รำลึกถึงคนไข้จิตเวชผู้เป็นที่รัก #2 “ใจของชั้นมันบอกว่าชั้นเกลียดแม่”
เรื่องราวในวันนี้คือเรื่องของ “ ป้าศรี ”
ป้าศรี..หญิงไทยอายุใกล้ 50 ปี มาหาหมอด้วยอาการเบื่อ ไม่มีสมาธิ กินอาหารได้น้อยลงและอาการอื่นๆที่เข้ากับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” ป้าศรีเริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วตั้งแต่รับแม่มาดูแล เดิมป้าศรีเป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 5 คน พ่อแม่ของป้าศรีเป็นครูทั้งคู่ป้าศรีเติบโตมาท่ามกลางการดูแลอย่างดีตามอัตภาพจากพ่อแม่แต่สิ่งที่ป้าศรีแตกต่างจากพี่ๆน้องๆคือ ป้าศรีเรียนหนังสือไม่ทันน้อง ทั้งๆที่ด้านอื่นๆป้าศรีก็ไม่ได้ช้ากว่าน้อง บางครั้งเพื่อนๆก็แซว่าน้องยังอ่านหนังสือเก่งกว่าป้าศรีอีก ป้าศรีก็ไม่ได้ใส่ใจแต่อย่างใด ป้าศรีมักไม่เข้าใจเรื่องที่ครูสอนจนป้าศรีต้องให้แม่ช่วยสอนซ้ำเป็นประจำ พ่อแม่ของป้าศรีก็ช่วยสอนบทเรียนให้อีกโดยไม่ได้ดุว่าใดๆป้าศรีรู้สึกน้อยใจแต่ก็ไม่ได้คิดมากนัก แต่สิ่งที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายเมื่อป้าศรีเรียนจบชั้นป.4 แม่ของป้าศรีไม่ให้ป้าศรีเรียนหนังสือต่อแต่ส่งป้าศรีให้ไปเรียนเย็บผ้าและเรียนทำกับข้าวกับญาติแทนทั้งที่ป้าศรีอยากเรียนหนังสือต่อและพี่ๆน้องๆคนอื่นๆก็ได้ไปเรียนหนังสือต่อ เมื่อพ่อและแม่ตัดสินใจแบบนั้นป้าศรีก็ไม่สามารถทัดทานได้และรู้ถึงความสามารถด้านการเรียนของตนเองว่าเรียนไม่เก่ง ป้าศรีไปอยู่กับญาติ เรียนเย็บผ้าและเรียนทำอาหารตามที่แม่ต้องการแม้จะไม่ชอบ แต่พอผ่านไปก็กลายเป็นความเคยชิน ผ่านไปปีแล้วปีเล่า ป้าศรีเริ่มเย็บผ้าได้เก่งขึ้นจนสามารถเป็นลูกมือร้านตัดชุดวิวาห์ชื่อดังในเมืองได้ ป้าศรีมีรายได้เป็นของตัวเอง ประกอบกับป้าศรีเป็นผู้หญิงที่หน้าตาดี จึงมีหนุ่มๆมาขายขนมจีบให้สม่ำเสมอ เมือถึงวัยที่พร้อมป้าศรีจึงแต่งงาน แยกครอบครัวออกไป ตั้งแต่แยกครอบครัวออกไปแล้ว ป้าศรีมักไม่ค่อยกลับไปเยี่ยมบ้าน ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยงเพราะไม่อยากจะต้องไปเจอกับบรรยากาศที่พี่ๆน้องๆซึ่งรับราชการกันทุกคนกลับมาบ้านแล้วมาคุยกันเรื่องที่ทำงาน ป้าศรีไม่อยากพูดถึง ชีวิตของป้าศรีก็ดำเนินมาตามปกติ จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน แม่ของป้าศรีป่วยเป็นอัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ พี่ๆน้องๆไม่มีความพร้อมที่จะดูแลเพราะต่างคนต่างแยกย้ายไปรับราชการกันคนละทิศละทาง ทุกคนจึงลงความเห็นว่า ให้แม่มาอยู่กับป้าศรีซึ่งพร้อมที่สุดเพราะป้าศรีมีร้านตัดเสื้อของตัวเองพร้อมๆกับร้านขายเบอร์เกอรี่ที่มีลูกจ้างอยู่เต็มร้าน ป้าศรียินดีรับแม่มาดูแลทั้งที่ยังรู้สึกบางอย่างอยู่ ป้าศรีดูแลแม่เองโดยให้ลูกจ้างในร้านช่วยเล็กน้อยเท่านั้น ป้าศรีดูแลแม่อย่างดีแต่ความรู้สึกนั้นเป็นเพียงการทำตามหน้าที่ของคนเป็นลูกที่จะต้องตอบแทนบุพการียามแก่เฒ่า เรียกว่า เลี้ยงเพียงให้ยังอยู่ก็ว่าได้ ป้าศรีคุยกับแม่น้อยมาก บางครั้งเวลาที่แม่เรียกให้มาช่วยพาเข้าห้องน้ำป้าศรีก็มาช่วย เมื่อคนแก่เคลื่อนไหวช้าบ้าง เงอะงะบ้าง ป้าศรีก็จับแขนแม่เผลอกระแทกแรงๆบ้าง พูดเสียงดังบ้าง พร่ำบ่นบ้าง เมื่อมาคิดทีหลังป้าศรีก็รู้สึกผิดทุกครั้งที่ได้ทำลงไป ป้าศรีทุกข์ใจกับความรู้สึกนี้จึงตัดสินใจมาพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วย “เอาความโกรธเกลียดออกจากใจฉันที”
เมื่อหมอให้การดูแลไประยะหนึ่ง ป้าศรีนอนได้ กินได้ สมาธิดีขึ้นทำงานได้ดี แต่สิ่งที่ยังอยู่ในใจคือความรู้สึกเกลียดที่มีต่อแม่ หมอให้สำรวจว่ามาจากเหตุการณ์อะไร ...คงเดาได้ไม่ยาก...ใช่ค่ะ มาจากการที่แม่ไม่ให้เรียนต่อ
เรื่องนี้เลยไม่จบเพียงแต่การให้ยาและการเสริมทักษะการแก้ปัญหา หมอจึงนัดแม่มาด้วยในวันที่ป้าศรีต้องมาติดตามการรักษา โดยอ้างว่า หมอขอประเมินแม่ให้ เผื่อท่านอาจมีภาวะทางอารมณ์จากที่เป็นอัมพฤกษ์ (มุสาล้วนๆ...เฮ้อ !) เมื่อหมอคุยกับป้าศรีเสร็จ หมอขอคุยกับแม่ของป้าศรีเป็นการส่วนตัว โดยให้ป้าศรีไปรออีกห้องหนึ่ง ที่มีเพียงม่านกั้น (ที่ไม่ใช่ม่านประเพณีนะคะ...อย่าเล่นมุก) การสนทนาเริ่มต้นด้วยการพูดคุยเล็กๆน้อยๆพอเป็นพิธี เอาล่ะ...ถึงจุดยุทธศาสตร์แระ ...หมอถามแม่ของป้าศรีว่า เพราะอะไรตอนนั้นถึงให้ป้าศรีไปเรียนเย็บผ้า ทั้งที่ป้าศรีอยากเรียนหนังสือ ??
ท่านตอบมาว่า “ชั้นเป็นครูนะหมอ ชั้นรู้ว่าลูกชั้นมันไม่โง่ แต่ไม่รู้เพราะอะไร มันเรียนไม่ได้เหมือนพี่เหมือนน้อง ไม่ใช่ไม่ทุกข์นะหมอ ชั้นกับพ่อมันไม่รู้จะทำยังงัย ชั้นรู้ว่ามันเรียนเหมือนพี่เหมือนน้องคงไม่ได้ แล้วถ้าชั้นกับพ่อมันไม่อยู่กันแล้ว มันจะเอาอะไรกิน ชั้นเลยให้มันไปเรียนเย็บผ้า เพราะเห็นแววตอนมันเด็กๆที่มันชอบตัดกระดาษมาปะๆติดๆ เออ...ถ้ามันเรียนเย็บผ้าแล้วเป็นอาชีพได้ ชั้นกับพ่อมันก็คงตายตาหลับ” ...ขณะที่หมอฟัง หมอเห็นประตูของการจัดการความเกลียดที่ป้าศรีมีแล้ว จะรอช้าอยู่ใย ?? หมอถามอีกประโยคนึงต่อมา “ในบรรดาลูกทั้ง 5คน คุณยายภูมิใจลูกคนไหนมากที่สุดคะ?? ...ยายตอบมาเหมือนนัดกันไว้ (ปล่าวนัดนะคะ แต่เห็นสัญญาณบางอย่างแล้ว) “ ก็ภูมิใจศรีนี่แหละ ดูสิ่หมอ ชั้นแทบจะไม่เคยได้ให้อะไรมันเลย เรียนก็ไม่ได้เรียน แต่มันก็ขยันทำมาหากิน มีเงินมีทองใช้ ไม่ต้องพึ่งพิงใคร แถมมันยังเป็นคนที่ดูแลชั้นอย่างดีด้วย"...คนแก่อาจไม่คิดอะไรมาก....แต่หมอได้ยินเสียงสะอื้นจากหลังม่านแล้ว...เอาล่ะ พอแล้ว ให้เวลาเค้ากันเถอะ...เป็นการขุดประเด็นที่เปลืองกระดาษทิชชู่มากที่สุดตั้งแต่เป็นจิตแพทย์มา
หลังจากการเจอกันครั้งนั้น ป้าศรีก็ดีขึ้น ไม่โกรธแม่หรือตัวเองแล้ว ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ ป้าศรีมาคนเดียว มาเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย น้ำเสียงสดชื่นมากว่า “หมอรู้มั้ย ตอนนี้นะ ชั้นดีใจและภูมิใจมากที่ชั้นไม่ได้เรียนต่อ” อ้าว...หมองง มายังงัย ป้าศรีบอกต่อทันทีว่า” ก็ตอนนี้นะ ชั้นน่ะ เป็นเจ้าหนี้ให้บรรดาพี่ๆน้องๆของชั้นที่เป็นข้าราชการทั้งหลายเนี่ย ...กินเฉพาะดอกเบี้ยก็อยู่ได้แล้วหมอ 5555 คงจริงอย่างที่เค้าว่าเนอะ เป็นข้าราชการบางทีก็ไส้แห้ง 55555”....ป้าศรีหัวเราะชอบใจ แต่หมอ ปวดถึงไส้แล้ววววว
********************
สรุปว่า ป้าศรีน่าจะเป็นโรคแอลดี (learning disability) เป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งของเด็กที่ดูเหมือนฉลาดในทุกๆด้านแต่พอให้อ่านเขียนสะกดคำหรือคิดเลข กลับทำไม่ได้ซะงั้น โรคนี้ เพิ่งรู้จักในเมืองไทยไม่นาน แต่การที่แม่คนนึงซึ่งเป็นครูเห็นถึงปัญหาของลูกแล้วพยายามจะหาทางออกให้ลูกในอนาคตอย่างป้าศรี...จะมีสักกี่คน ตอนนี้เรารู้จักโรคแอลดีแล้วก็จริง แต่จะมีครูสักกี่คนที่จะเข้าใจและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กจริงๆ ในยุคที่การทำมาหากินเป็นเรื่องสำคัญ...จะมีสักกี่ครอบครัวที่จะหันมามองหาศักยภาพด้านอื่นๆของลูกแทนที่จะมุ่งไปมองที่เรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว สุดท้ายจะมีผู้บริหารประเทศสักกี่คน...ที่จะมองย้อนทบทวนว่า นโยบายการศึกษาของประเทศนี้ กำลังลงเหว....
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=788703697888799&id=100002475281832
No comments:
Post a Comment