#ชมให้เท่ากับตำหนิ
จากประสบการณ์ในห้องตรวจ หมอพบว่ามักจะมีคุณพ่อคุณแม่หลายคู่ที่เมื่อเล่าถึงปัญหาต่างๆของลูกให้หมอฟังจนหมดสิ้นแล้ว ก็มักจะปรึกษาหมอต่อว่า ทำอย่างไรลูกจึงจะมีความมั่นใจในตนเอง รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
ว่าแล้วก็หันไปบอกลูกด้วยสีหน้าคาดคั้นว่า "คนเราต้องรู้จักมั่นใจในตัวเอง รู้มั๊ยลูก!"
ซึ่งหมอชอบถามคุณพ่อคุณแม่ว่า "แล้วคุณแม่เห็นอะไรในตัวเขา ที่คิดว่าเป็นเรื่องน่าภูมิใจ หรือน่าชื่นชมบ้างคะ"
พ่อแม่บางคนนั้นก็สามารถที่จะตอบสิ่งดีๆอันน่าภูมิใจหลายอย่างของลูกได้ในทันที
แต่เมื่อถามต่อว่า แล้วเคยบอกลูกให้รู้มั๊ยว่าพ่อแม่รู้สึกภูมิใจในตัวเขาด้วยเรื่องนี้
คำตอบที่หมอมักจะได้คือ “ไม่เคย” ค่ะ
ส่วนพ่อแม่บางคนก็หยุดคิดไปนาน.......และบอกว่านึกไม่ออก
หมอก็จะพยายามเสริมให้ว่า สิ่งดีๆที่หมอเห็นในตัวลูกคุณแม่ในครึ่งชม.ที่เราคุยกันนี้ คือ....... (มีทุกคนแน่นอนค่ะ บางคนเยอะด้วย) ซึ่งปฏิกิริยาของคุณแม่หลายๆคนก็คือ ตาเป็นประกาย "จริงด้วยค่ะหมอ"
แล้วหลังจากนั้นเราก็มักจะนั่งคุยกันถึงสิ่งดีๆในตัวลูกกันอีกยาว
สิ่งหนึ่งที่หมอมักจะเจอบ่อยๆในห้องตรวจ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่สนใจมองแต่ส่วนที่เป็นปัญหาของลูก จนบ่อยๆเข้าปัญหานั้นมันก็ดูใหญ่ขึ้น(ในความรู้สึกคนมอง)จนบดบังคุณสมบัติอื่นๆที่ดีของลูกไปหมด แล้วพ่อแม่ก็เผลอสรุปว่า
ลูก = ไม่รับผิดชอบ
ลูก = ไม่ได้เรื่อง
ทั้งที่จริงแล้ว ลูกนั้นมีทั้งนิสัยที่ดี และ ไม่ดี ในหลายแง่มุมซึ่งก็อาจจะไม่ต่างไปจากคนเป็นพ่อแม่เอง
พูดให้ถูกต้อง อาจเป็นว่า ลูก = ทำงานช้า + สมาธิสั้น + มีน้ำใจ + มีความคิดสร้างสรรค์ + เตะฟุตบอลเก่ง ก็เป็นได้ค่ะ
และการที่พ่อแม่เผลอตีตราลูกด้วยปัญหาของเขา บ่อยๆเข้าก็ทำให้ลูกคิดว่าตัวเองเป็นเช่นนั้นจริงๆ และ ก็มักจะละเลยสิ่งๆดีที่ตนเองมีอยู่ไปตามมุมมองของพ่อแม่
แล้วแบบนี้จะบังคับให้มั่นใจในตนเองอย่างไรไหวล่ะคะ
การบ้านที่หมอชอบเสนอให้คุณพ่อคุณแม่ลองกลับไปทำ มีแค่อย่างเดียวค่ะ นั่นคือ ทุกเย็นให้ทบทวนว่าวันนี้ดุ/บ่น/ตำหนิลูกไปกี่ครั้ง กี่เรื่อง ก็ให้ชมลูกคืนไปให้จำนวนครั้ง จำนวนเรื่อง เท่ากันหรือมากกว่าค่ะ
อย่าได้กลัวว่าลูกจะเหลิง หากคุณแน่ใจว่าคุณชมในสิ่งที่ดีจริงๆและไม่ได้ชมเกินจริง รวมทั้งคุณก็ยังคงเตือนเขาในเรื่องที่มีปัญหาควบคู่ไปด้วย
อย่าคิดว่าลูกที่สีหน้าดูเฉยๆไม่ยินดียินร้าย จะไม่ชอบคำชมนะคะ เด็กวัยรุ่นบางคนฟอร์มเยอะ แม้ปากจะบอกว่าไม่สนใจคำชม แต่จริงๆแล้วคำชมนั้นเหมือนน้ำทิพย์ชะโลมใจเขาทีเดียวค่ะ
ในความเป็นจริงแล้ว คำชมอาจไม่สามารถหักล้างกับคำบ่นได้ แต่อย่างน้อย ลูกก็จะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ได้มองเขาแค่ด้านลบเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกดีขึ้น
แถมเมื่อลูกเห็นว่า "ถ้าทำดี แม่ก็เห็น" ลูกก็จะมีแรงใจในการปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัญหามากขึ้นด้วย
และแน่นอน ความสามารถในการยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น รู้จักข้อดีและข้อเสียและยอมรับตัวตนของตนเองได้ ก็คือบันไดที่สำคัญขั้นหนึ่งของการสร้างความภาคภูมิใจในตนเองค่ะ
หมอก้อย
No comments:
Post a Comment