Thursday, February 18, 2021

Sri

รำลึกถึงคนไข้จิตเวชผู้เป็นที่รัก #2 “ใจของชั้นมันบอกว่าชั้นเกลียดแม่”

เรื่องราวในวันนี้คือเรื่องของ “ ป้าศรี ”

ป้าศรี..หญิงไทยอายุใกล้ 50 ปี มาหาหมอด้วยอาการเบื่อ ไม่มีสมาธิ กินอาหารได้น้อยลงและอาการอื่นๆที่เข้ากับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” ป้าศรีเริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วตั้งแต่รับแม่มาดูแล เดิมป้าศรีเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน พ่อแม่ของป้าศรีเป็นครูทั้งคู่ป้าศรีเติบโตมาท่ามกลางการดูแลอย่างดีตามอัตภาพจากพ่อแม่แต่สิ่งที่ป้าศรีแตกต่างจากพี่ๆน้องๆคือ ป้าศรีเรียนหนังสือไม่ทันน้อง ทั้งๆที่ด้านอื่นๆป้าศรีก็ไม่ได้ช้ากว่าน้อง บางครั้งเพื่อนๆก็แซว่าน้องยังอ่านหนังสือเก่งกว่าป้าศรีอีก ป้าศรีก็ไม่ได้ใส่ใจแต่อย่างใด ป้าศรีมักไม่เข้าใจเรื่องที่ครูสอนจนป้าศรีต้องให้แม่ช่วยสอนซ้ำเป็นประจำ พ่อแม่ของป้าศรีก็ช่วยสอนบทเรียนให้อีกโดยไม่ได้ดุว่าใดๆป้าศรีรู้สึกน้อยใจแต่ก็ไม่ได้คิดมากนัก แต่สิ่งที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายเมื่อป้าศรีเรียนจบชั้นป.4 แม่ของป้าศรีไม่ให้ป้าศรีเรียนหนังสือต่อแต่ส่งป้าศรีให้ไปเรียนเย็บผ้าและเรียนทำกับข้าวกับญาติแทนทั้งที่ป้าศรีอยากเรียนหนังสือต่อและพี่ๆน้องๆคนอื่นๆก็ได้ไปเรียนหนังสือต่อ เมื่อพ่อและแม่ตัดสินใจแบบนั้นป้าศรีก็ไม่สามารถทัดทานได้และรู้ถึงความสามารถด้านการเรียนของตนเองว่าเรียนไม่เก่ง ป้าศรีไปอยู่กับญาติ เรียนเย็บผ้าและเรียนทำอาหารตามที่แม่ต้องการแม้จะไม่ชอบ แต่พอผ่านไปก็กลายเป็นความเคยชิน ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ป้าศรีเริ่มเย็บผ้าได้เก่งขึ้นจนสามารถเป็นลูกมือร้านตัดชุดวิวาห์ชื่อดังในเมืองได้ ป้าศรีมีรายได้เป็นของตัวเอง ประกอบกับป้าศรีเป็นผู้หญิงที่หน้าตาดี จึงมีหนุ่มๆมาขายขนมจีบให้สม่ำเสมอ เมือถึงวัยที่พร้อมป้าศรีจึงแต่งงาน แยกครอบครัวออกไป ตั้งแต่แยกครอบครัวออกไปแล้ว ป้าศรีมักไม่ค่อยกลับไปเยี่ยมบ้าน ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงเพราะไม่อยากจะต้องไปเจอกับบรรยากาศที่พี่ๆน้องๆซึ่งรับราชการกันทุกคนกลับมาบ้านแล้วมาคุยกันเรื่องที่ทำงาน ป้าศรีไม่อยากพูดถึง ชีวิตของป้าศรีก็ดำเนินมาตามปกติ จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน แม่ของป้าศรีป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ พี่ๆน้องๆไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเพราะต่างคนต่างแยกย้ายไปรับราชการกันคนละทิศละทาง ทุกคนจึงลงความเห็นว่า ให้แม่มาอยู่กับป้าศรีซึ่งพร้อมที่สุดเพราะป้าศรีมีร้านตัดเสื้อของตัวเองพร้อมๆกับร้านขายเบอร์เกอรี่ที่มีลูกจ้างอยู่เต็มร้าน ป้าศรียินดีรับแม่มาดูแลทั้งที่ยังรู้สึกบางอย่างอยู่ ป้าศรีดูแลแม่เองโดยให้ลูกจ้างในร้านช่วยเล็กน้อยเท่านั้น ป้าศรีดูแลแม่อย่างดีแต่ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงการทำตามหน้าที่ของคนเป็นลูกที่จะต้องตอบแทนบุพการียามแก่เฒ่า เรียกว่า เลี้ยงเพียงให้ยังอยู่ก็ว่าได้ ป้าศรีคุยกับแม่น้อยมาก บางครั้งเวลาที่แม่เรียกให้มาช่วยพาเข้าห้องน้ำป้าศรีก็มาช่วย เมื่อคนแก่เคลื่อนไหวช้าบ้าง เงอะงะบ้าง ป้าศรีก็จับแขนแม่เผลอกระแทกแรงๆบ้าง พูดเสียงดังบ้าง พร่ำบ่นบ้าง เมื่อมาคิดทีหลังป้าศรีก็รู้สึกผิดทุกครั้งที่ได้ทำลงไป ป้าศรีทุกข์ใจกับความรู้สึกนี้จึงตัดสินใจมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วย “เอาความโกรธเกลียดออกจากใจฉันที”
เมื่อหมอให้การดูแลไประยะหนึ่ง ป้าศรีนอนได้ กินได้ สมาธิดีขึ้นทำงานได้ดี แต่สิ่งที่ยังอยู่ในใจคือความรู้สึกเกลียดที่มีต่อแม่ หมอให้สำรวจว่ามาจากเหตุการณ์อะไร ...คงเดาได้ไม่ยาก...ใช่ค่ะ มาจากการที่แม่ไม่ให้เรียนต่อ
เรื่องนี้เลยไม่จบเพียงแต่การให้ยาและการเสริมทักษะการแก้ปัญหา หมอจึงนัดแม่มาด้วยในวันที่ป้าศรีต้องมาติดตามการรักษา โดยอ้างว่า หมอขอประเมินแม่ให้ เผื่อท่านอาจมีภาวะทางอารมณ์จากที่เป็นอัมพฤกษ์ (มุสาล้วนๆ...เฮ้อ !) เมื่อหมอคุยกับป้าศรีเสร็จ หมอขอคุยกับแม่ของป้าศรีเป็นการส่วนตัว โดยให้ป้าศรีไปรออีกห้องหนึ่ง ที่มีเพียงม่านกั้น (ที่ไม่ใช่ม่านประเพณีนะคะ...อย่าเล่นมุก) การสนทนาเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเล็กๆน้อยๆพอเป็นพิธี เอาล่ะ...ถึงจุดยุทธศาสตร์แระ ...หมอถามแม่ของป้าศรีว่า เพราะอะไรตอนนั้นถึงให้ป้าศรีไปเรียนเย็บผ้า ทั้งที่ป้าศรีอยากเรียนหนังสือ ??
ท่านตอบมาว่า “ชั้นเป็นครูนะหมอ ชั้นรู้ว่าลูกชั้นมันไม่โง่ แต่ไม่รู้เพราะอะไร มันเรียนไม่ได้เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ใช่ไม่ทุกข์นะหมอ ชั้นกับพ่อมันไม่รู้จะทำยังงัย ชั้นรู้ว่ามันเรียนเหมือนพี่เหมือนน้องคงไม่ได้ แล้วถ้าชั้นกับพ่อมันไม่อยู่กันแล้ว มันจะเอาอะไรกิน ชั้นเลยให้มันไปเรียนเย็บผ้า เพราะเห็นแววตอนมันเด็กๆที่มันชอบตัดกระดาษมาปะๆติดๆ เออ...ถ้ามันเรียนเย็บผ้าแล้วเป็นอาชีพได้ ชั้นกับพ่อมันก็คงตายตาหลับ” ...ขณะที่หมอฟัง หมอเห็นประตูของการจัดการความเกลียดที่ป้าศรีมีแล้ว จะรอช้าอยู่ใย ?? หมอถามอีกประโยคนึงต่อมา “ในบรรดาลูกทั้ง 5คน คุณยายภูมิใจลูกคนไหนมากที่สุดคะ?? ...ยายตอบมาเหมือนนัดกันไว้ (ปล่าวนัดนะคะ แต่เห็นสัญญาณบางอย่างแล้ว) “ ก็ภูมิใจศรีนี่แหละ ดูสิ่หมอ ชั้นแทบจะไม่เคยได้ให้อะไรมันเลย เรียนก็ไม่ได้เรียน แต่มันก็ขยันทำมาหากิน มีเงินมีทองใช้ ไม่ต้องพึ่งพิงใคร แถมมันยังเป็นคนที่ดูแลชั้นอย่างดีด้วย"...คนแก่อาจไม่คิดอะไรมาก....แต่หมอได้ยินเสียงสะอื้นจากหลังม่านแล้ว...เอาล่ะ พอแล้ว ให้เวลาเค้ากันเถอะ...เป็นการขุดประเด็นที่เปลืองกระดาษทิชชู่มากที่สุดตั้งแต่เป็นจิตแพทย์มา
 หลังจากการเจอกันครั้งนั้น ป้าศรีก็ดีขึ้น ไม่โกรธแม่หรือตัวเองแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ ป้าศรีมาคนเดียว มาเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย น้ำเสียงสดชื่นมากว่า “หมอรู้มั้ย ตอนนี้นะ ชั้นดีใจและภูมิใจมากที่ชั้นไม่ได้เรียนต่อ” อ้าว...หมองง มายังงัย ป้าศรีบอกต่อทันทีว่า” ก็ตอนนี้นะ ชั้นน่ะ เป็นเจ้าหนี้ให้บรรดาพี่ๆน้องๆของชั้นที่เป็นข้าราชการทั้งหลายเนี่ย ...กินเฉพาะดอกเบี้ยก็อยู่ได้แล้วหมอ 5555 คงจริงอย่างที่เค้าว่าเนอะ เป็นข้าราชการบางทีก็ไส้แห้ง 55555”....ป้าศรีหัวเราะชอบใจ แต่หมอ ปวดถึงไส้แล้ววววว
********************
สรุปว่า ป้าศรีน่าจะเป็นโรคแอลดี (learning disability) เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งของเด็กที่ดูเหมือนฉลาดในทุกๆด้านแต่พอให้อ่านเขียนสะกดคำหรือคิดเลข กลับทำไม่ได้ซะงั้น โรคนี้ เพิ่งรู้จักในเมืองไทยไม่นาน แต่การที่แม่คนนึงซึ่งเป็นครูเห็นถึงปัญหาของลูกแล้วพยายามจะหาทางออกให้ลูกในอนาคตอย่างป้าศรี...จะมีสักกี่คน  ตอนนี้เรารู้จักโรคแอลดีแล้วก็จริง แต่จะมีครูสักกี่คนที่จะเข้าใจและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กจริงๆ ในยุคที่การทำมาหากินเป็นเรื่องสำคัญ...จะมีสักกี่ครอบครัวที่จะหันมามองหาศักยภาพด้านอื่นๆของลูกแทนที่จะมุ่งไปมองที่เรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว สุดท้ายจะมีผู้บริหารประเทศสักกี่คน...ที่จะมองย้อนทบทวนว่า นโยบายการศึกษาของประเทศนี้ กำลังลงเหว....

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=788703697888799&id=100002475281832

Monday, February 8, 2021

HR Policy Netflix

อุทธาหรณ์สอนใจ HR ก่อนออกนโยบายอะไรมา (บทเรียนจาก Netflix)

ก่อนที่ Reed Hastings จะออกมาตั้ง Netflix เขาเคยทำงานที่ Pure Software

บริษัทนี้มีนโยบายว่าหากมีการเดินทาง พนักงานสามารถเบิกค่าเช่ารถหรือไม่ก็ค่าแท็กซี่ แต่จะเบิกทั้งสองอย่างไม่ได้

พนักงานชื่อ Grant ซึ่งเป็น sales director ต้องออกไปหาลูกค้าที่อยู่ไกลออกไป 2 ชั่วโมง เขาจึงตัดสินใจเช่ารถขับไปเองเพราะถ้าขึ้นแท็กซี่จะแพงมาก

คืนนั้นกรานท์ต้องพาลูกค้าไปเลี้ยงรับรอง และเขารู้ว่าต้องดื่มกันหนักแน่นอน เขาจึงไม่ได้ขับรถไป เมื่อจบงานเลี้ยงเขาจึงเรียกแท็กซี่กลับโรงแรม

แต่ปรากฎว่าแผนกบัญชีไม่ยอมให้กรานท์เบิกค่าแท็กซี่ 15 เหรียญ

กรานท์โกรธมาก เดินมาโวยวายกับรี้ดว่าทำไมต้องมีกฎงี่เง่าอย่างนี้ด้วย

"ในกรณีแบบนี้ คุณอยากให้ผมขับรถกลับโรงแรมรึไง?"

รี้ดและหัวหน้า HR ไม่มีคำตอบที่ดี และประชุมกันเพื่อจะพยายามหาทางปรับกฎระเบียบบริษัท

ไม่กี่เดือนถัดมากรานท์ก็ลาออก โดยใน Exit Interview เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า 

"พอผมได้เห็นว่าผู้บริหารใช้เวลาไปกับเรื่องอะไรบ้าง ผมก็หมดความเชื่อมั่น"

-----

เมื่อออกมาทำ Netflix รี้ดจึงพยายามไม่ตั้งกฏเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบริษัท แต่เมื่อเน็ตฟลิกซ์เติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์ CFO ก็บอกว่ามันเริ่มมีความจำเป็นแล้วที่จะต้องตั้งนโยบายเรื่องค่าใช้จ่ายให้เป็นลายลักษณ์อักษร

รี้ดจึงเรียกประชุมผู้บริหารเพื่อ brainstorm

บางสถานการณ์ก็ตรงไปตรงมา ถ้าพนักงานจะส่งของขวัญคริสต์มาสให้คนในครอบครัว เขาก็เบิกค่าส่งของไม่ได้อยู่แล้ว

แต่บางสถานการณ์ก็ซับซ้อนกว่านั้น สมมติเท็ดต้องไปงานปาร์ตี้ที่ฮอลลี้วู้ดเพื่อสร้าง connection กับลูกค้า ถ้าเท็ดซื้อช็อคโกแล็ตไปฝากลูกค้า เท็ดจะเบิกค่าช็อคโกแล็ตได้รึเปล่า?

หรือถ้าเลสลี่ทำงานจากที่บ้านทุกวันพุธ จะเบิกค่ากระดาษใส่ปริ้นท์เตอร์ของตัวเองได้มั้ย? แล้วถ้าลูกของเลสลี่ใช้กระดาษนั้นปริ้นท์การบ้านด้วยล่ะ?

สิ่งเดียวที่รี้ดและผู้บริหารหลายคนเห็นร่วมกันก็คือ ถ้าพนักงานขโมยทรัพย์สินของบริษัทก็สมควรโดนไล่ออก

แต่โคลเอ้ซึ่งเป็น director คนหนึ่งก็ยกมือขึ้นแล้วพูดว่า

"เมื่อคืนวันจันทร์ฉันเพิ่งขโมยของจากบริษัทมาเอง ฉันทำงานถึง 5 ทุ่มเพื่อทำโปรเจ็คให้เสร็จ ฉันไม่มีอาหารมื้อเช้าไว้ให้ลูกก็เลยหยิบซีเรียลกลับบ้านไปสองกล่อง"

ซึ่งฟังดูแล้วก็สมเหตุสมผลดี รี้ดจึงเข้าใจว่า เราไม่มีทางตั้งนโยบายที่จะตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ได้ เพราะในความเป็นจริงมันมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย - Real life is so much more nuanced than any policy could ever address.

รี้ดเลยคิดว่าน่าจะออกกฎหลวมๆ ให้พนักงานใช้เงินกันอย่างมัธยัสถ์ ควรจะคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนจะจ่ายอะไรออกไป

เน็ตฟลิกซ์จึงออกไกด์ไลน์มาว่า

SPEND COMPANY MONEY AS IF IT WERE YOUR OWN

จงใช้เงินบริษัทเหมือนกับที่เราใช้เงินตัวเอง

ถ้าพนักงานทุกคนใช้เงินบริษัทโดยคิดแบบนี้ ทุกอย่างก็น่าจะโอเค

-----

แต่แล้วรี้ดก็พบว่าตัวเองคิดผิด เพราะแต่ละคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน บางคนมีนิสัยมือเติบอยู่แล้ว จะเป็นเป็นเงินตัวเองหรือเงินบริษัทก็ยังอู้ฟู่อยู่ดี

เดวิดเป็นผู้บริหารระดับสูงในแผนกไฟแนนซ์ เขาเป็นคนนิสัยมัธยัสถ์เป็นทุนเดิม วันหนึ่งเดวิดต้องบินไปประชุมต่างเมืองซึ่งใช้เวลาบินแค่สองชั่วโมงกว่า เขาจึงซื้อตั๋ว Economy

แต่พอเดวิดเดินขึ้นเครื่อง เขาก็พบว่าทีม Content ทั้งทีมนั่งอยู่ในชั้น First Class กันอย่างสบายใจเฉิบ

เดวิดเลยเดินไปกล่าวทักทายเหล่าทีม Content พวกเขารู้สึกอับอายอยู่นิดหน่อย แต่ไม่ได้อายที่ซื้อตั๋ว First Class กันหรอกนะ อายที่เดวิดซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงไปนั่งชั้น Economy ต่างหาก!

รี้ดจึงพบว่า นโยบายให้ใช้เงินเหมือนเป็นเงินตัวเองนี้ก็ไม่เวิร์คเหมือนกัน

หลังจากคิดกันแทบหัวแตก จึงได้นโยบายใหม่ออกมา ซึ่งเป็นประโยคสั้นๆ เพียง 5 คำ

ACT IN NETFLIX'S BEST INTEREST

ยึดประโยชน์ของเน็ตฟลิกซ์เป็นที่ตั้ง

ถ้าคุณต้องบินข้ามคืนและพอถึงแล้วก็ต้องไปพรีเซนต์งานกับลูกค้า การซื้อตั๋ว  First Class ถือเป็นการเอาผลประโยชน์ของบริษัทเป็นที่ตั้ง เพราะเราคงไม่อยากให้ลูกค้าเจอเราในสภาพตาโหลไร้เรี่ยวแรงหรอก

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้เน็ตฟลิกซ์ก็ใช้นโยบายเดิมมาตลอด

โดยรี้ดกล่าวไว้ว่า

"I didn't want our talented employees to feel that dumb rules were preventing them from using their brains to do what was best"

"ผมไม่ต้องการให้คนเก่งของเรารู้สึกว่ากฎระเบียบที่งี่เง่านั้นมาขัดขวางไม่ให้พวกเขาใช้สมองเพื่อจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้บริษัท"

-----

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ No Rules Rules: Netflix and the Culture of Reinvention

ทีม People ของผมที่ LINE MAN Wongnai (ที่นี่เราเรียกทีม HR ว่าทีม People) กำลังเปิดรับสมัครตำแหน่ง Senior People Engagement Specialist มีหน้าที่หลักคือดูแลเอาใจใส่พนักงาน

เรามองพนักงานเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความสามารถและมีวิจารณญาณ ดังนั้นจึงจะมีกฎไม่เยอะ แต่จะใช้ common sense เยอะหน่อย

ใครสนใจมาร่วมงานกัน เชิญได้ที่นี่ครับ >> https://careers.lmwn.com/people/699-senior-people-engagement-specialist

-----

https://anontawong.com/2021/02/08/hr-policy-netflix/

GRIT

"พยายามเข้านะ"

ผมมีลูกสาว 2 คน
ทั้งคู่อยู่ในวัยเริ่มต้นของการเรียนทั้งคู่
การมีลูกสาวที่อยู่ในวัยเริ่มต้นของการเรียน
ทำให้ผมเจอ Norm (ภาษาไทยแปลว่าบรรทัดฐาน) 
ของสังคมพ่อแม่ในเมืองหลวงไทย

คือ ….
เด็กเล็ก ๆ หนึ่งคนถูกจับให้เรียนทุกอย่างที่คิดว่าโลกนี้ต้องการ

ลูกเราต้องเรียน และเก่ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ 
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ภาษา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สันสกฤต บาลี  
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง กีฬา 
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ดนตรี ร้องเพลง
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ศิลปะ วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ทำอาหาร 
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง นำเสนอ พูดจา
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง คิดดี คิดบวก 
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง เข้าสังคม 
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง เป็นผู้นำ 
และอีกหลาย ๆ เก่ง 


จนผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะเป็นประเทศที่จัดทำหลักสูตรพัฒนาความเก่งของเด็กออกมาได้มากที่สุดในโลก  
และ อนาคตของประเทศไทยคงจะพัฒนาเจริญก้าวไกลอย่างแน่นอน
เพราะปัจจุบันว่าเด็กไทยของเราถูกทำให้เก่งทุกเรื่องตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 6 ขวบ !!! 

ไว้เราค่อยไปดูกันในอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้านี้

...

มีอยู่วันหนึ่ง
ผมเผอิญไปเปิด TED Talk ตอนหนึ่งดู

มันเป็นตอนที่มีชื่อว่า 
The Key to success “กุญแจสู่ความสำเร็จ”

มันเป็นเรื่องของคุณแอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ 
เธอมาเล่าประสบการณ์และงานวิจัยของเธอให้ฟังว่า 
เธอเคยเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กเกรดเจ็ดในโรงเรียนเทศบาลนิวยอร์ก 
จากประสบการณ์ทำงานในครั้งนั้น 
สิ่งที่เธอแปลกใจคือ ไอคิว ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เด็กเรียนดีที่สุดและอ่อนที่สุด
เด็กที่ผลการเรียนดีที่สุดบางคน ไม่ได้มีคะแนนไอคิวที่สูง
แล้วเด็กที่ฉลาดที่สุดบางคนก็ไม่ได้มีผลการเรียนที่ดี

เธอเก็บความสงสัยนี้ไว้

จนเมื่อไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา 
เธอทำวิจัยโดยการศึกษาทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ 
ภายใต้โจทย์ที่สุดแสนท้าทายที่เธอสงสัยมานาน คือ  

คนแบบไหนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และทำไม 

เธอและทีมวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น

ศึกษากลุ่มทหารเวสท์พอยท์ 
โดยดูว่านายร้อยคนใด สามารถอยู่ฝึกต่อจนจบ 
และใครจะลาออกก่อน 

ศึกษาผู้เข้าแข่งขันในการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ 
เพื่อดูว่าเด็กคนไหนจะไปได้ไกลที่สุดในการแข่งขัน 

ศึกษาคุณครูมือใหม่ ที่ต้องทำงานในโรงเรียนที่ยากลำบาก 
เพื่อดูว่าครูคนใดจะยังคงสอนอยู่ต่อไป เมื่อจบปีการศึกษา 

ศึกษา Sale-man ใครคือผู้ที่จะยังรักษายอดขายไว้ได้ 
และใครจะเป็นผู้ที่ทำยอดขายได้สูงสุด 

จากบริบทที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ ผลวิจัยที่ออกมา มีคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยพยากรณ์ความสำเร็จของคนได้ชัดเจนมาก 

ซึ่งมันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม 
ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี 
ไม่ใช่ความแข็งแรงของร่างกาย
และ…
ไม่ใช่ความฉลาด หรือคนที่มีไอคิวสูง 

แต่

มันคือ 
ความเพียร ความพยายาม (Grit)
ที่เป็นตัวพยากรณ์ว่า
คนที่มีสิ่งนี้อยู่ในตัว 
จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนประเภทอื่น ๆ 


ข้อคิดจากผลงานวิจัยของคุณแอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ
ทำให้กลับมามองย้อนสังคมของเรา 
ที่มุ่งสอนเพื่อให้เด็กเรียนเพื่อไปทำข้อสอบให้เก่ง 
และต้องเป็นคนที่ทำได้เก่งในทุกเรื่อง

แต่…
เราได้สนใจในการทำให้เด็กของเรามีทัศนคติในเรื่องความเพียร ความพยายาม หรือเปล่า

ผมมี Clip อยู่ Clip หนึ่ง 
ที่สะท้อนถึงการสร้างทัศนคติในการทำอะไรแบบไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย
น่าจะเป็น Clip ที่ถ่ายมาจากงานแสดงความสามารถของเด็กโรงเรียนที่ญี่ปุ่น
ผมว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านตามาบ้างแล้ว

https://www.youtube.com/watch?v=EPagPSyubyo

ลองชวนกันคิดจากเหตุการณ์ใน Clip นี้
ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาติญี่ปุ่น ถึงกลายเป็นชาติที่เจริญก้าวหน้า 
เพราะการสร้างทัศนคติของผู้คนในประเทศให้มีความพยายาม ความตั้งใจ และต้องทำให้สำเร็จถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ 

ถ้าเทียบกับเมืองไทย ผมคิดว่าตั้งแต่การกระโดดที่ไม่ผ่านในครั้งแรกของเด็ก 
คุณครู พ่อ และ แม่ต้องรีบวิ่งกันเข้าไปโอ๋ และกอดเด็กเพื่อปลอบโยน โดยพาไปซื้อน้ำ ซื้อขนมกินเรียบร้อยแล้วครับ

ผมมีอีกเรื่องครับ

คำให้พรของคนไทยส่วนใหญ่จะใช้คำว่า 
“ขอให้โชคดี”

ส่วนคำให้พรของคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เขาจะใช้คำว่า 
“がんばってください” gambattekudasai 
มันแปลว่าอะไรรู้ไหมครับ

แปลว่า
"พยายามเข้านะ"

คุณเห็นความแตกต่างอะไรในจุดนี้ไหม
.....

Link TED Talk ตอน The Key to success “กุญแจสู่ความสำเร็จ”

https://www.ted.com/talks/angela_lee_duckworth_the_key_to_success_grit

#############################

ที่มาของบทความ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=963180477100777&id=932509903501168