หมอไปงานวันเกิดลูกของเพื่อนสนิทมาค่ะ เพื่อนมีลูกสองคน วันนี้เป็นวันเกิดของลูกชายคนโตอายุ 6 ปี
เรื่องมีอยู่ว่า...
หลังจากแกะของขวัญ ลูกชายคนเล็กที่อายุ 3 ขวบกว่าๆ ก็มาเลยค่ะ
ร้องโวยวายว่าทำไมไม่มีของขวัญของเค้ามั่ง และเริ่มเข้าไปแย่งรถยนต์คันใหญ่ของขวัญวันเกิดของพี่
หมอเลยได้แอบเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วยความสนใจ
พ่อ...ผู้ช่วยคนแรก พอเห็นน้องร้องก็มาด้วยประโยคคลาสสิค "แบ่งให้น้องหน่อย เราเป็นพี่นะ ของขวัญมีตั้งหลายชิ้น"
น้องก็เลยได้ใจเดินไปหยิบของพี่ พี่เลยเกิดโมโห ตะโกนลั่นแย่งของกลับมา ชุลมุนชุลเก ไม่ยอมให้
ผู้ช่วยคนที่สองก็โผล่มาค่ะ...
น้าของเด็กๆ...
"เอ้านี่ ไม่ต้องแย่งกัน น้าซื้อของขวัญมาให้เด็กๆ ทุกคนเลย" แล้วน้าก็หยิบของขวัญ 2 ชิ้นมาให้เด็กๆ ทั้งสองคน พร้อมบอกว่า "ดีนะเนี่ย กะแล้วว่าอีกคนจะเสียใจ เลยซื้อมาให้ด้วย" น้องคนเล็กก็แกะของขวัญออก พอพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็เดินกลับไปแย่งของพี่
ผู้ช่วยคนที่สามก็ตามมา... คุณปู่ของเด็กๆ
"เนี่ยเห็นมั้ยน้องร้อง ให้น้องไปก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้ปู่ซื้ออันใหม่ให้ เอาให้ใหญ่กว่าเดิมอีก"
คุณปู่เข้ามาติดสินบนด้วยข้อเสนอเย้ายวนใจ กะว่าจะได้หยุดปัญหาหลานคนเล็กร้อง แต่..ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากหลานคนโต
เด็กชายเจ้าของวันเกิดยังคนโวยวาย "ไม่ให้ๆๆๆ" และเริ่มเอามือผลักอกน้องคนเล็กให้ออกไป
เมื่อดูจะหมดหนทาง ทุกคนก็หันมาหาผู้ช่วยคนที่สี่ "หมอ" T-T T-T
หมอเอาเหตุการณ์จริงนี้มาเล่าให้ฟัง เพราะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างต้องเคยเล่นบทบาทใดบาทบาทหนึ่งของผู้ช่วยทั้งสี่มาก่อนแน่ๆ
ซึ่งถ้าได้อ่านเรื่อง "เรื่องเล่าจากบ้านบอล" คุณพ่อคุณแม่คงนึกออกนะคะ ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ
"การพยายามละเมิดสิทธิของคนพี่" เพื่อแก้ปัญหาเสียงร้องของคนน้อง
"ด้วยการตามใจ"
ประโยคที่คุณพ่อพูดว่า "แบ่งให้น้อง เราเป็นพี่" นี่เป็นประโยคคลาสสิคที่ทำร้ายจิตใจพี่ๆทุกคน และหลายครั้งเป็นต้นเหตุของปัญหา "พี่ไม่ชอบขี้หน้าน้อง"
การเอาของมาแจกทุกคนของคุณน้าเท่าๆกัน เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหา...หมอมองว่าเรากำลังสอนเด็ก... "ถ้าได้ต้องได้เหมือนกัน" ซึ่งนั่นจะยิ่งนำมาซึ่งปัญหาในการเลี้ยงดู
เพราะในความเป็นจริง พี่น้องไม่ควรต้องได้ของทุกอย่างเหมือนกันทุกครั้ง
การขายฝันติดสินบนของปู่ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พ้นๆ ยิ่งทำให้เกิดเงื่อนไข
"ต่อไปของๆใครชั้นก็จะไปแย่ง" "ก็ซื้ออันใหม่ให้เค้าไปซี้"
จริงๆปัญหานี้แก้ง่ายนิดเดียวค่ะ...
"ทำในสิ่งที่ถูกต้อง"
"ใครไม่พอใจก็มีหน้าที่เรียนรู้และฝึกจัดการกับอารมณ์ของตนเอง"
หมอเข้าไปหาน้องค่ะ แล้วบอกสั้นๆว่า
"วันนี้วันเกิดของพี่ ของขวัญเป็นของพี่นะครับ ไม่ใช่ของเรา"
"ถ้าอยากจะได้ต้องขอและต้องรอให้พี่อนุญาตก่อน"
น้องก็หันไปขอค่ะ พี่ที่อารมณ์เสียอยู่ก็ไม่ยอมให้ แหม...มาถึงจุดนี้ละ อารมณ์มันขึ้นนนน แพ้ไม่ได้ 5555
น้องก็โวยวายร้องจะเอาให้ได้
หมอเลยจับน้องแยกออกมาให้นั่งสงบตรงบันได (คล้าย timeout เล็กๆ)
แล้วบอกว่า "น้ารู้ว่าหนูเสียใจ หนูร้องไห้ได้ครับ แต่ไปแย่งของพี่ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของเรา"
"หนูนั่งให้ตัวเองสงบตรงนี้ก่อน หนูหยุดร้องไห้เมื่อไหร่เดี๋ยวเราค่อยไปเล่นกันนะลูก"
เด็กชายก็แหกปากตะเบ็งเสียงกว่าเดิมค่ะ
หมอส่งสายตาบอกทุกคนว่าห้ามขยับให้เฉยๆไว้ อดทนๆๆไว้ค่ะ
"ใครอดทนกว่ากัน คนนั้นชนะ!"
หมอกอดเค้าบอกว่า "น้ารู้ว่าหนูคุยรู้เรื่อง หนูเก่งแล้ว ตอนนี้หนูแค่อารมณ์ไม่ดี หนูอารมณ์ดีหยุดร้องไห้แล้วเดี๋ยวเราค่อยไปเล่นกัน"
"ถ้าอยากจะเล่นรถ ลองไปขอ"เล่นกับพี่" เค้าอีกทีก็ได้ แต่ต้องหยุดร้องไห้ก่อนครับ"
แล้วหมอก็นิ่งๆอยู่ตรงนั้น เด็กชายคนนั้นก็ร้องไห้อีกพักนึงค่ะ แต่พอรู้ว่า"ร้องไปก็เท่านั้น" ไม่ได้อะไร ก็เริ่มหยุดในเวลาอีกไม่นาน
หมอชมเค้าว่าเก่งมาก และชวนไปเล่นอย่างอื่น พออารมณ์ดี ก็พาเค้าไปขอพี่ดีๆ ซึ่งคราวนี้พี่ก็ยอมให้ ด้วยความเต็มใจที่ดีกว่าเดิม
หมอเอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่ออยากจะบอกว่า
1. อย่าละเมิดสิทธิเด็กอีกคน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กอีกคนให้พ้นๆไป เพราะเรากำลังจะสร้างปัญหาใหม่ "ให้กับเด็กทั้งสองคน"
2. อย่าเลี้ยงพี่น้อง ให้มีเงื่อนไข "ต้องได้เหมือนกัน" เพราะนั่นไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง
3. เด็กที่เอาแต่ใจแล้วโวยวาย "มีหน้าที่จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง"
4. อย่ากลัวเสียงร้องไห้ เด็กร้องไห้ ไม่ใช่ปัญหา แต่ "ร้องแล้วได้" จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยิ่งแก้ยาก
5. ให้รู้ว่าทุกครั้งที่ปล่อยลูกร้องไห้ แต่ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ถูกต้อง "นั่นคือการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีมากแล้ว"
ที่มา
https://www.facebook.com/takekidswithus/photos/a.1383891795261502.1073741829.1383393308644684/1423350467982301/?type=3
No comments:
Post a Comment