เพื่อนอเมริกันของหนูดี เคยมีโจ๊กที่แซวกันเล่นว่า
คนพูดได้สามภาษาเราเรียกว่า “ไทรลิงกวล”
ถ้าคนพูดสองภาษาเราเรียก “ไบลิงกวล”
ถ้าพูดได้ภาษาเดียวเรียกว่าคน “อเมริกัน” (ฮา)
จริงๆ เด็กอเมริกัน รักสบายค่ะ ถือว่าพูดภาษาอังกฤษได้ ก็ไปได้ทั่วโลกแล้ว
เลยไม่ค่อยขวนขวาย
ไม่เหมือนพวกเรา พูดไทยได้แล้วยังไม่พอ ต้องพูดอังกฤษได้
เสร็จแล้วยังต้องพูดจีนได้อีก ดีไม่ดีเรียนภาษาเกาหลี ญี่ปุ่นแถมด้วย
พอเรียนหลายภาษา สิ่งที่เราได้แถมมาก็คือ
วิธีคิด วิธีการสื่อสาร ความเชื่อ และวิถีชีวิตของเจ้าของภาษานั้น
และน่าทึ่งมากนะคะ ในการที่ตัวเราจะค่อยๆ คิดและเปลี่ยนแปลงไป
ในกระบวนการเรียนรู้ต่างภาษา
หนูดีชอบเรียนภาษา ไม่ใช่เพื่อให้พูดได้หลายภาษา
แต่จะสนุกกว่าถ้าได้รู้ว่า เจ้าของภาษานั้น “คิด” อย่างไร
เช่น เพื่อนญี่ปุ่นก็จะเล่าว่า ภาษาของเขาเป็นขั้นบันได
มีแบ่งระดับความสุภาพชัดเจน
เรียกพ่อแม่ตัวเองก็คำหนึ่ง
เรียกพ่อแม่เพื่อนก็อีกคำหนึ่ง
แม้กระทั่งการให้ของขวัญใครก็จะพูดทำนองว่า
“ได้โปรดให้เกียรติรับของอันเล็กน้อยนี้ไว้ด้วย”
ภาษาเป็นเครื่องมือให้ความคิด “เกาะ”
เพราะฉะนั้นเราใช้ภาษาไหน นิสัยเราก็มักจะคล้ายคนภาษานั้นนะคะ
ลองสังเกตสิคะ แม้เวลาฝัน เรายังฝันด้วยภาษาที่เราคุ้นชินเลย
แม้กระทั่งภาษาเดียวกัน ลองสังเกตบุคคลิกของเด็กที่ เรียนภาษาอังกฤษสิคะ
ถ้าไปเรียนที่อเมริกาก็จะบุคคลิกหนึ่ง
ไปเรียนที่อังกฤษก็อีกบุคคลิกหนึ่ง ไม่ใช่แค่สำเนียงที่ต่างนะคะ
แต่วิธีการวางรูปประโยคแค่ฟังก็รู้ว่าเขา “คิดต่าง” กันแค่ไหน
และถ้าเราส่งลูกไปเรียนที่จีน คราวนี้ก็จะเห็นความแตกต่างในบุคลิกและวิธีคิดที่ชัดเจนมาก
รวมถึงวิธีการใช้เงิน การใช้ชีวิตอีกด้วย
ตอนที่หนูดีไปเที่ยวที่ปักกิ่งมีโอกาสได้รู้จักนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อ มาเป็นไกด์พาเที่ยว
ก็พบด้วยความประหลาดใจว่า บุคคลิกและวิธีการเรียน วิธีการใช้ชีวิตของน้อง
ไม่เหมือนกับพวกเราที่เรียนอเมริกา
และไม่เหมือนกับเพื่อนที่ถูกส่งไปโซนยุโรปหรือออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เลย
เมื่อลองถามดูก็เลยรู้ว่า เด็กจีน เรียนกันหนักมาก
เรียนเช้าถึงค่ำเป็นเรื่องปกติ เลิกสองสามทุ่มหรือสี่ทุ่มก็มี
แถมถ้ามีห้องเรียนว่าง ยังเอาการบ้านเข้าไปนั่งทำในห้องว่างนั้น แทนที่จะไปเที่ยวเล่น
เด็กไทยไปแรกๆ ก็งง พอถามว่า เรียนจนค่ำไม่เหนื่อยเหรอ
เด็กจีนก็บอกว่า อ้าว ถ้าเลิกเรียนก็ว่าง ทำอะไรไร้สาระไปเรื่อยๆ
สู้เอาเวลามาเรียนดีกว่า
ที่น่ารัก คือน้องคนหนึ่งที่เรียนต่อปริญญาโทเล่าว่า
ไปครั้งแรกเพื่อนจีนทั้งห้องอยากจัดปาร์ตี้เพื่อทำความรู้จักกัน
โดยมีหนุ่มนักเรียนจีนคนหนึ่งเป็นโต้โผ
เด็กไทยของเราได้ยินคำว่า “ปาร์ตี้” ก็นึกถึงร้านอาหาร หรือไม่ก็คาราโอเกะ
แต่ปรากฏว่า วันนัด เด็กจีน ทั้งกลุ่มกลับไปเจอกันช่วงบ่ายที่สวนสาธารณะ
เอาเสื่อไปคนละผืน ถือขนมติดมือไป แล้วไปเล่นเกมกัน
ทายคำถาม แถมน้องยังบอกว่า “มีเกมอะไรคล้ายๆมอญซ่อนผ้าด้วย”
ฟังแล้วน่ารักจริง คนที่เล่าเสริมว่า
“ผมคิดในใจว่า...ระดับปริญญาโทแล้วนะเนี่ย เด็กจีนนี่ใสจริงๆ เลย”
ฟังแล้วก็ได้แต่คิดว่า ถ้าเป็นที่อเมริกา เรื่องแบบนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นเป็นอันขาด
ด้วยความที่ชอบสังเกตแบบนี้ หนูดีเลยชอบถามเจ้าของภาษาถึง
“สำนวน” ของเขาเสมอ
แล้วก็มานั่งหัวเราะด้วยกัน เช่น
คำว่า “รถด่วนขบวนสุดท้าย” ของไทยนั้น
ถ้าเป็นเพื่อนเม็กซิกันของหนูดีจะพูดว่า “เขาตีงูได้ในวันศุกร์”
เหมือนกับว่า ถ้าตีไม่ได้วันนี้จะไม่มีงูกินทั้งสัปดาห์เลยเชียวนะ
(เลยต้องถามว่า คนประเทศคุณกินงูวันเสาร์อาทิตย์ด้วยเหรอ)
ที่ชวนคุยมาทั้งหมดนี้ เพราะหนูดีอยากเชิญชวนว่า ปีใหม่นี้
ใครจะไปเที่ยวประเทศอื่น อย่านำติดตัวไปแค่ภาษาอังกฤษนะคะ
แต่ลองเรียนภาษาพื้นถิ่นตรงนั้นดูไหมคะ
แล้วลองเดาดูเล่นๆ ว่า คนประเทศนี้มีวิธีคิดและอุปนิสัยเป็นอย่างไร
เดาได้ไม่ยากหรอกค่ะ เพราะมันมักจะปรากฏชัดเจนในภาษาที่เขาใช้ทุกวันนั่นเอง
นี่คืองานอดิเรกที่หนูดีทำทุกครั้งเวลาเดินทาง
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20091124/87466/เด็กหลายโลก.html
No comments:
Post a Comment