หินแต่ละก้อนเป็นเพียงหินก้อนหนึ่ง
ไม่ได้มีความฉลาดหรือโง่
เราจะไม่เห็นว่านกตัวใดโง่
นกแต่ละตัวใช้ชีวิตอิสระตั้งแต่เกิดจนตาย
.......
แต่การศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนาคน
กลับทำให้มีคนเก่งจำนวนน้อยนิดหนึ่ง
ส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนระดับปานกลางและเป็นคนโง่
เราแข่งขันกันเพื่อให้มีความรู้มากกว่าคนอื่น เบื้องหลังความคิดนี้คืออะไร
เพราะเชื่อกันว่าเมื่อใครมีความรู้มากกว่าคนอื่นก็จะประสบความสำเร็จสูงกว่าคนอื่น
เรามักมองความสำเร็จกันที่ระดับตำแหน่ง ระดับรายได้ ชื่อเสียง จำนวนทรัพย์สิน
หรืออะไรเทือกนี้
เมื่อจดจ้องกันที่ความรู้ เราก็จะแยกแยะประเภทของผู้คนจากปริมาณความรู้ที่แต่ละคนมีอย่างอัตโนมัติ
อาจจะแยกระดับผู้คนออกเป็นคนเก่ง ปานกลาง หรือโง่
และมีความเชื่อที่ว่า ความรู้จะนำมาซึ่งความสำเร็จก็ฝังลึกแทรกซึมไปทั่ว
จนเรามองไม่เห็นความสำคัญของการมีปัญญาในการใช้ชีวิต
บางครั้งเมื่อผมเล่าถึงวิถีการเรียนรู้ของลำปลายมาศพัฒนาให้คนอื่น ๆ ฟังว่า
เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้อย่างมีความหมาย และมีความสุขมากกว่าการสอนที่บอกความรู้ตรง ๆ
โดยให้เด็กได้ปะทะกับปัญหา ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหานั้น ๆ
แล้วเกิดความคิดและการเรียนรู้ เพื่อแสวงหาชุดของความรู้และชุดทักษะใหม่ที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น
ซึ่งก็มักจะทำให้มีคนถามว่า "เรียนอย่างนี้แล้วเด็กจะมีความรู้ตามหลักสูตรเหรอ?"
จะเห็นได้ชัดว่า มาตรฐานตามหลักสูตรได้สร้างกรอบอันแข็งทื่อขึ้นมาให้คนกลัวที่จะออกจากมัน
แม้บางครั้งจะเห็นได้ชัดว่า โลกข้างนอกหลักสูตรได้เปลี่ยนแปลงไปไกลกว่าที่เขียนไว้แล้วอย่างสิ้นเชิง
กลับมามองในเรื่องปัญญาการใช้ชีวิต ปัญญาการใช้ชีวิตไม่ได้เกิดจากการมีความรู้มาก หรือการมีความรู้มาก่อนก็ได้
เราเห็นชัดว่า นกทุกตัวตั้งแต่ฟักออกจากไข่ มันก็รู้ว่าจะต้องมีชีวิตอย่างไร
ทุกตัวสร้างรังแตกต่างกันแต่ประโยชน์ใช้สอยเดียวกันได้ โดยไม่มีใครสอน มีชีวิตเป็นอิสระ
เราไม่เห็นนกโง่เลยสักตัว และผมเชื่อว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับปัญญาการใช้ชีวิตแบบนี้
ซึ่งเราควรบ่มเพาะให้งอกงามมากขึ้น
วิเชียร ไชยบัง
No comments:
Post a Comment