Friday, September 4, 2020

345

3 เรื่องราว 4 ขอบคุณ 5 ทำไม

คุณซากุราอิ เอริโกะ อดีตผู้ฝึกอบรมพนักงานของดิสนีย์และเป็นอาจารย์สอนด้านจิตวิทยาและแนวคิดการให้บริการของดิสนีย์ เล่าเรื่องราวสนุกๆและน่าประทับใจไว้หลายเรื่องในหนังสือ “disneyland ทำอะไรทำไมใครๆก็หลงรัก” (ซึ่งผมได้ไอเดียมากมายและคงเอามาทยอยเล่าได้หลายตอน)   

หนังสือที่ดีงามเล่มนี้เป็นเรื่องของความ “ใส่ใจ” ในรายละเอียด ในผู้คน ทั้งวิธีคิดและทัศนคติ ส่วนหนึ่งในหนังสือมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับความใส่ใจอยู่สามเรื่องที่นำด้วยเลข 3 4 5 พอดีที่ทำให้ผมจำได้ง่ายๆ และน่ามาเผยแพร่ต่อ เป็นเทคนิคการคิดสามเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย

3 เรื่องราว

คุณเอริโกะบอกว่า มีงานวิจัยด้านจิตวิทยาระบุว่าความจำระยะสั้นของคนเราจะจำข้อมูลในปริมาณจำกัดได้ไม่เกินสี่อย่าง เป็น magical number เวลาจะปรึกษาหรือสอนอะไรก็ควรจะทำครั้งละ 3-4 เรื่อง

เจ้านายและสุดยอดโค้ชของผม คุณซิกเว่ เบรกเก้ ซีอีโอ เทเลนอร์ก็เคยสอนเรื่องนี้ให้ผมไว้เช่นกัน ว่าถ้าจะเล่าอะไรหรือขึ้นไปกล่าวอะไรบนเวที ให้นึกแค่สามประเด็นพอ หนึ่ง สอง สาม ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม เพราะคนจะสนใจและจำได้แค่ประมาณนั้น ซึ่งผมก็ใช้เป็นเทคนิคในการพูดในที่สาธารณะและคุยกับทีมงานมาโดยตลอด บทความนี้ที่เขียนก็ใช้เทคนิคสามเรื่องให้คนจำได้ง่ายเช่นกัน

4 ขอบคุณ 

คุณเอริโกะเล่าถึงเทคนิควิธีการ “ขอบคุณ” ให้คนจำได้นั้น ควรจะขอบคุณสี่ครั้ง ในสี่จังหวะ คุณเอริโกะยกตัวอย่างว่าถ้ามีผู้ใหญ่เลี้ยงอาหาร ขอบคุณครั้งแรกก็คือตอนจะแยกจากกัน ครั้งที่สองก็อาจจะเขียนอีเมล์ไปขอบคุณอย่างสุภาพอีกครั้ง

แต่ถ้าอีกซักอาทิตย์ เราส่งไปขอบคุณอีกทีพร้อมเรื่องราวเช่น อาหารอร่อยมาก ก็เลยว่าจะพาพ่อแม่ไปอาทิตย์นี้ และครั้งสุดท้ายเมื่อผ่านไปซักเดือน ส่งไปขอบคุณเรื่องราวที่เกิดจากบทสนทนาบนโต๊ะอาหารเช่นได้อ่านหนังสือสอนวิ่งที่ได้รับคำแนะนำมาก็เลยเริ่มวิ่งตามคำแนะนำแล้ว

ในมุมของคุณเอริโกะคือผู้ใหญ่นั้นเลี้ยงอาหารคนตลอดเวลา การที่อยากให้เป็นที่จดจำสำหรับผู้ใหญ่ การทำเกินคนอื่น`ก็เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง รวมถึงการเขียนขอบคุณด้วยลายมือก็เป็นการแสดงความใส่ใจอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

5 ทำไม

การค้นหาปัญหาและทำการแก้ไขเป็นทักษะสำคัญของคนที่ทำงานเก่งๆ คุณเอริโกะแนะนำให้ฝึกนิสัยในการพิจารณาสิ่งต่างๆอย่างลึกซึ้งด้วยการถามคำถามอย่างที่โตโยต้าเรียกว่า why why analysis โดยวิธีการคือตั้งคำถามกับเหตุการณ์หรือปัญหาว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น พอได้คำตอบก็ถามจากคำตอบนั้นไปเรื่อยๆ 5 ครั้งจนได้รากของปัญหาหรือรากของสาเหตุที่แท้จริง

คุณเอริโกะยกตัวอย่างว่าถ้าอยู่ดีๆสินค้าเกิดขายดีขึ้นมา การตั้งคำถามก็คือ ทำไมถึงขายดี ถ้าตอบว่าขายดีเพราะดาราแนะนำ ก็ถามต่อว่าทำไมดาราคนนี้แนะนำแล้วขายดี แฟนคลับเขาคือกลุ่มไหน ถามแบบนี้ไปเรื่อยๆจนครบห้าครั้งก็จะได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งและถึงรากของเหตุการณ์เลยทีเดียว ผมลองเอาไปใช้ดูก็มีประโยชน์ตามที่คุณเอริโกะบอกจริงๆเพราะปกติผมถามแค่สองสามชั้นก็จบแล้ว  แถมเอามาลองใช้กับคำถามเรื่องชีวิต เป้าหมายในการทำงานก็สนุกไม่เบาเหมือนกันนะครับ

เลข 3 4 5 ในวันนี้เกิดจากหนังสือที่ดีงามมากๆที่อยากจะแนะนำให้อ่าน ไม่ใช่ตัวเลขไว้ซื้อหวยซึ่งต่อให้ช่วงนี้ลอตเตอรี่จะออกเลขที่ดูสวยงามก็คงไม่ออก 345 แน่ๆ…

แต่ถ้าถูกขึ้นมา เพจนี้น่าจะมีคนตามเพิ่มเป็นล้านได้อยู่เหมือนกันนะครับและอาจจะไม่มีใครถามว่าทำไมด้วย …

ที่มา https://www.facebook.com/101815121284197/posts/204495637682811/

No comments:

Post a Comment