"พยายามเข้านะ"
ผมมีลูกสาว 2 คน
ทั้งคู่อยู่ในวัยเริ่มต้นของการเรียนทั้งคู่
การมีลูกสาวที่อยู่ในวัยเริ่มต้นของการเรียน
ทำให้ผมเจอ Norm (ภาษาไทยแปลว่าบรรทัดฐาน)
ของสังคมพ่อแม่ในเมืองหลวงไทย
คือ ….
เด็กเล็ก ๆ หนึ่งคนถูกจับให้เรียนทุกอย่างที่คิดว่าโลกนี้ต้องการ
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ภาษา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สันสกฤต บาลี
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง กีฬา
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ดนตรี ร้องเพลง
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ศิลปะ วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง ทำอาหาร
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง นำเสนอ พูดจา
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง คิดดี คิดบวก
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง เข้าสังคม
ลูกเราต้องเรียน และเก่ง เป็นผู้นำ
และอีกหลาย ๆ เก่ง
…
จนผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะเป็นประเทศที่จัดทำหลักสูตรพัฒนาความเก่งของเด็กออกมาได้มากที่สุดในโลก
และ อนาคตของประเทศไทยคงจะพัฒนาเจริญก้าวไกลอย่างแน่นอน
เพราะปัจจุบันว่าเด็กไทยของเราถูกทำให้เก่งทุกเรื่องตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 6 ขวบ !!!
ไว้เราค่อยไปดูกันในอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้านี้
...
มีอยู่วันหนึ่ง
ผมเผอิญไปเปิด TED Talk ตอนหนึ่งดู
มันเป็นตอนที่มีชื่อว่า
The Key to success “กุญแจสู่ความสำเร็จ”
มันเป็นเรื่องของคุณแอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ
เธอมาเล่าประสบการณ์และงานวิจัยของเธอให้ฟังว่า
เธอเคยเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กเกรดเจ็ดในโรงเรียนเทศบาลนิวยอร์ก
จากประสบการณ์ทำงานในครั้งนั้น
สิ่งที่เธอแปลกใจคือ ไอคิว ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เด็กเรียนดีที่สุดและอ่อนที่สุด
เด็กที่ผลการเรียนดีที่สุดบางคน ไม่ได้มีคะแนนไอคิวที่สูง
แล้วเด็กที่ฉลาดที่สุดบางคนก็ไม่ได้มีผลการเรียนที่ดี
เธอเก็บความสงสัยนี้ไว้
จนเมื่อไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา
เธอทำวิจัยโดยการศึกษาทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
ภายใต้โจทย์ที่สุดแสนท้าทายที่เธอสงสัยมานาน คือ
คนแบบไหนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต และทำไม
เธอและทีมวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น
ศึกษากลุ่มทหารเวสท์พอยท์
โดยดูว่านายร้อยคนใด สามารถอยู่ฝึกต่อจนจบ
และใครจะลาออกก่อน
ศึกษาผู้เข้าแข่งขันในการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ
เพื่อดูว่าเด็กคนไหนจะไปได้ไกลที่สุดในการแข่งขัน
ศึกษาคุณครูมือใหม่ ที่ต้องทำงานในโรงเรียนที่ยากลำบาก
เพื่อดูว่าครูคนใดจะยังคงสอนอยู่ต่อไป เมื่อจบปีการศึกษา
ศึกษา Sale-man ใครคือผู้ที่จะยังรักษายอดขายไว้ได้
และใครจะเป็นผู้ที่ทำยอดขายได้สูงสุด
จากบริบทที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ ผลวิจัยที่ออกมา มีคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยพยากรณ์ความสำเร็จของคนได้ชัดเจนมาก
ซึ่งมันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม
ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี
ไม่ใช่ความแข็งแรงของร่างกาย
และ…
ไม่ใช่ความฉลาด หรือคนที่มีไอคิวสูง
แต่
มันคือ
ความเพียร ความพยายาม (Grit)
ที่เป็นตัวพยากรณ์ว่า
คนที่มีสิ่งนี้อยู่ในตัว
จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนประเภทอื่น ๆ
…
ข้อคิดจากผลงานวิจัยของคุณแอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ
ทำให้กลับมามองย้อนสังคมของเรา
ที่มุ่งสอนเพื่อให้เด็กเรียนเพื่อไปทำข้อสอบให้เก่ง
และต้องเป็นคนที่ทำได้เก่งในทุกเรื่อง
แต่…
เราได้สนใจในการทำให้เด็กของเรามีทัศนคติในเรื่องความเพียร ความพยายาม หรือเปล่า
ผมมี Clip อยู่ Clip หนึ่ง
ที่สะท้อนถึงการสร้างทัศนคติในการทำอะไรแบบไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย
น่าจะเป็น Clip ที่ถ่ายมาจากงานแสดงความสามารถของเด็กโรงเรียนที่ญี่ปุ่น
ผมว่าหลายคนน่าจะเคยผ่านตามาบ้างแล้ว
https://www.youtube.com/watch?v=EPagPSyubyo
ลองชวนกันคิดจากเหตุการณ์ใน Clip นี้
ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาติญี่ปุ่น ถึงกลายเป็นชาติที่เจริญก้าวหน้า
เพราะการสร้างทัศนคติของผู้คนในประเทศให้มีความพยายาม ความตั้งใจ และต้องทำให้สำเร็จถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ
ถ้าเทียบกับเมืองไทย ผมคิดว่าตั้งแต่การกระโดดที่ไม่ผ่านในครั้งแรกของเด็ก
คุณครู พ่อ และ แม่ต้องรีบวิ่งกันเข้าไปโอ๋ และกอดเด็กเพื่อปลอบโยน โดยพาไปซื้อน้ำ ซื้อขนมกินเรียบร้อยแล้วครับ
ผมมีอีกเรื่องครับ
คำให้พรของคนไทยส่วนใหญ่จะใช้คำว่า
“ขอให้โชคดี”
ส่วนคำให้พรของคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เขาจะใช้คำว่า
“がんばってください” gambattekudasai
มันแปลว่าอะไรรู้ไหมครับ
แปลว่า
"พยายามเข้านะ"
คุณเห็นความแตกต่างอะไรในจุดนี้ไหม
.....
Link TED Talk ตอน The Key to success “กุญแจสู่ความสำเร็จ”
https://www.ted.com/talks/angela_lee_duckworth_the_key_to_success_grit
#############################
ที่มาของบทความ
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=963180477100777&id=932509903501168
No comments:
Post a Comment