Hyperactivity
เอะอะก็สมาธิสั้น ตกลงลูกเราแค่ซน ดื้อ ไม่ตั้งใจ หรือเป็นโรคสมาธิสั้นกันแน่
..........................................................
จริงๆ ผมรู้สึกมานานแล้วนะครับ เพราะเวลาที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ
คุณครู หรือกลุ่มผู้ปกครอง ก็มักจะมีประเด็นของเรื่อง - - สมาธิสั้น - -
ขึ้นมาถกกันอยู่เสมอ เด็กคนนั้นก็สมาธิสั้น เด็กคนนี้ก็สมาธิสั้น จนผมงงว่า
- - ทำไมเด็กที่สมาธิสั้น นี่มีเยอะกันขนาดนี้เชียวหรือ - -
จนผมต้องตั้งข้อสังเกตว่า เด็กสมาธิสั้นมีจำนวนมาก หรือว่า "ที่มาก คือ เด็กที่ถูกกล่าวหา และตีตราว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้วเขาเป็นเพียงเด็กซน (หรือว่าดื้อ หรือแค่ไม่ตั้งใจเรียน) หรือเปล่า" ผมเคยคุยกับคุณครูท่านหนึ่ง แล้วผมรู้สึกตกใจมากๆ เพราะคุณครูท่านนั้นให้ความเห็นว่า - - เด็กในห้องเรียนที่เขาดูแล เขาเชื่อว่ามากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นเด็กสมาธิสั้น - - ผมก็ได้แต่นั่งตั้งคำถามอยู่ในใจว่า "ตกลงมากกว่าครึ่งเป็นเด็กสมาธิสั้น หรือว่ามากกว่าครึ่ง กำลังถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นกันแน่" เด็กสมาธิสั้นนั้นเป็นง่าย หรือมีมากมายขนาดนั้นจริงๆ หรือ
จนผมได้อ่านข่าวๆ นี้ แล้วตามรายงานพบว่า "มีเด็กอยู่ไม่น้อยนะครับ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เขาเป็นเพียงเด็ก เด็กซน เด็กดื้อ เด็กที่ไม่ตั้งใจ เท่านั้น ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรม และการใช้กติกาในการฝึกนิสัย แต่พวกเขากลับถูกถูกผลักให้ให้กลายเป็นคนป่วย http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/2241791/Children-labelled-hyperactive-really-just-naughty.html ข่าวๆ นี้ ได้รายงานถึงการวิจัย ที่เป็นการวิจัยอย่างละเอียด โดยมีการนำเอาเด็กจำนวน 52 คน ที่ถูกครูคัดกรองเบื้องต้น และเชื่อว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น เมื่อได้รับการทดสอบอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาเด็กเป็นระยะเวลากว่า 1 ปี กลับพบว่ามีเด็กเพียง 6 คน เท่านั้นครับ คือ จากเด็กที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นทั้งหมด มีเพียง 11.5% เท่านั้นที่เป็นเด็กสมาธิสั้นจริงๆ แล้วอีก 88.5% ล่ะครับ ...
จริงๆ แล้วการจะสรุปว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กสมาธิสั้นแน่ๆ บางครั้งนี่ต้องติดตามอาการสักระยะหนึ่งก่อนนะครับ คุณหมอจึงจะสรุปได้ บางทีแค่พาไปพบคุณหมอครั้งแรก คุณหมอยังไม่กล้าลงความเห็นชี้ชัดเลยนะครับ บางทีคุณหมอสองท่าน ก็มีความเห็นแตกต่างกันก็มี ดังนั้น หากสงสัยว่าลูก หรือเด็กคนไหนเข้าข่ายที่จะเป็น "เด็กสมาธิสั้น" การพาลูกไปพบแพทย์ และติดตามอาการสักระยะ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ อย่าไปกล่าวหาเด็กโดยทันทีทันใดเลยครับว่าเด็กคนนั้นคนนี้เป็นเด็กสมาธิสั้น
อย่างข่าวๆ นี้น่าตกใจมากครับ คือ นับตั้งแต่ปี 2007 จนถึงปี 2013 (ุ6 ปี) ปรากฎว่ามีการจ่ายยา Ritalin ซึ่งเป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการสมาธิสั้น เพิ่มขึ้นถึง 56% จนผู้เชี่่ยวชาญต้องออกมาเตือนครับว่า - - เรากำลังผลักให้เด็กซน หรือเด็กที่พวกเขามีปัญหาด้านพฤติกรรม เป็นเด็กที่ป่วยหรือเปล่า - - (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.independent.co.uk/life-style/health-and-families/features/the-irresistible-rise-in-adhd-diagnoses-hyperactive-or-just-hype-8775164.html) และผู้เชี่ยวชาญก็ได้ให้ความเห็นว่า - - เราตัดสินใจใช้ยาเร็วเกินไปหรือเปล่า เรากำลังใช้ยากับเด็กที่แค่ซนหรือเปล่า เราได้พยายามในวิธีการอื่นๆ ก่อนที่จะใช้ยาหรือเปล่า - - ซึ่งคุณหมอท่านหนึ่งได้เคยพูดแบบติดตลกว่า "คุณแม่ชอบลูกซน หรือชอบลูกซึม" มันก็น่าคิดดีนะครับ
คือ ผมยอมรับครับว่า ในสังคมเรามีเด็กที่เป็นเด็กสมาธิสั้นจริงๆ ครับ จากสถิติเชื่อว่ามีประมาณ 1.7% ของเด็กทั้งหมด (แต่ในรายงานในประเทศไทยโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ระบุว่ามีประมาณ 3-5% ครับ http://www.smartteen.net/attention_deficit_detail.php?id=7) และถ้าแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าเด็กคนดังกล่าวนั้นเป็นเด็กสมาธิสั้นจริงๆ และคุณพ่อคุณแม่ก็ได้พยายามใช้วิธีการต่างๆ มาควบคุมอาการแล้ว แต่ไม่สำเร็จ การใช้ยา ก็น่าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิ
ภาพ และเหมาะสมที่สุดน่ะครับ (ผมย้ำนะครับว่า ผมไม่ได้บอกว่า เด็กสมาธิสั้น
ที่เป็นจริงๆ นั้นไม่ต้องรักษา ไม่ต้องใช้ยา แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ
เด็กที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็น แต่ถูกหาว่าเป็นนี่ล่ะครับ)
แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมได้อ่านทานมาทั้งหมด (http://www.effectiveparenting.co.za/article_adhd_or_just_plain_naughty.htm และ http://apps.qlf.or.th/member/UploadedFiles/prefix-07082557-052702-5j1LR1.pdf และ http://apps.qlf.or.th/member/UploadedFiles/prefix-07082557-052703-5m1RcC.pdf) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ผมขออนุญาตแนะนำ จุดที่ทำให้ฉุกคิดว่า ลูกของเรานั้นแค่ซน แค่ดื้อ แค่ไม่ตั้งใจ หรือว่าเป็นเด็กสมาธิสั้นกันแน่ ดังนี้ครับ
1) ลูกทำการบ้าน หรือนั่งทำแบบฝึกหัด แล้วไม่ค่อยตั้งใจ ชอบลุกไปเล่น มัวแต่ทำอย่างอื่น
- ถ้าคุณพ่อคุณแม่ กำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น ใน 1 ชั่วโมงให้ทำ 5 ข้อนี้ให้เสร็จ แล้วเขาทำเสร็จได้ ก็ไม่น่าจะห่วงนะครับ
- ถ้าคุณพ่อคุณแม่ กำหนดกติกาว่า ให้ทำแบบฝึกหัดให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปเล่นได้ แล้วเขาทำตาม เชื่อฟัง ก็ไม่น่าจะเป็นห่วงนะครับ
- บางทีการสั่งให้ลูกทำแบบฝึกหัดหลายๆ ข้อ มันก็น่าท้อใจในะครับ ถ้ากำหนดจำนวนข้อให้น้อยลงมา เช่น ทำ 3 - 5 ข้อ แล้วให้พักทีหนึ่ง แล้วลูกทำได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหานะครับ
- แต่ถ้าทำข้อเดียว เขียนบรรทัดเดียว ก็หันไปทำอย่างอื่นแล้ว
ต้องเตือนถึงจะกลับมาทำต่อ พอทำอีกสักบรรทัด ก็หันไปทำอย่างอื่นอีกแล้ว
ถ้าเป็นอย่างนี้ น่าจะต้องติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปรึกษาแพทย์นะครับ
- แม้แต่นั่งเล่นอะไรกันบางอย่าง ยังไม่มีสมาธิ อันนี้ก็น่าจะต้องติดตามดูอาการเช่นกันครับ
2) ลูกค่อนข้างพูดมาก โม้เก่ง
- คือ ถ้าเขาโม้กับคนที่เขารู้จัก นี่ไม่น่าจะต้องกังวลมากนักครับ
- แต่ถ้าลูกโม้เก่ง พูดมาก พูดไม่หยุด แม้แต่กับคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก อันนี้น่าจะต้องติดตามพฤติกรรมสักระยะครับ
3) ชอบแซงคิว ชอบแย่งพูด อันนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีการซัก
ซ้อมกติกา กันชัดเจน เช่น ต้องต่อแถว ใครยกมือก่อนถึงได้ตอบ
แล้วเขาทำตามกติกา ก็ไม่น่าจะเป็นห่วงนะครับ แต่ถ้าทั้งๆ
ที่เพิ่งซักซ้อมกติกาแล้วแท้ๆ เขาก็เข้าใจรับคำโดยดี แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ยังแซงคิว แย่งคนอื่นพูด แย่งคนอื่นตอบ อันนี้ก็น่าจะต้องติดตามดูอาการต่อสักระยะครับ
4) การที่เด็กจะชอบวิ่งมาแย่งของที่ตนเองอยากได้ เช่น เวลาที่ครู หรือคุณพ่อคุณแม่บอกว่า ใครมาถึงก่อนได้ก่อน อันนี้นี่เป็นเรื่องธรรมดานะครับ แต่ถ้าเด็กวิ่งเข้ามาเพื่อหวังจะได้ของที่ตนเองอยากได้ โดยที่ไม่สนใจสิ่งกีดขวางเลย เรียกได้ว่าไม่กลัวเจ็บ ไม่กลัวจะเป็นแผลเลยอ่ะครับ ประมาณว่าถ้าอยากได้นี่พร้อมวิ่งชนโต๊ะ ชนเก้าอี้ เหยียบของบนพื้นทุกอย่าง เพื่อลุยเข้ามาเอาของที่ตนเองต้องการเลยครับ ถ้ามีพฤติกรรมลักษณะนี้ น่าจะต้องติดตามดูอาการสักระยะนะครับ
5) การที่เด็กจะไม่พอใจ แล้วมีอาการโกรธ ไม่พอใจ จริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กทุกคนน่ะครับ ถ้าโกรธนาย A ก็ต่อว่า A เข้าไปตี หรือทำร้าย หรือต่อสู้กับ A อันนี้ เบื้องต้นน่าจะเป็นนิสัยเกเรา ที่ต้องอบรมบ่มนิสัยกันครับ แต่ถ้าไม่พอใจ A ทะเลาะกับ A ทั้งๆ ที่ถูกจับแยกมาแล้วแท้ๆ ยังขว้างปาข้าวของ ทำร้ายคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ A หรือพอเวลาผ่านมาสักพักหนึ่งแล้ว หายโกรธแล้ว แต่อยู่ดีๆ ก็โกรธขึ้นมาอีก พอเจอนาย A ก็เข้าไปทำร้าย A อีก ถ้าเป็นอย่างนี้ นี่ต้องติดตามดูพฤติกรรมสักระยะเช่นเดียวกันครับ
จาก 5 ข้อข้างต้นนี้ เป็นเพียง Guideline เบื้องต้นเท่านั้นนะครับ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัย ว่าลูกจะเป็นเด็กสมาธิสั้นจริ
งๆ ผมคิดว่าควรจะไปพบคุณหมอ หรือผู้เชี่ยวชาญ (อาจจะไปขอความเห็นสัก 2 - 3
ความเห็นก็ดีครับ รวมทั้งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ พยายามติดตามดูอาการ
และพฤติกรรมสักระยะครับ และพยายามใช้กติกา ในการแก้ไขปัญหาก่อน
ที่จะตัดสินใจใช้ยาน่ะครับ)
นอกจการการใช้ "การตกลงกติการ่วมกัน" แล้ว จริงๆ ถ้าเราพบว่าลูกไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน "กีฬา" นี่ช่วยได้มากนะครับ มีงานวิจัยยืนยันนะครับว่า "กีฬา" ช่วยบรรเทาอาการสมาธิสั้นได้อย่างมีนัยสำคัญครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.theatlantic.com/health/archive/2014/09/exercise-seems-to-be-beneficial-to-children/380844) แต่อย่างไรก็ตามเราต้องเลือกกีฬาให้เหมาะๆ ครับ ซึ่งมีแนวคิดง่ายๆ ในการเลือกกีฬา ดังต่อไปนี้ครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://www.everydayhealth.com/adhd/best-sports-for-children-with-adhd.aspx)
1. ถ้าเลือกกีฬาที่เล่นเป็นทีมได้นี่จะดีกว่าครับ และควรเลือกกีฬาที่เด็กต้องเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล แต่ถ้าเป็นกีฬาที่ต้องผลัดกันเล่นเป็นรอบๆ อย่ากอล์ฟ เปตอง อย่างนี้ไม่เหมาะครับ ถ้าเป็นแบดมินตัน หรือปิงปอง ก็ต้องมีการกำหนดแต้มให้ยาวเสียหน่อยครับ ถ้าเล่นแบบลูกเดียวออก แบบนี้ไม่เหมาะครับ
2. เอาว่าให้เขาลองเล่นดูครับ เลือกกีฬาที่ขอบชอบ
3. พยายามให้เขาเล่นกับเพื่อนที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ถ้าให้เขาเล่นกับคนที่เก่งกว่ามากๆ เขาจะยิ่งเครียด
4. ถ้าลูกไม่พร้อมที่จะยอมรับกับผลของการแข่งขัน ที่ต้องแพ้บ้าง ชนะบ้าง ก็อาจจะเปลี่ยนชนิดกีฬาที่ไม่ต้องแข่งขันครับ เช่น การวิ่ง การขี่จักรยาน แต่จริงๆ แล้ว ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามปลูกฝังให้เขามีน้ำใจนักกีฬานะครับ คือ ถ้าเวลาที่เขาแพ้ แล้วแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผมคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ควรค่อยๆ อธิบายให้เขาเข้าใจครับ
- เพื่อนเขาชนะเรา ภายใต้กติกาหรือเปล่าลูก ถ้าใช่ เราก็ต้องยอมรับ
- ที่เราหาว่าเพื่อนเขาโกงเรา เพื่อนเขาตั้งใจโกงเราหรือเปล่า
- ถ้าเราชนะด้วยการโกง เราก็ไม่ภูมิใจใช่ไหม ตกลงเราภูมิใจที่เราใช้ความพยายามในการชนะคู่แข่งขัน หรือเราภูมิใจที่เราโกงคู่แข่งขันได้
- ถ้าเราต้องการที่จะชนะอย่างเดียว งั้นคราวต่อไป เราเล่นแต่กับเฉพาะกับเพื่อนที่เพิ่งหัดเล่นดีไหม เราจะได้ชนะลูกเดียว
- - ผมว่าคำถามแบบนี้ มันจะช่วยให้เขาฉุกคิดได้ครับ และพอเขาเริ่มคิดได้แล้ว ก็ปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเองสักพัก ผมเชื่อว่าเขาเข้าใจครับ แต่อาจจะต้องให้เวลาเขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และทำใจยอมรับสักพัก ไม่ต้องไปคาดคั้นหรอกนะครับว่า อธิบายเดี๋ยวนี้ เขาต้องเข้าใจเดี๋ยวนี้ - -
สุดท้ายผมขออนุญาตสรุปว่า เด็กสมาธิสั้นที่พบว่าเป็นแน่ๆ
นั้นควรได้รับการรักษา และดูแลจากแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญครับ
แต่เด็กที่แค่ซน แค่ดื้อ แค่เกเร แค่ไม่ตั้งใจ ไม่ควรจะถูกเหมารวมว่าเป็นเด็กสมาธิสั้น เราควรจะใช้กติกาในการควบคุม และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นก่อนครับ ไม่ใช่ผลักให้เขาเป็นคนป่วยโดยบอกว่าเขาเป็น "เด็กสมาธิสั้น"
ที่มา https://www.facebook.com/education.facet/photos/a.647133688691903.1073741828.647067172031888/921359521269317/
No comments:
Post a Comment