Matthew Syed) ผู้เขียนหนังสือ Black Box Thinking: Marginal Gains and the Secrets of High Performance
.
หลายคนอาจมองไดสันเป็นอัจฉริยะ แต่ที่จริงแล้วเขาคิดว่า เขาเป็นแค่คนช่างสังเกต ที่พอเห็นปัญหาแล้วก็พยายามออกแบบวิธีแก้ ไดสันไม่ได้หาคำตอบเจอได้ทันที เขาเสียเวลาไป 5 ปี กับความล้มเหลวอีกกว่า 5 พันครั้ง (ความจริงคือ 5,126) เขาบอกว่าความผิดพลาดทั้งหมดทำให้ความสำเร็จในครั้งที่ 5,127 มีค่ามหาศาล 
.
ตอนนี้ไดสันกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินกว่า 6 พันล้านดอลลาร์​ (เกือบ 2 แสนล้านบาท) เขานำเงินจากรายได้ไปบริจาคให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงเปิดสถาบันเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการศึกษาภาควิศวกรรม ไดสันได้รับการอวยยศ เซอร์ ‘Sir’ ในปี 2007 จากการทำสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง 
.
สำหรับใครที่ยังพยายามกับเรื่องบางอย่างอยู่ หวังว่าเรื่องราวของไดสันจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามที่บรรลุผล เขาไม่สนใจคำพูดของคนที่ดูถูก ดูแคลนหรือไม่เข้าใจวิธีคิดของเขา ไดสันเพียงแค่ทดลอง ลงมือทำ และทำซ้ำ ๆ ในสิ่งที่คิดว่าดี เพื่อตอบสนองความเชื่อบางอย่างที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเขา 
.
เขาท้าทายภูมิปัญญาเก่า เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น โดยหัวใจหลักของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ก็ยังเป็น ‘งานวิศวกรรม’ ที่กระหายการพัฒนา และไม่เคยเพียงพอหรือหยุดนิ่งกับสิ่งที่คิดค้นไปแล้ว 
.
“เราต้องพัฒนาและขัดเกลาความคิดของเราไปเรื่อย ๆ ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ผิดพลาดมันซ้ำ ๆ เพื่อทำให้งานชิ้นต่อ ๆ ไปนั้นสมบูรณ์แบบ”
.
เรื่อง พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ
.
ที่มา
.
หนังสือ 100 Great Business Leaders โดย Jonathan Gifford     
https://www.dyson.co.th/t
https://www.inc.com/gordon-tredgold/27-tips-for-when-you-feel-like-giving-up-from-billionaire-failure-expert-sir-james-dyson.html
https://www.bbc.com/news/business-46149743
https://www.theverge.com/2020/3/26/21195433/dyson-ventilators-covent-coronavirus-develop-produce-uk-nhs-donate-vacuum-motor
.
อ่าน "เจมส์ ไดสัน คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นในตำนาน จากความพยายาม 5,127 ครั้ง" เวอร์ชันเว็บไซต์ที่ https://thepeople.co/james-dyson-5127-prototypes-to-invent-the-first-vacuum-cleaner/

No comments:

Post a Comment