Frikkie Lubbe เป็นนักกสิกรรมของบริษัทเบียร์เซาท์แอฟริกา (South Afican Breweries) หน้าที่หลักของเขาคือ คอยดูแลและให้คำปรึกษาแก่เครือข่ายเกษตรผู้ปลูกข้าวบาร์เลย์ เพื่อส่งให้บริษัทฯ นำไปสกัดเป็นมอลต์ต่อไป
นอกเหนือจากงานประจำพวกนี้แล้ว ในทุกๆปี บริษัทฯจะมอบหมายภารกิจให้แก่เขา ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกการพัฒนาคุณภาพและผลผลิต เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง
ในปี 2010 บริษัทฯมอบหมายภารกิจให้ Lubbe สองข้อ คือ
1. บริษัทฯ ต้องการที่จะผลิตเบียร์ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้น Lubbe ต้องหาทางพัฒนาให้ข้าวบาร์เลย์มีคุณภาพที่ดีขึ้น
2. บริษัทฯ ต้องการทำ CSR ให้กับสังคม โดยตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณน้ำที่ใช้ปลูกข้าวบาร์เลย์ลง 10 เปอร์เซนต์ (ปกติแล้ว การปลูกข้าวบาร์เลย์เพื่อจะนำมาทำเบียร์ 1 ลิตร จะต้องใช้น้ำประมาณ 155 ลิตร)
เพราะฉะนั้น ความท้าทายของ Lubbe ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ข้าวบาร์เลย์มีคุณภาพดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้น้ำลดลง 10 เปอร์เซนต์ด้วย
เมื่อบริษัทฯให้ภารกิจมา ยังไงก็ไม่มีทางเลือก เขาจึงตอบตกลง ทั้งๆที่รู้ว่าลำพังแค่จะให้ลดการใช้น้ำอย่างเดียว 10 เปอร์เซนต์ ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆแล้ว นี่ยังต้องมาดูถึงการเพิ่มคุณภาพอีก
ถึงตรงนี้ อยากให้ท่านผู้อ่านหยุดคิดสักนิดนะครับ ว่าหากท่านได้รับภารกิจแบบ Lubbe ท่านจะเริ่มจากจุดไหนก่อน
.
.
.
ผ่างงงง……… สิ่งแรกที่เขาทำคือ เดินครับ เดินออกนอก Office ไปลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเขาคิดว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งคิดคนเดียว ยังไงหลายหัวก็ดีกว่าหัวเดียวอยู่แล้ว เขาจึงเรียกเกษตรในเครือข่ายทุกคนที่ส่งข้าวบาร์เลย์ให้บริษัทฯ มาประชุม แล้วถามคำถามกับเกษตรกรทั้งหมดว่า
“ในที่นี้ ใครเคยมีประสบการณ์ในการถูกจำกัดน้ำ แต่ยังให้ผลผลิตดีบ้าง”
สิ้นเสียงคำถาม ชาวนาคนหนึ่งยกมือขึ้นแล้วบอกว่า ครับ มีอยู่ปีหนึ่ง เครื่องสูบน้ำในไร่ผมเสีย สูบน้ำไปรดนาข้าวได้น้อยมาก ทำให้ข้าวไม่เจริญเติบโต แต่เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ก็ไม่แตกต่างกับปีก่อนๆครับ
...ใช้น้ำน้อย แต่กลับได้ผลผลิตเท่าเดิม ?? คำตอบที่ได้ฟัง ทำให้ Lubbe รู้สึกประหลาดใจไม่น้อย
หลังจากนั้น เขาจึงทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้าวบาร์เลย์เพิ่มเติมจากรายงานทางวิชาการต่างๆก็พบว่า การเจริญเติบโตของข้าวบาร์เล่ย์แบ่งออกเป็น 3 ลำดับขั้น
ขั้นแรก คือช่วงหลังการหว่าน เมล็ดพันธุ์จะเริ่มพัฒนาเพื่อเตรียมการเจริญเติบโต
ขั้นที่สองคือ หลังจากที่เมล็ดพันธุ์พัฒนาเต็มที่แล้วก็จะออกเป็นลำต้นขึ้นมา โดยบนสุดของลำต้นจะมีเมล็ดข้าวเพื่อเตรียมออกเป็นรวงไว้ แต่ในขั้นนี้ จะพัฒนาแต่ลำต้นเท่านั้น ส่วนที่เป็นเมล็ดที่อยู่ด้านบนสุดจะหยุดพัฒนา
ขั้นสุดท้ายคือ เมล็ดที่อยู่ด้านบนสุดของลำต้นจะเริ่มพัฒนา จนออกเป็นรวงข้าวพร้อมเก็บเกี่ยว
เมื่อนำข้อมูลทั้งสองที่เขาได้รับมารวมกัน Lubbe จึงตั้งสมมติฐานว่า
ในการปลูกข้าว สิ่งที่เราอยากได้คือเมล็ดข้าว ไม่ใช่ลำต้น
ดังนั้น ถ้าเราให้น้ำในขั้นที่สองน้อยมากๆ แค่พอเลี้ยงให้ข้าวไม่ตาย ก็จะทำให้ลำต้นเตี้ยเพราะพัฒนาได้น้อย จากนั้นค่อยให้น้ำปกติในขั้นที่สาม
การทำให้ต้นข้าวบาร์เลย์เตี้ยจะสามารถลดอัตราการล้มของข้าวได้ ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น (ถ้าลำต้นของข้าวสูง อัตราการล้มของต้นข้าวก็จะสูงไปด้วย) อีกทั้งคุณภาพข้าวก็อาจจะดีขึ้นด้วย เพราะน้ำและสารอาหารจากดินจะถูกส่งไปที่เมล็ดข้าวด้านบนได้เร็ว ไม่ต้องผ่านลำต้นเยอะ
หลังจากตั้งสมมติฐานเสร็จแล้ว Lubbe ก็ได้เรียกเกษตรกรมาประชุมอีกครั้ง และขออาสาสมัครเกษตรกรเพื่อทดลองการปลูกพืชแบบใหม่นี้ แต่เขาไม่การันตีผลไม่สำเร็จ เพราะเขาเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน จึงขอให้ทดลองแค่ 20 เปอร์เซนต์ของพื้นที่เท่านั้น ผลปรากฎว่ามีเกษตรกรจำนวน 9 รายยอมเป็นอาสาสมัคร โดย Lubbe จะเข้ามาเยี่ยมทุกอาทิตย์เพื่อศึกษาผลลัพธ์
ผลปรากฎว่า วิธีการปลูกแบบใหม่นี้ให้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก สามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 48 เปอร์เซนต์ (จากเป้าหมายในตอนแรกแค่ 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น) คุณภาพของข้าวก็ดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็ดีขึ้นจากการลดการล้มของข้าว อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถลดต้นทุนค่าไฟลงได้ 40 เหรียญต่อ 100 เอเคอร์ จากการลดการใช้เครื่องปั้มน้ำในการสูบน้ำเพื่อใช้ในขั้นตอนที่ 2
Lubbe ถามกับเกษตรกรว่า ทำไมไม่มีใครทดลองวิธีการปลูกแบบนี้ ทุกคนต่างบอกว่า ก็ปลูกต่อๆกันมาตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะเกษตรกรในแอฟริกาใต้นั้นส่วนใหญ่ปลูกข้าวสาลีมาก่อน พอเปลี่ยนมาปลูกข้าวบาร์เลย์นั้นจึงใช้วิธีการปลูกแบบเดิมๆ ใช้น้ำเท่าเดิม ทั้งที่จริงๆแล้ว การปลูกข้าวบาร์เลย์นั้นไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมากเท่าข้าวสาลี
จากผลการทดลองของ Lubbe นี้เอง ทำให้บริษัท South African Breweries ได้บอกวิธีปลูกข้าวบาร์เลย์ใหม่นี้ให้กับเกษตรกรทั่วทั้งประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวบาร์เลย์ได้ทั้งประเทศได้เป็นอย่างมาก
.
.
สไตล์ของ Lubbe คือ เมื่อได้รับมอบหมายงานมา เขาจะน้อมรับมันอย่างสุดใจโดยไม่หาข้ออ้าง ถึงแม้งานนั้นยากและท้าทายแค่ไหนก็ตาม
เขาเริ่มจากการคิดออกจากกรอบเดิมๆ โดยการตั้งคำถามที่แตกต่าง ไม่ขลุกอยู่แต่ในบริษัทฯ ออกไปหาข้อมูลใหม่ๆ เมื่อได้ข้อมูลและตั้งสมมติฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอแล้ว ก็ทำการทดลอง โดยจำกัดความเสี่ยงในการล้มเหลว และเขาก็จะทุ่มสุดตัวในการวิเคราะห์ผลนั้น
นี่แหล่ะครับ ปัจจัยในการสำเร็จของ Lubbe
ท่านผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้นะครับ
.
.
เมื่อเจอคำถามที่ท้าทายแล้วจงเปิดใจรับมัน เชื่อเถอะครับว่าคำถามยิ่งยาก คำตอบยิ่งเปลี่ยนโลกได้มาก
เหมือนดั่งปรัชญาประจำตัวของ Howard Schultz แห่ง Starbucks ที่ได้กล่าวไว้ว่า “Always challenge the old ways”
ที่มา : https://www.facebook.com/1536715283275877/photos/a.1541486682798737.1073741827.1536715283275877/1556483324632406/
No comments:
Post a Comment