Thursday, June 11, 2015

โรคสมาธิสั้น

“ลูกเข้าข่ายสมาธิสั้นรึเปล่า” ดูจะเป็นคำถามยอดฮิตที่ผู้ปกครองหลายท่านมักจะถามจิตแพทย์ เมื่อลูกเริ่มเข้าวัยอนุบาล เนื่องด้วยวัยนี้เป็นวัยที่เด็กๆจะค่อนข้างซน (มากกกกก) จนทำให้ผู้ปกครองเกิดความกังวลว่าซนขนาดนี้จะเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit/Hyperactivity Disorder หรือ ADHD) หรือไม่

สิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบก่อน คือ โรคสมาธิสั้นนั้นมันเป็น “โรค (Disease)” นะครับ ส่วนคำว่า “ซน” “อยู่ไม่นิ่ง” “hyper” “ไม่มีสมาธิ” นั้นเป็นเพียงแค่ “อาการ (symptom) ” ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นโรค “สมาธิสั้น” เด็กๆนั้นก็จะมีอาการ ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น ฯลฯ

แต่ตรงกันข้าม หากลูกของคุณนั้น ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิ หรือ มีปัญหาหุนหันพลันแล่น แล้วละก็ อาการเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดจากโรคสมาธิสั้น แต่อาจจะเกิดจากโรค หรือ ปัญหาอย่างอื่นก็ได้ (เหมือนอาการ มีน้ำมูก นั้นอาจจะเกิดจาก โรค ไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคภูมิแพ้ ก็ได้)

และอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทราบ เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นนั้นก็คือ โรคนี้ เป็น “โรคทางสมอง” ครับ เนื่องจากว่าในปัจจุบันมีการค้นพบแล้วว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น จะมีปัญหาในระบบ “Attention system” ของสมอง (ดูรูปได้จากที่มาของบทความ)

ซึ่งระบบนี้จะทำหน้าที่ในการทำให้คนเรามีสมาธิ สามารถคุมตัวเองให้อยู่นิ่งๆได้ และ สามารถที่จะคิดให้ถ้วนถี่ก่อนที่จะทำอะไรลงไป โดยระบบนี้ถูกควบคุมด้วยสารในสมองหลักๆอยู่ 2 ตัว คือ Dopamine และ Norepinephrine

สำหรับอาการต่างๆที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นนั้น ทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการขาดสารในสมอง 2 ตัวนี้ ซึ่งมีผลให้ระบบ Attention system ในสมองของผู้ป่วยทำงานน้อยกว่าคนปกติ

จึงเป็นที่มาของการรักษาโรค สมาธิสั้นแบบตรงไปตรงมา นั่นคือ การกินยาอะไรก็ตามที่จะไปเพิ่มสาร 2 ตัวนี้ เพื่อให้ Attention system ของผู้ป่วยกลับมาทำงานได้ตามปกติ

หรือ พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ อาการของโรคสมาธิสั้นนั้น เกิดจาก “สมองไม่ทำงาน” ไม่ได้เกิดจาก ความซนตามวัย นิสัยที่ไม่ดี หรือจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม (แต่หากเลี้ยงดูไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้ครับ)

ดังนั้น การที่จะประเมินว่า เด็กคนไหน “เป็น” หรือ “ไม่เป็น” โรคสมาธิสั้นนั้น โดยส่วนตัว ผมจะไม่ได้ดูเพียงแค่ว่าเขานั้นซนแค่ไหน แต่ผมจะดูด้วยว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้อง ใช้สมาธิ ต้องอยู่นิ่งๆ ต้องควบคุมตัวเองนั้น เด็กๆสามารถทำได้รึเปล่า

โดยการพยายามมองหา พฤติกรรมที่แสดงถึงว่า “Attention system” ในสมองของเขานั้นยังทำงานอยู่ ซึ่งดูได้จากสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้ครับ (โดยอายุที่จะทำการประเมินได้ดีคือ 3 ขวบขึ้นไป หากอายุน้อยกว่านี้จะประเมินได้ยากครับ)

1.ในกลุ่มอาการด้านสมาธิ

1.1 หากลูกของคุณสามารถที่จะทำอะไรก็ตามที่ต้องใช้การวางแผน (planning) หรือ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง (Organization) ซึ่งทักษะเหล่านี้ เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้า( prefrontal cortex) ซึ่งในผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นนั้นมักจะมีปัญหา

ดังนั้นหากลูกของคุณสามารถที่จะ ตื่นนอนขึ้นมาแล้ว แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว แล้วลงมานั่งรอข้าวเช้าได้ด้วยตัวเองโดยที่คุณไม่ต้องคอย “กำกับ” หรือเขาสามารถที่จะช่วยคุณทำงานบ้านที่มีหลายขั้นตอน เช่น ล้างจาน ซักผ้า หรือ จัดตารางสอน ได้โดยที่คุณไม่ต้องคอยคุม

บอกได้เลยครับว่า เขา “ไม่ค่อยเหมือน” เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นสักเท่าไหร่ (ลืมบอกไปว่าเด็กๆจะเริ่มทำทักษะเหล่านี้ได้เองประมาณ 6 ขวบขึ้นไปครับ)

1.2 หากคุณครูที่โรงเรียนบอกคุณว่า ลูกของคุณสามารถที่จะนั่งทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จด้วยตัวเองได้ โดยถ้าเป็นเด็กอนุบาล อาจจะทำเสร็จแล้วลุกไปวิ่งเล่น หรือ นั่งทำไปส่ายก้นไป (แต่ก็เสร็จ) ก็ยังถือว่าเขาสามารถที่จะฟังคำสั่ง จดจ่อกับสิ่งที่ทำ และ ทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมายได้ ก็ถือว่าผ่านครับ

และ ยิ่ง เขาสามารถเอาการบ้านมานั่งทำที่บ้านด้วยตัวเองได้โดยที่คุณไม่ต้องนั่งเฝ้า อันนี้ถือว่าเป็น สุดยอดของผู้มีสมาธิเลยครับ

สำหรับความรับผิดชอบเรื่องการเรียน อาจจะมีเด็กบางคนที่คุณสังเกตเห็นว่า เขาสามารถที่จะทำงานได้เองเฉพาะบางวิชา (ส่วนมากจะเป็นวิชาเลข) และ ก็จะมีบางวิชาที่เขามักจะทำไม่เสร็จ เสร็จช้า หรือ เอาไปซ่อนเลยก็มี (ส่วนมากมักจะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับภาษา)

ก็ขอให้รู้ไว้เลยครับว่าเขา “ไม่น่าจะเป็น” โรคสมาธิสั้น เนื่องจากว่าเขายังสามารถที่จะมีสมาธิด้วยตัวเองได้(แม้จะเป็นบางวิชา) ส่วนสาเหตุที่เขาทำงานไม่เสร็จในบางวิชานั้นมักจะเกิดจาก โรคอื่นๆ เช่น Specific learning disorder (LD) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายโรคที่บทความต่างๆมักพูดถึงว่าคือ “สมาธิสั้นเทียม” นั่นเองครับ

1.3 ตามเกณฑ์การวินิจโรคสมาธิสั้นนั้นจะพูดถึง อาการ “ขี้ลืม” และ “ลืมของ” ดังนั้นแน่นอนครับว่า หากลูกของคุณเป็นเด็กที่ “รักษาของ” ได้ดีมาก และ “มีความจำเป็นเลิศ”

เช่น จำได้หมดว่าวันนี้ครูที่โรงเรียนสั่งการบ้านอะไรมาบ้าง หรือ เมื่อคุณสั่งให้เขาทำอะไรสัก 3 อย่างแล้วเขาจำมันได้ครบ (แต่ทำหรือไม่ทำนั้นอีกเรื่องนึงครับ) ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้เขานั้น “ไม่ค่อยเหมือน” เด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นครับ

สำหรับในตอนนี้ ผู้ปกครองท่านใดที่อ่านแล้วพบว่ามีบางข้อที่ลูกนั้นทำไม่ได้ ก็อย่าพึ่งตกใจไปครับ เพราะโรคสมาธิสั้นนี่ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ (พบได้ประมาณ 5-10 % ของประชากรเด็ก)

การสังเกตอาการในกลุ่ม ซน อยู่/ไม่นิ่ง และ หุนหันพลันแล่น

2.ในกลุ่มอาการซน อยู่/ไม่นิ่ง และ หุนหันพลันแล่น

2.1 หากลูกของคุณเป็นเด็กที่ “ขี้กลัว” โดย เฉพาะอย่างยิ่ง กลัวในสิ่งที่จะเป็นอันตราย เช่น ความสูง น้ำลึก ของร้อน ของมีคม หรือ รถที่วิ่งมาเร็วๆ ก็ขอให้รู้ไว้ครับว่า นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยได้เจอในเด็กที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น

เพราะเนื่องจากเด็กๆที่ป่วยนั้นมักจะไม่สามารถที่จะหยุดตัวเองเพื่อนึกถึงความอันตรายของกิจกรรมต่างๆ และ มักจะลงเอยด้วยการบาดเจ็บ (ซึ่งก็ไม่เคยเข็ด) อยู่เสมอ

2.2 หากลูกของคุณเป็นเด็กที่ “รอคอย” เป็น ก็ขอให้ดีใจได้เลยครับ เพราะ การที่เด็กรอคอยได้ นั้นแปลว่าเขายังมีความสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้อยู่ โดยคุณสามารถสังเกตเรื่องนี้ได้จากการที่ลูกของคุณสามารถที่จะ

2.2.1 ผลัดกันเล่นกับเพื่อนได้ (เพราะตอนที่คนอื่นเล่นอยู่นั้นเป็นเวลาที่เขาต้องรอครับ)

2.2.2 รอให้คุณพูดจบก่อนแล้วค่อยพูด (คือไม่พูดแทรกนั่นเองครับ)

2.2.3 เวลาไปห้าง หรือ ตลาด แล้วลูกของคุณอยากที่จะไปตรงอื่น เมื่อคุณบอกให้รอไปพร้อมคุณ แล้วเขารอได้ (แม้จะรอไปบ่นไปก็ถือว่ารอได้นะครับ เพราะถ้ารอไม่ได้จริงๆเมื่อ คุณหันมาเขาจะหายไปแล้วครับ)

2.2.4 ลูกของคุณสามารถที่จะต่อแถว เข้าคิว เพื่อไปทานอาหารกลางวันที่โรงเรียน หรือ เพื่อรับของแจกได้ (ถึงจะยุกยิกในแถว แต่ตราบใดยังไม่วิ่งออกมาจากแถว ถือว่ารอได้ครับ)

2.3. ถึงลูกของคุณจะซน แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาต้อง “เลิกซน” แล้วเขาสามารถที่จะหยุดซนได้ เช่น ขณะที่กำลังวิ่งเล่นกับเพื่อนอย่างเมามัน เมื่อคุณครูสั่งว่า “เอ้าเด็กๆ มาเข้าแถวเร็ว เดี๋ยวเราจะไปฟังนิทานกัน” แล้วเขาสามารถที่จะปรับ mode ของตัวเองมาเข้าแถวกับเพื่อน แล้วไปร่วมนั่งฟังนิทานกับเพื่อนได้ แบบนี้ก็ “ไม่เหมือน” ครับ

2.4 หากลูกของคุณเป็นเด็ก “ใจเย็น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเป็นเด็กที่คุมอารมณ์ตัวเองได้ดี อันนี้ก็ “ไม่ค่อยเหมือน” ครับ เพราะผู้ป่วยสมาธิสั้นส่วนใหญ่มักมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ประมาณว่า “โกรธปุ๊บ ชกเปรี้ยง” หรือ “อยากได้ปุ๊บ คว้าปั๊บ” อะไรทำนองนั้น

ขอย้ำอีกทีว่าการสังเกตอาการทั้งหมดนี้ควรเริ่มต้นที่อายุ 3 ปีขึ้นไปครับ เพราะเป็นวัยที่เริ่มมีการทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ ซึ่งจะทำให้เราสังเกตเขาได้ง่าย

สำหรับในเด็กที่อายุน้อยกว่านี้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตด้วยตัวเองได้ยากครับ และความซนในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ก็อาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆได้ เช่น จากการพูดช้า หรือ การเลี้ยงดู แนะนำว่าหากไม่แน่ใจควรพาน้องไปปรึกษาแพทย์ครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ แต่ไม่รู้จะเอาไปเขียนลงข้อไหนคือ หากคุณเห็นว่า ลูกของคุณมีอาการนั่นนี่ของโรคสมาธิสั้นเต็มไปหมด แต่อาการเหล่านั้นจะเป็นมากเฉพาะเมื่ออยู่กับ “บางคน” (โดยมากมักจะเป็นกับคุณแม่ หรือ ปู่ย่าตายายที่ใจดี) แต่ลูกมักจะกลายเป็น “อีกคน” (เป็นเด็กดี เรียบร้อย เชื่อฟัง) ในเวลาที่อยู่กับ “บางคน” เช่น คุณพ่อ, คุณครูที่ดุๆ หรือ คนที่ปรับพฤติกรรมเด็กเก่งๆ

อันนี้ก็ขอบอกเลยครับ ว่าเขา “ไม่น่าจะเป็น” โรคสมาธิสั้น แต่อาจจะมีปัญหาอื่น เช่น ดื้อ+เอาแต่ใจ ซึ่งมักจะมีอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้น เช่น รอคอยไม่ได้ เบื่อง่าย ขี้โมโห ไม่มีระเบียบวินัย โดยจะเป็นเฉพาะกับคนที่ใจดี และ ยอมตามเขาเท่านั้น ซึ่งก็จัดว่าเป็น “สมาธิสั้นเทียม”อีกแบบที่พบได้บ่อยครับ

อ้อ! ลืมบอกไปเรื่องอีกนึงครับ เนื่องจากว่ามีคุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่เข้าใจว่าลูกไม่น่าที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น โดยให้เหตุผลว่าเวลา ดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์ หรือ แท็ปเล็ตนั้น ดูเขาจะมีสมาธิจดจ่อดีมาก

อันนี้ต้องขอบอกเลยครับว่า “ไม่นับ” เพราะเนื่องจากว่า สื่ออิเล็คทรอนิกส์เหล่านั้นเป็น ภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นที่เด็กดูเหมือนจะนิ่งก็เพราะว่าเขาถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าใหม่ๆในทุกวินาทีที่เขานั่งดูมันนั่นเอง

หากลูกของท่านสามารถทำสิ่งต่างๆที่กล่าวมาได้มากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นน้อยลงเท่านั้น แต่หากคุณพบว่า มีหลายสิ่งที่ไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ เขาก็ทำไม่ได้ (แต่เพื่อนๆของเขาส่วนใหญ่ทำได้) หรือ ที่กล่าวมานั้นเขาทำไม่ได้เลยสักอย่าง ก็ยังไม่ได้แปลว่า เขานั้น “เป็นโรคสมาธิสั้นแน่แล้ว” นะครับ

แต่แปลว่า “ควรพาเขาไปพบแพทย์ “ครับ เพราะการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยการ เช็คอาการจากอินเตอร์เน็ต และ แนวทางที่ผมได้ให้ไว้ก็เป็นเพียงข้อมูลเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่นำไปประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะพาลูกไปพบแพทย์ดีหรือไม่

เพราะการที่จะวินิจฉัยว่าเด็กคนไหนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นนั้น แพทย์จำเป็นที่จะต้องประเมินตัวเด็ก และ ถามข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา เช่น อายุของเด็ก วิธีการเลี้ยงดู

และ สำคัญอย่างยิ่ง คือ ข้อมูลจากโรงเรียน (เพราะมีบางรายที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่มีปัญหา แต่ ครูที่โรงเรียนนี่เครียดจนแทบจะลาออก) และ แพทย์ยังต้องทำการประเมินด้วยว่า อาการหรือปัญหาของเขานั้น ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่โรคสมาธิสั้น

สุดท้ายนี้หากใครที่ก็ยังไม่แน่ใจ แต่เห็นว่าลูกยังอายุน้อย (ไม่เกิน 5 ปี) หรือ รู้สึกว่าปัญหาสมาธิหรือความซนของลูกยังไม่รุนแรง (เช่น ครูที่โรงเรียนไม่ได้ว่าอะไร) แล้วอยากที่จะลองปรับพฤติกรรมลูกดูก่อน ตอนหน้าผมจะขอแนะนำวิธีในการช่วยลูกให้มีสมาธิ และ มีความสามารถในการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น

ที่มา : https://www.facebook.com/Growingupnormal/photos/a.257974647717243.1073741829.257704944410880/420465158134857/

No comments:

Post a Comment