1
เราได้ยินคำว่า empathy กันเยอะ แต่เมื่อพยายามเข้าใจ 'ความเห็นอกเห็นใจ' จากการอ่านหรือการฟังก็เหมือนฝึก empathy ด้วย 'หัว' อันที่จริงเราสามารถใช้เหตุผลทำความเข้าใจคนอื่นได้ แต่ก็จะอยู่ในระดับเหตุผล ความเห็นอกเห็นใจอย่างลึกซึ้งมักเกิดจากการรับรู้ความรู้สึกของคนนั้นด้วย 'หัวใจ'
...
2
เมื่อวานมีโอกาสสนทนามื้อค่ำกับ 'พี่นก-โชติกา อุตสาหจิต' ผู้บริหารแห่งบันลือกรุ๊ป ได้รับภูมิปัญญาจากประสบการณ์ชีวิตมากมาย เรื่องหนึ่งที่พี่นกเล่าให้ฟังคือเรื่องของความเห็นอกเห็นใจผู้คน ซึ่งมักเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเคยผ่านประสบการณ์เดียวกันกับเขา
พี่นกเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยมีพนักงานมาขอลางานเพราะหมาที่บ้านป่วย จำเป็นต้องพาไปหาหมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่นกเข้าใจไม่ได้ ถึงกับหัวเราะออกมา ทั้งที่พนักงานคนนั้นกำลังเศร้าใจเป็นห่วงหมา เพราะใจความคิดพี่นก คนก็คือคน หมาก็คือหมา เธอเติบโตมากับการเห็นหมาถูกเลี้ยงไว้นอกบ้าน และไม่เคยอนุญาตให้ลูกๆ เลี้ยงหมาเลย แน่นอน เธอไม่อนุญาตให้พนักงานลางาน
...
3
วันเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ลูกสาวที่รักได้รับหมาเป็นของขวัญมาหนึ่งตัว ทั้งครอบครัวฟูมฟักเลี้ยงดูเหมือนลูกหลานคนหนึ่ง สนิทสนม ใกล้ชิด ผูกพัน รวมถึงตัวพี่นกเองก็รักหมาน้อยตัวนี้ไม่แพ้ใคร
วันหนึ่ง หลังพาเจ้าคอร์กี้รูปหล่อไปประกวด มันคงเหนื่อยจนป่วยไข้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือพี่นกและคุณวิธิต-สามีรับหน้าที่พามันไปหาหมอ 3-4 วันติด ทั้งที่ทั้งคู่มีภาระหน้าที่ล้นมือ ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ คุณวิธิตลูบหัวลูกรักแล้วบอกว่า "ไม่เอาแล้ว ถ้ามันเหนื่อยนักคราวหน้าก็ไม่ต้องประกวดแล้วลูก" วินาทีนั้นพี่นกแว้บภาพในอดีตขึ้นมาเทียบกับภาพตัวเองในวันนี้ เธอบอกว่า เธอรู้สึกผิดที่ใจร้ายกับพนักงานคนนั้นในวันนั้น และเข้าใจแล้วว่า สำหรับคนที่รักและผูกพันกับหมา การที่หมาป่วยไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลและเอาใจใส่ รวมถึงเข้าใจความทุกข์ที่พนักงานคนนั้นมีต่อหมาของเขาด้วย
"พอเราเป็นเองก็จะรู้" พี่นกเล่า และบอกว่าเป็นแบบนี้กับทุกเรื่องนั่นแหละ "ถ้าเราไม่เคยมีแม่ป่วยต้องดูแล เราก็ไม่มีวันเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น"
...
4
ผมชอบเรื่องเล่านี้ของพี่นก และนับถือที่พี่นกเปิดเผยความรู้สึกผิดที่มีต่อตัวเองในอดีตให้ฟังเพื่อเป็นบทเรียนสอนผมไปในตัว เรื่องราวนี้ชวนให้คิดถึงอะไรอีกหลายอย่างในชีวิตที่เรามักตัดสินคนอื่นด้วยมุมมองและประสบการณ์จำกัดของเรา โดยยังไม่รับฟังรับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงของเขาซึ่งแตกต่างจากเรา เพราะมีประสบการณ์ต่างกัน
ผมเล่าให้พี่นกฟังว่า เมื่อครั้งที่เคยลองใช้จักรยานเป็นพาหนะเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้หลังจากนั้นเมื่อผมมานั่งหลังพวงมาลัยรถยนต์ ผมเห็นอกเห็นใจคนปั่นจักรยานมากขึ้นมาก เพราะตอนตัวเองปั่นจักรยานเคยโดยรถเบียด บีบแตร และจ่อไล่ เหมือนเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตัวเล็กกว่า ด้อยกว่า เราจะไม่ทำแบบนั้นกับคนปั่นจักรยานเด็ดขาด
แต่ก่อนที่เราจะปั่นจักรยานเอง เราก็เคยรู้สึกหงุดหงิดกับจักรยานบนถนน ความรู้สึกนี้เปลี่ยนไปสิ้นเชิงเมื่อลงไปปั่นเองดูสักครั้ง
...
5
บ่อยครั้งที่เราพูดถึง empathy และเราพยายามทำความเข้าใจผู้คนด้วยเหตุผล เราจะเข้าใจได้ระดับหนึ่ง แต่ทุกครั้งที่เราเคยผ่านประสบการณ์เดียวกันกับคนนั้น เหตุผลแทบไม่จำเป็นต้องใช้เลย เพราะหัวใจของเราได้สวมรองเท้าเดียวกันกับคนนั้นแล้ว ไม่เพียง 'เข้าใจ' แต่ 'เข้าไปอยู่ในใจ' ของเขาเพราะร่วมประสบการณ์ในแบบเดียวกัน
เรื่องเหล่านี้ทำให้ตระหนักกับตัวเองเสมอว่า ทุกครั้งที่กำลังพิพากษาเรื่องราวของคนอื่นว่าถูก-ผิด ดี-ชั่ว มาก-น้อย เรากำลังตัดสินคนนั้นเรื่องนั้นด้วยประสบการณ์แบบไหน แล้วประสบการณ์ส่วนตัวอันจำกัดเหมาะสมแล้วหรือเปล่าที่จะใช้ในการตัดสินคนอื่นที่มีประสบการณ์และความรู้สึกที่แตกต่างจากเรา
แม้เราไม่สามารถเลี้ยงหมา ปั่นจักรยาน แม่ล้มป่วย หรือทุกสิ่งอย่างได้แบบเดียวกับคนตรงหน้า แต่อย่างน้อย การทำใจให้ว่างๆ วางไม้บรรทัดของตัวเองลง แล้วรับฟังความรู้สึก สถานการณ์ ข้อจำกัดต่างๆ ของคนตรงหน้าอย่างแท้จริง อาจพอทำให้เราได้มองเรื่องนั้นในมุมของเขาได้บ้าง เข้าไปสวมรองเท้าของเขาได้บ้าง
ฟังจริงๆ ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังโดยสวมบทบาทของเขา
คำว่า 'เข้าใจ' จึงมีความหมายลึกซึ้ง 'เข้า' ไปใน 'ใจ'
เมื่อนั้นจึง 'เห็นใจ'
ไม่ได้เห็นจากข้างนอก แต่เห็นถึงภายในใจ
การฟังที่ลึกซึ้งช่วยให้มีประสบการณ์ร่วมทางความรู้สึกได้ แต่คนจำนวนมากพลาดโอกาสเช่นนี้ เพราะตัดสินก่อนฟัง แทนที่จะฟังโดยไม่ตัดสิน
https://www.facebook.com/141179435910975/posts/4369932666368943/
No comments:
Post a Comment