Tuesday, September 17, 2019

Executive Function

เด็กที่มี Executive Function ดี คือ
คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับคนอื่นเป็น และมีความสุขเป็น

EF ซึ่งประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ได้แก่

1) ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory)
เวลาอ่านหนังสือ
Working Memory จะช่วยให้เราจำและเชื่อมโยงข้อมูลจากย่อหน้าหนึ่งไปยังย่อหน้าอื่นๆ

สามารถแก้โจทย์เลขคณิตหลายขั้นตอนได้
คิดเลขในใจได้ เป็นต้น

วันทั้งวันเราต้องใช้ Working Memory อยู่ตลอดเวลา
มันช่วยให้เราจำได้เมื่อลืมตาตื่นว่า เช้านี้จะต้องทำอะไรบ้าง
เมนูอาหารเช้าที่เคยทำ ทำอย่างไร
จดจำได้ว่าคุณพ่อคุณแม่สั่งอะไรไว้ และทำตามคำสั่งได้ เป็นต้น

ถ้า Working Memory ไม่ดี
อาจประสบปัญหาในการเรียนวิชาการ
เช่นเดียวกับที่อาจประสบปัญหาในการกำกับพฤติกรรมตนเอง
จำไม่ได้ว่า กฎ กติกา มารยาทในสังคมเป็นอย่างไร หรือควรปฏิบัติตนในสังคมอย่างไร

2) การยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control)
คือ ความสามารถในการในการควบคุมและยับยั้งตนเอง ให้จดจ่อกับสิ่งที่สำคัญและจำเป็น
ยอมทำสิ่งที่ไม่ชอบแต่จำเป็นได้ และยอมถอนตัวออกจากสิ่งที่ชอบเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นได้
เช่น ยับยั้งตนเองไม่ให้กินไอศกรีม เพราะรู้ว่าตนเองเป็นหวัด,
ทนต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาขัดจังหวะ ไม่วอกแวกจากเป้าหมายที่วางไว้ เช่น อยากได้ของเล่น แต่ที่บ้านมีอยู่แล้ว

3) การยืดหยุ่นทางความคิด (Shift/Cognitive Flexibility)
คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนความคิด ยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
และยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลาย
เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็สามารถทำใจยอมรับได้ เช่น
พ่อนัดกับลูกไว้ว่าวันนี้จะไปปั่นจักรยานที่สวนสาธารณะ แต่ฝนตก ทำให้ไม่สามารถไปได้
ลูกก็ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น และ และสามารถคิดวิธีการแก้ปัญหาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นได้
หรือ ปั่นจักรยานแล้วเจอแอ่งน้ำ ก็สามารถคิดวิธีแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่เจอได้

4) จดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention)
ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจ อยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาหนึ่งๆ
โดยไม่วอกแวกไปตามปัจจัยไม่ว่าภายนอกหรือภายในตนเอง ที่เข้ามารบกวน
เช่น ตั้งใจทำการบ้านจนเสร็จ แม้จะมีใครชวนไปเล่นก็ไม่ไป
หรือ จดจ่อกับการทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมายจนเสร็จ ไม่ลุกไปทำสิ่งอื่นที่ไม่จำเป็น

5) การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
จัดการกับความเครียด หรืออารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจ และแสดงออกแบบที่ไม่รบกวนผู้อื่น

6) ติตตาม ประเมินตนเอง (Self-Monitoring)
คือ ความสามารถในการทบทวนตนเอง หรือสิ่งที่ตนเองทำ
รู้ข้อดี-ข้อด้อยของตนเอง และปรับปรุงข้อดีข้อด้อยนั้น ๆ
สามารถประเมินผลงาน การบ้าน หรือสิ่งที่ตนเองทำ ว่าควรปรับปรุงแก้ไขที่ใด
เช่น ลูกได้รับหน้าที่ให้รดน้ำต้นไม้หน้าบ้าน เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถบอกพ่อแม่ได้ว่า ตนเองควรจะปรับปรุงแก้ไข หรือ พัฒนาที่จุดใด

7) ริเริ่มและลงมือทำ (Initiating)
ความสามารถในการ “คิด” ที่จะทำสิ่งใหม่ที่ตนเองไม่เคยทำ หรือยังทำไม่สำเร็จ และ “ลงมือทำ” สิ่งนั้นให้สำเร็จด้วยตนเอง

8) วางแผนและจัดระบบดำเนินการ (Planning & Organizing)
รู้จักวางแผนให้รอบคอบก่อนลงมือทำ จัดลำดับความสำคัญ จัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ได้ดี และวางแผนอย่างเป็นระบบได้

9) พากเพียร มุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-directed Persistence)
ไม่ล้มเลิกเมื่อเจออุปสรรค แต่จะพยายามเรียนรู้และปรับปรุงวิธีทำงานให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้
มีความอุตสาหะพากเพียร ล้มและลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ มุ่งมั่นที่จะไปสู่ความสำเร็จ

อ้างอิง
https://www.planforkids.com/readparentblog.php?parentblogid=51

No comments:

Post a Comment