Tuesday, January 12, 2021

We are a team, not a family

We are a team, not a family
ทีมที่ดีคือ การทำงานแบบทีม
.
.
ผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการสร้างและบริหารองค์กรเลยครับ ถ้าเราตั้งคำถามว่าบริษัทของเราทำงานอย่างไร? คำตอบที่เรามักได้ยินคือ
.
“เราทำงานแบบเป็น “ครอบครัว พี่น้อง” กับ “เราทำงานกันเป็นทีม เป็นมืออาชีพ”
จริงๆ ยังมีคำตอบแบบอื่นอีกมากนะครับ เช่น  เราทำงานแบบเพื่อนกัน, เราทำงานกันแบบนักวิ่ง, เราทำงานกันแบบสิงโตออกล่าเหยื่อ และอื่นๆ อีกมากมาย
.
ผมขอเขียนถึงสองคำตอบที่ผมได้ยินเยอะที่สุดคือ คำตอบว่า “ครอบครัว” กับ “ทีม” ละกันครับ
.
การทำงานแบบครอบครัวนั้นมีข้อดีหลายอย่างเช่น การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน, ความพยายามช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ฯลฯ
.
แต่ก็มีข้อไม่ดีเยอะเหมือนกัน เช่น ความไม่ชัดเจน ความเกรงใจกัน และความที่เป็น “ครอบครัว” ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เราคงไม่ตัดญาติขาดมิตรกัน ถ้าเราคิดว่าคนนี้เป็นพี่น้อง ทำงานไม่ดียังไงก็คงหาทางพยายามลากกันไปเรื่อยๆ
.
ข้อเน้นแบบขีดเส้นใต้สองเส้นเลยนะครับว่า “กิจการครอบครัว” กับ “การบริหารงานแบบครอบครัว” เป็นคนละเรื่องกันนะครับ บริษัทครอบครัวก็บริหารงานทีมแบบมืออาชีพได้ ในขณะเดียวกันธุรกิจที่ผู้ก่อตั้งไม่ได้เป็นญาติกันแต่บริหารแบบครอบครัวก็เป็นไปได้เหมือนกัน
.
ในขณะที่ทีมกีฬามืออาชีพ (Professional sports team) นั้นโค้ชหรือผู้จัดการทีมมีหน้าที่เลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดของทีมในตอนนั้นเพื่อลงเล่นในแต่ละตำแหน่ง
.
คำว่าดีที่สุดในตอนนั้นหมายถึงทุกมิตินะครับ ไม่ว่าจะเป็นความฟิต ความสามารถส่วนบุคคล หรือทัศนคติ
.
เพราะบางทีคนที่เก่งมากๆ อาจจะฉายแววไม่ออก ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะกับตัวเองก็จะกลายเป็นคนไม่เก่ง หรือเก่งได้ไม่เท่าค่าตัวไปก็มีเยอะครับ
.
หรือพวกที่เก่งแต่เกเร ไม่เล่นให้เข้ากับระบบของทีม ไร้วินัย ฯลฯ คนพวกนี้ก็ต้องถูกนั่งสำรอง หรือบางทีไม่มีชื่อติดเลยด้วยซ้ำ
.
ผมว่าเอาที่เราคุ้นเคยที่สุด ก็มีทีมฟุตบอลนี่แหละเห็นภาพชัดมาก
.
สมัย ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดตอนนั้น “ดาวดัง” หลายคนก็ไม่ได้ลงเล่นด้วยเหตุผที่กล่าวมาก็มีครับ
.
ผมเองไม่ได้เป็นคนดูบอล แต่เนื่องจากเพื่อนสนิทของผมเป็นแฟนพันธ์ุแท้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็เลยพอจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ มาบ้าง
.
อย่างกรณีของการซื้อสุดยอดซุปเปอร์สตาร์อย่าง ฮวน เซบาสเตียน เวรอน โคตรมิดฟิลด์ ทีมชาติอาเจนติน่า
.
ฤดูกาล 2000-2001 เวรอนย้ายมาร่วมทีมแมนยูจาก ลาซิโอด้วยค่าตัว  28.1 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ และแพงสุดในวงการพรีเมียร์ยุคนั้นเลย แต่ฟอร์มของเจ้าตัวกลับไม่ดี อาจจะเป็นเพราะว่าเกมของพรีเมียร์ ลีกนั้นรวดเร็วกว่าสมัยเขาเตะในอิตาลี
.
ในที่สุดลากกันต่อไปไม่ไหว ปี 2003 เวรอนก็ย้ายไปอยู่เชลซีด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ แม้แต่ที่สุดของกัปตันทีมคนนึงของแมนยูอย่าง รอย คีน เมื่อถึงวันหนึ่งที่ไม่เหมาะกับทีม โดยฟางเส้นสุดท้ายมาจากความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมทีมในปี 2005 จนเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เรียกว่าเละตุ้มเป๊ะพอสมควร โดยอาจจะกล่าวได้ว่า ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการปฏิบัติตัวของคีนกับเพื่อนร่วมทีม อย่าง เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ ดาร์เรน เฟล็ตเชอร์
ในที่สุดก็ลากกันไปต่อไม่ได้ ต้องแยกทางกันอยู่ดีครับ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับรอย คีน กลางฤดูกาล ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดวิสัยมากๆ โดยเฉพาะกับตำแหน่งที่เกือบจะเหมือน “แตะต้องไม่ได้” อย่างรอย คีน
.
ข้อเสียของการเล่นก็มีครับ การโดนจับตาอยู่ตลอดเวลาบางครั้งก็สร้างความเครียดได้ และเมื่อทุกอย่างวัดจาก Performance นั่นหมายถึงถ้าเราทำได้ไม่ดี ความเสี่ยงในหน้าที่การงานก็จะตามมาทันที
.
ถ้าถามว่าการบริหารแบบไหนระหว่าง “ครอบครัว” และ “ทีมกีฬาอาชีพ” แบบไหนที่มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน ในเชิงขององค์กรทั้งในแง่ของการบริหารงานปกติและการสร้างนวัตกรรม
.
ส่วนตัวผมคิดว่าการบริหารแบบ “ทีม” นั้นน่าจะดีกว่าเยอะครับ โดยเฉพาะกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากขนาดนี้
.
เพราะถ้าเราบริหารแบบ “ครอบครัว” หลายครั้งด้วยความเกรงใจ ความผูกพัน คนที่ทำงานไม่ดี เราก็พยายามลากๆ กันไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีกับส่วนรวมแน่ๆ
.
ยิ่งถ้าเรานึกภาพทีมกีฬามืออาชีพ  เราจะยิ่งเห็นภาพชัดเจนครับ
.
การบริหารทีมฟุตบอล ต้องเอาคนที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น ลงในทุกตำแหน่ง และที่สำคัญคือ ต่อให้เล่นบอลสวยงามยังไง ถ้ายิงประตูไม่ได้ ยังไงก็ไม่มีทางชนะ เพราะเกมมีกติกาวัดผลกันด้วยประตู
.
ในหนังสือเรื่อง No Rules Rules ของ Reed Hasting เขียนไว้ว่า การทำงานแบบทีมกีฬามืออาชีพ นั้นหมายถึง
.
-   เพราะต้องการผลงานที่ดีเยี่ยม ทุกทีม ทุกตำแหน่งจะต้องใส่คนที่ดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลานั้นๆให้ได้
-   ฝึกซ้อมเพื่อเอาชนะ เพราะสกอร์คือ ชัยชนะ
-   พร้อมรับ Feedback แบบตรงไปตรงมาเพื่อพัฒนาเกมส์ตัวเองเสมอ ทั้งจากโค้ชและเพื่อนร่วมทีม
-   เข้าใจว่าความพยายามอย่างเดียวไม่พอ แม้ว่าจะพยายามขนาดไหน แต่ถ้า Performance ไม่ได้ ยังไงก็ต้องถูกเปลี่ยนออก เพราะการจะชนะในเกมส์ เล่นสวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องยิงประตูให้ได้ด้วย
-   ในทีมกีฬาที่ดี ผู้เล่นต้องเล่นได้ยอดเยี่ยมในทุกตำแหน่ง เมื่อผู้เล่นเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ความเชื่อใจกันและกันก็จะตามมา ซึ่งเป็นพื้นฐานของสุดยอดทีม
.
การสร้างทีมที่ดีนั้นเป็นการทำอย่างต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป ทำวันนี้จะเอาผลพรุ่งนี้เลยคงยากครับ
.
ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องถามตัวเองมากๆเลยคือ ถ้าเราเป็นหัวหน้าต้องถามว่า 
วันนี้เราทำหน้าที่ผู้จัดการทีมดีรึยัง?
.
ถ้าเราเป็นลูกทีม ต้องถามว่า วันนี้เราเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุด ณ จุดที่อยู่และสถานที่อยู่แล้วหรือยัง?
.
เหมือนอย่างที่ Henry Ford เคยกล่าวไว้ว่า
"If everyone is moving forward together, then success takes care of itself."
.
“ถ้าทุกคนเดินหน้าไปด้วยกัน ความสำเร็จก็จะมาถึงเอง”
.
.
MissionToTheMoon

https://www.facebook.com/215052905365961/posts/1462165610654678/

No comments:

Post a Comment