Sunday, December 13, 2009

Seattle Special Olympics

หลายปีก่อนที่ Seattle Special Olympics
ผู้เข้าแข่งขัน ๙ คน
ที่ล้วนพิการอย่างใดอย่างหนึ่ง
มารวมตัวกันที่จุดเริ่มต้น การแข่งวิ่ง ๑๐๐หลา

เมื่อเสียงสัญญาณดังขึ้น ทุกคนก็ออกวิ่ง
ไม่ใช่แค่วิ่งเพื่อแข่งกันเข้าสู่เส้นชัยเท่านั้น
แต่พวกเค้าวิ่งอย่างสนุก อย่างร่าเริง

ยกเว้นเด็กชายคนหนึ่งที่สะดุดล้มลงบนลู่ยางมะตอยล้มแล้วล้มอีก
เค้าเริ่มร้องไห้
อีก ๘ คนได้ยินเสียงร้องไห้นั้น
พวกเค้าชะลอฝีเท้าลง แล้วหันไปมองที่มาแห่งเสียงนั้น
แล้วทั้งหมดก็หันหลังกลับ

ยกเว้นเด็กหญิงคนหนึ่ง
เธอวิ่งย้อนกลับ
คุกเข่าลงพยุงเด็กชายคนนั้น
และเดินคล้องแขนเด็กชายคนนั้น
ไปสู่เส้นชัย พร้อมๆ กัน
ทุกคนบนสเตเดี้ยมลุกขึ้นยืนส่งเสียงเชียร์เป็นเวลานานหลายนาที

สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไม่ได้อยู่ที่การได้ชัยชนะ
หากแต่เป็นการช่วยให้ผู้อื่นได้รับชัยชนะ
ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เราต้องช้าลง
หรือ บางที ถึงกับต้องเปลี่ยนเส้นทางของเราก็ตาม

ที่มา: internet

the 14 mosts in one's life

1. ศัตรูที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ตัวเราเอง

2. ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความอวดดี

3. การกระทำที่โง่เขลาที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การหลอกลวง

4. สิ่งที่แสนสาหัสที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความอิจฉาริษยา

5. ความผิดพลาดมหันต์ที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การยอมแพ้ตัวเอง

6. สิ่งที่เป็นอกุศลที่สุดในชีวิตของเรา ก็คือ การหลอกตัวเอง

7. สิ่งที่น่าสังเวชที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความถดถอยของตัวเอง

8. สิ่งที่นำสรรเสริญที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความอุตสาหะ วิริยะ

9. ความล้มละลายที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ ความสิ้นหวัง

10. ทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ สุขภาพที่แข็งแรง

11. หนี้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ หนี้บุญคุณ

12. ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การให้อภัย และความเมตตากรุณา

13. ข้อบกพร่องที่ใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การมองโลกในแง่ร้าย และไร้เหตุผล

14. สิ่งที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ การให้ทาน

ที่มา: fwd mail

Time value

ลองจินตนาการว่ามีธนาคารแห่งหนึ่งเข้าบัญชีให้คุณทุกเช้า
เป็นเงิน 86,400บาท
ไม่มีการยกยอดคงเหลือไปวันรุ่งขึ้น
ทุกตอนเย็นจะลบยอดคงเหลือทั้งหมดที่คุณไม่ได้ใช้ระหว่างวัน
คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอนที่สุดคุณต้องถอนมาใช้ทุกบาททุกสตางค์ ใช่ไหม!!!
เราทุกคนมีธนาคารอย่างนั้นเหมือนกัน ธนาคารแห่งนี้ชื่อว่า "เวลา"
มันเข้าบัญชีให้คุณ 86,400 วินาที
ทุกคืนมันจะถูกล้างบัญชี
ถือว่าขาดทุนตามจำนวนที่คุณพลาดโอกาสที่จะลงทุนในสิ่งดีๆ
มันไม่สะสมยอดคงเหลือ
ไม่ให้เบิกเกินบัญชี
ในแต่ละวันจะเปิดบัญชีใหม่ให้คุณ
ทุกค่ำคืนจะลบยอดคงเหลือของทั้งวันออกหมด
ถ้าคุณเสียโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในระหว่างวัน
ผลขาดทุนเป็นของคุณ
ไม่สามารถถอยหลังกลับไปได้
ไม่มีการถอนของ "วันพรุ่งนี้" มาใช้ได้
คุณต้องมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันด้วยยอดเงินฝากของวันนี้
ให้ลงทุนจากเงินฝากเหล่านี้เพื่อได้ผลตอบแทนมาสูงสุด
ไม่ว่าจะเป็น เพื่อสุขภาพ ความสุข และความสำเร็จ!

นาฬิกากำลังเดิน ทำวันนี้ให้ดีที่สุด
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งปี ให้ไปถามนักเรียนที่สอบตกต้องซ้ำชั้น
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งเดือน ให้ไปถามคุณแม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งสัปดาห์ ให้ไปถามนักเขียนหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งชั่วโมง ให้ไปถามคนรักที่กำลังรอคอยตามนัดหมาย
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งนาที ให้ไปถามคนที่เพิ่งพลาดขบวนรถไฟ
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา หนึ่งวินาที ให้ไปถามคนที่เพิ่งรอดหวุดหวิดจากอุบัติเหตุ
จะรู้ถึงคุณค่าของเวลา เสี้ยววินาที ให้ไปถามนักกีฬาโอลิมปิคที่ชนะเหรียญเงิน


# เวลาไม่เคยรอใคร
เมื่อมันผ่านไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก
จงใช้เวลาของท่านทุกขณะอย่างดีที่สุด

ที่มา: fwd mail

วันเวลาที่ผ่านไปทุกนาที
กลืนกินชีวิตนี้ไปทุกขณะ
เราทำอะไรเป็นแก่นสารบ้างหละ
หรือแค่เกะกะแก่เจ็บตาย
- ท่านเขมรังสีภิกขุ

To Forgive


พระไพศาล วิสาโล

ในบรรดาผู้เคราะห์ร้ายจากสงครามเวียดนาม คงไม่มีใครที่ทั่วโลกรู้จักมากเท่ากับ คิม ฟุค ภาพเด็กหญิงวัย ๙ ขวบร่างกายบอบบางและเปลือยเปล่า วิ่งร่ำไห้อยู่กลางถนนพร้อมกับเด็กอีก ๒-๓ คน โดยมีฉากหลังเป็นม่านควันดำทมึนและเปลวไฟลุกโพลง ได้ประทับแน่นอยู่ในใจของผู้คนทั่วโลก ภาพนี้ภาพเดียวก็เพียงพอแล้วที่จะบอกเราว่าสงครามนั้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่ลูกเล็กเด็กแดงและประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างไรบ้าง

คิม ฟุค คือเด็กหญิงชาวเวียดนามใต้คนนั้นซึ่งช่างภาพอเมริกันได้ถ่ายไว้ขณะที่เธอและเพื่อนบ้านกำลังแตกตื่นหนีภัย แม้เธอจะรอดตายจากระเบิดนาปาล์มที่ทิ้งลงหมู่บ้านของเธอ แต่ไฟก็ได้เผาลวกผิวหนังของเธอถึง ๖๕ เปอร์เซ็นต์ เธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง ๑๔ เดือน และผ่านการผ่าตัดถึง ๑๗ ครั้งกว่าจะหายเป็นปกติ เธอยังโชคดีเมื่อเทียบกับลูกพี่ลูกน้องอีก ๒ คนซึ่งตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว

นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๕ เมื่อเวียดนามกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ๓ ปีต่อมา ก็ไม่มีข่าวคราวของเธอปรากฏสู่โลกภายนอกอีกเลย แต่แล้ววันหนึ่งในปี ๒๕๓๙ คิม ฟุค ก็ได้มาปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าชาวอเมริกันซึ่งเคยผ่านสมรภูมิเวียดนาม เธอได้รับเชิญให้มาพูดเนื่องในโอกาสวันทหารผ่านศึก ณ กรุงวอชิงตันดีซี

การได้มาเผชิญหน้ากับกลุ่มคนซึ่งครั้งหนึ่งเคยมาทำลายบ้านเกิดเมืองนอนของเธอ ทำให้ญาติพี่น้องของเธอต้องตาย และเกือบฆ่าเธอให้ตายไปด้วยนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำใจได้ง่ายนัก แต่เธอมาก็เพื่อจะบอกให้พวกเขารู้ว่าสงครามนั้นได้ก่อความทุกข์ทรมานแก่ผู้คนอย่างไรบ้าง หลังจากที่เล่าถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดของเธอแล้ว เธอก็ได้เผยความในใจว่ามีเรื่องหนึ่งที่เธออยากจะบอกต่อหน้านักบินที่ทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้านของเธอ

พูดมาถึงตรงนี้ก็มีคนส่งข้อความมาบอกว่า คนที่เธอต้องการพบกำลังนั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ เธอจึงเผยความในใจออกมาว่า "ฉันอยากบอกเขาว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ได้ แต่เราควรพยายามทำสิ่งดี ๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพทั้งในปัจจุบันและอนาคต"

เมื่อเธอบรรยายเสร็จ ลงมาจากเวที อดีตนักบินที่เกือบฆ่าเธอก็มายืนอยู่เบื้องหน้าเธอ เขามิใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสาธุคุณประจำโบสถ์แห่งหนึ่ง เขาพูดด้วยสีหน้าเจ็บปวดว่า "ผมขอโทษ ผมขอโทษจริง ๆ"

คิมเข้าไปโอบกอบเขาแล้วตอบว่า "ไม่เป็นไร ฉันให้อภัย ฉันให้อภัย"

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้อภัยโดยเฉพาะกับคนที่ทำร้ายเราปางตาย คิม ฟุค เล่าว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความทุกข์ทรมานแก่เธอทั้งกายและใจ จนเธอเองก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่แล้วเธอก็พบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริง ๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง "ฉันพบว่าการบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้" เธอพยายามสวดมนต์และแผ่เมตตาให้ศัตรู และแก่คนที่ก่อความทุกข์ให้เธอ แล้วเธอก็พบว่า "หัวใจฉันมีความอ่อนโยนมากขึ้นเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ ฉันสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเกลียด"

เราไม่อาจควบคุมกำกับผู้คนให้ทำดี หรือไม่ทำชั่วกับเราได้ แต่เราสามารถควบคุมกำกับจิตใจของเราได้ เราไม่อาจเลือกได้ว่ารอบตัวเราต้องมีแต่คนน่ารักพูดจาอ่อนหวาน แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำใจอย่างไรเมื่อประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา คิม ฟุค ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่า "ฉันน่าจะโกรธ แต่ฉันเลือกอีกทางหนึ่ง แล้วชีวิตของฉันก็ดีขึ้น"

บทเรียนของคิม ฟุค คือในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ เราจึงไม่ควรปักใจอยู่กับอดีต แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตเพื่อทำปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้นได้ บทเรียนจากอดีตอย่างหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้มาก็คือ "การอยู่กับความโกรธ เกลียด และความขมขื่นนั้น ทำให้ฉันเห็นคุณค่าของการให้อภัย"

การให้อภัยมิได้หมายถึงการลืมเหตุการณ์ที่เจ็บปวด แต่หมายถึงการไม่ยอมให้เหตุ การณ์เหล่านั้นมาทำร้ายเรา ผู้ที่รู้จักให้อภัยคือผู้ที่ยังจดจำอดีตอันไม่น่าพิสมัยได้ แต่แทนที่จะปล่อยให้อดีตนั้นมากระทำย่ำยี กลับเอาชนะมันได้และสามารถนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เอามาเป็นบทเรียนเพื่อจะไม่ทำความผิดพลาดอีก และที่สำคัญคือเป็นเครื่องเตือนใจว่าความโกรธเกลียดนั้นเป็นอันตรายต่อตัวเราอย่างไรบ้าง

เมื่อเราโกรธใคร อยากทำร้ายใครนั้น คนแรกที่ถูกทำร้ายคือตัวเรานั่นเอง ไม่ใช่แค่จิตใจเท่านั้นที่เร่าร้อนเหมือนถูกไฟสุม แม้แต่ร่างกายก็ยังได้รับผลกระทบด้วย มีบางคนที่มีอาการปวดท้องและปวดศีรษะเรื้อรัง อีกทั้งยังมีความดันโลหิตสูง หมอพยายามตรวจร่างกายแต่ก็ไม่พบความผิดปกติ หมอจึงขอให้เธอเล่าเรื่องราวในชีวิตของเธอให้ฟัง เธอเล่าว่ากำลังมีเรื่องขุ่นเคืองใจกับพี่สาวซึ่งทอดทิ้งให้เธอเผชิญปัญหาตามลำพังอยู่หลายปี หมอจึงสันนิษฐานว่าความเจ็บป่วยของเธอมีสาเหตุมาจากความบาดหมางดังกล่าว จึงแนะให้เธอยกโทษแก่พี่สาว หลายปีต่อมาหมอได้รับจดหมายจากคนไข้รายนี้ว่าเธอคืนดีกับพี่สาวแล้ว และอาการเจ็บป่วยก็ไม่มารังควานอีกเลย

มีอีกรายที่เจ็บป่วยโดยหมอไม่พบความผิดปกติในร่างกาย เธอมีอาการคลื่นไส้และระบบย่อยอาหารผิดปกติจนน้ำหนักลดไป ๑๕ กก. วันหนึ่งอาการได้กำเริบขึ้นเมื่อเธอได้รับจดหมายจากลูกพี่ลูกน้อง เธอเฉลียวใจในตอนนั้นเองว่าความเจ็บป่วยของเธอมีสาเหตุมาจากความโกรธเกลียด เธอทั้งโกรธและเกลียดลูกพี่ลูกน้องคนนั้นเพราะแอบไปมีความสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มของเธอ ลูกพี่ลูกน้องคนนั้นเขียนจดหมายมาขอโทษเธอ เธอครุ่นคิดอยู่นาน และในที่สุดก็เขียนจดหมายตอบไปว่า "ฉันยกโทษให้เธอ" หลังจากนั้นสุขภาพเธอก็ดีขึ้นและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

การให้อภัยเป็นเรื่องยาก แต่การมีชีวิตด้วยจิตใจที่โกรธแค้นพยาบาทกลับเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่า คนที่มีความโกรธเกลียดอัดแน่นเต็มหัวใจย่อมไม่อาจพบความสุขและความเบิกบานใจได้ คนเช่นนี้ย่อมยากที่จะมีศรัทธาและกำลังใจในการมีชีวิต ด้วยเหตุนี้เราจึงควรเรียนรู้ที่จะปลดเปลื้องความโกรธเกลียดไปจากจิตใจ ด้วยการรู้จักให้อภัยและหมั่นแผ่เมตตาไปให้แก่คนที่ทำความเจ็บปวดให้แก่เรา

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนึกถึงบุคคลดังกล่าวโดยที่จิตใจไม่พลุ่งพล่าน แต่เมื่อใดที่ใจเราสงบลองนึกถึงเขาอยู่เป็นระยะ ๆ นึกถึงแต่ละครั้งก็ยิ้มให้เขา แผ่ความปรารถนาดีให้เขา เราจะพบว่าเรายิ้มให้เขาได้ง่ายขึ้น และจิตใจกระเพื่อมน้อยลง ไม่นานเราก็จะให้อภัยเขาได้และมีความปรารถนาดีต่อเขาด้วยใจจริง

ถึงตอนนั้นเราจะพบว่าสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาเป็นเวลานานนั้นมิใช่อะไรอื่น หากได้แก่ความโกรธเกลียดที่เคยอยู่ในใจเรานั้นเอง ความเจ็บปวดที่เกิดเพราะคนบางคนนั้นแท้จริงได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ที่ยังคงอยู่ก็เพราะใจเรานั้นเองที่ไปรื้อฟื้นและทนุถนอมมันเอาไว้ด้วยความจงเกลียดจงชังหมายมั่นจะแก้แค้น ตัวเขาอาจอยู่ไกลแสนไกล แต่เราเองต่างหากที่ไปดึงเขามาไว้กลางใจเราอยู่ทุกโมงยาม พูดให้ถูกต้องก็คือใจเรานั่นแหละที่สร้างปีศาจร้ายมาหลอกหลอนตัวเองอยู่ทุกขณะจิต ปีศาจที่แม้รูปร่างหน้าตาเหมือนคนที่เคยประทุษร้ายเรา แต่เป็นผลผลิตจากใจของเราเอง

การให้อภัยและการแผ่เมตตาแท้ที่จริงก็คือการสยบปีศาจร้ายมิให้มาหลอกหลอนอีกต่อไป จะเรียกว่าเป็นการเชื้อเชิญมันออกไปจากจิตใจของเราก็ได้ ด้วยการให้อภัยและการแผ่เมตตาเท่านั้น จิตใจของเราจึงจะได้รับการเยียวยาและกลับเป็นปกติสุขอีกครั้งหนึ่ง

ในโลกที่เรามิอาจหลีกพ้นความพลัดพรากสูญเสีย ความเจ็บปวด และบาดแผลในใจ การให้อภัยและการแผ่เมตตาคืออะไรหากมิใช่ยาสามัญที่ควรมีไว้ประจำใจ

ที่มา: internet

Three rules to consider when telling sth

หลักสามประการ ในการพูด

ในสมัยกรีกโบราณโซเครติสได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง

เมื่อชาย คนหนึ่งปะหน้ากับปรัชญาผู้นี้ จึงกล่าวกับเขาว่า
"ท่านรู้ไหมว่าผมได้ยินเรื่องเพื่อนของท่านมาว่าอย่างไรบ้าง"

โซเครติสตอบว่า "เดี๋ยวนะครับ... ผมขอใช้หลักสามประการของ
ผมกรองสิ่งที่คุณจะบอกเล่าเสียก่อน"
"หลักสามประการ?"

"ถูกแล้วครับ" แล้วขยายความต่อว่า "หลักการแรกคือ "ความจริง"
คุณมั่นใจหรือเปล่าว่าสิ่งที่คุณจะเล่ามันเป็นความจริง"
"ไม่ครับ...จริง ๆ แล้ว ผมฟังมาจากคนอื่นอีกที" เขาสารภาพ
"เอาล่ะ ตกลงคุณเองก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า..."

หลักการถัดไปของผมคือ
"ความดี"...สิ่งที่คุณจะเล่าให้ฟังนี้เป็นเรื่องดีหรือเปล่า"
"ไม่ครับ แต่ตรงกันข้าม..." เขาตอบ

จากนั้นโซเครติสได้กล่าวต่อไปว่า
"คุณจะเล่าเรื่องที่ไม่ดีของเขาให้ผมฟังใช่ไหม
ขณะเดียวกันคุณก็ไม่มั่นใจว่า นี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า... "

ทีนี้เรามาถึงหลักการสุดท้าย คือ "ประโยชน์"
"เรื่องที่คุณจะเล่าให้ผมฟังน่ะ มันมีประโยชน์ต่อผมหรือเปล่า"
"ไม่หรอกครับ" เขาปฏิเสธ

"เอาละ ถ้าสิ่งที่คุณจะเล่าให้ผมฟังน่ะ มันไม่จริง ไม่ดี
และไม่มีประโยชน์อันใดต่อผมเลย
ทำไมคุณถึงจะเล่าให้ผมฟังล่ะ" โซเครติส กล่าวตัดบท

Saturday, December 12, 2009

Sleeping

1)ทำไมเราต้องนอน? ,แสงสว่างกับการนอน จาก ซาลามันเดอร์ สู่คน
2)วิทยาศาสตร์เบื้องต้นของการนอน
3)เราควรจะนอนวันละกี่ชั่วโมง การอดนอน และการงีบหรือหลับช่วงสั้น
4)อาการที่เกิดร่วมกับการหลับ (กระตุกขณะหลับ, ละเมอ, การเดินละเมอ)
5)ฝัน
6)นอนไม่หลับ
7)ผีอำ
8)Sleep in different animal species

บทความเกี่ยวกับการนอนทั้งหมดนี้
คัดลอก(ดัดแปลง)มาจาก
http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X8397538/X8397538.html
http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X8426057/X8426057.html
โดยคุณ'โอ้ละหนอ'
และ http://health2you.blog.mthai.com/

Pineal gland

การหลับคืออะไร?
=============
Sleep คือ สภาวะการหมดสติ (unconsciousness)
สภาวะทางพฤติกรรมซึ่งมีการหลุดพ้นของการรับรู้
และการไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม
โดยที่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้

ส่วน Coma เป็นสภาวะการหมดสติ
แต่ไม่สามารถปลุกได้ด้วยการกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าต่างๆ


การมีสติ และการหมดสติ
==================
เราแบ่งภาวะการมีสติ หรือ “Consciousness” เป็น 3 ช่วง คือ
awake, asleep, drowsy

โดยดูจาก 2 ทาง คือ
1) ทางพฤติกรรม
2) ดูการทำงานของสมอง โดยผ่าน electroencephalogram (EEG)


Why Sleep?
==========
การนอนไม่ใช่การพักการทำงานของสมองทั้งหมด
ที่จริง สมองเราไม่ได้หยุดการทำงานเลย

>>แล้วทำไมเราต้องนอนด้วยล่ะ?

เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดว่า..

1. การนอนหลับ คือ การปรับตัว (Sleep is adaptive)
- เพื่อแบ่งปันอาหารให้สัตว์ต่าง species
- เพื่อสะสมพลังงาน
สัตว์ที่ metabolism สูง--> นอนมาก
- หลีกเลี่ยงการถูกล่า ในความมืด
- เพื่อช่วยควมคุมอุณหภูมิของร่างกาย (Thermoregulation)
การหลับ ช่วยให้ร่างกายเย็นลง

2. การนอนหลับ คือ การฟื้นฟูร่างกาย (Sleep is restorative)
เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ช่วยการซ่อมแซมส่วนสึกหรอ
- growth hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต จะหลั่งมากขณะหลับ
ดังนั้น น้องๆที่ขายพวงมาลัย ตามสี่แยก ไม่หลับ ไม่นอน
จะเห็นว่าตัวแกร็นๆกันทั้งนั้น คาดว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการอดนอนด้วย

3. การนอนหลับช่วยในการเรียนรู้ (Sleep promotes learning)
การอดนอนมีผลต่อการเรียนรู้ การอดนอนในช่วง REM ทำให้การ
เรียนรู้แย่ลง


แสงสว่างกับการนอน
===============
แท้ที่จริงสัตว์ต่าง ๆ ล้วนมีโครงสร้างของสรีระร่างกายที่กำหนดว่า
สัตว์นั้นเป็นสัตว์กลางวันหรือสัตว์กลางคืน
อย่างค้างคาว นกฮุก แมว ต้องถือว่าเป็นสัตว์กลางคืน
เพราะมีเรดาร์มีตาโตเอาไว้ใช้งานตอนกลางคืน
แต่คนเราเป็นสัตว์กลางวัน

เดิมทีสัตว์มีกระสูกสันหลัง ชนิดแรกของโลกคือตัว ซาลามันเดอร์
มีตาอยู่ 3 ดวง
ดวงตาที่ 3 เป็นเกล็ดอยู่ ตรงกลางหน้าผากคอยทำหน้าที่รับแสงตะวัน
เวลากลางวันและสร้างฮอร์โมน ซีโรโตนิน ทำให้มันแจ่มใส ออกมาหากิน
ส่วนเวลากลางคืนนั้นจะสร้างฮอร์โมน เมลาโตนิน (Melatonin) ทำให้มันง่วงนอน

(เมลาโทนินถูกสร้างในตอนกลางวันด้วย
แต่จะน้อยกว่าตอนกลางคืน
เนื่องจากอิทธิพลของแสง)

ครั้นวิวัฒนาการจนมาเป็นคน
เกล็ดนี้จมลึกเข้าไปในหน้าผาก
กลายเป็นต่อมเหนือสมอง หรือ ต่อมไพเนียล (pineal gland)
ยังคงสร้างฮอร์โมน สองชนิดนี้อยู่สลับกันทุกวัน
หรือเรียกอีกอย่างว่า ต่อมนาฬิกาขีวภาพ (biological clock)
ที่ปลุกให้เราตื่นในตอนเช้า
และกล่อมให้เราหลับในกลางคืนโดย อัตโนมัติ

>>ทำไมเด็กบางคนนอนตื่นสาย

นาฬิกาเวลาของวัยรุ่น ช้ากว่าเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี เกือบ 2 ชั่วโมง

ฮอร์โมน เมลาโทนิน (melatonin) ที่ทำให้ง่วง
สำหรับเด็กอายุก่อน 13 ปี จะหลั่งช่วง 20.00-21.00 นาฬิกา
ส่วนของวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นช่วง 23.00 น.

ฮอร์โมนคอร์ทิโซล (cortisol) ที่กระตุ้นการตื่น
ในวัยรุ่นจะหลั่งหลัง 8.15 น. ทำให้วัยรุ่นสลึมสลือตอนเช้า

องค์ความรู้เหล่านี้อาจนำไปสู่การจัดการศึกษาได้ โดยเลื่อนเวลาเรียนให้สายกว่านี้หน่อย


>>ผลของเมลาโทนินต่อการเจริญเติบโต

ถ้าต่อมไพเนียลไม่สามารถสร้างเมลาโทนินได้ จะทำให้เป็นหนุ่มเร็วกว่าปกติ
แต่ถ้าสร้างมากเกินไปจะทำให้เป็นหนุ่มเป็นสาวช้ากว่าปกติ

>>ถ้าต่อมไพเนียลถูกรบกวน

การตากแสงไฟดึก ๆ จึงเป็นการรบกวนต่อมไพเนียล
ซึ่งเป็นนายเหนือต่อมฮอร์โมนทั่วร่างกาย
มันส่งคำสั่งไปยังต่อมใต้สมองไป ไทรอยด์ ต่อมหมวกไต รังไข่ และอัณฑะ
ถ้าต่อมไพเนียลทำงานผิดเพี้ยนไป ฮอร์โมนทั่วร่างกายก็ผิดเพี้ยนไปด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ทำการทดลองส่องไฟ ในหนูทดลองตลอดคืน
ทำอยู่เช่นนั้นหลายวัน ปรากฏว่า หนูทดลองถึงกับแท้งลูก

งานวิจัยอีกชิ้นในสหรัฐฯ
ทดลองในพยาบาลเวรดึกกลุ่มหนึ่งให้ออกเวรแล้ว
เดินผ่านอุโมงค์มืด ๆ ไปเข้านอน
อีกกลุ่มให้เดินผ่านแสงตะวันยามเช้าไปนอน
เมื่อเจาะเลือดเปรียบเทียบระดับฮอร์โมนของร่างกาย
พบว่า พยาบาลกลุ่มหลังฮอร์โมนแปรปรวนไปหมด
ขณะที่กลุ่มแรกฮอร์โมนยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ


>> circadian rhythm
นาฬิกาชีวิตที่กำหนดกลางวัน-กลางคืน
(ควบคุมวงจรตื่น-หลับ)

เส้นสีแดง (sleep urge) แสดงระดับความง่วงปกติ
ซึ่งมีจุดสูงสุด (peak) 2 เวลา คือ
24.00 และ 14.00 นาฬิกา

เส้นสีดำ (sleep need) แสดงความต้องการนอน
เส้นความต้องการนอนนี้ ถ้าเพิ่มถึงระดับหนึ่ง
คนจะเริ่มหลับในช่วงสั้นๆ (หรือวูบโดยไม่หลับตา) 2-3 วินาที
(microsleeps)
และตามมาด้วยการหลับใน

เส้นประแนวเฉียงใต้เส้นสีดำ แสดงการเข้านอน
ซึ่งจะทำให้ความต้องการนอนลดลง


>>ผลกระทบที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของนาฬิกาขีวภาพ
(Circadian rhythm disorders) ที่พบได้บ่อย ได้แก่
delayed sleep phase syndrome (DSPS),
advanced sleep phase syndrome (ASPS),
jet lag,
shift work
และ การเข้านอน - ตื่นนอนไม่เป็นเวลา (irregular sleep-wake patterns)

อาการเหล่านี้ทำให้เกิดการไม่สมดุลระหว่าง
ความต้องการนอนและสถานการณ์แวดล้อม
ผลก็คือ ง่วงผิดที่ผิดทางนั่นเอง

Sleep Neurophysiology

การหลับแบ่งเป็น 2 ระดับ
===================
1. Non-REM sleep (หรือ Slow-wave sleep )
2. Rapid eye movement sleep (REM sleep)

การนอนในแต่ละคืนจะเกิด REM และ nonREM สลับกันตลอดคืน
(แบบแผนของวงจรการนอนจะเปลี่ยนไปตามวัย)


Non-REM sleep
==============
- no eye movement
- ชีพจรและการหายใจช้าลงอย่างสม่ำเสมอ อุณหภูมิกายลดลง
- กล้ามเนื้อผ่อนคลาย แรงตึงกล้ามเนื้อลดลง เปลี่ยนท่านอนทุก 20 นาที
- growth hormone หลั่งมาก
- สามารถยับยั้งการนอนระดับนี้ด้วยด้วย ยากล่อมประสาท valium (benzodiazepine)
- ไม่ค่อยฝัน

การนอนแบบ Non-REM แบ่งเป็น 4 stage
โดยดูจากตัวแปรที่ใช้วัดระยะต่างๆของการนอน ได้แก่
- คลื่นไฟฟ้าสมอง Electroencephalogram (EEG)
- Electrooculogram (EOG) ดูการการกลอกลูกตา (eye movement)
- Electromyogram (EMG) ดูว่ามีการทำงานของกล้ามเนื้อไหม (muscle tone)
- ดูสภาวะร่างกายอื่นๆ เช่น อัตราหัวใจเต้น อัตราการหายใจ อุณหภูมิกาย

Rapid eye movement sleep (REM sleep)
====================================
- หลับแบบมีการกลอกตาอย่างรวดเร็ว (rapid eye movement)
- สมองมีการทำงานมาก
brain metabolism อาจเพิ่มขึ้นถึง 20%
เมื่อวัดด้วย electroencephalogram (EEG) จะแสดง brain waves
คล้ายกับขณะตื่น wakefulness
จึงเรียกการหลับแบบ REM sleep ได้อีกอย่างหนึ่งว่า Paradoxical sleep
- มีการฝัน (dreaming)
- ปลุกให้ตื่นยากกว่าช่วง non-REM sleep
แต่จะตื่นเองทันทีในตอนเช้า หากช่วงนั้นตรงกับระยะ REM sleep
- Heart rate และ respiratory rate ไม่คงที่ในช่วง dream state
- Muscle tone ลดลง เพราะมีการยับยั้งการทำงานของ spinal muscle control areas


ขณะที่การนอนหลับฝัน (REM)
ช่วยให้คนเราได้ “พักทางใจ” หรือลดความเครียดทางใจ
(ในเด็กแรกเกิด มี REM sleep ประมาณ 50%
หนุ่มสาวจะมี REM Sleep ประมาณ 20%)

ช่วงการนอนหลับไม่ฝัน (non-REM)
ช่วยให้คนเราได้ “พักทางกาย”
สร้าง และซ่อมแซมร่างกาย

ช่วงที่มีความสำคัญต่อการพักผ่อนทางกายมากๆ คือ
ช่วงหลับลึกและไม่ฝัน (ระยะ 3-4)
(จะมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
หลังจากอายุ 20 ปีเป็นต้นไป จนถึงอายุ 60
อาจมีน้อยมากหรือหายไป)


Sleep cycle
===========
วงจรการนอนหลับเริ่มจากการตื่น (เส้นสีเหลือง)
ต่อด้วยระดับของการนอนหลับจากตื้นไปลึก 4 ระดับ ได้แก่
ขาลงจาก 1>2>3>4
และขาขึ้นจาก 4>3>2>1 ในรอบแรก

ตอนขาขึ้นไปถึงระดับ 1 จะมีการฝัน (แต้มสีแดง)
ซึ่งลูกตาจะกลอกไปมาอย่างรวดเร็ว (REM)

วงจร NREM-REM จะปรากฏขึ้นราว 3-6 วงจรในหนึ่งคืน
โดยที่ความยาวนานของช่วง NREM sleep จะสั้นลงเรื่อยๆ
ในขณะที่ความยาวนานของช่วง REM sleep ยาวขึ้นเรื่อยๆ

Missed Sleep

เราควรจะนอนวันละกี่ชั่วโมง
=====================
ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
ตัวอ่อน จะมี sleep time และ REM sleep มากกว่าผู้ใหญ่เสมอ
(โดยที่ sleep pattern จะมีเปลี่ยนแปลงไปตามวัยด้วย)


ความต้องการต่างกันไปในแต่ละคน และแต่ละวัย แต่โดยเฉลี่ย

ก่อนวัยเรียน > 10-12 ชม.
9 ขวบ > 10 ชม.
วัยรุ่น > 8-9 ชม.
ผู้ใหญ่ > 7-8 ชม.



คนส่วนน้อยต้องการนอนนานกว่านั้น เช่น ไอนสไตน์
นอนคืนละ 10 ชั่วโมง

National Sleep Foundation
(www.sleepfoundation.org)
แนะนำว่าระยะเวลานอนในแต่ละวัน
ไม่ควรน้อยกว่า 8 ชั่วโมง
ไม่จำเป็นต้องรวดเดียวก็ได้ (eight straight hours)


ภาวะอดนอน
=========

การนอนน้อยกว่า “ค่าปกติ” (หรือธรรมชาติของเรา) คืนละ 2 ชั่วโมงขึ้นไป
จะทำให้เกิด “หนี้การนอน (sleep debt)
ซึ่งจะมีการ “ทวงหนี้” เป็นพักๆ
เริ่มจากสมรรถภาพสมองต่ำลง สมองทำงานช้าลง
วูบหลับช่วงสั้นๆ (microsleep)
(ซึ่งมีอาการคล้าย “ตาบอดตาใส”
คือ เบลอไป ไม่รู้เรื่องอะไร เงียบไปคราวละ 2-3 วินาที

ถ้าขับรถเร็ว 113 กม./ชม.อยู่
ในเวลา 3 วินาที
รถจะแล่นไปเปล่าๆ 31 เมตร)

ถ้ายังไม่นอน การหลับช่วงสั้นๆ จะสะสม
และกลายเป็นหลับในจริงๆ

การพูดคุยกับคนอื่นมีส่วนช่วยลดโอกาสหลับในได้
เนื่องจากการพูดคุยมีส่วนกระตุ้นให้สมองทำงานเพิ่มขึ้น
ทว่า ปัญหาที่ตามมาคือ โอกาสหลับในจะสูงขึ้นทันทีที่หยุดพูด

ตัวอย่างนาฬิกาชีวิต ของคนนอนไม่พอ เนื่องจากตื่นเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง


เส้นความต้องการนอน (sleep need; เส้นสีดำ)
(ซึ่งจะแปรตามจำนวนชั่วโมงที่อดนอน)
จะมีระดับสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสวูบหรือหลับช่วงสั้นๆ (microsleep) เพิ่มขึ้น

ถ้าเส้นความต้องการนอน (sleep need; เส้นสีดำ) สูงไปตรงกับช่วงระดับความง่วงปกติ
นั่นคือ เที่ยงคืนหรือบ่ายสอง…
โอกาสหลับช่วงสั้นๆ และหลับในจะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ

คนบางคนอดนอนได้โดยไม่หลับใน
ช่วง 2-3 วันอาจมีความดันเลือดต่ำลง
วูบหรือเป็นลมง่าย หลังจากนั้นจะเสี่ยงความดันเลือดสูงแทน


ผล
==
สมรรถภาพสมองกับหนี้ความเหนื่อยล้า
(ทั้งจากการนอนไม่พอ หนี้การนอน และความอ่อนล้าทางร่างกาย)
มีลักษณะคล้ายทรายในนาฬิกาทราย



ถ้าหนี้ความเหนื่อยล้า (fatigue debt) สูง
สมรรถภาพสมอง (computing power) จะต่ำ

ถ้าหนี้ความเหนื่อยล้าต่ำ
สมรรถภาพสมองจะสูง


นอกจากนั้น ในการศึกษาแบบระยะสั้น พบว่า
การอดนอน (Sleep deprivation) สัมพันธ์กับภาวะต่อไปนี้

- ความทนน้ำตาล (Glucose tolerance) แย่ลง

- ความดันเลือดสูงขึ้น

- ระบบประสาท sympathetic ถูกกระตุ้นมากเกินไป
(sympathetic nervous system เป็นระบบประสาทอัตโมติ
ที่สั่งให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น
หากถูกกระตุ้นนานแบบเรื้อรังแล้ว
จะมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ ความดันเลือดสูง ฯลฯ)

- ระดับฮอร์โมน leptin ลดลง
(ทำให้ความอยากอาหาร (appetite) สูงขึ้น)

- ระดับ cortisol สูงขึ้นในเวลากลางคืน (ปกติจะสูงตอนเช้า)
(cortisol เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด
ถ้าหลั่งนานแบบเรื้อรัง ส่งผลเสียแก่ร่างกาย เช่น ภูมิคุ้มกันลดลง)

- Inflammatory marker มีระดับสูงขึ้น




แก้ไขยังไง
========
1) นอนชดเชย (นอนให้เร็วขึ้น ตื่นเวลาเดิม)
2) การงีบหรือหลับช่วงสั้น (nap)


การงีบหรือหลับช่วงสั้น (nap)
======================
การนอนหลับช่วงสั้นๆ 5-45 นาที
จะทำให้เส้นความต้องการนอน (sleep need) ลดลงอย่างรวดเร็ว
ทำให้โอกาสวูบ (หลับช่วงสั้นๆ แบบ “ตาบอดตาใส” หรือเบลอ-ลืมตา)
และหลับในลดลงอย่างชัดเจน



ควรงีบช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 5-45 นาที เพื่อให้ร่างกายหลับแบบตื้นๆ
(ระยะที่ 1 ในภาพที่ 3,4) และไม่เข้าสู่วงจรหลับลึก ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชั่วโมงในรอบแรก

ถ้าหลับนานเกิน 2 ชั่วโมง ร่างกายจะเข้าสู่วงจรหลับลึก
หรือวงจรหลับปกติ (ภาพที่ 3,4)
ซึ่งอาจจะทำให้สดชื่นตอนบ่าย แต่นอนไม่หลับตอนกลางคืน


ผลของการนอนในวงจรหลับลึก แต่ไม่ครบรอบของการนอน
มีลักษณะคล้ายกับคนที่นอนสบายๆ อยู่แล้วโดนปลุกเป็นพักๆ
คือ เสี่ยงต่ออาการเบลอหลังตื่น หรือตื่นไม่เต็มที่
ซึ่งจะกินเวลาหลังงีบ 15-20 นาที

ทางที่ดีสำหรับการงีบกลางวัน คือ
งีบสั้นๆ 5-45 นาที
ยกเว้นจำเป็นต้องใช้หนี้การนอน (นอนไม่พอ 2-3 คืนก่อน)
อาจจะนอนให้นานไปเลย (เกิน 2 ชั่วโมง)
ซึ่งผลที่ได้จะไม่ดีเท่าการนอนให้เร็วขึ้น และตื่นตรงเวลา

Parasomnias

อาการที่เกิดร่วมกับการหลับ
คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะหลับ
อาจจะปกติ หรือผิดปกติก็ได้
ถ้าผิดปกติอาจเรียกว่าอาการผิดปกติขณะหลับ (dyssomnias)

อาการที่เกิดร่วมกับการหลับมีมากมาย เช่น

1. การกระตุกขณะหลับ
(hypnic jerks, periodic movements in sleep,
nocturnal myoclonus)
คือ การทำงานของกล้ามเนื้อเป็นพักๆ ขณะหลับ
เป็นอาการปกติที่พบบ่อยมากร่วมกับการหลับ
มักเกิดในผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป
และมักจะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

การกระตุกขณะหลับมักจะเป็นมากขึ้น ถ้าอดนอน
มีเรื่องเครียดก่อนนอน มีโรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองแตก-ตีบ-ตัน
ไตวาย การได้ยาแก้อาการซึมเศร้า การหยุดยานอนหลับ หรืออื่นๆ
ที่พบบ่อยมักเป็นที่ขา

คนที่ชอบรู้สึกว่ามีอะไรคลานหรือกวนอยู่ในน่องลึกๆ
จนต้องขยับขาบ่อยๆ ในยามตื่น (restless leg syndrome)
เกือบทั้งหมดจะมีการกระตุกของขาขณะหลับ
แต่คนที่ขากระตุกขณะหลับอาจไม่รู้สึกผิดปกติที่น่องในขณะตื่น

การกระตุกขณะหลับอาจมีเพียงการกระดกหัวแม่เท้า
หรือการกระดกเท้า หรือนิ้วมือเป็นระยะๆ (ทุก 20-40 วินาที)
ไปจนถึงการเตะถีบ ฟาดแขนฟาดขา หรือกระตุกทั้งตัว จนตื่นขึ้นเต็มที่
แต่ส่วนใหญ่จะไม่ตื่น (สมองตื่นเพียงเล็กน้อยแล้วก็หลับต่อแล้วก็ตื่นใหม่ สลับกันไปเช่นนี้
ถ้าเป็นมากจะทำให้นอนไม่พอทั้งที่รู้สึกว่าหลับทั้งคืน
คนที่เป็นเช่นนั้นมักจะไม่รู้ตัว
แต่คนที่นอนด้วยจะสังเกตเห็นการกระตุกเหล่านี้ และทำให้วินิจฉัยโรคนี้ได้)

การละเมอ (sleep talking)
========================
คือ การพูดพึมพำหรือการตะโกนโหวกเหวกขณะหลับ
อาจจะละเมอเป็นประโยคหรือเป็นคำๆ
อาจฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ได้ และเมื่อถูกคู่นอนหรือคนใกล้ชิดถามว่าอะไร เป็นอะไรหรือ
เกือบทั้งหมดจะไม่มีการตอบสนอง เพราะผู้ละเมอกำลังหลับอยู่

แต่ใน บางกรณีที่พบได้น้อยมาก ผู้ละเมออาจจะตื่นมากกว่าหลับ
ทำให้ตอบอือๆอาๆ (แบบฟังไม่รู้เรื่อง)
หรือในบางกรณีที่ยิ่งพบน้อยมากยิ่งขึ้น คือ
อาจตอบแบบรู้เรื่องได้ แต่ผู้ละเมออาจจะจำอะไรไม่ได้เมื่อตื่นขึ้นเต็มที่

การละเมอพบได้ในทุกอายุ และในหญิงมากกว่าชาย

โดย ทั่วไปการละเมอมักจะเกิดในระยะที่ 1 และ 2
ของการหลับแบบตาไม่กระตุก (non-REM sleep)
แต่ในบางครั้งก็เกิดในการหลับแบบตากระตุกได้

การละเมอโดยทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งปกติ

การใช้ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ จะช่วยให้อาการละเมอลดลงได้
(ดูเรื่องยาคลายกังวลและยานอนหลับ
คอลัมน์มาเป็นหมอกันเถิด ในหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 150-152)


การเดินละเมอ (sleep walking, somnambulism)
========================================

คือ การเดินโดยไม่รู้ตัวที่เกิดขึ้นในขณะหลับ
มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการหลับ
โดยเฉพาะในระยะที่ 3-4 ของการหลับแบบตาไม่กระตุกช่วงแรก
และมักจะเกิดขึ้นในเด็ก (ตั้งแต่ 2-3 ขวบ จนถึงวัยรุ่น) มากกว่าผู้ใหญ่

ที่พบบ่อยคือ ขณะที่หลับๆอยู่
เขาจะมีการเคลื่อนไหวแขนขาหรือร่างกายแล้วจะลุกขึ้นนั่งบนเตียง
ลืมตาแป๋วเหมือนตาแก้ว (glassy eyes) ที่มองไม่เห็น
(ไม่รับรู้สิ่งที่ไม่ต้องการเห็น)
แล้วจะลุกขึ้นยืนและเดินไปอย่างไร้จุดหมาย
ด้วยท่าทีที่งุ่มง่ามหรือเหมือน หุ่นยนต์
เข้าห้องนั้นออกห้องนี้ หรือเดินหนีออกไปจากบ้าน
โดยไม่ชนประตู โต๊ะ เก้าอี้ หรือสิ่งกีดขวาง ขึ้นลงบันไดได้
(ซึ่งแสดงว่าเขามองเห็นสิ่งที่เขาต้องการจะเห็น
ส่วนสิ่งอื่นที่เขาไม่ต้องการจะเห็น
เช่น การโบกไม้โบกมือที่หน้าของเขา เขาจะไม่เห็น
ดังนั้น เขาจึงอาจหกล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุอื่นๆ ได้)

โดยทั่วไปเขาจะไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก
(ซึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้ยิน)
แต่มักจะยอมให้จูงมือกลับไปนอนใหม่ได้
เมื่อตื่นขึ้นเขาจะจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
หรือจำได้อย่างรางเลือนคล้ายกับว่าฝันไป

นอกจากการเดินละเมอแล้ว
เขาอาจจะถอดเสื้อผ้า หรือแต่งตัวใหม่
หรือถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่เป็นที่เป็นทางโดยไม่รู้ตัวได้
หรืออาจเกิดร่วมกับอาการฝันร้ายหรือฝันผวาได้

อาการที่เกิดขึ้นอาจ กินเวลาไม่ถึงนาที
หรืออาจยาวนานถึงครึ่งชั่วโมงได้

การลุกขึ้นเดินสะเปะสะปะในเวลากลางคืนของผู้สูงอายุ (คนแก่)
ไม่ใช่การเดินละเมอ เพราะไม่ได้เกิดขณะหลับ
แต่เกิดจากตื่นแล้วหลง (walking disorientation)
มักเกิดจากโรคสมองเสื่อม (senile dementia)
สาเหตุของการเดินละเมออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
ปัญหาทางจิตใจ โดยเฉพาะการเก็บกดความไม่พอใจไว้ หรืออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การเดินละเมอเป็นอาการปกติที่เกิดร่วมกับการหลับได้
ถ้านานๆจะเป็นสักครั้ง และแต่ละครั้งเป็นชั่วครู่เดียว
แล้วก็กลับเข้านอนเองได้โดยไม่มีอุบัติเหตุหรืออันตรายอะไร
ก็ไม่จำเป็นต้อง วิตกกังวล
เพราะจะหายเองได้เมื่ออายุมากขึ้น
แต่อย่าลืมหาสาเหตุทางจิตใจและแก้ไขเสียด้วย
มิฉะนั้นคนที่เดินละเมออาจเกิดโรคทางจิต และ/หรือทางกายต่างๆในภายหน้า

Dream

>>บางทีเราก็ฝันเหมือนจริง
บางทีก็เหมือนกับฝัน แต่จำเรื่องราวไม่ได้ เกิดจากอะไร?

ฝัน
==
ฝันมักเกิดขึ้นในช่วง REM sleep
แต่ก็เกิดได้ในช่วง non-REM ได้เช่นเดียวกัน

>>หากปลุกคนที่นอนอยู่ในช่วง REM และ non-REM มาถามถึงความฝัน จะพบว่า ..
- คนที่ตื่นในช่วง REM sleep
จะจำความฝันได้ ฝันซับซ้อน สมจริง และมีอารมณ์ร่วม
(recalled elaborate, vivid and emotional dreams)

- คนที่ตื่นในช่วง non-REM sleep
จำไม่ค่อยได้ว่าฝัน ฝันเลอะเลือน ไม่มีอารมณ์ร่วม

นอกจากนี้ เรายังสามารถฝันในช่วงหลับตื้น light non-REM sleep ได้อีกด้วย

ฝันทำไม
======
เรายังไม่ทราบว่าเหตุใดจึงฝัน และฝันสำคัญอย่างไร
แต่เชื่อว่าฝัน ทำให้ลืมข้อมูลที่ไม่จำเป็นที่ได้รับมาในแต่ละวันออกไป
ให้เหลืออยู่เฉพาะเรื่องที่น่าจดจำเอาไว้เท่านั้น
การฝันมีส่วนช่วยลดความเครียดโดยกลไกที่เรายังไม่รู้แน่ว่าทำอย่างไร รู้แต่ว่า
ถ้าช่วงหลับฝัน (REM) ลดลง… คนจะเครียดง่ายขึ้น
การหลับฝัน (REM) ช่วยจัดระบบความจำ ทำให้จำเรื่องบางเรื่องได้นานขึ้น

ฝันร้าย
=====
การเกิดฝันร้ายเป็นประจำถือเป็นความผิดปรกติของการนอนได้เช่นกัน
โดยอารมณ์ที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดฝันร้าย ได้แก่
ความโกรธ วิตกกังวล เศร้าหดหู่ กลัว และ ความละอายใจ

จากการสำรวจ พบว่าคนเรามักจะฝันร้าย 3 เรื่อง ได้แก่
1. ถูกไล่ตาม (Being chased)
(ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะฝันว่าถูกคนไล่ตาม ถ้าเป็นเด็กจะฝันว่าถูกสัตว์ร้าย หรือสัตว์ประหลาดไล่ตาม)
2. การสูญเสีย (Falling)
3 ฟันหัก (Having your teeth fall out)


ฝันร้ายเกิดจากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปแล้ว มาจาก
- การดื่มแอลกอฮอล
- ความเครียด และความวิตกกังวล
- ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า
- อาการไข้
- post-traumatic stress syndrome (PTSD)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ยา
ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ยารักษาโรคหัวใจ และยาปฎิชีวนะบางชนิด
(heart medications and certain antibiotics)
- ปัญหาทางจิต
- อยู่ในช่วงรักษาอาการติดยา (withdrawals from addictive drugs)


การรักษา
- หากเด็กฝันร้ายติดๆกันหลายครั้ง
ให้ย้อนดูว่าเด็กมีความเครียด หรือความกลัวจากเรื่องใด

สำหรับผู้ใหญ่ ให้แก้ที่สาเหตุ เช่น
- หากฝันเกิดจากความเครียด ควรจะหาทางแก้สาเหตุที่ทำให้เครียด
และออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาให้หายเครียด

- ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้เขียนความฝันนั้น
จากนั้นจินตนาการเรื่องราวในตอนจบใหม่ให้น่ากลัวน้อยลง
และ การเล่าเกี่ยวกับฝันร้ายก็ช่วยให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
และปล่อยวางฝันร้ายนั้นได้


เด็กในบ้านอาจละเมอในช่วง 3-7 ขวบ
ควรจัดบ้านให้ปลอดภัย เช่น ระวังการละเมอตกบันได ฯลฯ
และไม่ควรปลุกทันที เนื่องจากอาจทำให้เกิดการตกใจอย่างรุนแรงได้

สำหรับคนที่สนใจงานวิจัยเกี่ยวกับความฝัน และสมอง
http://asdreams.org/study/asd-DreamHealing.htm

Dyssomnia

Dyssomnia
คือ การนอนหลับที่ผิดปกติในแง่ของ
- ปริมาณการนอน
- คุณภาพการนอน
- หรือเวลาที่เริ่มง่วงนอน

โดยผู้ป่วยอาจนอนหลับยาก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ
หรือนอนมากเกินไป

Insomnia
(เป็นความผิดปกติของการนอนหลับที่พบบ่อยที่สุด)
เป็นภาวะที่บุคคลมีความรู้สึกว่านอนไม่เพียงพอ
ง่วงนอนตอนกลางวัน

Hypersomnia
ภาวะนอนหลับมากเกินปกติ หรือง่วงนอนช่วงกลางวันตลอด


ดื่มนม กล้วย หรืออาหารอื่นที่มี tryptophan สูง ทำให้หลับได้ดีขึ้น
(tryphtophan เป็นสารตั้งต้นของสารซีโรโทนินที่ทำหน้าที่เหนี่ยวนำให้หลับ)

Sleep paralysis

ผีอำ (ตื่นขึ้นมาแล้วขยับตัวไม่ได้)
========================

ช่วง REM กล้ามเนื้อจะเป็นอัมพาต (REM atonia)
(แรงตึงตัวลดลงชั่วคราว)
เนื่องจากสมองส่งสัญญาณมายับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ
พอตื่นมีสติขึ้นมา ก็ขยับแขนขาได้

(คาดว่ามีสาเหตุมาจากกลไกการปรับตัว
เนื่องจากขณะหลับแบบ REM จะมีการฝัน
หากกล้ามเนื้อยังมีแรงตึงตัวอยู่ ขณะที่เราไม่มีสติ
อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้จากการเคลื่อนไหวแบบไร้สติได้)

แต่ Sleep paralysis
คือ ลักษณะที่ตื่นจากช่วง REM + มีสติแล้ว
แต่ร่างกายยังอยู่ในภาวะอัมพาตอยู่
ซึ่งร่างกายอาจจะเป็นอัมพาตอยู่นานหลายวินาที่ จนถึงหลายนาที

นอกจากจะขยับตัวไม่ได้แล้ว ยังพบว่า
เกิดประสาทหลอนที่เกิดขึ้น
ในขณะที่เคลิ้มจะตื่น (Hypnopompic or Hypnagogic)
และมีความรู้สึกว่าเกิดอันตราย (acute sense of danger)

(จากการเกิดภาพหลอนนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มนำมาใช้อธิบาย
การเห็นผี และประสบการณ์ถูกลักพาตัวโดยมนุษย์ต่างดาว
http://watarts.uwaterloo.ca/~acheyne/S_P.html#tabcon)


ปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้เกิดภาวะ Sleep Paralysis
=======================================
ได้แก่
1. นอนหงาย (Sleeping in a face upwards or supine position)
(การนอนหงายมีสถิติการเกิด Sleep Paralysis มากกว่าการนอนในท่าอื่น)
2. นอนไม่เป็นเวลา (Irregular sleeping schedules; naps, sleeping in, sleep deprivation)
3. เครียด
4. การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิต (Sudden environmental/lifestyle changes)
5. ฝันแบบที่รู้ตัวว่ากำลังฝัน (Lucid dream)

(กลไกการเกิด ยังไม่ทราบแน่ชัด)


ถ้าเป็นบ่อยๆแล้วจะแก้อย่างไร?
=======================
1. ลดความเครียด
2. ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก ทำใจให้มีสมาธิ
แล้วค่อยๆขยับตัวที่ละนิด เช่น ขยับนิ้วมือ,นิ้วเท้าก่อน
3. ลองเปลี่ยนท่านอน จากนอนราบ เป็นท่าอื่น


ที่มาและเพิ่มเติม
http://en.wikipedia.org/wiki/Sleep_paralysis
http://watarts.uwaterloo.ca/~acheyne/prevent.html
http://www.ramamental.com/percept.html
http://www.nytimes.com/1999/07/06/science/alien-abduction-science-calls-it-sleep-paralysis.html

Sleep in different animal species

สัตว์หล่ะนอนเหมือนคนไหม?
====================
ทำไมนกถึงหลับได้ที่ยังเกาะกิ่งไม้อยู่? แล้วปลาหลับอย่างไร?
- ปลาโลมา และนก จะหลับโดยใช้สมองเพียงซีกเดียว และพักร่างกายเพียงซีกเดียว สลับกันตลอดรอบการหลับ
- นอกจากนี้ Marine mammals ไม่มี REM sleep อาจจะมาจากการที่ไม่สามารถผ่อนกล้ามเนื้อที่ใช่พยุงร่างกายในน้ำได้


จากภาพ
a) คลื่นไฟฟ้าสมองของโลมา เป็นลักษณะของ nonREM sleep
โดยเกิดขึ้นในสมองซีกเดียว สลับกับอีกซีกที่สมองยังตื่นอยู่
b) ภาพโลมาขณะหลับ กราฟสีน้ำเงิน และแดง
แสดงให้เห็นการทำงานและพักการทำงานของกล้ามเนื้อของร่างกายในแต่ละด้านสลับกัน


เพิ่มเติม: http://www.scienzagiovane.unibo.it/English/sleep/3-sleep-animals.html

Friday, December 11, 2009

Blood Donation

หลังจากหน้ามืด เป็นประจำสม่ำเสมอ ตอนบริจาคเลือด
(แต่ก็ยังคงบริจาคอยู่
หน้ามืดนิดเดียว เทียบกับช่วยชีวิตผู้อื่น
แลกได้อยู่แล้ว)

วันนี้ ไม่มีอาการใดๆเลย
นางพยาบาลเขาบอกว่าขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว
นอนพักผ่อนเพียงพอ
กินน้ำเพียงพอก่อนบริจาค

ในใจก็คิดว่าก็ทำเหมือนๆกับคราวก่อน
แต่มีที่แตกต่าง 2 เรื่อง คือ
1) กินน้ำหวานก่อนบริจาคเลย
กับ 2) เพิ่งไปวิ่งมินิมาราธอนมาเมื่อวาน

น่าจะทั้งสองปัจจัยรวมกัน
เพราะหลังจากวิ่ง
เจริญอาหารมาก
+นอนพักหลังวิ่งด้วย
ทำให้รู้สึกสดชื่นมาก

Medal


จากการวิ่งครั้งนี้ทำให้ผมเรียนรู้ว่า

การ Warm up ที่เพียงพอเหมาะสม
จะลดการบาดเจ็บของเอ็นและกล้ามเนื้อจากการวิ่งได้

การวิ่งกันเป็นกลุ่ม
จะวิ่งได้ระยะทาง และความเร็วที่เพิ่มขึ้น

ถ้าสะดุดล้ม ให้เดินช้าๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวก่อน
ถ้าสะดุดล้ม แล้ววิ่งเลย อาจจะหน้ามืดได้

คนไปวิ่งจำนวนนึง ถือกล้องขณะวิ่ง

มีอาชีพ"ถ่ายรูปคนกำลังวิ่ง"
แล้วก็มาอัดขายด้วย

ตอนวิ่งถึงที่หมาย
นี่ความรู้สึกดีจริงๆ
ความสำเร็จที่ใช้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ความพยายามแลกมา
ช่างหวาน หอม เหลือเกิน

การเรียนภาษาอังกฤษ เหมือนกับการวิ่ง หลายจุด
แต่ละก้าวที่ก้าว เราก็อยู่ใกล้เป้าหมายมากขึ้น
ท้อใจเมื่อไหร่ ล้มเลิกเมื่อไหร่ ก็ไม่ถึงจุดหมาย
แต่ถ้าใจสู้ ค่อยๆก้าว ค่อยๆพัฒนาไป
สักวันจะถึงจุดหมาย

เราต้องมีการฝึกฝนอย่างเป็นประจำ ต่อเนื่อง
เพื่อความพร้อมในวันแข่ง

ต้องซักซ้อมด้วยใจที่ตั้งมั่น แน่วแน่
ล้มได้ แต่ต้องลุก
ท้อได้ แต่ห้ามถอย

Friday, December 4, 2009

Opinion

... พ่อลูกยืนอยู่กลางตลาด เห็นนักเลงเลือดร้อนคนหนึ่ง
โดนหนุ่มหน้าจืดเหยียบเท้าโดยบังเอิญ นักเลงตะคอกด่าอย่างฉุนเฉียว
พร้อมทำหน้าเอาเรื่อง หนุ่มหน้าจืดยกมือไหว้ขอโทษแล้วหลีกไปอย่างสงบ

ลูกเห็นอะไร?

ผมเห็นคนตัวใหญ่จะเอาเรื่องคนตัวเล็ก แต่คนตัวเล็กไม่สู้แล้วรีบหนีไปฮะ

แต่พ่อเห็นคนใจเล็กจะเอาเรื่องคนใจใหญ่ คนใจใหญ่ให้อภัยแล้วจากไป
โดยทิ้งสันติภาพไว้เบื้องหลัง

เห็นเสือหมอบ อย่าเชื่อ ว่าเสือไหว้
เผลอเมื่อไร เสือกิน สิ้นทั้งขน
เป็นคนต้อง เกรงเยงยำ น้ำใจคน
เขาถ่อมตน อย่าเหมา ว่าเขากลัว

เขาไม่สู้ อย่าเหมา ว่าเขาแพ้
คชสีห์แท้ หรือจะสู้ หมูชั่ว
วางตนสม คมประจักษ์ ในฝักตัว
ชาติคนชั่ว ลบหลู่ อย่าสู้มัน


... พ่อลูกนั่งดูข่าวอยู่ด้วยกัน เห็นข่าวโจรปล้นธนาคารได้อย่างลอยนวล
และถูกบันทึกไว้เป็นการโจรกรรมครั้งใหญ่ที่แยบยลยิ่ง
แม้ตำรวจยังสารภาพว่าตะลึงทึ่งอึ้งงันกันไปหมด

ลูกเห็นอะไร?

ผมเห็นหัวขโมยสมองเพชรกับรางวัลของความฉลาดฮะ

แต่พ่อเห็นคนโง่คนหนึ่งอาศัยเล่ห์กลที่มีสร้างหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้
และจะต้องชดใช้ด้วยการมีชีวิตหลบๆซ่อนๆไปจนตาย

... พ่อลูกชวนกันยืนจ้องแมวตัวหนึ่งที่นอนปิดตาไม่รู้ไม่ชี้กับอะไรทั้งสิ้น

ลูกเห็นอะไร?

ผมเห็นแมวตัวหนึ่งกำลังหลับสบาย น่าอิจฉาที่มันไม่ต้องเรียนหนังสือเหมือนผม
แล้วก็ไม่ต้องทำงานหาเงินเหมือนพ่อ นึกอยากพักผ่อนเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีใครว่า

แต่พ่อเห็นสิ่งมีชีวิตร่างหนึ่งกำลังหลงเพลินอยู่กับความไม่รู้ไม่เห็น มันไม่ต้องเรียน
ไม่ต้องทำงาน ไม่มีหน้าที่ใดๆ แต่ก็จะตายไปโดยไม่อาจตั้งคำถาม
และไม่อาจได้คำตอบอะไรจากการมีชีวิตสักข้อเดียว