โชค
โลกธุรกิจไม่เคยใจดีกับผู้ที่ไม่ค่อยฉลาด เรียนไม่เก่ง ไม่ได้ดี เด่น ดัง ประตูแห่งโอกาสแทบจะปิดตายกับคนเหล่านั้นเสมอ..
.................
คุณสมชาย เหล่าสายเชือ้ มหาเศรษฐีแห่งอีสาน เจ้าของโตโยต้าดีเยี่ยม เริ่มต้นจากติดลบทั้งชาติกำเนิด และสมองที่ได้รับมา คุณสมชายเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กหัวทึบมาก สอบตกครั้งแล้วครั้งเล่า มีแต่คนเรียกไอ้โง่ กว่าจะจบ ป. 5 ก็ตอนอายุ 17 ปี คุณสมชายเคยให้สัมภาษณ์ว่าคนอื่นหัดร้องเพลงหนึ่งเพลงอาจจะสิบนาทีแต่เขาต้องใช้เวลาสามเดือนก็ยังไม่ได้
หลังจากจบ ป. ห้า คุณสมชายก็ได้แต่ทำงานกรรมกร ไม่มีทางเลือกใดๆ ทำทุกอย่างที่มีคนจ้างให้ทำ โดนหลอกโดนโกงมาตลอด ใช้แต่ความขยันเข้าสู้ ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด งานลำบาก งานที่ไม่มีใครทำคุณสมชายทำหมด ผิดหวังล้มเหลวก็บ่อย แต่เพราะสำนึกว่าตัวเองหัวไม่ดี ก็ได้แต่ก้มหน้าทำงานหนักทุกประเภทมาตลอด
คุณสมชายมีความฝันมีความชอบเรื่องรถ แต่ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครรับ เพราะจบแค่ ป. 5 แถมพูดช้าคิดช้า ไม่มีแววอะไรเลย สมัครทีไรก็แพ้คู่แข่งคนอื่นเสมอ จนคุณสมชายมาสมัครงานที่ศูนย์บริการโตโยต้า อุบลราชธานี ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำต้องจบปริญญาตรี เบื้องต้นก็ถูกปฏิเสธ แต่คุณสมชายยื่นข้อเสนอสามข้อ ที่ทำให้ประตูบานแรกของคุณสมชายเปิดออก ข้อหนึ่งคือ ทำงานอะไรก็ได้ ข้อสองคือเงินเดือนเท่าไหร่ก็ได้ ไม่จ่ายก็ได้ ข้อสามคือ ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด
เถ้าแก่ไม่รู้จะไม่รับได้อย่างไร หลังจากนั้นความขยันทำงาน ทำงานทุกอย่างที่ให้ทำ รับใช้ทุกคนไม่เฉพาะเถ้าแก่ จนไว้ใจ และทำให้เกิดโอกาสอื่นๆตามมา ได้ขยับขยายตำแหน่ง หลายปีจนเถ้าแก่เสียชีวิต เลยมาเปิดกิจการของตัวเองและสร้างตำนานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
……
คุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ที่เราคุ้นเคยกันดี เป็นเด็กต่างจังหวัดด้อยโอกาสที่พยายามฝึกฝนภาษาอังกฤษมาโดยตลอด มีความฝันที่จะได้เป็นนักสื่อสารมวลชน ได้ทำงานกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษระดับชาติ คุณสุทธิชัยได้มีโอกาสเข้าเรียนภาคค่ำที่จุฬา คณะนิเทศศาสตร์
ตอนที่เพิ่งเป็นนิสิตปี 1 คุณสุทธิชัย เห็นข้อความรับสมัคร proof reader กับ subeditor ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ มีคุณสมบัติขั้นต่ำต้องจบปริญญาโทหรือมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี คุณสุทธิชัยอยากทำงานในฝันนี้มากและรู้ดีว่าถ้าส่งใบสมัครไปธรรมดาก็จะไม่มีทางได้ทำงานแน่เพราะสู้คนอื่นที่มีคุณสมบัติตรงไม่ได้
คุณสุทธิชัยเลยตัดสินใจเดินทางไปหาบรรณาธิการที่โรงพิมพ์ ไปขอคุยด้วย ถูกเลขายื้อไม่ให้พบเพราะไม่ได้นัดไว้ พอดีบรรณาธิการซึ่งเป็นชาวต่างชาติมองทะลุกระจกเห็นเขายืนเถียงกับเลขา เลยสงสัยและเรียกตัวให้เข้ามาคุย คุณสุทธิชัยเลยบอกว่ามาสมัครงาน บรรณาธิการก็ไล่ให้ไปกรอกใบสมัคร คุณสุทธิชัยก็บอกว่าคุณสมบัติไม่ถึง แต่ “ตื๊อ” ขอให้เทสต์พิสูจน์ความสามารถให้ดู
บรรณาธิการคงรำคาญและกำลังต้องไปประชุม เลยให้คุณสุทธิชัย “ลอง” เขียนข่าวดู พอบรรณาธิการกลับมาก็ยังเห็นเด็กที่ชื่อสุทธิชัยนั่งรออยู่พร้อมงานที่พิมพ์เสร็จ ไม่ยอมกลับไปง่ายๆ และตื๊อต่อด้วยความอยากทำ พร้อมที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง และบอกด้วยว่าเคยเขียน letter to editor และยื้อให้บรรณาธิการดู ซึ่งก็เพิ่งลงในฉบับที่อยู่ในห้องพอดี
บรรณาธิการคงเห็นความตั้งใจ พร้อมจะเรียนรู้ การ “ตื๊อ” ที่ไม่หยุดพร้อมทักษะที่พอใช้ได้ คุณสุทธิชัยเลยได้เดินเข้าประตูแห่งโอกาสบานแรกจนกลายเป็นนักหนังสือพิมพ์ในตำนานจนปัจจุบัน
.....................
ประตูที่แทบจะไม่เคยเปิดให้กับผู้ด้อยโอกาส ดูเหมือนจะถูกไขได้ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า ความไม่มีอะไรจะเสีย ความกล้าหาญที่ยอมทำในสิ่งที่คนมีโอกาสดีไม่ทำ ความไม่มีทางเลือกได้แต่ลองเดินหน้าต่อ เป็นกุญแจที่สองท่านนี้ไขให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่แรงที่จะก้าวขาข้ามประตูไปสู่โลกใหม่ก็ไม่ใช่ง่ายเช่นกัน ความขยันอดทนที่ถูกสั่งสม ทักษะที่ถูกฝึกฝนมานับหมื่นชั่วโมง ก่อนหน้าโอกาสจะมาถึงจึงทำให้ทั้งสองท่านพร้อมเมื่อประตูนั้นเปิดออก
มีคนเคยบอกว่า คำว่าโชคนั้นจริงๆแล้วประกอบด้วยคำสองคำที่อยู่ด้วยกัน คำแรกคือ “โอกาส” และอีกคำหนึ่งก็คือ “การเตรียมพร้อม” เมื่อมีสองอย่างนี้มาบรรจบกัน โชคดีจึงจะเกิดขึ้นได้
อย่างเช่นผู้โชคดีสองท่านที่เล่ามาในวันนี้
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=104371211028588&id=101815121284197