Thursday, April 7, 2011

Food allergies

นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เรียบเรียง
คนเรานั้นมีโอกาสเกิดอาการแพ้อาหารและการรับอาหารบางชนิดไม่ได้เป็นบางช่วงของชีวิต
ซึ่งในเด็กประมาณร้อยละ 3 ที่พิสูจน์ได้ว่าแพ้อาหารจริง แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่อาการแพ้อาหารนั้นจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

แท้จริงแล้วอาการหรือปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อกินอาหารบางชนิดเข้าไปนั้น
มีความแตกต่างระหว่างคำว่า การแพ้อาหาร (Food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ (Food intolerance)

ทั้งนี้ การแพ้อาหาร (Food allergies) จะเกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหารนั้นๆ
เป็นปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่ออาหารเนื่องจากมีการกระตุ้นจากระบบภูมิต้านทานของร่างกาย

ส่วนการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานแต่อย่างใด
แต่ทั้งสองกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายคลึงกัน
ทั้งนี้การแพ้อาหารจริงๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องพยายามตรวจสอบและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาการแพ้
เพราะนอกจากทำให้เกิดภาวะเจ็บป่วยแล้ว บางคนอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

กลไกการเกิดปฏิกิริยาการแพ้อาหาร
=====================
ปฏิกิริยาการแพ้นั้นมีผลเกี่ยวข้องกับ 2 กลไกทางระบบภูมิต้านทาน คือ
1) การสร้างภูมิต้านทานชนิด อี (Immunoglobulin E: IgE)
ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่าแอนตี้บอดี้ที่อยู่ในกระแสเลือด
2) และอีกกลไกหนึ่งเกี่ยวข้องกับมาสต์เซลล์ (Mast cell)
ที่อยู่ในทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดอาการแพ้
เช่น ในจมูก คอ ปอด ผิวหนัง และทางเดินอาหาร

ความสามารถในการสร้าง IgE ต่ออาหารนั้นมักมีส่วนที่ได้รับจากกรรมพันธุ์
เช่น มีคนในครอบครัวมีอาการแพ้ไม่ว่าจะแพ้อาหาร แพ้ฝุ่น แพ้เกสรดอกไม้ หอบหืด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่เป็นภูมิแพ้ทั้งสองฝ่าย
ลูกก็จะมีโอกาสแพ้มากกว่าคนที่มีเพียงพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งที่เป็นภูมิแพ้

ก่อนที่จะเกิดอาการแพ้นั้น คนที่แพ้ต้องเคยได้รับอาหารชนิดนั้นมาก่อน
เมื่อมีการย่อยอาหารก็จะกระตุ้นให้มีการสร้าง IgE จำนวนมาก
ซึ่งจะเข้าไปเกาะผิวของมาสต์เซลล์ เมื่อมีการรับประทานอาหารชนิดนั้นอีกครั้ง
อาหารจะไปกระตุ้น IgE จำเพาะบนผิวมาสต์เซลล์นั้น
ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมี เช่น ฮีสตามีน
ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ตามแต่บริเวณของเนื้อเยื่อที่มีการหลั่งสารเคมีนั้น
เช่น มีการหลั่งสารเคมีที่บริเวณหู คอ จมูก
ก็จะมีอาการคันหรือบวมที่ปาก คอ หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบาก
แต่ถ้าเป็นที่บริเวณทางเดินอาหาร ก็อาจมีอาการปวดท้องหรือท้องร่วงได้

ส่วนของสารอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้นั้น เป็นโปรตีนในอาหาร
ที่มักไม่ถูกสลายด้วยความร้อนในการปรุงอาหารหรือกรดในกระเพาะอาหารหรือน้ำย่อย

จึงทำให้สามารถดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังบริเวณเป้าหมายที่เกิดอาการแพ้ขึ้นได้ทั่วร่างกาย

ความซับซ้อนในกระบวนการย่อยอาหาร มีผลต่อระยะเวลาและตำแหน่งที่เกิดอาการ
================================================
ตัวอย่างเช่น อาการจะเริ่มต้นจากมีอาการคันที่ปากก่อน เมื่อเริ่มรับประทานอาหาร
พออาหารถูกย่อยในกระเพาะอาหารแล้ว มักจะเกิดอาการทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องร่วง และปวดท้องได้
เมื่อสารที่ทำให้แพ้เข้าสู่กระแสเลือด ก็อาจทำให้ระดับความดันโลหิตตกลงได้
หากไปที่ผิวหนังก็เกิดอาการผื่นแพ้
หรือไปที่ระบบทางเดินหายใจก็อาจทำให้เกิดอาการหอบหืดได้
ซึ่งอาการต่างๆ นี้ อาจเกิดได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีจนเป็นชั่วโมงก็ได้เช่นกัน

การแพ้อาหารที่พบบ่อย
==============
ในผู้ใหญ่อาหารที่พบว่าเกิดการแพ้ได้บ่อย ได้แก่ อาหารทะเล เช่น กุ้ง กั้ง ปู พืชเมล็ดบางชนิด เช่น ถั่ว
ส่วนที่แพ้ได้แต่ไม่บ่อย ได้แก่ ปลา และไข่ ซึ่งเมื่อแพ้แล้วอาจมีอาการแพ้เพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรงได้
คือ อาจจะแค่คัน บวม กระทั่งความดันโลหิตตกอย่างเฉียบพลัน และอาจถึงแก่ความตายได้

ส่วนในเด็กนั้นอาหารที่พบว่าเกิดการแพ้นั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ
มักมีอาการแพ้ไข่ นมวัว และถั่ว ซึ่งอาการแพ้อาหารนี้อาจจะหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น
แต่หากเป็นการแพ้ปลาและกุ้งก็มักจะไม่หาย ในขณะที่ผู้ใหญ่เมื่อแพ้อะไรแล้วมักจะไม่หาย

การแพ้อาหารในทารกและเด็ก
การแพ้นมวัวและถั่วเหลืองพบได้บ่อยในทารกและเด็ก ส่วนมากจะไม่มีอาการหอบหืด แต่มักมีอาการปวดท้อง นอนไม่หลับ มีเลือดออกมากับอุจจาระ ดูเด็กไม่มีความสุข หรือเลี้ยงไม่โต เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เด็กแพ้อาหาร
เชื่อว่าเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบภูมิต้านทานและระบบทางเดินอาหาร
อาการแพ้นมหรือถั่วเหลืองนี้เริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด หรือมีอายุเพียงไม่กี่เดือนนับตั้งแต่คลอด
เด็กที่มีอาการแพ้อาจพบว่ามีประวัติคนเป็นภูมิแพ้ในครอบครัวด้วย
หากทารกแพ้นมวัวแพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองแทนหรือให้ดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียว
หากมีการแพ้นมถั่วเหลืองด้วย ก็อาจต้องใช้นมสูตรพิเศษที่มีการย่อยโปรตีนแบบสมบูรณ์
ในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้รุนแรงคุณหมออาจจะให้ยา เช่น สเตียรอยด์
แต่ก็ยังโชคดีที่อาการแพ้ในเด็กนั้นมักจะหายไปได้เองในช่วงปี สองปีหลังเกิดอาการ
การให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่ให้อาหารอื่นเลยแก่ทารกในช่วง 6-12 เดือนนั้น
จะสามารถหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัวและนมถั่วเหลืองได้
โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้
แต่คุณแม่เองก็ต้องตระหนักด้วยว่าอาหารที่รับประทานนั้นอาจทำให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้
ดังนั้นคุณแม่ที่ให้นมลูกควรต้องระมัดระวังเลือกอาหารให้ดีด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ลูกแพ้
แม้ว่ายังไม่มีการพิสูจน์ว่าการให้นมแม่นั้นสามารถป้องกันการแพ้ในวัยที่โตขึ้นได้
แต่อย่างน้อยการให้นมแม่ก็ช่วยเลื่อนเวลาการเกิดการแพ้อาหารออกไปได้
และหากเลื่อนการให้อาหารเสริมเป็นหลังอายุ 6 เดือน ก็จะช่วยเลื่อนระยะเวลาการเกิดอาการแพ้ได้ด้วยเช่นกัน


แท้จริงแล้วอาการหรือปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อกินอาหารบางชนิดเข้าไปนั้น
มีความแตกต่างระหว่างคำว่า การแพ้อาหาร (Food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ (Food intolerance)

การแพ้อาหาร - การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ ต่างกันอย่างไร
==================================
บางคนเมื่อมีอาการหลังจากรับประทานอาหารบางชนิด แล้วไปบอกคุณหมอว่า ฉันคิดว่าฉันแพ้อาหาร
แพทย์จะต้องแยกแยะวินิจฉัยอาการต่างๆ ก่อนเพื่อไม่ให้สับสนว่าจริงๆ แล้ว
คุณคนนั้นเขาแพ้อาหาร รับอาหารบางชนิดไม่ได้ หรืออาหารเป็นพิษจากเชื้อโรคปนเปื้อนในอาหารกันแน่
ซึ่งทั้งหมดอาการคล้ายกันแต่ต่างกันที่สาเหตุ จึงต้องจำแนกแยกแยะให้ออกก่อนว่าเป็นอะไรกันแน่

บางครั้งสารเคมีตามธรรมชาติ เช่น สารฮีสตามีนที่มีอยู่ในอาหารก็ทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการแพ้อาหารได้
เช่น สารฮีสตามีนที่มีมากในเนยแข็ง ไวน์บางชนิด
ปลาบางชนิดโดยเฉพาะปลาทูน่าและปลาแมคเคอเรล (คล้ายปลาทู)
ซึ่งสารฮีสตามีนในปลานั้นเชื่อว่าเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย
โดยเฉพาะปลาที่ไม่ได้แช่แข็งอย่างดี หากใครรับประทานอาหารที่มีสารฮีสตามีนนี้มากก็จะเกิดอาการเหมือนแพ้อาหารได้
เรียกว่า เกิดพิษจากสารฮีสตามีน (histamine toxicity)


การแพ้อาหาร จะเกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิต้านทานในร่างกาย ส่วนการรับอาหารบางชนิดไม่ได้
อาจเกิดจากความบกพร่องของสารบางชนิดในร่างกาย หรือการไม่ถูกกันระหว่างสารในร่างกายกับสารบางชนิดที่มีอยู่ในอาหาร
ทั้งสองกรณีต่างจากอาหารเป็นพิษ ที่มีสาเหตุจากเชื้อโรคปนเปื้อนดังที่กล่าวแล้ว

การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ที่มักจะพบบ่อยคือ ภาวะพร่องน้ำย่อยน้ำตาลนม (lactase deficiency)
ซึ่งพบได้ถึง 1 ใน 10 คน น้ำย่อยนี้สร้างจากผิวของลำไส้ทำหน้าที่ย่อยน้ำตาลนม
หากคนที่มีน้ำย่อยน้ำตาลนมไม่พอ เมื่อดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป
น้ำตาลนมที่ไม่สามารถถูกย่อยก็จะถูกแบคทีเรียนำไปใช้ แล้วสร้างก๊าซขึ้น ทำให้ท้องอืด ปวดท้อง และอุจจาระร่วงได้
ซึ่งแพทย์วินิจฉัยได้โดยการให้รับประทานน้ำตาลนม และวัดผลจากเลือด

การรับอาหารบางชนิดไม่ได้อีกแบบหนึ่งที่เจอคือ การมีปฏิกิริยาต่อสารที่ใส่ในอาหารเพื่อปรับแต่งรส กลิ่น หรือป้องกันการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เช่น สีผสมอาหารเบอร์ 5 ทำให้เกิดอาการหอบ หรือผงชูรส ที่ทำให้เกิดอาการร้อนซู่ซ่า ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อ่อนแรง หรือหงุดหงิดได้ในบางคน ซึ่งเกิดจากการรับประทานผงชูรสในปริมาณมาก

สารซัลไฟต์ เป็นสารที่พบได้ในอาหารหรือได้ถูกใส่เข้าไปในอาหารเพื่อทำให้กรอบหรือป้องกันเชื้อรา
หากมีปริมาณมากอาจทำให้บางคนมีอาการหอบหืดได้ เนื่องจากสารนี้ทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งคนที่เป็นหอบหืดสูดดมเข้าไประหว่างรับประทานอาหาร ทำให้เกิดอาการระคายเคืองปอดและเกิดการหดตัวของหลอดลมจึงหอบได้

บางคนมีอาการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ด้วยสาเหตุทางจิต เช่น ในช่วงวัยเด็กเกิดความรู้สึกไม่ชอบหรือต่อต้านอาหารบางชนิดจนฝังใจ เมื่อกินเข้าไปก็จะเกิดปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกับการแพ้อาหาร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการประเมินและบำบัดทางจิตเวชถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการแบบเดียวกับการแพ้อาหาร เช่น
แผลและมะเร็งในทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียน อุจจาระร่วง หรือปวดท้องเมื่อรับประทานอาหาร

หรือบางคนมีการแพ้อาหารเพราะถูกกระตุ้นจากการออกกำลังกาย
คือ คนที่แพ้มักจะรับประทานอาหารมาก่อนที่จะออกกำลังกาย
เมื่อออกกำลังกายจนความร้อนของร่างกายเพิ่มมากขึ้น ก็จะเริ่มมีอาการคัน รู้สึกเบาศีรษะ แล้วเกิดอาการแพ้
เช่น หอบ และอาจรุนแรงได้ถึงแก่ความตายได้

วิธีแก้ง่ายๆ ก็คืออย่ารับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงก่อนออกกำลังกาย

การรักษาการแพ้อาหาร
==============
การรักษาการแพ้อาหารเมื่อวินิจฉัยได้ว่าแพ้อาหารชนิดใด ก็ควรงดอาหารที่แพ้ชนิดนั้น
และก่อนที่จะเลือกซื้ออาหารควรอ่านรายละเอียดส่วนผสมที่ฉลากอาหารก่อนว่ามีสิ่งที่ตัวเองแพ้ผสมอยู่หรือไม่
เช่น ถ้าแพ้นมต้องดูว่าในส่วนผสมมีผลิตภัณฑ์นมผสมอยู่ด้วยไหม
หรือถ้าแพ้ไข่ ต้องดูว่าน้ำสลัดที่เลือกมานั้นมีส่วนผสมของไข่หรือไม่
หรือถ้าแพ้ผงชูรสก็พยายามหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ใส่ผงชูรส เป็นต้น

ในคนที่มีอาการแพ้มากแม้ว่าได้รับสารอาหารที่แพ้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเกิดอาการแพ้ได้
แต่คนที่มีอาการแพ้น้อย อาจทนทานต่อสารอาหารได้หากได้รับในจำนวนน้อยๆ
คนที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง ควรมีการเตรียมพร้อมเมื่ออาการแพ้เสมอ เพราะแม้ว่าจะคอยระวังเรื่องอาหารแล้วก็ตาม แต่ก็อาจเกิดความผิดพลาดได้เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันในคนที่มีอาการแพ้รุนแรงนี้ ก็ควรพกพายาแก้แพ้ติดตัว หรือห้อยเป็นสายสร้อยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรืออาจพกยาอะดรินาลีน ไว้ฉีดยามฉุกเฉิน และควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะในคนที่แพ้รุนแรงอาการช็อคอาจเกิดได้แม้ว่าจะเริ่มต้นด้วยอาการเพียงเล็กน้อย เช่น แค่คันที่ปากและคอ หรือไม่สบายท้องเท่านั้น
ทางที่ดีที่สุดคือเมื่อเราทราบแล้วว่าแพ้อาหารชนิดใด ก็คงต้องระมัดระวังการเลือกอาหารให้ดี ควรเลี่ยงและงดสิ่งที่แพ้คือเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ที่มา http://www.oknation.net/blog/ION/2009/01/27/entry-1 (นิตยสาร Health Today)

คนที่แพ้อาหารจะแสดงอาการออกมาใน 2-3 นาที จนถึง 2-3 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร

ไม่ควรกินยาแก้แพ้ล่วงหน้า เพื่อจะรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป
เพราะยาอาจบดบังอาการขั้นต้น
ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนั้นในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรงตามมาภายหลังได้

ที่มา http://www.kingdomplaza.com/article/health/news.php?nid=712 (หนังสือพิมพ์ข่าวสด)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ อาการมักจะหายไปเมื่อหยุดรับสารนั้น
แต่บางคนอาการจะคงอยู่เป็นเวลาหลายวัน
อาการมักจะเกิดหลังรับประทาน โดยมากไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

ที่มา http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/allergy/food_know.html


ก่อนหน้านี้เมื่อสงสัยว่าจะแพ้อาหารอะไร แพทย์จะแนะะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้
แต่ต่อมาพบว่าการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ ก่อให้เกิดผลเสีย คือจะมีปฎิกิริยาภูมิแพ้แรงขึ้น
ปัจจุบันแนะนำว่าหากผู้ป่วยพอทนได้ก็ไม่ต้องงดอาหารนั้น

ที่มา http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/allergy/food_diag.html

การวินิจฉัยการแพ้อาหาร
===============
- การทดสอบทางผิวหนัง
บอกอะไรไม่ได้มาก กล่าวคือ หากการทดสอบให้ผลบวกผู้ป่วยอาจจะไม่แพ้ต่ออาหารนั้น
การวินิจฉัยจะต้องร่วมกับประวัติ หากการทดสอบเข้าได้กับประวัติ จะช่วยในการวินิจฉัย
แต่หากการทดสอบผิวหนังให้ผลลบ ก็บอกได้เลยว่าผู้ป่วยรายนั้นไม่แพ้

- การเจาะเลือดหาระดับ IgE ต่อสารอาหาร
หากค่าดังกล่าวสูงก็น่าจะแพ้ต่อสารอาหารนั้น
หากค่าต่ำก็ไม่น่าจะแพ้
แต่ก็มีผู้ป่วยที่ค่า IgE ต่ำแต่แพ้
การตรวจนี้จะทำเมื่อไม่สามารถทดสอบทางผิวหนัง หรือผู้ป่วยได้รับยาแก้แพ้

ที่มา http://www.siamhealth.net/public_html/Disease/allergy/food_diag.html

- มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวและตัวเองหรือไม่
- มีอาการของโรคภูมิแพ้หรือไม่ เช่น โรคหอบหืด โรคผื่นแพ้ จามหรือคัดจมูก
- ได้รับอาหารบางอย่างแล้วเกิดอาการหรือไม่
- ประวัติเกิดผื่นหลังจากรับประทานอาหารไปกี่ชั่วโมง
- ก่อนออกผื่นกำลังทำอะไรอยู่( เช่นออกกำลังกาย)
- ควรจะมีสมุดจดรายการอาหารที่รับประทานก่อนเกิดผื่น 12 ชั่วโมง
และควรจะจดอาการต่างๆที่เกิดด้วย ท่านจะพบความสัมพันธ์ของอาหารและผื่น
- เมื่อสงสัยว่าเกิดจากอาหารประเภทใดก็ให้หยุดอาหารประเภทนั้นสัก 10-14 วันแล้วสังเกตอาการว่าดีขึ้นหรือไม่

No comments:

Post a Comment