“สอบตก”
เมื่ออาทิตย์ก่อน ผมได้ทำสิ่งหนึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต
นั่นคือ การตื่นตีห้า ไปวิ่งที่สวนลุม กับ ภรรยา ครับ
เป็นความสำเร็จ เหมือนเรียนจบมหาลัยสามปีครึ่ง แถมได้เกียรตินิยม
ก็แหม เรื่องการออกกำลังกาย สำหรับภรรยาผมเนี่ย
เธอไม่ค่อยถนัดครับ
เราสองคนนั่งรถมาถึงสวนลุม ก็เป็นเวลาประมาณ ตีห้าครึ่ง
นกยังร้อง ฟ้ายังสลัว อากาศยังเย็น ภรรยาผมก็ยัง “ง่วง”
ผมจึงยื่นข้อเสนอว่า ขอไปวิ่งก่อนหนึ่งรอบ ให้เวลานอนแป๊บนึง เดี๋ยวมาตามละกัน
ภรรยาผมตอบตกลง พร้อมอ้าปากหาวเล็กๆ
ปกติแล้ว ผมจะวิ่งที่สวนลุมประมาณ 4 รอบ รวมแล้วประมาณ 10 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
เหงื่อออก หัวใจเต้นแรง เหนื่อยพอดีๆ
แน่นอน วันนี้คงจะต้องเปลี่ยนแผน เพราะ คงต้องวิ่งเคียงข้างภรรยา ที่เคารพรัก เพื่อให้กำลังใจ
ผมตัดสินใจ วิ่งเร็วที่สุด หนึ่งรอบ 2 โลครึ่ง กะเอาให้เหนื่อยเต็มที่ไปเลย
ผมออกวิ่ง ไปได้หนึ่งกิโล ก็รู้สึกว่า หัวใจเริ่มเต้นแรง เริ่มเมื่อย ขาเริ่มตึง แต่ก็กัดฟันวิ่งต่อจนจบ
หนึ่งรอบ ใช้เวลาประมาณ 12 นาที
เมื่อมองดู ความเร็วพบว่า อยู่ที่ประมาณ “4 นาทีต่อกิโลเมตร”
ทำให้ผมนึกถึงชื่อของนักวิ่งคนหนึ่ง “โรเจอร์ บันนิสเตอร์”
ทุกครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการสร้าง “นวัตกรรมทางธุรกิจ” ในหลายๆแห่ง
ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา หรือ นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง
หลังจบการบรรยาย มักจะมีผู้ฟังเข้ามาพูดคุย
ที่บ่อยที่สุดคือ “พี่ๆ ผมมีไอเดียแบบนี้ ผมอยากทำแบบนี้ๆ พี่ว่าจะสำเร็จมั้ย”
ผมมักจะยิ้มแหยๆ แล้วตอบว่า “พี่จะไปรู้ได้ไงครับเนี่ย น้องคิดว่าไงล่ะ”
ในใจนั้น อยากจะเล่าเรื่องจากหนังสือ “หลักการแห่งความสำเร็จ (The Success Principle)” เขียนโดย “แจ็ค คานฟิลด์”
ให้น้องเขาฟังสัก “สองเรื่อง” ครับ
เรื่องแรก เป็นเรื่องของ “แคทเธอรีน ลานิแกน”
หญิงสาว วัยรุ่น ชาวอังกฤษ ที่มีความฝัน อยากจะเป็น ”นักเขียน”
เธอเขียนได้ดี และ ได้รับเข้าศึกษาต่อในสาขา “สื่อสารมวลชน” อย่างที่เธอฝันไว้
ปีหนึ่ง เทอมที่สอง เธอดีใจมากที่ได้รับเลือกให้เรียนร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่สี่
เพื่อเรียนกับ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัย “ฮาร์วาร์ด” ที่มาสอนเพียงครั้งคราวเท่านั้น
เธอตั้งใจมากกับ “งานเขียนชิ้นแรก”
หลังจากส่งงานได้ไม่กี่วัน “ศาสตราจารย์” ท่านนี้ ต้องการพบเธอ
เธอดีใจมาก รีบไปพบตามนัดหมาย
“นั่งลงสิ แคทเธอรีน” อาจารย์ท่านนี้เชื้อเชิญ ด้วยใบหน้านิ่งๆ
เขาเอา “ต้นฉบับ” ของเธอออกมา แล้วโยนข้ามโต๊ะไปให้เธอ พร้อมบอกว่า
“พูดตามตรงนะ งานของคุณมันห่วยสิ้นดี”
ไม่ทันที่ “น้ำตา” ของแคทเธอรีน จะเอ่อล้นออกมาได้ แม้เพียงสักนิด
อาจารย์ก็พูดต่อ “ผมไม่แน่ใจว่า คุณเข้ามาในชั้นเรียนผมได้ยังไง
คุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องบทและโครงสร้างการเขียนเลย
คุณไม่มีทางเลยที่จะหาเลี้ยงชีพจากการเป็นนักเขียนได้
แต่คุณโชคดีนะ เพราะผมจับทางมันได้ก่อน ที่คุณจะถลำลึกไปมากกว่านี้
พ่อแม่คุณจ่ายเงินค่าเทอมแพงๆ ให้คุณมีการศึกษาดีๆไว้เลี้ยงตัวเอง
ผมแนะนำให้คุณเปลี่ยนคณะ ผมรู้ว่า คุณเข้ามาด้วยเกรดที่ดีมาก และคงไม่อยากจะถอนวิชานี้กลางคัน
ผมจะให้ B คุณ ถ้าคุณสัญญาว่า จะไม่จับปากกาขึ้นมาเขียนอีก”
แคทเธอรีน รับ “ข้อเสนอ” จากอาจารย์ที่เคารพ ด้วย หัวใจสลาย
คืนนั้น เธอเดินขึ้นไปบนดาดฟ้า ขยำงานเขียนของเธอ เผามันทิ้ง
แล้วปฏิญาณกับ ท้องฟ้าในฤดูหนาว นั้น ว่า ฉันจะไม่เชื่อใน ”ความฝัน” อีก
“ฉันจะอยู่กับความจริง”
แคทเธอรีน เปลี่ยนสาขามาเรียนในวิชาชีพ “ครู” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
เวลา 14 ปีผ่านไป เธอไม่ได้จับปากกาเขียนงานอีกเลย จนกระทั่ง ฤดูร้อน วันหนึ่ง
เธอได้พบกับกลุ่ม “นักเขียน” ที่โรงแรม ที่เธอไปร่วมประชุม
เธอรวบรวมความกล้าเข้าไปพูดคุย และ กล่าว “ชื่นชม” นักเขียนเหล่านั้น
“ฉันชื่นชมพวกคุณมากเลยที่เขียนเรื่องราวดีๆออกมาให้เราได้อ่านกัน ความฝันลับๆของฉันคือการเป็นนักเขียน”
นักเขียนอาวุโสคนหนึ่งหันกลับมาบอกกับเธอ “ถ้าคุณคิดจะเป็นนักเขียน คุณก็น่าจะเป็นนักเขียนสิ”
“เป็นไปไม่ได้หรอก ฉันรู้ว่า ฉันมันไม่มีพรสวรรค์” เธอเล่าเรื่องของอาจารย์ท่านนั้นให้นักเขียนอาวุโสฟัง
นักเขียนท่านนั้นยื่นนามบัตรให้เธอ “ถ้าคุณอยากจะเขียน ลองส่งงานของคุณมาให้ผมดูสิ”
คืนนั้น เธอตัดสินใจเขียน แล้วส่งให้ “นักเขียน” ท่านนั้น ในวันรุ่งขึ้น
สามเดือนถัดมา เธอได้รับโทรศัพท์ว่า สำนักพิมพ์อยากจะตีพิมพ์หนังสือของเธอ
พร้อมคำชมเล็ก “คุณมีพรสวรรค์มากนะ แคทเธอรีน”
จากวันนั้น “แคทเธอรีน ลานิแกน” พิมพ์หนังสือของตัวเองแล้ว 33 เล่ม
หลายเรื่องถูกนำไปทำเป็น “ภาพยนตร์ฮอลลีวูด” เช่น Romancing the Stone และ Jewel of the Nile
เธอได้ “ความฝัน” ของเธอคืนมา หลังจากโดน “ขโมย” ไป 14 ปี
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่เติบในเขตชนบทชาวอเมริกัน “มอนตี้ โรเบิร์ต”
ในคาบเรียนหนึ่ง คุณครูให้ส่งเรียงความ “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร”
คืนนั้น มอนตี้ เขียนเรียงความยาว เจ็ดหน้ากระดาษ บรรยาย ความฝันที่อยากจะ “เลี้ยงม้า”
เขาวาดพื้นที่ สองพัน เอเคอร์ ตัวบ้านขนาด สี่พัน ตารางเมตร พร้อมอาคารต่างๆ อย่างละเอียด และ “คอกม้า” ขนาดใหญ่
สองวันหลังจากส่งการบ้าน เขาได้งานเขียนคืน พร้อมเกรด “F” และ ข้อความ “มาพบครูหลังเลิกเรียน”
เมื่อได้พบ คุณครูบอกมอนตี้ด้วยความเป็นห่วง
“การมีฟาร์มม้าต้องใช้เงินมาก ต้องมีที่ดิน เธอไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย
ครูจะให้โอกาสเธอ เขียนความฝันที่เป็นจริงได้มากกว่านี้ แล้วจะถอน F ของเธอให้ ลองเอาไปคิดดู”
มอนตี้กลับบ้านด้วยความ “สับสน” เขานอนคิดอยู่หนึ่งคืน แล้วเขียนความคิดลงในกระดาษเพื่อตอบคุณครู
“ครูเก็บ F เอาไว้ก็ได้ครับ ผมก็จะเก็บความฝันของผมไว้เช่นกัน (You can keep the F and I will keep my dream)”
ปัจจุบัน มอนตี้ โรเบิร์ต มีฟาร์มเลี้ยงม้าเป็นของตัวเอง มีอาชีพฝึกม้า มืออันดับต้นๆของโลก
เขียนหนังสือขายดีไปทั่วโลก “The man who listens to horses” พิมพ์แล้วกว่าห้าล้านเล่ม
มี ทรัพย์สินหลายร้อยล้านเหรียญ และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย
ทั้ง “แคทเธอรีน” และ “มอนตี้” ประสบความสำเร็จอย่างสูงเหมือนกัน
แตกต่างก็แค่ คนหนึ่งทิ้งความฝันไป 14 ปี ด้วยคำพูดของคนอื่น
อีกคนหนึ่ง เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อในความฝันที่ยิ่งใหญ่ แล้วลงมือทำ ทำมันมาเรื่อยๆ “ไม่หวั่นไหว”
“พี่ว่าที่ผมจะทำมันจะเวิร์คมั้ย” เป็นคำถามที่ผมไม่ชอบเลย
เพราะ ผมคิดว่า “ไม่มีใครรู้หรอก”
อยากจะถามกลับและให้กำลังใจมากกว่า
“แล้วน้องล่ะ อยากทำมันมากแค่ไหน ถ้ามาก ก็ลุยเลยสิ”
กลับมาที่ “โรเจอร์ บันนิสเตอร์”
เขาคือ นักวิ่งชาวอังกฤษ ผู้สร้างสถิติ “วิ่งหนึ่งไมล์ ใช้เวลาต่ำกว่า 4 นาที” ในปี 1954 (ของผมเป็นหน่วยกิโลเมตรนะครับ แหะๆ ช้ากว่าเกือบสองเท่า)
ซึ่งในเวลานั้น ไม่มีใครคิดว่า ขีดความสามารถของ “มนุษย์” จะทำได้ ไม่มีใครคิดจะ “ลอง” ด้วยซ้ำ
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น คือ ภายในเวลาไม่กีปีหลังจาก ที่ “โรเจอร์” พิสูจน์ว่า “มนุษย์” ทำได้
สถิติของเขา ก็ถูก “ทำลาย” ลงอย่างต่อเนื่อง เหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ราวกับว่า “ความเชื่อว่าเป็นไปได้” ได้พานักวิ่ง ก้าวข้าว “ขีดจำกัด” ลวงตาของตัวเอง ได้สำเร็จ
ถ้าคุณคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” มันก็ไม่มีทางเป็นไปได้
แค่คุณเชื่อว่า “คุณทำได้” มันก็อาจจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้น “ทันที” ที่คุณลงมือทำ
ไม่จำเป็น ต้องรอถึง 14 ปี
ธุรกิจพอดีคำ, มติชนสุดสัปดาห์ (29 ก.ค. 2559) กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร www.facebook.com/eightandahalfsentences
ที่มา https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1426879807338172&substory_index=0&id=926494824043342