Friday, September 25, 2020

children with fear

#ความกลัวที่มีราคา

หมอไปเป็นวิทยากรงานประเทศนี้ไม่ตีเด็ก มีคุณพ่อถามขึ้นในตอนท้ายว่า 

“ถ้าเราไม่ตีลูก แล้วลูกจะกลัวเราหรอครับ”

ความเชื่อว่าลูกต้องกลัวพ่อแม่ ถูกฝังรากลึกในวัฒนธรรมการเลี้ยงดูเชิงลบ 

เราจึงเน้นการตีให้จำ ด่าให้เจ็บถึงใจ จะได้กลัวแล้วไม่ทำผิดซ้ำๆ 

ทั้งๆ ที่ความกลัว มีราคาที่เราต้องจ่ายเสมอ 

สมองของคนเราเมื่อกลัว ก็จะ 

“สู้” ซึ่งหลายครั้งหมายถึง ความก้าวร้าว ต่อต้าน ไม่ฟัง ไปจนถึงใช้ความรุนแรง (และความก้าวร้าวนั้นมักได้มาจากการเลียนแบบความรุนแรงจากพ่อแม่) 
เล็กๆ สู้ไม่ได้ พอโตขึ้นไปก็เริ่ม “เอาคืน” 

“หนี” โกหก ปกปิดความผิด เลี่ยงที่จะทำ ไม่กล้าลงมือ เพราะไม่อยากโดนกระทำด้วยความรุนแรง สะสมไปมากๆ ก็กลายเป็นคนวิตกกังวล โกหกไปวันๆ รู้สึกโลกไม่ปลอดภัย

“ยอม” เรามักจะเข้าใจว่าทำให้กลัวแล้วลูกก็ยอมโดยดี แต่เด็กที่โตมาแบบผู้แพ้ ก็สะสมความรู้สึก “ฉันไม่มีอำนาจ” “ฉันไม่มีความหมาย” “ฉันสู้เค้าไม่ได้” “ฉันไม่ดีพอ” สาเหตุของความนับถือตนเองที่ต่ำ และนำไปสู่โรคซึมเศร้า 

พ่อแม่ที่ทำให้ลูกกลัว มักจะต้องมาคอยตั้งคำถาม “ทำไมไม่เล่าให้แม่ฟัง” ทำไมต้องโกหกพ่อ” “ทำไมไม่ลองพยายามดู” “ทำไมไม่มั่นใจตัวเองเลย” 

คำถาม... ที่จริงๆ เราไม่อยากถาม

สมองที่ใช้แค่การเอาตัวรอดในการเรียนรู้ ไม่ใช่สมองที่พัฒนาไปได้ดี 

“สมองส่วนเอาตัวรอดทำงาน = สมองส่วนคิดจะปิดทำการ”

สมองส่วนคิด (executive function = EF)  ที่เราอยากให้ลูกพัฒนา จะพัฒนาได้ เมื่อเด็กเรียนรู้ด้วยความรู้สึกสงบ ปลอดภัย มีอารมณ์เชิงบวก 

อย่าเลี้ยงลูกให้ต้องกลัวเรา 

“ความกลัว” มีราคาที่เราต้องจ่ายเสมอ 

เลี้ยงลูกให้ “เคารพ” กัน 

เริ่มจากเรื่องง่ายๆ เป็น “พ่อแม่ที่น่าเคารพ”

#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน
ผู้เชื่อว่าความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ควรมีพื้นฐานจากความกลัว

No comments:

Post a Comment